ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 25 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2560: “สลายม็อบโรงไฟฟ้าเทพา รวบ 16 แกนนำ” และ “อ็อกซ์ฟอร์ดยึดคืน ‘รางวัลเสรีภาพ’ ออง ซาน ซูจี”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 25 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2560: “สลายม็อบโรงไฟฟ้าเทพา รวบ 16 แกนนำ” และ “อ็อกซ์ฟอร์ดยึดคืน ‘รางวัลเสรีภาพ’ ออง ซาน ซูจี”

2 ธันวาคม 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 25 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2560

  • สลายม็อบโรงไฟฟ้าเทพา รวบ 16 แกนนำ
  • ช็อก “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” เสียชีวิตกะทันหัน
  • “นพดล” ปัด จับมือ ปชป. แค่พูดถึงตัวเลข
  • ศาลปกครองยกฟ้อง “แผงลอยราชเทวี” ค้านยกเลิกจุดผ่อนผัน
  • อ็อกซ์ฟอร์ดยึดคืน “รางวัลเสรีภาพ” ออง ซาน ซูจี
  • สลายม็อบโรงไฟฟ้าเทพา รวบ 16 แกนนำ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์วอยซ์ทีวี (https://goo.gl/DyPsP8)

    วันที่ 27 พ.ย. 2560 กำลังสนธิระหว่างทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมของเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่เดินเท้าจาก อ.เทพา จ.สงขลา มายังบริเวณหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแก่ พล.อ.ป ระยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง จ.สงขลา ในวันที่เกิดเหตุ

    เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวแกนนำ 16 คน โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

    1. นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่าย
    2. นายสมบูรณ์ คำแหง
    3. นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ 
    4. นายรุ่งเรือง ระหมันยะ
    5. นายอามีน สะมาแอ
    6. นายสมาน นิแหละ
    7. วิรพงษ์ หวังหวัน
    8. นายสรวิชญ์ หลีเจริญ
    9. นายเจะอาแซ เพ็ชรแก้ว
    10. นายฮานาฟี เหมนคร
    11. นายเนติพงษ์ ชื่นล้วน
    12. นายยิ่งยศ ดามะลี
    13. นายอานัส อาลีมาส๊ะ
    14. นายอิสดาเรส หะยีเด
    15. นายอัยโยบ บูเซะ
    16. นายเอกชัย อิสระทะ 

    ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วง โดยเห็นว่าการชุมนุมของผู้ชุมนุมยังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหา แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และดำเนินการทางกฎหมายอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และนายกฯ ควรเปิดโอกาสให้เครือข่ายฯ ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อห่วงใยและข้อเสนอในการพัฒนาโครงการที่ยั่งยืนต่อรัฐบาลโดยสงบและปราศจากการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

    เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า นายบรรจง นะแส หนึ่งในแกนนำ บอกว่า จะยื่นเรื่องขอประกันตัวทั้ง 15 คน แต่พนักงานสอบสวนคัดค้าน และหลักทรัพย์ที่จะยื่นประกันตัวคนละ 90,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,350,000 บาทนั้นยังหาไม่ได้ ทำให้ทั้งหมดต้องถูกส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำกลางจังหวัดสงขลา

ส่วนเยาวชนชายอายุ 16 ปีนั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลาตีราคาประกันตัว 5,000 บาท จึงได้รับการประกันออกไป โดยวันนี้ ทีมทนายความและแกนนำจะยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกครั้ง ทำให้ชาวบ้านที่มารอลุ้นอยู่ที่หน้าศาลจังหวัดสงขลานับร้อยคนได้แยกย้ายกันกลับไป

นอกจากนี้ จะขอใช้ตำแหน่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ ประมาณ 7-8 คนค้ำประกันแทนเงินสด หากศาลอนุญาตให้ประกันก็จะนำหนังสือไปยื่นให้ที่เรือนจำ จ.สงขลา เพื่อขอปล่อยตัวทั้ง 15 คน แต่จะเป็นช่วงเวลาใดนั้นยังระบุไม่ได้

    ต่อมา เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ศาลจังหวัดสงขลาอนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 15 คนแล้ว โดยหลังจากที่ศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นว่าสามารถใช้ตำแหน่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และอาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ 6 คน ตามที่ทนายความยื่นค้ำประกันแทนเงินสดได้

    ช็อก “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” เสียชีวิตกะทันหัน

    ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ

    วันที่ 30 พ.ย. 2560 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ได้เสียชีวิตกะทันหัน โดยขณะนี้ศพอยู่ที่โรงพยาบาลรามคำแหง โดยจะมีการประกอบพิธีทางศาสนาที่  ่บ้านท่าอิฐ นนทบุรี ในวันศุกร์ที่ 1 ธ.ค. 2560

    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนและเพื่อน ส.ส. ได้รับแจ้งจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯที่อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีน ว่านายสุรินทร์  เสียชีวิตด้วยอาการช็อกจนหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ขณะนี้ศพอยู่โรงพยาบาลรามคำแหง ขณะที่ญาติของนายสุรินทร์กำลังดำเนินการรอรับศพ เพื่อเตรียมนำไปประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม ที่บ้านของนายสุรินทร์บ้านท่าอิฐ จ.นนทบุรี ในวันที่ 1 ธ.ค. 2560

    โดยนายนิพิฎฐ์ กล่าวว่า ได้รับแจ้งว่า นายสุรินทร์ เข้า รพ. เมื่อเวลา 14.00 น. และทาง รพ. แจ้งว่านายสุรินทร์ เสียชีวิตเมื่อเวลา 15.00 น. โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 นายสุรินทร์เพิ่งเดินทางกลับมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช 

    สำหรับประวัติของนาย สุรินทร์ เกิด 28 ต.ค. 2492 เป็นนักการเมืองชาวไทยมุสลิม ในอดีตเคยดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และยังเป็นอาจารย์พิเศษประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

    ทั้งนี้นายสุรินทร์ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ซึ่งมีวาระ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2551 จนสิ้นสุดวาระเมื่อ 1 ม.ค. 2556 โดยนั่งทำงานที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นคนไทยคนที่สอง ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ โดยคนไทยคนแรกคือ อดีตเอกอัครราชทูตและอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แผน วรรณเมธี (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสภากาชาดไทย) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2532-2536

    “นพดล” ปัด จับมือ ปชป. แค่พูดถึงตัวเลข

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://goo.gl/hWFyFK)

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการจับมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์หลังการเลือกตั้ง ว่า ตนได้สอบถามนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ที่ตอบคำถามในเวทีสัมมนาว่า สิ่งที่พูดไปเป็นการพูดถึงตัวเลขว่า ถ้าจะไม่ให้มีนายกฯ คนนอก ต้องมีจำนวน ส.ส. 376 คน เพื่อโหวตให้คนที่มาจาก ส.ส. หรือแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองให้เป็นนายกฯ ซึ่งต้องอาศัยเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ๆ ในสภาฯ แต่ยังไม่ได้ไปไกลถึงกับเสนอให้ พรรคเพื่อไทย จับมือกับ พรรคประชาธิปัตย์ และเรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัวในวงเสวนาทางวิชาการ ไม่ใช่ความเห็นของพรรค จึงไม่อยากให้คิดกันไปไกล

    นายนพดลกล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยมีจุดยืน และอุดมการณ์ที่ชัดเจนว่า นายกฯ ควรมาจากตัวแทนของประชาชน การเคารพสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม ต้องเคารพผลการเลือกตั้ง พรรคจะทำงานการเมืองกับพรรคที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรทำในขณะนี้ ถ้ามีการปลดล็อกพรรคการเมือง คือ การปฏิรูปปรับปรุงพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่ดีขึ้น หาแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการจัดทำนโยบายด้านต่างๆ เพื่อนำเสนอในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อให้ประชาชนตัดสิน การจะจับมือกับพรรคใดนั้น จึงยังไม่ถึงเวลาที่จะพิจารณา เพราะพรรคต้องฟังเสียงสมาชิก และเคารพการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง

    ศาลปกครองยกฟ้อง “แผงลอยราชเทวี” ค้านยกเลิกจุดผ่อนผัน

    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า วันที่ 29 พ.ย. 2560 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่ผู้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะในพื้นที่เขตราชเทวี จำนวน 128 ราย (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้อง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับผู้อำนวยการเขตราชเทวี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ) กรณีออกประกาศกรุงเทพมหานครยกเลิกจุดผ่อนผันให้ทำการค้าหาบเร่-แผงลอย (เฉพาะจุด) ในพื้นที่เขตราชเทวี จำนวน 12 จุด เนื่องจากศาลฯ พิจารณาเห็นว่า ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

    ทั้งนี้ เหตุผลในการยกเลิกจุดผ่อนผันฯ มาจากกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในฐานะเจ้าพนักงานจราจร ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยกเลิกการให้ความเห็นชอบให้บริเวณพิพาทเป็นจุดผ่อนผันให้ทำการค้าหาบเร่แผงลอยอีกต่อไป เนื่องจากทางเดินเท้าสาธารณะมีวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์สำหรับการสัญจร และกรุงเทพมหานครก็มีนโยบายที่จะจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยเพื่อคืนทางเท้าให้แก่ประชาชน จึงเห็นได้ว่านโยบายและแผนปฏิบัติการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย เพื่อคืนทางเท้าให้แก่ประชาชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามที่พระราชบัญญัติกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 41 วรรคหนึ่ง ที่ได้บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีหน้าที่ควบคุมดูแลที่หรือทางสาธารณะเพื่อประโยชน์ใช้สอยของบุคคลทั่วไป การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่า สภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้จุดผ่อนผันบริเวณพื้นที่ในคดีพิพาทไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดให้เป็นจุดผ่อนผันต่อไปได้อีก การออกประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อเทียบกับความเดือดร้อนที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 128 รายได้รับผลกระทบจากการถูกยกเลิกจุดผ่อนผันให้ทำการค้าหาบเร่-แผงลอยในบริเวณพิพาทแล้ว ประโยชน์สาธารณะย่อมมีความเหมาะสมและจำเป็นมากกว่า

    ในส่วนข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้ง 128 ราย ที่ว่าได้รับอนุญาตให้ค้าขายและปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในใบอนุญาตมาโดยตลอด มิได้กระทำการฝ่าฝืนจนเป็นเหตุให้ต้องถูกลงโทษหรือยกเลิกจุดผ่อนผันฯ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริเวณที่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นจุดผ่อนผันให้ทำการค้าหาบเร่-แผงลอย มิได้รับความยินยอมหรือความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจรอีกต่อไป ซึ่งมีผลทำให้การประกาศกำหนดให้บริเวณดังกล่าวเป็นจุดผ่อนผันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกประกาศยกเลิกจุดผ่อนผันดังกล่าว การอนุญาตนั้นย่อมสิ้นสุดลงตามไปด้วยโดยมิพักต้องพิจารณาว่าผู้รับอนุญาตให้ทำการค้าหาบเร่-แผงลอย ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในใบอนุญาตหรือใบอนุญาตสิ้นสุดอายุ ลงหรือยกเลิกหรือไม่

    อ็อกซ์ฟอร์ดยึดคืน “รางวัลเสรีภาพ” ออง ซาน ซูจี

    ที่มาภาพ: The Daily Beast (https://goo.gl/qG1gh7)

    วันที่ 28 พ.ย. 2560 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า สภาเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดลงคะแนนตัดสินให้ยึดรางวัลเสรีภาพแห่งอ็อกซ์ฟอร์ดคืนจากออง ซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา อย่างเป็นทางการ สืบเนื่องมาจากการที่เธอนิ่งเฉยต่อสถานการณ์กดขี่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมา โดยสภาเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดแถลงว่าเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดให้ความสำคัญกับการเป็นเมืองที่มีความหลากหลายและมีมนุษยธรรม ซึ่งการให้รางวัลอันทรงเกียรตินี้กับผู้ที่หันหลังให้กับความรุนแรงทำให้ชื่อเสียงของสภาต้องเสื่อมเสีย

    แมรี คลาร์กสัน สมาชิกคนหนึ่งของสภาเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด ให้สัมภาษณ์ว่า สภาหวังว่าการยึดรางวัลอันทรงเกียรตินี้คืนจากอองซาน ซูจี จะช่วยเป็นเสียงเล็กๆเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวโรฮิงญาได้บ้าง

    นางออง ซาน ซูจี ได้รับรางวัลดังกล่าวเมื่อปี 1997 ในฐานะที่เป็นผู้นำต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างสงบ ซึ่งการยึดรางวัลที่เคยมอบให้เป็นสิ่งที่สภาเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดไม่เคยทำมาก่อน โดยก่อนหน้านี้ วิทยาลัยเซนท์ ฮิวจ์ ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ก็ได้ปลดภาพวาดของออง ซาน ซูจี ที่แขวนไว้ออกจากห้องโถงของทางเดินเข้าอาคาร เช่นกัน