ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผู้ตรวจการแผ่นดิน รายงาน สนช. AOT ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอ-เปิด “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ”

ผู้ตรวจการแผ่นดิน รายงาน สนช. AOT ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอ-เปิด “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ”

21 ธันวาคม 2017


นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย

ต่อกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ส่งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินให้อัยการสูงสุด (อสส.) วินิจฉัย หาก ทอท. จัดหาพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ถือเป็นการทำผิดเงื่อนไขตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือไม่ ทำให้นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ในฐานะผู้ร้อง ทำหนังสือถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยขอให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ที่กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องจัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี, สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภาเป็นการเร่งด่วน กรณี ทอท. ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผผ 08/2009 แจ้งนางรวิฐา กรณีที่ร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดทำรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เป็นการเร่งด่วน กรณี ทอท. ไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เสนอแนะให้ทอท. จัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองรายอื่น เพื่อใช้ในการส่งมอบสินค้า แต่ ทอท. ได้ชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่าไม่สามารถดำเนินการได้นั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า “ทอท. ยังไม่ได้ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงดำเนินการตามมาตรา 33 วรรค 2 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 โดยได้ปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน และจัดทำรายงานเรื่องร้องเรียนนี้ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นกรณีเร่งด่วนต่อไปแล้ว”

ด้านนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เปิดเผยว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำรายงานกรณีหน่วยงานผู้ไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินอันเป็นที่สุดโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงรายงานเรื่องนี้ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามกฎหมาย ปกติที่ผ่านมา คู่กรณีจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ดูแลแก้ไขข้อพิพาทระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ หรือภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งมีภาคีอยู่ทั่วโลก และเมื่อไม่นานนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาผู้ตรวจการแผ่นดินโลก และได้รับยกย่องจากผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินของประเทศไทยสามารถทำงานแก้ไขข้อขัดแย้งของคู่กรณีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางรวิฐากล่าวต่อว่า ถึงแม้โดยผลของกฎหมายจะไม่มีสภาพบังคับ แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีหน่วยงานใดที่จะไม่ทำตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งทางสมาคมฯ ในฐานะผู้ร้องทราบดีว่าข้อเสนอแนะผู้ตรวจการแผ่นดินไม่สามารถก่อให้เกิดผลของการเปลี่ยนแปลงได้โดยตรง เมื่อมีคำวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นที่สุดแล้ว แต่หน่วยงานที่ได้รับข้อเสนอแนะไม่ปฏิบัติตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาคมฯ ในฐานะผู้ร้องเรียนย่อมมีสิทธิที่จะนำข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินอันเป็นที่สุดแล้วไปประกอบคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อดำเนินคดีกับหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้คำฟ้องดังกล่าวมีน้ำหนักอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลอาญาคดีทุจริตฯ ต่างก็ใช้วิธีพิจารณาด้วยระบบไต่สวนเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันที่สภาพบังคับตามกฎหมาย

“หลายคนมักเข้าใจกันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเพียงเสือกระดาษ แต่ในต่างประเทศที่ใช้ระบบผู้ตรวจการแผ่นดิน หากผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะในเรื่องใดออกมาจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการแก้ไขอาจจะมีปัญหาลุกลามได้ เพราะก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีคำวินิจฉัยหรือข้อเสนอแนะเรื่องใดออกมา ต้องผ่านกระบวนไต่สวน กลั่นกรอง ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายอย่างเป็นองค์คณะ โดยชอบด้วยกฎหมายมาแล้ว” นางรวิฐากล่าว