ThaiPublica > คอลัมน์ > The Times of Harvey Milk คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

The Times of Harvey Milk คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

31 ธันวาคม 2017


1721955

“ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแล ดิฉันขอประกาศว่า ทั้งท่านนายกเทศมนตรี มอสโคนี และกรรมการกำกับดูแล ฮาร์วีย์ มิลค์ …ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว…” คือคำประกาศจากปากผู้รักษาการแทนนายกฯ ต่อหน้าสื่อต่างๆ ที่กรูกันเข้ามารุมสัมภาษณ์เธอ ท่ามกลางเสียงตกใจอื้ออึง “ไม่นะ!” ก่อนจะมีใครสักคนปรามขึ้นดังๆ “ชูว์! เงียบก่อน!” เพื่อฟังสิ่งที่น่าตระหนกยิ่งกว่าจากเธอต่อไปว่า “ผู้ต้องสงสัยคือกรรมการฯ แดน ไวท์”

เหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ปี1978 ในคดีที่จอร์จ มอสโคนี นายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโก และฮาร์วีย์ มิลค์ สมาชิกคณะกรรมการ ถูกกระหน่ำยิงสังหารโหดกลางศาลากลาง อันเป็นประเด็นสำคัญใน The Times of Harvey Milk (1984) เจ้าของรางวัลสารคดียอดเยี่ยมเวทีออสการ์ และกวาดไปอีกหลากหลายรางวัลทั่วอเมริกา ไม่ว่าจะนิวยอร์ก, ชิคาโก, ซานฟรานฯ และซันแดนซ์ ผลงานกำกับของ ร็อบ เอปสไตน์

สารคดีเรื่องนี้ทำหน้าที่ไปไกลกว่าจะขุดคุ้ยคดีสุดฉาวที่ทั่วโลกต่างรู้กันอยู่แล้ว (โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ฮอลลีวูดหยิบมาทำเป็นหนังสองรางวัลออสการ์เรื่อง Milk ในปี 2008 โดย กัส แวน แซงต์) แต่พาคนดูไปสำรวจถึงสิ่งต่างๆที่ มิลค์ ทิ้งเอาไว้หลังการตายของเขา ซึ่งหนังได้เอ่ยในประโยคต้นๆเรื่องว่า “ฮาร์วีย์ได้ยืนหยัดทำในสิ่งที่มากไปกว่าแค่เพื่อตัวเขาเอง”

หรือง่ายๆก็คือ อะไรทำให้ มิลค์ กลายเป็นที่รุมรัก จนหลากหลายเสียงต่างเทใจให้เขาขึ้นแท่นกลายเป็นนักการเมืองผู้ทรงอิทธพลแห่งปลายยุค70…จนผู้คนแห่แหนกันมาไว้อาลัยเขาเป็นขบวนยาวสุดลูกหูลูกตา ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิดว่า มิลค์ ชนะใจได้แค่กลุ่มตุ๊ดซานฟรานฯ เท่านั้น แต่ไม่ใช่เลย เพราะหนังชี้ให้เห็นว่า มิลค์พยายามผลักดันตัวเองจากการเป็นเกย์ชาวยิวอพยพ เจ้าของร้านถ่ายรูปง่อกง่อยย่านคาสโตรที่เคยซบเซามาก่อน ที่กลายเป็นย่านเกย์คึกคักมาจนทุกวันนี้ ไปสู่การเป็นนักเคลื่อนเพื่อสิทธิ์ชาวเกย์ ก่อนจะแพ้เลือกตั้งมาหลายสมัย จนกว่าจะได้ตำแหน่งทางการเมืองก็ปาไปสมัยที่ 4 ซึ่งแน่นอนว่าเขาชูประเด็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็จริง แต่เขาเลือกจะหาเสียงกับกลุ่มชนชั้นรากหญ้า เด็กพังค์ห่ามๆ แรงงานแมนๆ คนพิการ คนผิวสี ชาวเอเชียน ฯลฯ ตั้งแต่เด็กๆไปยันคนแก่ ที่ต่างก็มีจุดร่วมกันกับกลุ่มเกย์คือ การเป็นกลุ่มคนที่ถูกรัฐทำให้เป็นเหมือนชนกลุ่มน้อยมาตลอด ไม่เคยได้ลืมตาอ้าปากได้รับสิทธิ์คุ้มครองจากรัฐได้เลย ซึ่งหนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ในหนังบอกว่า “เห็นได้ชัดว่าฮาร์วีย์ยืนหยัดเป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลง และเขาแตกต่างจากพวกกรรมการหัวเก่า”

เมื่อหนังมาถึงจุดนี้ก็แน่นอนว่าย่อมมีการอธิบายถึงเสียงอีกข้าง หนังพาไปดูคลิปข่าวสัมภาษณ์ แดน ไวท์ หนุ่มนักดับเพลิงคนดังของชุมชน ชนชั้นกลางหัวเก่าผู้เติบโตมาจากการเป็นเด็กดีในโอวาท ไวท์ให้สัมภาษณ์ว่า “คุณอาจจะคิดว่ามันเชย แต่ค่านิยมเชยๆแบบนี้ล่ะที่สร้างประเทศนี้ สำหรับผมนี่อะไรเชยๆแบบนี้สิคือความหมายของสังคม”

จุดหักเหใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ จอห์น บริกกส์ สว.รัฐแคลิฟอร์เนีย เสนอร่างกฎหมาย Proposition 6 ในปี1978 อันว่าด้วยการไล่ออกบรรดาครูชาวเกย์ทั้งหลาย ด้วยคำประกาศเผ็ดร้อนของบริกส์ที่ว่า “เราจะไม่ยอมให้พวกสมสู่ผิดเพี้ยนมาสั่งสอนลูกของเรา กฎหมายนี้คือการให้สิทธิ์แก่ผู้ปกครอง ในการเลือกว่าใครควรจะมาสอนบรรดาลูกๆของพวกเขา” ซึ่ง แดน ไวท์ ก็รับลูกในทันที

แต่วิกฤตนี้ที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มชาวเกย์โดยตรง กลับพลิกเป็นโอกาสให้ มิลค์ ได้ขึ้นมาเด่นตระหง่านอย่างท้าทาย เมื่อเขาโต้ขึ้นกลางวงประชุมที่ออกอากาศไปทั่วประเทศว่า “พ่อแม่ผมเป็นพวกรักต่างเพศ ผมเรียนหนังสือกับครูที่เป็นพวกรักต่างเพศ ในสังคมที่รักต่างเพศแสนดุเดือด โตมากับโฆษณาทีวีวิทยุที่ตอกย้ำความเป็นรักต่างเพศ ในสังคมที่เหยียดหยามคนรักเพศเดียวกัน แล้วทำไมผมถึงยังเป็นโฮโมเซ็กช่วลอยู่ได้ล่ะ ถ้าบรรดาครูต้นแบบมีผลกับผมจริงๆ ผมควรจะกลายเป็นพวกรักต่างเพศไปแล้วสิ และไม่ได้จะกล่าวหานะครับ แต่ถ้าครูเป็นต้นแบบที่มีอิทธิพลกับพวกคุณนักล่ะก็ เราคงมีแม่ชีวิ่งกันเต็มถนนไปแล้ว” มิลค์เรียกเสียงฮาครืนไปเต็มๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเขาทั้งฉลาด มีอารมณ์ขัน และหัวก้าวหน้า

เอปสไตน์ ผู้กำกับเรื่องนี้ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ถึงที่มาของสารคดีเรื่องนี้ว่า “ผมเริ่มโปรเจ็คต์หนังเรื่องนี้ก่อนที่ฮาร์วีย์จะถูกฆ่า ผมเริ่มถ่ายทำในช่วงที่บริกกส์กำลังพยายามจะผลักดันร่างกฎหมาย Proposition 6 อันเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในเวลานั้น ที่ทำให้เกิดทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้านมากพอๆกัน นั่นคือจุดที่ทำให้ผมสนใจทำหนังเรื่องนี้ในทีแรก กระทั่งมันถูกเปลี่ยนไปเล่าเรื่องของฮาร์วีย์ แต่ผมไม่ได้ต้องการจะทำสารคดีว่าด้วยชีวประวัติของเขา เพราะสิ่งที่ผมสนใจอยู่ตรงที่ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งสำคัญที่สุดในอเมริกา”

ขณะเดียวกันหนังก็ไม่ได้เลือกที่จะเผยตัวตนแต่ในด้านดีงามของ มิลค์ เท่านั้น เพราะหลายๆความเห็นก็บอกไปในทางว่า “มิลค์เป็นคนโมโหร้าย ติดจะเพี้ยนๆ ทำตัวเป็นเด็กๆในบางที และออกจะฉลาดแกมโกงด้วยซ้ำไป ซึ่งล้วนแต่ตรงข้ามกับ แดน ไวท์ โดยสิ้นเชิง” ส่วนนี้ เอปสไตน์ให้ความเห็นว่า “ผมไม่อยากให้คนดูเข้าใจผิดว่าเรากำลังจะทำหนังเชิดชู มิลค์ เรื่องราวของเขามันสำคัญเพราะเขาไม่ได้ต่างจากปุถุชนทั่วไป ผมเล่าเรื่องของเขาในฐานะบุคคลหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งเขาเข้าใจดีว่าจะวางตัวแบบไหนในการนำทิศนำทางผู้คนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เขาสมควรจะได้รับการยกย่องในแง่นั้น ขณะเดียวกันอีกคนที่ดูจะถูกละเลยความสำคัญไปมาก คือ จอร์จ มอสโคนี เพราะหากมอสโคนีไม่เปิดทางให้ฮาร์วีย์เข้ามาเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ฮาร์วีย์ก็ไม่มีทางจะทำได้เป็นแน่ ซึ่งเขาคืออีกคนที่กล้าเสี่ยงไม่แพ้กัน จนต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย”

ส่วนตัวแล้วสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในฐานะคนดู คือ หนังเรื่องนี้เข้าฉายในเดือนตุลาปี1984 หลังจากที่ ไวท์ถูกปล่อยตัวจากคุกในเดือนมกราปีเดียวกันนั้น แต่ความจริงอีกประการหนึ่งซึ่งหนังไม่สามารถเล่าได้ เนื่องจากออกฉายไปแล้วในปีนั้นคือ อีกเพียงหนึ่งปีถัดมา ในเดือนตุลาคม ปี1985 แดน ไวท์ ได้ฆ่าตัดตายในโรงรถด้วยการรมควันพิษจากรถของเขาเอง

…ขณะที่ก่อน มิลค์ รู้ตัวว่าตัวเองจะถูกฆ่าตาย เขาได้บันทึกเทปเสียงเอาไว้ก่อนแล้วว่า “ผมรู้ดีว่าบุคคลที่ยืนหยัดแบบที่ผมทำอยู่นี้…ย่อมมีโอกาสตกเป็นเป้าหมายของคนที่จิตใจไม่มั่นคง หวาดหวั่น กลัว หรือจิตใจแปรปรวน”