ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์ชาติเปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต “ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย” เชื่อมประชาชนกับโลกเก่า-ใหม่

แบงก์ชาติเปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต “ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย” เชื่อมประชาชนกับโลกเก่า-ใหม่

19 ธันวาคม 2017


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล่าเรื่องราวอาคารศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand Learning Center) ที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการในวันที่ 4 มกราคม 2561

อาคารศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand Learning Center)เตรียมที่จะเปิดรับประชาชนทั่วไปให้เข้ามาใช้บริการ เป็นอาคารริมน้ำ เดิมเป็นอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยความสามารถของคนไทยและยังเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความมุ่งมั่นด้านการพัฒนาวิทยาการของประเทศ

ในโรงพิมพ์ธนบัตรมีห้องมั่นคง ที่เดิมเก็บรักษาธนบัตรของประเทศซึ่งเป็นเขตหวงห้ามเฉพาะ อาคารแห่งนี้จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีอายุกว่า 50 ปีแต่โครงสร้างอาคารยังมีความแข็งแรงและความงดงามทางสถาปัตยกรรม มีความโดดเด่นที่หลังคาคอนกรีตทรงโค้ง ซึ่งเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

กอปรกับการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ที่มีวัตถุประสงค์ให้เข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวก ให้บริการด้านความรู้ ข้อมูลข่าวสาร การรับรู้และสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน จึงมีแนวคิดการออกแบบโดยเน้นการใช้โครงสร้างอาคารเดิม เน้นบรรยากาศที่โปร่งโล่งสบาย เพื่อเพิ่มความรู้สึกเข้าถึงและเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับศูนย์การเรียนรู้และ ธปท. ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งยังสามารถรองรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาและการได้ยินที่จะมาเยี่ยมเยียนอีกด้วย ธปท. มุ่งหวังให้ศูนย์การเรียนรู้ที่มีพื้นที่กว่า 12,900 ตรม. เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีชีวิต (living learning-hub) ที่นิสิตนักศึกษานักวิชาการตลอดจนประชาชนจะสามารถมาศึกษาหาความรู้ผ่านการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด นิทรรศการ และกิจกรรม โดยมีเครือข่ายของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ร่วมนำเสนอสาระองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และการพัฒนาต่อไป

ศูนย์การเรียนรู้ฯ มีพื้นที่ 3 ส่วนหลักได้แก่

1. ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ใช้พื้นที่ 2 ชั้น เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยและคลังข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การธนาคาร โดยมีทั้งหนังสือ สื่อวีดีทัศน์ ฯลฯ พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับห้องสมุดชั้นนำทั่วโลกกว่า 7,000 แห่ง และมีพื้นที่ที่สามารถรองรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีห้องประชุมรองรับทีมที่ต้องการทำงานศึกษาวิจัยแบบ co-working space และห้องฉายภาพยนตร์ นอกจากนี้ ยังมีมุมนิทรรศการพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยผู้ก่อตั้ง ธปท. ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การก่อตั้งธนาคารกลางภายใต้บริบทที่ท้าทายซึ่งยังมีความร่วมสมัย

2. พิพิธภัณฑ์ ธปท. ตั้งอยู่ในห้องมั่นคงของโรงพิมพ์ธนบัตร ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ครอบคลุมเรื่องราวตั้งแต่ยุคก่อนรัฐไทยจนถึงปัจจุบัน ให้เห็นถึงพัฒนาการและความเชื่อมโยงของบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ความเป็นอยู่ของผู้คน ตลอดจนความท้าทายและความสำเร็จในการพัฒนาประเทศในแต่ละช่วง

ในห้องแรกของพิพิธภัณฑ์ ธปท. จัดเป็นห้องจัดแสดงเครื่องพิมพ์ธนบัตรจำนวน 3 เครื่อง ซึ่งต้องใช้ประกอบกันเพื่อพิมพ์ธนบัตร 1 ฉบับตั้งแต่ลงสีพื้น พิมพ์ลายนูน และลายเซ็นหมายเลข พร้อมทั้งวีดีทัศน์บรรยายจำลองบรรยากาศการพิมพ์ธนบัตรจริงประกอบวิวแม่น้ำเจ้าพระยาและสะพานพระรามแปด

หลังจากนั้นนำพาชม “ห้องมั่นคง” ของ ธปท. ซึ่งเคยใช้เป็นที่เก็บธนบัตร เงินตราสำรองระหว่างประเทศ และสินทรัพย์อื่นๆ ของประเทศ และเคยเป็นหนึ่งในห้องที่ถือว่าต้องรักษาความปลอดภัยสูงสุดของประเทศ โดยภายในยังคงลักษณะเดิมของห้องเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเสาหรือประตูเหล็กนิรภัย

ในลำดับถัดมา นิทรรศการเงินตรา 2 ชั้น ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การจัดแสดงเหรียญลิเดียที่มีอายุ 2,600 ปี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเหรียญกษาปณ์ของโลก เรื่อยมาจนถึงเหรียญและเงินรูปแบบต่างๆ ในภูมิภาคสุวรรณภูมิของเมืองต่างๆ เช่น เมืองทวารวดี เมืองล้านนา เป็นต้น และจบลงด้วยเงินพดด้วงโบราณในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะเริ่มจัดทำเหรียญกษาปณ์และธนบัตร

ขณะที่นิทรรศการชั้นถัดมาจะเป็นการรวบรวมธนบัตรไทยที่สมบูรณ์ที่สุดในยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ธนบัตรและเหรียญที่หมุนเวียนในปัจจุบันจนถึงธนบัตรและเหรียญที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เช่น เป็นที่ระลึก หรือใช้ในเหตุการณ์พิเศษ เช่น เหรียญทองคำและธนบัตนทองคำ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนนิทรรศทั้งหมดออกแบบให้รองรับประชาชนทุกกลุ่ม มีการจัดวางระดับสำหรับผู้นั่งวีลแชร์ มีอักษรเบรลล์และแบบจำลองเงินตราสหรับผู้พิการทางสายตา และระบบ QR code เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน

ในลำดับถัดมาเป็นอีกส่วนที่น่าสนใจ คือ นิทรรศการบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์การดำเนินงานของธนาคารกลางในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์แอคทีฟจำลองการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อให้เห็นภาพของการดำเนินนโยบายการเงิน หรือว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์อดีตผู้ว่าการและบันทึกเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจในสมัยต่างๆ ของประเทศไทย

3.นิทรรศการและกิจกรรมอื่นๆ เช่น นิทรรศการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีการวางแผนทางการเงินที่ดี เข้าใจความเสี่ยงและกลโกงทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ห้องเก็บรักษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ต้นฉบับสำหรับนักวิชาการในการค้นคว้าวิจัย รวมทั้งนิทรรศการหมุนเวียนอื่นๆ และกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ (edutainment) เช่น กิจกรรมวันเด็ก การแข่งขันตอบคำถามหรือประกวดโครงการที่สร้างการเรียนรู้ การเสวนาโดยนักคิด นักเขียน และศิลปิน

ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. เปิดบริการทุกวันยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 9.30-20.00 น. ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกประชาชนที่สนใจสามารถเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยส่วนเข้านำชมพิพิธภัณฑ์จะมีวันละ 3 รอบ รอบละ 80 คน ซึ่งหากมาวันเสาร์-อาทิตย์แนะนำให้เข้าเยี่ยมชมวังบางขุนพรหมไปพร้อมกัน โทรศัพท์ 023567766 หรือ www.botlc.or.th

อนึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จพระดำเนินเพื่อเจิมป้ายพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ บริเวณชั้น 2 ไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 และการเปิดตัวในวันนี้(19 ธันวาคม 2560) ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อาคารศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นในวาระครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้ง ธปท. โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ

    1) เป็นพื้นที่การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเศรษฐกิจการเงินชั้นนำของประเทศ เพื่อสร้างบุคลากรและองค์ความรู้อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ
    2) เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ทางการเงิน (financial literacy) เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถวางแผนทางการเงินและการป้องกันภัยทางการเงินจากการถูกหลอกลวง
    3) เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ในฐานะธนาคารกลาง ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ
    4) สืบสานความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของประเทศ และจุดประกายเพื่อสร้างพลังในการพัฒนาต่อไป

“การเปิดศูนย์การเรียนรู้ จึงถือว่าเป็นการเปิดประตูบ้านของ “แบงก์ชาติ” เพื่อต้อนรับผู้ที่สนใจโดยมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ที่สาธารณชนมารวมตัวกันเพื่อสร้างโอกาส แรงบันดาลใจ รวมทั้งนิสัยการเรียนรู้และการแบ่งปัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติจำเป็นในบริบทโลกใหม่”

ศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่นี้จะเริ่มเปิดให้บริการในวันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2561โดยมีพื้นที่การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจการเงินแบบบูรณาการ เน้นกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และพื้นที่จัดนิทรรศการให้ความรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจ พร้อมสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย