ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร” แนะแนวทางการปฏิรูปสถาบันด้านเศรษฐกิจ ต้อง “แข่งขันได้-กระจายประโยชน์ไปสู่ประชาชน-เติบโตยั่งยืน”

“ประสาร” แนะแนวทางการปฏิรูปสถาบันด้านเศรษฐกิจ ต้อง “แข่งขันได้-กระจายประโยชน์ไปสู่ประชาชน-เติบโตยั่งยืน”

6 ธันวาคม 2017


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปสถาบันด้านเศรษฐกิจ”

วันพุธที่ 6 ธันวาคม 2560 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปสถาบันด้านเศรษฐกิจ” ว่า “การประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องแนวทางการปฏิรูปสถาบันด้านเศรษฐกิจในวันนี้ เป็นหนึ่งในหัวข้อที่สำคัญมากสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และผมในนามของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจต้องขอขอบคุณทุกท่านที่เสียสละเวลาเดินทางมาร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ โดยก่อนจะเริ่มงานผมอยากจะใช้เวลาสักเล็กน้อยเล่าถึงความคืบหน้าและภาพรวมของการจัดทำแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ และกรอบที่ควรคำนึงถึงในการปฏิรูปสถาบันด้านเศรษฐกิจ”  

หากย้อนดูพัฒนาการเศรษฐกิจของไทยนับตั้งแต่ที่เรามีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 หรือเกือบ 60 ปีก่อน ในภาพรวมภาคเอกชนไทยแข็งแกร่งขึ้นจนปัจจุบันหลายบริษัทสามารถไปปักธงในต่างประเทศ และหลายสินค้าสามารถเจาะตลาดโลกได้สำเร็จ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาช่วยขยายฐานเศรษฐกิจไทยให้กว้างขวางขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น และคนส่วนใหญ่พ้นความยากจน เราต้องยอมรับว่า กลไกภาครัฐในอดีตมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าเหล่านี้

แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า บริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันต่างจากในอดีตมาก และยิ่งถ้ามองไปข้างหน้า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้การเปลี่ยนแปลงระยะต่อไปเกิดขึ้นในความเร็วที่เร็วขึ้นกว่าเดิม ขณะที่เศรษฐกิจการเมืองโลกจะทำให้บริบทโลกซับซ้อนขึ้น อีกทั้งกติกาและมาตรฐานสากลจะเข้มงวดขึ้น

เมื่อมองกลับมาดูในประเทศ แม้หลายเรื่องจะก้าวหน้า แต่คงต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ไม่น้อยที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไข เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นเติบโตเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ผลประโยชน์จากการพัฒนาจึงไม่ได้กระจายไปสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง รวมถึงปัญหาศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และ ปัญหาคอร์รัปชัน เป็นต้น

นั่นหมายความว่า “ระบบสถาบันด้านเศรษฐกิจ” ที่หลายส่วนเคยออกแบบไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนอาจไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศภายใต้บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนปฏิรูปให้สอดคล้องกับจังหวะ “การเดินหน้าของประเทศ” เคียงข้างภาคเอกชนและประชาชน

ภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่และปัญหาเชิงโครงสร้างที่กล่าวข้างต้น คณะกรรมการฯ กำหนดเป้าหมายหลักของการปฏิรูปไว้ว่า ใน 20 ปีข้างหน้า เราอยากจะเห็นประเทศไทยมี “การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง”
   
หลายท่านอาจจะมีคำถามว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงคืออะไร? 

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่โตปีละมากๆ ไม่ใช่การพัฒนาแบบหยาบๆ แต่เป็นการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงการเพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ และเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนแต่ละคน รวมทั้งจะต้องเป็นการพัฒนาที่จะช่วยให้ประเทศก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน

พูดสั้นๆ คือ เศรษฐกิจไทยต้อง “แข่งขันได้-กระจายประโยชน์ไปสู่ประชาชน-เติบโตยั่งยืน” ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้แบ่งประเด็นปฏิรูปออกเป็น 3 ด้าน สำคัญซึ่งได้กล่าวไปแล้วในครั้งก่อน ผมขอขยายความเฉพาะที่เป็นหัวใจ workshop วันนี้

ด้านที่ 1 การเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ 

ด้านที่ 2  การลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึง โดยจะมีหน่วยงานดูแลจากส่วนกลาง ซึ่งจะไม่ใช่แค่เก็บตัวเลข แต่มี Ownership เรียกว่า เสียงดังขึ้น มีการจัดสรรประโยชน์ใหม่ ที่จะช่วยให้สังคมมีความสมดุลมากขึ้น และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ด้านที่ 3 การปฏิรูปสถาบันด้านเศรษฐกิจ (Economic Institution Reform) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการปรับกลไกและบทบาทของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยการปฏิรูปด้านที่ 1 และ 2 ที่ได้กล่าวมาให้สัมฤทธิ์ผล เพราะภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ และกติกา ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างแรงจูงใจและระบบนิเวศหรือ Eco system ที่เอื้อให้ระบบเศรษฐกิจพัฒนาได้เต็มศักยภาพ โดยเรื่องนี้จะเป็นหัวข้อของการรับฟังความเห็นจากท่านผู้มีเกียรติในวันนี้

ทั้งนี้ จากการหารือของคณะกรรมการฯ และจากการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในเวทีต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอปฏิรูปของ สปช. และ สปท. แม้จะมีข้อเสนอในหลายเรื่อง แต่ทิศทางร่วมของข้อเสนอปฏิรูปสถาบันด้านเศรษฐกิจจะให้น้ำหนักใน 4 มิติสำคัญ คือ

มิติแรก ประสิทธิภาพและความยั่งยืน ภาครัฐจำเป็นต้องคำนึงถึง “ประสิทธิภาพ” และ “ความยั่งยืน” มากขึ้น โดยเรื่องที่สำคัญคือ การปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้ทันสมัย เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ (Ease of doing business) โดยเฉพาะมองไปข้างหน้าที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ขณะที่บางธุรกิจก็จะหายไป ภาครัฐจำเป็นต้องปรับกติกาให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปได้อย่างคล่องตัว ธุรกิจที่ล้มต้องสามารถลุกได้เร็ว

งานศึกษาของ TDRI ชี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและกฎระเบียบรวมกว่า 1 แสนฉบับ ใบอนุญาตอีกกว่า 3,000 ประเภท ในขณะที่ตัวเลขที่เป็น best practice ในโลก คือ ประมาณ 300 ประเภทเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า กฎระเบียบจำนวนมากนี้ก่อให้เกิดต้นทุนประมาณร้อยละ 10-20 ของ GDP

ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องปรับบทบาทจากผู้กำกับดูแล ให้เป็นผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และปล่อยให้มีการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีให้มากขึ้น และลดการผูกขาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สิ่งที่พวกเราเคย Overlook ไปก็คือ การบริหารทรัพย์สินเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ หรือทางพิเศษต่างๆ จำเป็นต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มิฉะนั้น จะเป็น “การเสียโอกาสด้านการพัฒนา” ของประเทศ แม้รัฐบาลจะประกาศว่า มีงบลงทุนเท่านั้นเท่านี้ แต่เม็ดเงินเหล่านี้อยู่ในกลไกของรัฐวิสาหกิจซึ่งไปได้ช้ามาก และเป็น “ต้นทุนที่แพงขึ้น” ของประชาชนทุกคน

มิติที่สอง ความโปร่งใส ในบริบทโลกที่กติกาและมาตรฐานสากลเข้มงวดขึ้น บทบาทของภาครัฐจำเป็นต้องโปร่งใส และมีการตรวจสอบจากภาคประชาชนได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันที่เป็น “ต้นทุนแฝง” ของภาคเอกชนได้ด้วย

มิติที่สาม การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในหลายด้าน แต่อำนาจการตัดสินใจยังรวมศูนย์ที่ส่วนกลางอยู่มาก ซึ่งทำให้การแก้ปัญหามักมีสูตรเดียว ยากที่จะตอบโจทย์ของท้องถิ่นที่แตกต่างกันได้อย่างตรงจุด ผมขอยกตัวอย่างในบางส่วนที่ผมได้ไปสัมผัสมาบ้าง เช่น เรื่องการศึกษา พบว่า ถ้าเราไม่สามารถใช้กลไกชุมชนที่รู้ข้อมูล และรู้ความต้องการของชุมชน เข้ามามีส่วนในกระบวนการแก้ปัญหา ก็ยากที่จะแก้ไขได้สำเร็จ เป็นต้น ภาครัฐจึงควรกระจายอำนาจมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถเสนอแนะสิ่งที่ต้องการ และการทำเช่นนี้จะช่วยให้การแก้ปัญหามีเจ้าภาพชัดเจน (Accountability) และที่สำคัญจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่การพัฒนามีแนวโน้มกระจุกตัวที่ส่วนกลาง

มิติที่สี่ การประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาหรือโจทย์ของประเทศหลายเรื่องยากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องปรับบทบาทให้มีการประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นในทุกมิติ ที่เรามีการพูดกัน Concept ผมขอยกตัวอย่างเช่น

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
    1. ระหว่างส่วนราชการ ที่การทำงานยังมีลักษณะแยกส่วนตามหน่วยงานราชการ ทำให้การแก้ปัญหาในหลายเรื่องติดขัดไม่คืบหน้าเป็นคอขวด มีข้อท้วงติงจากประชาชนบ่อยๆ และเพื่อแก้ปัญหาเรามักจะได้ยินคำว่า one-stop service ซึ่งเป็นตัวสะท้อนอาการที่เกิดขึ้นหลังๆ จะได้ยินการใช้มาตรา 44 เพื่อผ่าทางตันอยู่บ่อยๆ

    2. ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเอกชนในด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และระบบงานที่มีประสิทธิภาพคล่องตัว โดยเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เช่น การร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐาน ที่ประเทศไทยยังมีน้อย ถ้าสำเร็จจะลดภาระของด้านงบประมาณของภาครัฐได้อีกทางหนึ่ง

ในเบื้องต้นคณะกรรมการฯ ได้กำหนดเป้าหมายปฏิรูปสถาบันด้านเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมมิติการวางยุทธศาสตร์ การปฏิบัติ และการติดตามประเมินผล ดังนี้ 

  • หน่วยงานยุทธศาสตร์ – ที่จะทำหน้าที่ต้นหน กำหนดทิศทางการพัฒนา 
  • ฐานข้อมูลและระบบข้อมูล 
  • หน่วยงานด้านงบประมาณ – ที่จะทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณที่จะไปสู่หน่วยต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ปฏิรูปด้านการคลัง และความยั่งยืนของระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพ
  • หน่วยงานบริหารจัดการสินทรัพย์ของภาครัฐ –ให้มี Value creation อย่างเต็มศักยภาพ
  • กลไกการปฏิบัติ และประเมินผล – ที่จะยกระดับ Execution ด้านนโยบายให้เป็นระบบ ไม่ล่าช้า 
  • สำหรับการประชุมวันนี้ ในช่วงเช้าเราได้รับความอนุเคราะห์จาก Worldbank ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การออกแบบระบบนโยบายและการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม และท่านรองปัทมา จะนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาพปัญหาของระบบการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน รวมทั้งข้อเสนอการปฏิรูป หลังจากนั้น จะเป็นช่วงตอบคำถาม ก่อนจะจัดให้แต่ละกลุ่มได้อภิปรายกันจนถึงช่วงบ่าย

    “ผมอยากเชิญชวนท่านร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันด้านเศรษฐกิจ ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งคณะกรรมการฯ จะได้รวบรวมความเห็นของท่านไปประกอบการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปต่อไป สุดท้ายนี้ ในนามคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ผมขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะร่วมเป็นเครือข่ายกับพวกเราในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจในระยะต่อไป”    

    หมายเหตุ: สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถส่งความเห็นท่านต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจมาที่ www.econreform.or.th ทุกความเห็นของท่านมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศ