ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 3 : การลงทุนไทย…กำลังตกเทรนด์โลก?…โลกยุค “network effect” เจ้าของ “platform” คือคนกินรวบ(ตอนจบ)

เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 3 : การลงทุนไทย…กำลังตกเทรนด์โลก?…โลกยุค “network effect” เจ้าของ “platform” คือคนกินรวบ(ตอนจบ)

10 พฤศจิกายน 2017


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 3 “การลงทุนไทย…กำลังตกเทรนด์โลก?” มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย  ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด, ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ดร.นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) และดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย
บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ณ SEAC ชั้น2

ต่อจากตอนที่ 2

ดร.สมประวิณ: เรื่องสังคมผู้สูงอายุกลับไปด้านลบว่าน่าจะกระทบ เคยมีงานวิจัยร่วมกับ ธปท. เราพบว่าการเลือกอาชีพของคนไทย ลักษณะที่น่าสนใจของคนไทยคืออายุมากขึ้นเรื่อยๆ คนไทยสัดส่วนจะเปลี่ยนไปเป็นจ้างงานตัวเองมากขึ้น เราพบว่าแนวโน้มนี้จะไม่เปลี่ยนในอนาคต และจ้างงานตัวเองไม่ได้หมายถึงเป็นเจ้าของกิจการ แต่หมายถึงขายของ เปิดร้านกาแฟ หรือทำอะไร

กลับมาที่การลงทุนถามว่าเขาจะลงทุนหรือไม่ คงไม่ เพราะว่าเขาอายุมากขึ้นแล้วต้องการธุรกิจเพื่อเลี้ยงตัวเอง การทำธุรกิจเพื่อเลี้ยงตัวเองกับทำธุรกิจเพื่อขยาย มันมีผลกระทบที่ต่างกันกับการลงทุน ดังนั้นกระทบ แต่ต้องเรียนว่าเป็นการศึกษาจากโครงสร้างและข้อสมมติในอดีต ฉะนั้นเราพูดเพื่อต้องการชูประเด็นให้เห็นว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างที่จะเปลี่ยนโครงสร้างแบบนี้ที่จะเกิดต่อไปในอนาคต ถ้าเราทำได้ก็จะไม่เป็นอย่างที่ศึกษาไว้ อาจจะเปลี่ยนให้คนออกไปและทำอะไรที่มีผลิตภาพมากขึ้นหรืออยู่ในระบบที่ไม่เป็นจ้างงานตัวเองอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำไป

ดร.นริศ: ผมคิดว่าการลงทุนอย่างน้อยภาพระบบสถาบันการเงินหรือโครงสร้างของระบบการเงินเราไม่ได้ช้า ความพร้อมในการรับ platform ใหม่ๆ ของไทยปรับตัวได้ค่อนข้างดีในเชิงการมี national payment roadmap การมีการชำระเงิน QR Code ค่อนข้างเร็ว ถ้าดูประเทศไหนที่มี disruption ในเชิงการทำให้ระบบการเงิน การชำระเงิน การจ่ายเงิน มันง่ายกับผู้บริโภคกับคู่ค้ามากขึ้น จริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเป็นจีน เป็นอินเดีย ในเมื่อธนาคารไม่ตอบโจทย์เขาก็มีผู้เล่นเข้ามา แต่ของเรามี roadmap เข้ามา ต่อไปจะมีส่งบิลอีก

ตรงนี้เป็นอะไรที่ผมคิดว่าถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านเราไม่ได้ด้อยกว่าเลย เผลอๆ เราเร็วกว่าสิงคโปร์ด้วยซ้ำไป ในจุดโครงสร้างระบบการชำระเงินตรงนี้ เราน่าจะใช้ตรงนี้เป็นจุดแข็ง เราจะมี e-commerce park ใน EEC คือมันก็มีโอกาสเหมือนกัน ขณะเดียวกันเราต้องปรับตัวเรื่องกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ อีกอย่างที่สำคัญคือเรื่องทรัพย์สินทางปัญหาที่ดี การบังคับใช้กฎหมายมันแย่มาก ทำแล้วโดยลอกหรือเปล่า ผู้จดทะเบียนยังไม่รู้ว่าจะจดทะเบียนจะต้องไปจดที่ประเทศอื่นด้วย แล้ว startup ถ้าทำอะไรที่เป็น code จะจดทะเบียนได้หรือไม่ มันเป็นคำถามที่เป็นคนเข้ามาใหม่ๆ ไม่รู้มันต้องการพื้นฐานมารองรับ มาชี้นำให้ไปได้

ดร.พิพัฒน์: กลับไปเรื่องสถาบันเรื่องสินทรัพย์ทางปัญญา ดร.เศรษฐพุฒิมีอะไรจะเสริมไหม

ดร.เศรษฐพุฒิ: เรื่อง e-commerce เรื่องพวกนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างกังวลว่าในที่สุดแล้วผลกระทบกับประเทศอย่างไทย หรือประเทศเล็กๆ จะเป็นอย่างไร อันหนึ่งที่เราทราบดีคือของพวกนี้เป็นอะไรที่มันมี network effect มหาศาล ความหมายคือมันเป็นอะไรที่เป็น natural monopoly on steroid คือติดเทอร์โบเลย เพราะว่าประโยชน์ของ network effect คือถ้าคุณใช้อันเดียวกับผม ประโยชน์ต่อคนที่ตามมาทีหลังมันจะมากขึ้น แนวโน้มคือมันจะกินรวบ คนจะอยู่บน network เดียว เป็นที่มาว่าทำไมเวลา Uber สู้กับคู่แข่งต้องให้ถึงที่สุด และถ้าถึงจุดหนึ่งทุกคนต้องอยู่บนนั้นไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้อะไรเลย ความหมายคือสิ่งเหล่านี้จะถูกใครควบคุม จริงๆ ผมว่ามันจะเหลือแค่ 2 ที่ที่ใหญ่พอจะทำคือสหรัฐอเมริกากับจีน ผมว่าประเทศอื่นที่จะแข่งขันตรงนี้ยากมากเลย เราจะพัฒนาอะไร มันจะถูกจำกัดอยู่ไม่กี่เจ้า

กลับมาเรื่อง value extraction อะไรต่างๆ ของที่เคยเป็น non-tradable อย่างคนขึ้นแท็กซี่เป็นบริการมูลค่าเกิดขึ้นที่นี่ไม่ได้ไปไหน ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว Uber คือคนที่กินตรงกลางอยู่ที่อื่น ของที่เดิมไม่ได้แข่งขันกับโลก ก็กลายเป็นว่าสามารถถูกดึงออกไปได้

และคนที่จะดึงดูดออกไปได้เยอะคือคนที่ควบคุม platform และจะเหลืออยู่ไม่กี่เจ้าไม่กี่ที่ อันนี้ผมว่ามีผลกระทบแรงและมันก็กลับมาถามว่ามีพื้นที่สำหรับคนไทยหรือไม่

มี แต่อะไรจะเกิดขึ้น คุณจะสร้าง startup ขึ้นมา โตระดับหนึ่งก็ถูกซื้อหรือถูกฆ่าไป แต่จะคาดว่าของที่เติบโตจากไทยไปแข่งขันกับโลกมันไม่มีทางเลย แข่งขันผลิตของว่ายากแล้ว แต่มาของแบบนี้ที่ network effect มันสูงและมีโน้มโน้มจะเป็น natural monopoly มันแรง

นอกจาก network effect แล้ว อีกอย่างต้นทุนส่วนเพิ่มเวลาคนเข้ามาก็ต่ำเป็นศูนย์ มันจะเหลือยักษ์ใหญ่ไม่กี่รายและกลายเป็นไม่จีนก็สหรัฐอเมริกาที่น่าเป็นห่วง

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย,ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ,ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ,ดร.นริศ สถาผลเดชา (ภาพจากซ้ายมาขวา)

ดร.พิพัฒน์: เมื่อก่อนเราพูดถึงร้านขายของชำ เอสเอ็มอีก็มีอำนาจตลาดที่พื้นที่ ตอนนี้จะกลายเป็นว่าทั่วโลกเข้ามาแข่งด้วย อาจจะเป็น puzzle หนึ่งของเงินเฟ้อที่ต่ำ เพราะอำนาจตั้งราคาถูกทำลาย เรื่องส่งผ่านต้นทุนอะไรไม่ค่อยได้ด้วย และถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไทยจะแข่งอย่างไร

ดร.สมประวิณ: ผมขอสรุปจากที่พูดๆ กัน ทำอย่างไรผมก็ยังเชื่อว่าวันนี้โครงสร้างเศรษฐกิจมันบิดเบี้ยวอยู่ มันเป็นเรื่องที่ตลกมากที่นักเศรษฐศาสตร์ออกมาบอกว่าเศรษฐกิจดีแล้ว แต่ทุกคนบอกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เศรษฐกิจดีทุกคนน่าจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจดี แสดงว่ามันไปดีบางที่ที่มันไม่ใช่คนที่เรารู้สึก เหมือนกันกับการเติบโตและแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจมันจะควรจะเติบโตได้จากทุกภาคส่วน เพราะว่าการมีส่วนร่วมของคนที่ไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญ

ที่เราพูดกันมาสรุปได้ 3 ประเด็น

  • เรื่องแรกคือเราต้องสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าสู่ตลาด ชาวบ้านที่ไหนก็ได้คิดอะไรได้อยากไปจดทะเบียนบริษัท อยากจะอะไร ทำได้
  • เรื่องที่ 2 คือต้องมีความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน เราคิดอะไรได้ เข้าสู่ตลาดได้แล้ว เราถูกปกป้องจากนวัตกรรมของเราในระดับหนึ่งและเอื้อให้เราแข่งขันเติบโตได้แล้วจึงเสียสละอำนาจตลาดนั้นออกไป เพื่อให้เราสร้างนวัตกรรมใหม่
  • เรื่องที่ 3 คือเรื่องการเงิน เราคงต้องสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เป็นแบบนี้คงต้องพร้อมๆ กัน ไม่ใช่สูตรสำเร็จ 1 2 3 แต่เป็นอะไรที่ช่วยได้บ้างว่าการมีส่วนร่วมของคนไทยที่เข้ามาผลิตมาลงทุนมาเติบโตไปพร้อมกับประเทศน่าจะมีมากขึ้นและอย่างน้อยความรู้สึกของคนน่าจะดีขึ้น ไม่ใช่อยู่ที่ใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จัก

ดร.พิพัฒน์: ถามต่อเรื่องคุณภาพของแรงงาน จะเป็นอุปสรรคหรือไม่ ไม่ค่อยมีใครแตะถึง

ดร.สมประวิณ: เราก็รู้อยู่แล้ว แต่เรื่องแรงงานผมว่าเรื่องความเหมาะสมของแรงงานกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่างหากที่สำคัญ mismatch ที่เกิดขึ้น ที่ไม่ได้พูดไปตั้งแต่แรกเพราะคิดว่ารู้กันอยู่แล้วและพูดกันมาหลายรอบแล้ว แต่ผมก็ตอบไม่ได้อีกว่ามันจะเป็นสิ่งสำคัญหรือเปล่าในอนาคตด้วยซ้ำไป เพราะว่าผมไม่รู้ว่าโลกใหม่จะเป็นอย่างไรและอาจจะไม่ได้ต้องการคนที่เราบอกว่าเป็นคุณภาพวันนี้ ในอนาคตอาจจะเป็นอะไรก็ได้

ดร.เศรษฐพุฒิ: ประเด็นนี้น่าสนใจจริงๆ เพราะว่าเดิมโลกมันเจอกระแสว่า automation กับ robot มาแทนคนที่เป็นกลุ่มแรงงานในโรงงานออกไปหมด แต่ต่อไปเรื่องของ AI จะมาแทนพวกแรงงานที่มีทักษะ นักวิเคราะห์อะไรจะโดนต่อไป ดังนั้น นิยามของสิ่งที่เรียกว่าแรงงานทักษะเป็นโจทย์ที่ยากมาก ผมอ่านบทความหนึ่งที่น่าสนใจคือเขาบอกว่า AI ทำให้ของยากเป็นของง่ายและทำให้ของง่ายเป็นของยาก

สำหรับ AI เขายกตัวอย่างว่า AI เล่นโกะหรือหมากรุกเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าให้ไปนั่งเช็ดหมากรุกยากมาก กลายเป็นว่าคนต่อไปเป็นคนมานั่งเช็ดหมากรุก เวลาแข่งให้ AI เล่นไป เป็นตัวอย่างที่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปเยอะ

ผมขอเสริมต่อเนื่องว่าการลงทุนหายไปอีกว่า ถ้าถามพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ไม่มีใครรู้ เพราะทุกอย่างมันเปลี่ยน ดังนั้นโจทย์มันเป็นว่าคำตอบที่ว่าโอกาสอยู่ไหนคือว่าเราต้องสร้างระบบนิเวศต่างๆ ที่สร้างโอกาสให้คนเยอะที่สุด คนที่นั่งอยู่นี่ไม่รู้ แต่ข้างนอกมีคนที่รู้ว่าโอกาสมาตรงไหน เราต้องมั่นใจว่าคนนั้นได้รับโอกาสนั้นไป ผมว่าคำตอบเป็นแบบนั้นมากกว่า

ดร.พิพัฒน์: คำถามทิ้งท้ายว่าถ้าการลงทุนต่ำกว่าที่เป็น แนวโน้มโลกก็เปลี่ยน คำถามคือไทยจะตกขบวนหรือไม่ และอยากให้ใครทำอะไร?

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ,ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ,ดร.นริศ สถาผลเดชา (ภาพจากซ้ายมาขวา)

ดร.นริศ: ผมขอพูดเรื่องระบบธนาคาร ผมคิดว่าระบบธนาคารเองก็ถ้าไม่สร้างนวัตกรรมเราก็ล้าหลังและมันค่อนข้างชัดเจนว่าอนาคตคืออะไร สำหรับธนาคารซึ่งเป็นน้ำหล่อเลี้ยงการลงทุน เป็นคนให้สภาพคล่อง การให้สินเชื่อบนฐานของการค้ำประกันมันควรจะพัฒนามากกว่านี้ ไม่ใช่รูปแบบธุรกิจแบบเดิม เรื่องระบบการชำระเงินเรารู้อยู่แล้วว่าถ้าปรับตัวไม่ทันแพ้แน่นอน เหมือนอย่างที่จีนไปแพ้กับ Alipay WeChat ฉะนั้นตรงนั้นเราค่อนข้างตื่นตัว พร้อมจะรองรับธุรกรรมให้ทำได้สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม

แต่เรื่องทุนที่เราให้ไปมันยังค่อนข้างไม่ทันสมัย ตรงๆ คือล้าหลัง แล้วการแก้ปัญหาแบบ บสย. ค้ำประกัน มันช่วย แต่ไม่ได้ทั้งหมดแล้วการได้รับการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เรื่อง soft loan หว่านแหไป มันไม่ได้ไปถึง ถ้าเรียนตามจริงธนาคารตอนนี้ เจอสภาวะตั้งสำรองขนาดนี้ ผลประกอบการออกมาเหนื่อยขนาดนี้ ธนาคารก็จัดให้ลูกค้าที่มั่นใจว่าจะรอดแน่ๆ คนที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ ตรงนี้คือ…

financial inclusion เรื่องการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี มันเป็นอะไรที่ธนาคารต้องปรับตัวมากกว่านี้ mentality เดิมๆ ต้องเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นเราจะอยู่ไม่ทันเศรษฐกิจแบบใหม่ๆ

ดร.สมประวิณ: ผมคิดว่าการจัดสรรทรัพยากรที่ดีที่สุดคือระบบตลาด มันมี 3-4 อย่างที่ทำให้การจัดทรัพยากรของระบบตลาดทำไม่ได้ อย่างแรกคือการแทรกแซง น่าจะต้องลดในบางพื้นที่ ส่วนใหญ่ประเทศไทยถึงจุดที่ผมคิดว่าเราคิดว่าตลาดทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งการแทรกแซง อย่างที่ 2 คือต้นทุนของธุรกรรมสูง เราก็รู้ว่ามีหลายอย่าง เช่นค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างที่ 3 คือข้อมูลข่าวสาร คนไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ ทุกอย่างดี แต่บังเอิญไม่มีข้อมูลข่าวสาร

ดังนั้น 3 เรื่องนี้สำคัญมากที่จะต้องช่วยให้เกิดขึ้น โลกใหม่ในอนาคตเรารู้ว่าทุกวันนี้การได้ข้อมูลข่าวสารถูกลงมากๆ เพราะฉะนั้นเราซึมซับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในโลกใหม่อย่างไร เราพูดเรื่อง digitization แต่ทุกวันนี้เราทำดิจิทัลแบบไม่ใช่ดิจิทัลจริงๆ ดิจิทัลแบบเรายังใช้บัตรประชาชนไปซีร็อกซ์และสแกนแล้วอัปโหลด มันก็ไม่ใช่ ดิจิทัลมันไม่ต้องมี ทุกอย่างมันไปเลยแล้วอยู่ในไอดีหมด เราสามารถดูดซับอะไรแบบนั้นได้หรือไม่

แล้วสิ่งเรานี้ผมคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของโลก เราอาจจะไม่ต้องเป็นคนสร้างหรอก แต่คิดว่าเราตักตวงและอย่าไปคิดแต่ว่ามันเป็นภัยเสมอไป ผมคิดว่าเราก็น่าจะไปต่อได้

ดร.เศรษฐพุฒิ: หลักที่คุยกันอยู่ตอนนี้คือทำอย่างไรที่เหมือนสร้างโอกาสให้คนมากขึ้น ทั่วถึงขึ้น มานั่งว่าทำไมมันถึงไม่เกิดขึ้นเพราะอะไร ผมว่าที่ผ่านมาเราโตแบบยอดภูเขาไม่ได้โตด้วยฐานทั้งหมด อันแรกคือเรามักจะอิงกับภาครัฐเยอะ เวลามีปัญหาอะไร คำตอบของผมอาจจะเป็นว่าไม่ใช่รัฐควรทำอะไร แต่เป็นรัฐไม่ควรทำอะไร ถอยออกมา ถ้าเราดูสัก 50 ปีที่แล้วผมไม่เถียง ศักยภาพของรัฐมาก ศักยภาพของเอกชนประชาชนน้อย ตอนนี้มันกลับกัน ดังนั้นรัฐควรจะลดบทบาท เรื่องกฎหมาย เรื่องรัฐวิสาหกิจ บทบาทเยอะแยะ รัฐต้องลดบทบาทหรือปล่อยมากขึ้น ผมไม่อยากใช้คำว่าลดบทบาท ต้องปรับบทบาท ลดบทบาทในบางเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่ว่าเรื่องที่ควรทำที่คนอื่นไม่ทำเช่นการศึกษา ใส่ทรัพยากรเข้าไป แต่อย่างอื่นก็ถอยออกไป มันจะช่วยปลดล็อกให้ทุกอย่างมันดีขึ้น

ผมขอยกตัวอย่างที่ชอบใช้เรื่องหนึ่ง มีสิ่งหนึ่งที่เราประสบความสำเร็จมากและแข่งขันกับโลกได้ ยิ่งช่วงหลังเราไปได้ดีคือพวกร้านอาหาร ถ้าเราดูตอนนี้เมืองไทยกลายเป็นแบบเป้าหมายที่คนมาเพื่อกินเลย เพราะว่ามันเริ่มมีร้านสไตล์มิชลิน มีดาว

ถามว่าอันนี้มาจากนโยบายภาครัฐหรือเปล่า ไม่ใช่เลย ถามว่าทำมันถึงเป็น sector ที่แข่งขันได้มากขนาดนี้ เพราะผมว่ามันเป็น sector ที่เราปล่อยให้เกิดแก่เจ็บตายได้ ของที่ดีก็ไปต่อของไม่ดีก็ตายไป ลองนึกภาพให้รัฐมาทำเรื่องร้านอาหาร แบรนด์ไทย เมนูที่ควรมีต้องเป็นแบบนี้ ต้องเป็นของที่แบบสื่อความเป็นไทย มันไม่ตอบสนองต่อความต้องการของไทย ไม่มีนวัตกรรม นวัตกรรมมันมาอย่างไรก็มาจากกลไกตลาดทำงาน ทดลองไปเรื่อยๆ ลองผิดลองถูก อันนี้ดีก็โต อันนี้ไม่ดีก็ตายไป ตรงนั้นเป็นจุดที่สำคัญที่จะปลดล็อกจากข้างบน

อีกเรื่องที่สนใจมานานคือเรื่องสังคมเมือง ประเทศไทยสังคมเมืองกระจุกอยู่ใน กทม. เป็นหลัก เมืองรองไม่ค่อยมี เทียบกับประเทศอื่น ของเขาเมืองที่สองเมืองที่ 3 จะใหญ่และมีหน้าที่ของมัน แต่ของเราจาก กทม. ออกไปจะเล็กมากๆ ดังนั้นจะสร้างหัวเมืองอื่นๆ ให้ใหม่ได้ เราชอบพูดเหมือนกับว่าการกระจายความเจริญ ผมไม่ชอบคำนั้น ผมอยากจะใช้คำว่าสร้างการกระจุกตัวใหม่ๆ เพราะถ้ากระจายเหมือนกับสนับสนุนคนไปลงทุน ให้ไปลงทุน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่ที่คนไม่ไปกัน แต่คุณต้องการ cluster ใหม่ๆ ให้เมืองอื่นๆ โตขึ้น พวกนี้จะสร้างโอกาสขึ้นเอง

ผมไปประชุมที่สิงคโปร์ 2-3 เดือนที่แล้ว เขาบอกเลยว่าโจทย์เปลี่ยน เขาบอกว่าโลกเปลี่ยนเร็วจนขนาดรัฐบาลเขาไม่รู้แล้วว่าโลกจะไปทางไหน โจทย์คือจะทำให้เมืองเขาเป็นเมืองน่าอยู่ และให้คนเก่งๆ มาอยู่ที่นี่และเชื่อว่าคนเก่งๆ จะคิดอะไร จะสร้างโอกาสได้เอง ผมมองคล้ายๆ กัน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ(ขวา)และดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย(ซ้าย)

ดร.พิพัฒน์: มันกลับมาว่าเป็นหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ให้เมืองแข่งขันกันเองหรือไม่ โมเดลอย่างสหรัฐอเมริกาเห็นชัดว่าถ้าภาษีหรือโอกาสมันดี โรงเรียนดีคนย้ายไปหามัน

ดร.เศรษฐพุฒิ: รัฐมันมีบทบาทอยู่แล้ว แต่ต้องทำบทบาทที่ถูกต้อง อย่างโรงเรียนยังไงรัฐควรทำ เอกชนทำก็มีแต่อินเตอร์ขายคนรวยๆ แต่สมมติจังหวัดขอนแก่นทำโรงเรียนที่สุดยอด ถามว่าไม่มีคนอยากย้ายไปหรือ ก็ไป มันเป็นบทบาทที่รัฐเล่นและดึงคนเข้าไป กลับกันถ้ารัฐนำทุกอย่าง รัฐออกแบบเมือง มันมีตัวอย่างในโลกเยอะมาก ไม่ใช่ของไทย ชอบไปสร้างเมืองหลวงใหม่ อย่างที่บราซิลมันก็เละ เพราะมันไม่ตอบโจทย์ของคน แต่เห็นด้วยว่ามันเป็นการกำหนดหน้าที่ขอบเขตให้ชัดเจน เช่น การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานของเมือง ให้มันดี ที่หลังให้เอกชนเลือกเอาใครอยากจะไปไหน อะไรจะเกิดตรงนั้นก็เกิดใหม่

ดร.พิพัฒน์: มันเป็นการกระจายความเจริญโดนที่รัฐไม่ต้องกระจายไป

ดร.เศรษฐพุฒิ: รัฐเป็นคนสนับสนุนแต่ไม่ควรเป็นคนไปกำหนด

ดร.สมประวิณ: อาจจะมีเสริมว่าบทบาทรัฐควรจะทำหรือไม่ ผมคิดว่าตอบไม่ได้ แต่รัฐต้องตอบคำถามนี้ให้ได้

ดร.พิพัฒน์: อยากจะกลับไป EEC กับ Thailand 4.0 คนพูดถึงเยอะว่าเป็นความหวังของการลงทุนไทยเลย คำถามอันแรกคือที่ไม่ลงทุนเพราะไม่มีของพวกนี้หรือเปล่า

ดร.สมประวิณ: ผมคิดว่าคงมีการลงทุนมากขึ้น แต่ว่ามันไม่ใช่เพราะว่ามันไม่มี เลยไม่ลงทุน แต่มองไปอนาคตมันมีแล้วจะลงทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็คงจะมี เพราะมันดูตื่นตา จะมีรถไฟความเร็วสูง แต่อย่างที่เรียนว่าตื่นตากับคนบางคน คิดว่าผมเป็นชาวบ้าน ผมไม่ได้จะลงทุนไปขายทั้งโลก ผมคงไม่ลงทุนใน EEC ผมไม่รู้ว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าไปในพื้นที่ มันก็มีตลาดของการลงทุนส่วนหนึ่ง แต่อย่างที่พูดว่าการลงทุนมันมีหลายระดับหลายแบบ แต่ละที่ต้องออกแบบ ผมถามว่าสร้างโรงเรียนที่ขอนแก่นมันคือลงทุนหรือเปล่า มันก็ใช่แต่เป็นการลงทุนในคน

ดร.นริศ: ผมคิดว่า EEC คงกระตุ้นการลงทุน ในเชิงเม็ดเงินคงพยายามจะได้ก้อนใหญ่ก่อน เอาของฝรั่งเอาเทคโนโลยีเข้ามา เป็นเรื่องที่ดี แต่ที่สำคัญคือผมคิดว่าเป็นประเด็นหลักคือสร้างเมือง คือสร้างศูนย์กลาง มีผู้เชี่ยวชาญมาก็เอาลูกมาเรียน เป็นเมืองที่ครบวงจร เสร็จแล้วที่ผมคิดว่าควรจะได้รับการส่งเสริมใน EEC คือจับมือเอสเอ็มอีที่อยู่ในนั้น พาเข้าไปด้วย เพราะกลุ่มล่างๆ อาจจะเข้าไปไหว มันจะถูกกีดกันหรือไม่ มันบิดเบี้ยวหรือเปล่า ก็อาจจะทำอยู่แล้ว แต่ถ้าพยายามเอาห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดติดเข้าไปด้วย ให้มันชัดเจนว่ามีแรงจูงใจจะพาเข้าไปด้วย มันจะได้ผลที่มันยั่งยืนขึ้น กระจายตัวด้วย

ดร.เศรษฐพุฒิ: ผมมีเกณฑ์ว่าถ้ามีสัมมนา 4.0 ผมจะไม่ไป แต่เหมือนกับหลายปีก่อนอะไรก็ AEC ผ่านมาและผ่านไปโดยไม่รู้สึกอะไร เราจะทำอะไรก็ตาม แต่ของจริงมันอยู่ที่เราคุยกัน ถ้าของพวกนี้มันแก้เรื่องที่เราคุยกันมันก็เป็นสิ่งที่ดีเป็นโอกาส แต่ถ้ามัน… มันอยู่ในรายละเอียดของพวกนี้ แต่ผมว่ามันเป็นโอกาสที่การลงทุนโลกอยู่ในช่วงที่มันจะเปลี่ยนถ้าเราปรับตัวทันที่คุยกันทั้งหมดเราจะไม่ตกขบวน แต่ที่ผ่านมาเรากำลังล่าช้าหรือเปล่าก็ล่าช้ามา

ดร.สมประวิณ: กลับไปเรื่องบทบาทภาครัฐกับ 4.0 มันก็มีอยู่ว่าบทบาทต้องทำอะไร เรื่องหนึ่งคือต้องช่วยจัดสรรทรัพยากร การมี EEC เราสุมทรัพยากรไปในพื้นที่หนึ่ง เมื่อไรก็ตามมันเกิดแล้วอย่าลืมกระจายไปที่อื่นด้วย เพราะมันเป็นต้นทุนตอนที่คุณกำลังสร้าง EEC คุณไม่ได้เอาไปใช้ที่อื่น มันเป็นสิ่งที่เราเสียสละใช่ไหม อาจจะใช่ แต่ในอนาคตไม่ใช่จะสุมไฟไปที่นี่ตลอด ผมคิดว่าการกระจายตัวของการสร้างเมืองกระจุก คิดต่อว่าถ้า EEC สำเร็จจะไปทำตรงไหนต่อ อาจจะไม่ใช่แบบนี้อาจจะเป็นด้านบริการอะไรบางอย่าง ต้นทุนของการสร้างมันก็มี

ดร.นริศ: ผมมมองว่าไทยแข็งแกร่งแต่ว่าก็มีสัก 4 ประเด็นที่เราพัฒนาได้ คือโครงสร้างสถาบัน เรื่องการศึกษา สาธารณสุข เรื่องตลาดแรงงาน และเรื่องผลิตภาพของธุรกิจ

เรื่องโครงสร้างสถาบัน เน้นไปที่เรื่องสิทธิทางปัญญา ถ้าไม่รับการปรับปรุงก็จะทันกับคู่แข่งเรามากขึ้น เรื่องการเมืองคิดว่ามีส่วนเยอะ คนจะมาลงทุนไม่ได้ดูผลตอบแทน 5 ปี แต่เขาดู 30 ปี ถ้าการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ระบบการเมืองไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นยังเป็นจุดอ่อนของไทย เรื่องการศึกษาคงเป็นปัญหา ไม่เช่นนั้นคนว่างงานกว่าครึ่งเป็นคนที่จบการศึกษาสูงที่สุด อันนี้แปลกเพราะต่างประเทศคนว่างงานเยอะคือการศึกษาต่ำ ของเรากลับเป็นกลุ่มการศึกษาสูง

ต้องกลับมาตอบโจทย์ เรื่องตลาดแรงงาน เรื่องความยืดหยุ่นในการกำหนดค่าจ้างเป็นประเด็น ค่าใช้จ่ายในการให้ออกจากงานควรจะเทียบเคียงกับรอบข้าง ดูว่ากฎหมายแรงงานดึงดูดพอที่จะดึงคนเก่งๆ เข้ามาหรือไม่ อย่าคิดแต่ว่าเราจะใช้แต่ทรัพยากรเฉพาะคนไทย เราต้องคิดที่จะดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามา แม้แต่นักเรียนทุนที่ยังกลับมาไม่ครบอยากจะให้กลับมามากขึ้น เรื่องผลิตภาพทางธุรกิจ R&D เป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้มากขึ้น เวลาคุยกับธุรกิจใหญ่ๆ เขาจะมีของเขา ซึ่งส่วนใหญ่ได้มากจากแม่ แต่ถ้าดูรองๆ ลงมาที่เป็ของไทยจริงๆ ก็มี R&D ไม่กี่แห่ง ไม่ได้เยอะมาก และพวกที่มีและทำสำเร็จคือกลุ่มอาหาร แต่ด้านอื่นๆ ควรจะได้รับการพัฒนาการส่งเสริม กล่าวรวมไปถึงเอสเอ็มอีด้วยเหล่านี้

เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่3

ดร.สมประวิณ: ย้อนกลับไปเรื่องการศึกษา มีประเด็นหนึ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นว่าแม้เราจะไม่รู้ว่าความรู้อะไรที่ต้องการ แต่คุณสมบัติของประชากรไทยนั้นสามารถหาได้ เราเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่าการพัฒนาที่สูงขึ้นเราต้องการคนแบบไหนที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศ ต้องเป็นคนที่ฝ่าฝืนกฎจราจรหรือไม่ หรือว่าต้องเป็นคนที่มีระเบียบวินัย หรือต้องมีความซื่อสัตย์ หรือมีคุณธรรม คิดว่าเรื่องสังคมมันเกิดจากการรวมกันของคน

ทุกวันนี้เราพัฒนาเศรษฐกิจมาไกล แต่การพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนมันน่าจะแตะเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้น่าจะช่วย ในเมื่อเราไม่รู้ว่าในอนาคตองค์ความรู้อะไร แต่ว่ามันไม่จำเป็น ประเทศที่คนส่วนใหญ่ สมมติว่าคนในประเทศไม่ได้มีการศึกษาก็เปิดมหาวิทยาลัยเยอะแยะให้จบปริญญาตรี ในตรงกันข้ามอาจจะไม่ได้จบปริญญาตรี แต่เป็นคนที่มีคุณสมบัติที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศได้ อาจจะมีระเบียบวินัย อาจจะซื่อสัตย์ ไม่ต้องมีกฎหมายที่เข้มมาก เพราะคนมีความยับยั้งชั่งใจบางอย่าง อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำไป อาจจะเป็นคุณสมบัติสำหรับคนในอนาคต ไม่ใช่เรื่องของความรู้อย่างเดียว

สนับสนุนโดย