ThaiPublica > เกาะกระแส > การศึกษาที่เป็นเลิศของฟินแลนด์ ให้บทเรียนสากลแก่ประเทศต่างๆอย่างไร?

การศึกษาที่เป็นเลิศของฟินแลนด์ ให้บทเรียนสากลแก่ประเทศต่างๆอย่างไร?

21 พฤศจิกายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ในช่วงเวลาแค่ครึ่งศตวรรษ ฟินแลนด์ที่มีประชากร 5.4 ล้านคน สามารถเปลี่ยนจากประเทศที่มีเศรษฐกิจการเกษตรและป่าไม้ มาเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ปัจจุบัน ลักษณะโดดเด่นของฟินแลนด์คือ ประเทศรัฐสวัสดิการ ที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรสูงสูงสุดประเทศหนึ่งในยุโรปตะวันตก การศึกษามีคุณภาพสูง และนโยบายรัฐที่มุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมกันของคนในสังคม ส่วนจุดเด่นทางด้านเศรษฐกิจคือ เทคโนโลยีการสื่อสาร และธุรกิจสตาร์ทอัพด้าน IT

ฟินแลนด์ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศมหาอำนาจด้านการศึกษา ชื่อเสียงโด่งดังของฟินแลนด์มาจากผลการสำรวจของกลุ่ม OECD เรียกว่า Program for International Student Assessment (PISA) ที่มีการสำรวจทุกๆ 3 ปี โดยเปรียบเทียบความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปี ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนของฟินแลนด์ติดอันดับสูงทั้ง 3 ด้าน เหมือนกับนักเรียนของเกาหลีใต้และสิงคโปร์

นอกจากความรู้ความสามารถของนักเรียนฟินแลนด์แล้ว การศึกษาของฟินแลนด์ยังโดดเด่นมากในเรื่องที่ คุณภาพการศึกษาของบรรดาโรงเรียนต่างๆ แทบไม่แตกต่างกันมาก ทำให้นักเรียนที่มีความสามารถสูงกับต่ำ มีช่องว่างที่ต่างกันไม่มาก แสดงให้เห็นว่า ความรู้ความสามารถของนักเรียนฟินแลนด์แทบทั้งหมด อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จเรื่องความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษาที่มีคุณภาพสูง ทั้งๆที่นักเรียนฟินแลนด์มีการบ้านน้อย เวลาเรียนก็น้อยกว่าประเทศอื่น และนักเรียนส่วนใหญ่เข้าโรงเรียนใกล้บ้าน นาย Ollin Luukkainen ประธานสหภาพครูของฟินแลนด์กล่าวว่า “ความเท่าเทียมกันเป็นคำที่สำคัญสุดของการศึกษาฟินแลนด์”

แนวคิด “ความเท่าเทียม”

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟินแลนด์เริ่มต้นการเดินทางในเส้นทางใหม่ ฟินแลนด์เป็นประเทศยากจน ป่าไม้คือทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ความเสียเปรียบดังกล่าว ทำให้ผู้นำประเทศมองเห็นว่า ความสำเร็จของประเทศอยู่ที่ การสร้างมันสมองให้แก่ประชาชน การศึกษาจึงเป็นความหวังเดียว ที่จะเตรียมตัวประชาชนสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ไม่ใช่การเกษตรหรืออุตสาหกรรม แต่เป็นความรู้ แม้ในเวลานั้น เศรษฐกิจไฮเทคจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เป้าหมายดังกล่าว ทำให้ฟินแลนด์เริ่มต้นก่อนประเทศอื่นๆ ที่จะทำให้การศึกษาฟินแลนด์มีความพร้อมสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21

ก่อนที่ฟินแลนด์จะปฏิรูปการศึกษาไปสู่เส้นทางใหม่นั้น สังคมมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องทิศทางการศึกษาของประเทศ เช่น คนส่วนหนึ่งเห็นว่า จำเป็นหรือที่จะสร้างโรงเรียนรัฐบาลให้มีหลักสูตรการเรียนเหมือนกัน จำเป็นด้วยหรือที่นักเรียนทุกคนควรจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ แบบเดียวกับนักเรียนโรงเรียนชั้นนำ นอกจากภาษาฟินแลนด์และสวีเดนแล้ว จำเป็นหรือที่นักเรียนจะต้องเรียนภาษาต่างประเทศอีกหนึ่งภาษา เป็นต้น

ในต้นทศวรรษ 1970 คณะกรรมการพิเศษปฏิรูปการศึกษาเสนอให้ฟินแลนด์สร้างระบบการศึกษาที่โรงเรียนมีเป็นเอกภาพเดียวกัน เดิมระบบการศึกษาฟินแลนด์แยกเป็นโรงเรียนสายสามัญ กับโรงเรียนพื้นบ้าน (folk school) นักเรียนที่เข้าเรียนสายสามัญจะมาจากครอบครัวคนมีฐานะในเมือง ในที่สุด ฟินแลนด์ก็ปฏิรูปการศึกษาตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปดังกล่าว ทำให้ระบบการศึกษาฟินแลนด์สะท้อนสิ่งที่เรียกว่า “โอกาสที่ทั่วถึงของการศึกษาที่มีคุณภาพ” (universal high-quality education)

ระบบการศึกษาฟินแลนด์ได้รับการยอมรับว่าเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ดูจากผลการทดสอบของ PISA ที่นักเรียนฟินแลนด์ได้คะแนนสูงสุด นักเรียนในฟิลแลนด์ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ตั้งแต่ละดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย นักเรียนทุกคนมีอาหารกลางวันฟรี การศึกษาภาคบังคับเริ่มจากอายุ 7-16 ปี ที่เริ่มต้นเมื่ออายุ 7 ปี เพราะต้องการให้เด็กได้พัฒนาเต็มที่ในช่วงวัยเด็ก นักเรียนต้องเรียนภาษาต่างประเทศ 2 ภาษา ครูสามารถสอนในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนหลักของประเทศ นักเรียนฟินแลนด์เป็นนักอ่าน แม้แต่เวลาดูโทรทัศน์ เด็กก็ยังอ่านคำบรรยายซับไตเติ้ล หนังสือเด็กในฟินแลนด์มีจำนวนมากกว่าประเทศใดในโลก หากเปรียบเทียบกับประชากร

แนวคิดของฟินแลนด์เรื่อง การศึกษามีคุณภาพอย่างทั่วถึง ทำให้ทุกๆฝ่ายได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสังคมโดยรวมและตัวบุคคล สังคมสามารถเก็บเกี่ยวดอกผลจากทรัพยากรมนุษย์ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และพลังพลวัตรต่างๆ (dynamism) แต่สำหรับคนในสังคม การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ช่วยให้คนแต่ละคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่

ความเป็นเลิศมาจากไหน

ความมหัศจรรย์ด้านการศึกษาของฟินแลนด์ ทำให้นักการศึกษาจากทั่วโลก เดินทางมาดูงานการศึกษาของฟินแลนด์ คนที่มีชื่อเสียงด้านการปฏิรูปการศึกษาของฟินแลนด์คือ Pasi Sahlberg ที่เขียนหนังสือชื่อ Finnish Lessons: What can the world learn from educational change in Finland? ในปี 2011 เขาเดินทางไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก โดยพูดถึงความแตกต่างระหว่างโรงเรียนสหรัฐฯกับฟินแลนด์ เช่น ทำไมอาชีพครูจึงมีเกียรติมากในฟินแลนด์ แต่มีประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ Sahlberg พูด และคนอาจจะฟังแบบผ่านๆไปคือ “ในฟินแลนด์ ไม่มีโรงเรียนเอกชน” ในทางปฏิบัติ นักเรียนและนักศึกษาทุกคนในฟินแลนด์ เข้าเรียนสถาบันการศึกษาของรัฐ ไม่ว่าจะระดับอนุบาลหรือปริญญาเอก

หนังสือที่อธิบายว่า ฟินแลนด์ใช้แนวคิด Supply Approach ต่อการศึกษา

Pasi Sahlberg เห็นว่า นักปฏิรูปการศึกษาในสหรัฐอเมริกาหมกมุ่นกับคำถามที่ว่า เราจะติดตามความสามารถของนักเรียนได้อย่างไร หากไม่มีการทดสอบเป็นระยะ เราจะปรับปรุงการสอนได้อย่างไร หากไม่มีเรื่องความรับผิดของครูที่ทำหน้าที่ไม่ได้ดี หรือไม่มีการให้ผลตอบแทนแก่ครูที่ทำหน้าที่ได้ดี เขามองว่า คนอเมริกันมองโรงเรียนเหมือนกับร้านขายของ ที่พ่อแม่สามารถเข้ามาหาซื้อของที่จะเอาไปให้กับลูก

ในหนังสือชื่อ The Nordic Theory of Everything ผู้เขียนคือ Anu Partanen ได้อธิบายแนวคิดของ Pasi Sahlberg ว่า เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ฟินแลนด์จำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษานั้น เป้าหมายการปฏิรูปไม่ใช่ความเป็นเลิศทางการศึกษา แต่เป็นเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา การจะเข้าใจแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา จำเป็นต้องเข้าใจงานวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ในเรื่องการศึกษา

ในหนังสือชื่อ Poor Economics: A Radical Rethinking of the Way to Fight Global Poverty คนเขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของ MIT ชื่อ Abhijit Banerjee และ Esther Duflo ที่กล่าวถึงวิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้แก้ปัญหาของประเทศยากจน การศึกษาเป็นวิธีการหนึ่ง ที่มีการพูดกันมากว่าเป็นหนทางแก้ปัญหาทั้งหมด แต่ผู้เขียนบอกว่า ผู้เชี่ยวชาญมักจะมองการศึกษา ด้วยแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งจากทั้งหมด 2 แนวคิดด้วยกัน

แนวคิดที่ 1 คือมองการศึกษาแบบ “อุปสงค์” (demand approach) โดยมองว่า การศึกษาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง พ่อแม่เสียเงินให้ลูกเข้าโรงเรียน เพราะเป็นการลงทุน ที่จะได้ผลตอบแทนในอนาคต อนาคตของเด็กนักเรียนจึงขึ้นกับความต้องการและฐานะเศรษฐกิจของพ่อแม่ แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในหลายประเทศ การศึกษาต้องอาศัยการให้บริการจากภาคเอกชน แนวคิดนี้ส่งเสริมการมีทางเลือกด้านการศึกษา ทำให้มีการการแปรรูปการศึกษามากขึ้น และมีมาตรการปฏิรูปการศึกษาต่างๆ เช่น การวัดผลการสอนของครู การแข่งขันระหว่างโรงเรียน ครู และนักเรียน รวมทั้งการมีเวลาเรียนมากขึ้น

แนวคิดที่ 2 คือความคิดที่มองการศึกษาแบบ “อุปทาน” (supply approach) การศึกษาเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ฟินแลนด์มองการศึกษาด้วยแนวคิดนี้ โดยเห็นว่า เป้าหมายการศึกษา คือการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมแก่พลเมืองทุกคน และเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่คนทุกคน เมื่อฟินแลนด์ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษ 1970 ให้โรงเรียนมีหลักสูตรเป็นเอกภาพเดียวกัน เป้าหมายการปฏิรูปก็เพื่อให้ฟินแลนด์บรรลุเป้าหมาย การเป็นประเทศที่เศรษฐกิจอิงอาศัยองค์ความรู้ และประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21

บทเรียนจากฟินแลนด์

ความสำเร็จของฟินแลนด์เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ คือภายในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ในทศวรรษ 1950 ฟินแลนด์ยังเป็นประเทศล้าหลัง ช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย การว่างงานในฟินแลนด์พุ่งขึ้นถึง 19% เพราะโซเวียตเป็นตลาดใหญ่ของฟินแลนด์ ทำให้ฟินแลนด์ตระหนักว่า การที่ฟินแลนด์จะอยู่รอดได้ในเศรษฐกิจยุคใหม่ ประเทศต้องสามารถเรียนรู้ได้ไวและมีประสิทธิผลมากกว่าประเทศคู่แข่ง ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ฟินแลนด์จึงมุ่งที่จะสร้างเศรษฐกิจที่อาศัยความรู้ แรงงานมีฝีมือสูง และการสร้างสรรค์

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในความสำเร็จของฟินแลนด์ คือ ความสามารถที่จะประสานและบูรณาการ 3 อย่างเข้าด้วยกัน คือ เศรษฐกิจที่มีสมรรถนะสูง ระบบการศึกษาที่ดีเลิศ และระบบรัฐสวัสดิการ ในยุคต้นของธุรกิจโทรศัพย์มือถือ ธุรกรรมการผลิตของ Nokia เคยมีสัดส่วนถึง 40% ของเศรษฐกิจฟินแลนด์ นักการศึกษาฟินแลนด์มักพูดว่า การศึกษาฟินแลนด์ที่เป็นเลิศ ไม่ใช่เพราะต้องการสร้างอัจฉริยะ แต่ต้องการยกระดับนักเรียนทุกคนที่อยู่ต่ำสุดให้สูงขึ้นมา รัฐสวัสดิการช่วยส่งเสริมระบบการศึกษาที่สร้างความเสมอภาค

ความสำเร็จในเรื่องระบบการศึกษาของฟินแลนด์ มาจากความมุ่งมั่นของทุกส่วนในสังคม ที่มองเห็นว่า การศึกษาคือปัจจัยสร้างความมั่งคั่งแก่ประเทศ และแก่ประชากรแต่ละคน ความมุ่งมั่นนี้ทำให้เกิดระบบการศึกษามีคุณภาพสูงแก่นักเรียนทุกคน ความสำเร็จทางการศึกษา ยังมาจากลักษณะเฉพาะของฟินแลนด์เอง การนำโมเดลการศึกษาของฟินแลนด์ ไปใช้อีกประเทศหนึ่ง จึงต้องพิจารณาถึงความแตกต่างด้านสังคมด้วย

แต่ความสำเร็จด้านการศึกษาของฟินแลนด์ ก็ให้บทเรียนสำคัญที่เป็นลักษณะสากลอย่างหนึ่ง ที่ประเทศต่างๆสามารถนำไปปรับใช้ ฟินแลนด์แสดงให้เห็นว่า ความเป็นเลิศทางการศึกษา ไม่จำเป็นต้องมาจากการแข่งขันด้านการศึกษา แต่สามารถเกิดขึ้นมาจากแนวคิดเรื่อง ความเสมอภาค ระบบการศึกษาบนพื้นฐานความเสมอภาค สามารถเป็นเส้นทางสู่เศรษฐกิจที่แข่งขันได้ และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

เอกสารประกอบ
The Nordic Theory of Everything. Anu Partanen, HarperCollins, 2016.
Finnish Lesson. Pasi Sahlberg, Teacher College, Columbia University, 2011.