ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่”แจง”วีรศักดิ์” คุมทท.ไม่เกี่ยวการเมือง – เมิน ปชป. จับมือ พท.ตั้งรัฐบาล – มติครม.จัดงบฯ 3,800 ล้าน ชดเชย “แบงก์รัฐ” ช่วยชาวใต้

“บิ๊กตู่”แจง”วีรศักดิ์” คุมทท.ไม่เกี่ยวการเมือง – เมิน ปชป. จับมือ พท.ตั้งรัฐบาล – มติครม.จัดงบฯ 3,800 ล้าน ชดเชย “แบงก์รัฐ” ช่วยชาวใต้

29 พฤศจิกายน 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2560 ณ อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ พบปะพูดคุยกับประชาชน ณ หอประชุมอาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ก่อนเดินทางกลับในเวลาประมาณ 17.00 น.

การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ถือเป็นส่งท้าย ครม.ประยุทธ์ 4 มีรัฐมนตรีลากิจไม่ได้เข้าร่วมประชุม 4 ราย ได้แก่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องเข้ารับการรักษาดวงตา, นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องไปร่วมประชุมขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNI-DO) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ติดภารกิจนำคณะทูตานุทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดยนายกรัฐมนตรีและคณะออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เพื่อไปตรวจราชการจังหวัดปัตตานีและจังหวัดสงขลา ในช่วงเช้านายกรัฐมนตรีทำพิธีเปิดป้าย “ตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนภาคใต้” และพบประชาชน ณ ตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จากนั้นเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปโรงงานน้ำมันปาล์ม ณ บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ ก่อนร่วมประชุมติดตามงานด้านความมั่นคงและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพบผู้นำท้องถิ่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในช่วงบ่าย

จากนั้นจึงเป็นการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดภาคใต้และชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรมบีพี สมิหลา บีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ขณะกันเดียวกัน กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หรือเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ได้เกิดการเผชิญหน้ากับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏ เขตเทศบาลนครสงขลา หลังจากเดินเท้าจากอำเภอเทพาเพื่อมาขอยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี โดยเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 2-3 ราย ด้านผู้ชุมนุมบาดเจ็บเล็กน้อย 2-3 รายเช่นกัน โดยมีผู้มาชุมนุมถูกจับกุมจำนวน 16 ราย

ร.10 ขอบใจ ปชช. ร่วมงานถวายพระเพลิงฯ

หลังการประชุม ครม. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชสาส์นขอบคุณประชาชนทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั้งผู้เป็นจิตอาสาเฉพาะกิจ และผู้ที่ไม่ได้เป็นจิตอาสาด้วย ที่มาร่วมในพระราชพิธีฯ หมายความถึงประชาชนที่มาร่วมตลอดเส้นทางของริ้วขบวน งานพระราชพิธีที่พระเมรุมาศ พระเมรุมาศจำลอง ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยทุกคน

”บิ๊กตู่” เผยแก้ปัญหาภาคใต้-เน้นเชื่อมโยงศักยภาพ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงแผนพัฒนาภาคใต้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการแยกภาคพิเศษออกมา 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาที่ประสบปัญหาด้านความมั่นคง เพื่อให้มีการบริหารที่จะต้องพัฒนาให้รวดเร็วขึ้น แต่ท้ายที่สุดทุกส่วนจะต้องมีความเชื่อมโยงซึ่งกันแและกัน

“ในวันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 14 จังหวัด ซึ่งทุกจังหวัดนั้นล้วนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดในอนาคตต่อไป เนื่องจากปัจจุบันโลกในยุคโลกาภิวัตน์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง เรื่องทางการเมือง ต่างมีความเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น ซึ่งเราทราบดีอยู่แล้วว่าภาคใต้มีศักยภาพมากทั้งด้านการท่องเที่ยว การเกษตร ประมง และข้อสำคัญคือเรามีความแตกต่างทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ มีคนนับถือศาสนาที่แตกต่างกันอยู่ แต่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ เนื่องจากสังคมเราเป็นสังคมพหุภาคี ทุกเชื้อชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่าง”

สิ่งแรกที่เน้นคือการเชื่อมโยงศักยภาพต่างๆ ของภาคใต้ให้ได้ในเรื่องถนน ท่าอากาศยาน ท่าเรือ รถไฟทางคู่ หรือ การต่อขยายรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การเชื่อมภูมิภาคประเทศเพื่อนบ้าน ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย มีการดำเนินการอยู่ตลอด การพิจารณาปรับปรุงเรื่องด่านศุลกากร ทั้งการเชื่อมโยงสินค้าและเชื่อมโยงคน และต้องพยายามค้นหาศักยภาพในพื้นที่ให้พบ

“เราจะเร่งรัดให้แก้ปัญหาให้เร็วที่สุดภายใน 1 ปีข้างหน้า ให้ถึงมือประชาชนให้มากที่สุด มีทั้งส่วนงบจากราชการ ส่วนกลางภูมิภาค และท้องถิ่น โดยการพิจารณานำงบท้องถิ่นเข้ามาเสริมด้วย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ แต่ต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล”

ตั้ง “วีรศักดิ์” คุมท่องเที่ยวไม่เกี่ยวการเมือง – เมิน ปชป. จับมือ พท. ตั้งรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการปรับ ครม. ในครั้งนี้ที่มีนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทยเข้ามาร่วม ว่า ตนไม่สนใจว่าใครจะเป็นคนจากพรรคไหน เพราะวันนี้ไม่มีพรรค ถ้ามาทำไม่ดีก็กลับไปพักผ่อน ที่มีการปรับตำแหน่งให้เพราะมีการทำงานร่วมกันมาอยู่แล้วทำให้เกิดความมั่นใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้มองหรือดีลการเมืองกับใคร เพราะตนไม่ใช่นักการเมือง ไม่ดีลกับใครทั้งสิ้น เป็นเรื่องของการทำผลงานออกมาให้เห็น

“ช่วงที่ผ่านมาก็ทำงานกับรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ที่ปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยวมาโดยตลอด ก็น่าจะทำงานได้ดี เพราะท่านก็บอกว่าอะไรก็อยากเปลี่ยนแปลง ผมคาดหวังว่าจะดีขึ้น ซึ่งเดิมก็ดีอยู่แล้วไม่ได้มีข้อเสียหายอะไร ไม่มีใครถูกใจหรอกที่ปรับ ครม. ผมเองก็ไม่มีทางเลือกมากนัก ไม่ใช่ว่าเพื่อนผองน้องพี่หรอก ไม่ใช่ คนละเรื่อง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามที่มีการปรับตำแหน่งของ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ออกจากตำแหน่ง รมช.กลาโหมนั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.อ. อุดมเดช ก็ทำงานร่วมกับตนถึง 3 ปีแล้ว ขณะเดียวกันก็ยังอยู่ใน คสช. สิ่งสำคัญวันนี้ตนกำลังเน้นไปสู่เรื่องของความปรองดอง จึงได้มอบหมายให้ พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ มาดูเรื่องของความปรองดอง เป็นหัวหน้าคณะเรื่องความปรองดองในเรื่องของการปฏิรูป

เรื่องของภาคใต้ ในส่วนของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ส่วนหน้า วันนี้ได้หารือกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปแล้วว่า จะมอบหมายให้ พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งลงพื้นที่ทำงานในภาคใต้อยู่แล้วเป็นผู้รับผิดชอบ

“ท่านคงคิดว่าเป็นทหารอีกแล้วหรือ ผมถามว่า หากไม่ใช่ทหารใครจะกล้าไปเดินภาคใต้ ซึ่ง พล.อ. สุรเชษฐ์ นั้นลงพื้นที่อยู่แล้วทุกสัปดาห์เพื่อดูเรื่องการศึกษา หลายอย่างก็มีการพัฒนาดีขึ้น อาจารย์เข้ามารับหน้าที่ดังกล่าวก็จะได้สานงานต่อจาก พล.อ. อุดมเดช ซึ่งทั้งสองท่านก็เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันอยู่แล้ว ซึ่งผมได้พูดกับ พล.อ. อุดมเดช ไปก่อนหน้าที่จะมีการปรับ ครม. ก็เข้าใจกันดี ท่านบอกยินดีครับและบอกว่าพร้อมที่จะช่วยทำงาน ซึ่งก็ขอบคุณในการทำงานร่วมกันมา ซึ่งผมก็เห็นว่ารัฐมนตรีทุกคนพูดกับผมเช่นนี้ก่อนหน้าที่จะปรับ ครม. ด้วยซ้ำไป ซึ่งมีหลายรายที่พูดกันไปก่อนความจริง ผมไม่ควรจะพูดกับใครด้วยซ้ำ เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิ์ของผม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนการปรับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ยืนยันอีกครั้งว่า พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ ว่าที่รองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.เกษตรฯ ไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ที่ผ่านมาทำงานหลายอย่างในเชิงโครงสร้าง หลายอย่างมีการปรับรูปแบบในการทำงาน หลายอย่างเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร ซึ่งมีโครงการหลักในหลายโครงการ มีการเปลี่ยนแปลง มีรายได้เพิ่มเติม แต่สิ่งที่มีความจำเป็นวันนี้คือเราจะต้องเพิ่มเติมในระยะที่ 2 ตนก็อยากได้คนใหม่มาทำงานบ้าง ขณะเดียวกัน นโยบายเดิมที่ทำไว้ก็ต้องทำต่อไปซึ่งเราทำในเชิงโครงสร้างของกรอบใหญ่ไปแล้ว

“ก็อยากได้คนใหม่ๆ หัวใสมาทำต่อ และไม่ว่าจะอย่างไร พล.อ. ฉัตรชัย ก็อยู่กับผมอยู่แล้ว ผมก็สามารถที่จะสอบถามติดตามเรื่องต่างๆ ได้ทั้งหมดไม่ต้องกังวล ยืนยันไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น อย่างที่บอก กับใครก็ไม่ถูกใจสื่อทั้งสิ้น ความมุ่งหมายในการปรับ ครม. ทั้งหมดนั้นคือต้องการคนใหม่เข้ามาเพื่อให้เกิดภาพของการเปลี่ยนแปลง ประชาชนรับรู้และรับทราบว่าการปรับ ครม. ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญอยู่ที่รัฐบาล นายกรัฐมนตรีที่จะขับเคลื่อน ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเข้ามาก็ต้องขับเคลื่อนโดยนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องรอบรู้มีวิสัยทัศน์สามารถทนและอดทนต่อคำติฉินนินทา ซึ่งผมก็ยังมีอยู่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ใครจะว่าอะไรผมก็ต้องทำเพราะนี่คือบ้านเมือง เป็นประเทศไทยของผมและของทุกคน ก็ต้องอดทน” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับการที่ 2 พรรคใหญ่ อย่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะจับมือกันทางการเมือง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องของเขา ผมไม่สนใจว่าใครจะร่วมกับใครก็เชิญ ผมไม่เกี่ยวข้อง เพราะผมจะทำงานให้ประเทศของผม เรื่องอื่นค่อยว่ากัน”

เร่งแก้ปัญหาทำประมงผิด กม.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในภาคใต้ คือ การแก้ปัญหาประมงปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักของสากล เพื่อแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ทั้งเรื่องการจับสัตว์น้ำ หรือ การใช้แรงงานผิดกฎหมาย ต้องเร่งแก้ไข มิฉะนั้นสินค้าทั้งหมดของเราก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน

สำหรับเรื่องร้องเรียนจากชาวประมงที่ขอขยายเวลาการทำประมงนั้น ตนรับว่าจะแก้ปัญหาให้ แต่อาจไม่ใช่การเพิ่มวันการทำประมงให้ตามคำขอ ส่วนวิธีการช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร ต้องมีการหารือกันอีกครั้ง โดยยกกรณีของต่างประเทศที่มีกฎหมายชัดเจนในการขออนุญาตจับปลา หากปลาที่จับมีขนาดเล็กกว่าที่ขออนุญาต ก็ต้องปล่อยลงทะเลไป ซึ่งประเทศไทยยังไม่เข้มงวดเช่นนั้น ทั้งนี้ยืนยันว่าตนไม่ได้ต้องการทำให้ใครเดือดร้อน แต่ชาวประมงก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของชาติด้วย

“อย่ามาบอกว่า เขามาจำกัดปิดกั้นประเทศไทย จริงๆ แล้วเราไม่สามาถตอบคำถามได้ว่า ปลาที่เราจับได้นั้นมาจากที่ไหนอย่างไร อันนี้เราต้องทำให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมความไปถึงการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำของเราในพื้นที่ทะเลอาณาเขต ทะเลชายฝั่ง โดยการจับปลาในทะเลอาณาเขตต้องไม่ล่วงล้ำพื้นที่ของประมงพื้นบ้าน เมื่อวานนี้ผมจำเป็นต้องเสียงดังไปสักเล็กน้อย การพูดจาต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน การพักเพื่อชะลอการจับสัตว์น้ำนั้นมีตามห้วงระยะเวลาของเขาอยู่ เพื่อพักฟื้น ต่อไปนี้หากอ้างว่าทำให้รายได้สูญเสียไปจะขอเพิ่มวันทำประมงก็ไม่น่าจะได้ ทั้งนี้ก็ต้องหาวิธีการอย่างอื่นมาคุยกัน ไม่จำเป็นต้องมาใช้การพูดจาที่รุนแรงกับผม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ตนได้ให้แนวทางการปรับปรุงเรือประมงขนาดเล็กให้ปลอดภัย เครื่องมือจับสัตว์น้ำตื้นจะทำอย่างไร เพราะชาวประมงมีปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ควบคู่ไปกับเรื่องความสมดุลกับธรรมชาติ และผลประโยชน์ที่เขาได้รับจากกิจการของประชาชนแต่ละกลุ่มนั้นพอเพียงหรือไม่ การทำประมงนอกน่านน้ำที่มีมากเกินไปและผิดกฎหมายจำนวนมาก วันนี้ลดลงไปนับหมื่นลำแล้ว เพราะไม่ถูกกฎหมายมาตลอด ขอให้ยอมรับในจุดนี้ หากไม่ยอมรับจะไม่สามารถเริ่มอะไรใหม่ได้ทั้งสิ้น ซึ่งในสภาวะปกติคงไม่สามารถทำได้ทั้งหมด

เมื่อถามว่าที่ จ.สุราษฎร์ธานี กลุ่มนายทุนคอกหอยบุกรุกพื้นที่ 2 แสนกว่าไร่ มีการออกโฉนดทะเล จนทำให้ชาวประมงชายฝั่งไม่มีที่ทำกิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยไปรับเรื่องแล้วตรวจสอบว่าเขาบุกรุกกันอย่างไร ถ้าพบความผิด ก็ต้องดำเนินคดี

“มันบุกรุกได้หรือ มันเป็นญาติกับผมหรือไง ปลัดกระทรวงมหาดไทยไปดูว่ามันบุกรุกอย่างไร ผมรับไปตรวจสอบให้ ท้องถิ่นรู้หรือไม่ มหาดไทยรู้หรือยัง ปลัดมหาดไทยต้องไปดู ถ้าพบความผิดก็ดำเนินคดี โดยหลักเรื่องของที่ดิน ความผิดมันมี 2 อย่าง คือเขาไปซื้อมาโดยสุจริตไม่รู้ว่าถูกหรือผิด เพราะมันมีโฉนด กรณีแบบนี้คงดำเนินคดีไม่ได้ ถ้าดำเนินคดีเราก็ถูกฟ้อง เพราะเขาสุจริต แต่ในส่วนของทะเลคงไม่มีเรื่องออกโฉนดอะไรได้”นายกรัฐมนตรีกล่าว

จับ 16 แกนนำต้านโรงไฟฟ้า – ยันไม่ได้ละเมิดสิทธิ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถาม ในส่วนของการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หรือเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี นั้นมีการชุมนุมมาหลายวันแล้ว ยืนยันว่ารัฐบาลไม่สามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ เพราะกฎหมายมีอยู่ในเรื่องการชุมนุม แม้จะเป็นการเรียกร้องใดๆ ก็ตามต้องฟังเหตุผลด้วย

“ได้ให้โอกาสตั้งแต่วันแรกแล้ว ให้ไปขออนุญาตก็ไม่ขอ ให้คนไปพบก็ไม่พบ จัดสถานที่ให้พูดคุยก็ไม่พูดคุย ก็พยายามจะเดินดึงดันมาตลอดทาง รัฐบาลก็เห็นใจในเจตนาของผู้ชุมนุม แต่ก็ต้องฟังเหตุฟังผลกันบ้าง การที่จะยื่นข้อเสนอมาว่าขอพบนายกรัฐมนตรีเพื่อส่งเอกสาร ผมถามว่าเจตนาเขาคืออะไร ถ้าเขามาก็เจอผมต่อหน้าสื่อ ก็ทำให้เกิดปัญหาบานปลายไปเรื่อย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายมาโดยตลอด เพราะเห็นว่าเป็นประชาชน แต่ท้ายที่สุดมีการใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ สื่อต้องเข้าใจ สังคมต้องเข้าใจ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ทุกครั้งเจ้าหน้าที่จะทำอะไรไม่ได้ การต่อต้านโดยใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า ข้อเท็จจริงวันนี้ที่เขาถูกดำเนินคดีอยู่วันนี้คือยังไม่ได้เอาผิดเรื่องการชุมนุมแต่อย่างใด ซึ่งรัฐบาลนี้นั้นรับฟังมากกว่าทุกรัฐบาลอยู่แล้ว ขอให้ลดความขัดแย้งตรงนี้ลงไป

“ผมจะให้เอกสารในเรื่องโรงไฟฟ้าขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการพิจารณาสิ่งแวดล้อม 3-4 ครั้งแล้ว ยังไม่ได้เข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้ให้นโยบายไปแล้วว่าการทำอีไอเอหากยังมีข้อขัดข้องอยู่ต้องไปทำความเข้าใจกันใหม่ จึงเข้ามาสู่การตัดสินใจของคณะกรรมการ ขณะนี้มีข้อมูลหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ทุกคนต้องเข้าใจในระบบการบริหารจัดการภาครัฐด้วยว่ามีขั้นตอนการทำงานมากมาย ไม่ใช่ว่าจะทำหรือไม่ทำ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับใคร ขอให้เห็นใจกับเจ้าหน้าที่ด้วย”

ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้ พล.อ. วิลาศ อรุณศรี เลขานายกรัฐมนตรีไปรับเรื่อง แต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมไม่ต้องการ จะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งตนเห็นว่ามันไม่ใช่ เรื่องมีขั้นตอนของมันอยู่ ฝากทำความเข้าใจด้วย หลายคนบอกว่าตนละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ตนเห็นว่าเส้นแบ่งระหว่างสิทธิมนุษยชนกับการทำผิดกฎหมายก็คือเส้นเดียวกัน ขอให้เข้าใจด้วย

สั่งส่วนราชการใช้ยางเพิ่ม 1 แสนตัน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยางพาราว่า ในพื้นที่ที่นายทุนบุกรุกเข้าไปจะต้องตัดฟันทิ้ง ส่วนที่เป็นพื้นที่สวนป่าต้องลดการกรีดยาง พื้นที่ประชาชนบุกรุกอาจไม่มากแต่ต้องหามาตรการในการดูแล ซึ่งปัญหาที่ตนกังวลคือรายได้ของเกษตรกร ซึ่งได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในส่วนของนายทุนไม่สามารถผ่อนปรนได้

ทั้งนี้ รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าอยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน 1) เร่งการพิจารณาเรื่องที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ที่ดิน สปก.) 2) การกำหนดการทำงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งก็จะมีการอนุญาตให้ใช้เป็นที่ดินทำกินแต่ไม่ได้ให้โฉนด ซึ่งทำมาหลายจังหวัดแล้ว และพยายามจะทำให้ครบทุกจังหวัด แต่ปัญหาคือที่ดินน้อยลง แล้วจะเดินหน้าเรื่องเกษตรของเราอย่างไร ต้องสามารถควบคุมปริมาณการใช้ในประเทศ และการขายต่างประเทศได้

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการมาหลายรอบให้หน่วยงานรัฐเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ ซึ่งครั้งนี้สั่งอีกรอบและขอดูแผนงานและผลในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่จะต้องเพิ่มการใช้ยางให้ได้อีก 100,000 ตัน ดังนั้น กระทรวง ทบวง กรม ต้องมีความชัดเจนที่จะใช้ยางเป็นส่วนประกอบในงานต่างๆ และในภาพรวมจะผลักดันการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นอีก หรืออยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตัน โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปคิดค้นสูตรการใช้ยางในการทำถนน และดูด้วยว่าคุ้มทุนกับระยะเวลาที่ใช้งานได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังจากที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาใช้ยางทำถนนจำนวน 45 ตัน ต่อระยะทาง 2 กิโลเมตร คิดราคายางที่กิโลกรัมละ 50 บาท  พบว่ามีต้นทุนสูงขึ้นกว่าปกติ 2.25 ล้านบาท

นายกฯ รับลูกเอกชน เร่ง พ.ร.บ.ปาล์ม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันว่า ตนได้สั่งการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้ว วันนี้ที่จะเร่งมากที่สุดคือการนำไปใช้ในเรื่องการเกษตรได้ไหม ซึ่งตนได้ชมผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยน่าจะทดสอบการผลิตไบโอดีเซล 100% จากน้ำมันปาล์ม ซึ่งในประเทศไทยใช้ไบโอดีเซลได้ไม่เกิน 10% เท่านั้น จึงต้องพัฒนาเรื่องเครื่องยนต์ใหม่ทั้งหมด เรื่องนี้อยู่ในเรื่องการเปลี่ยนผ่าน นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามส่งเสริมพันธุ์ปาล์มให้เกษตรกรที่จะใช้พื้นที่ปลูกน้อยลง แล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน เช่น มะพร้าว ซึ่งขาดตลาดมาก และผมได้ให้นโยบายไปแล้วว่าให้ปลูกมะพร้าวให้มากขึ้น

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพบลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มภาคเอกชนได้สอบถามถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปาล์มน้ำมัน อยู่ในกระบวนการ ซึ่งเขาบอกว่าได้ไปศึกษาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าดี มีความชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนสามารถเดินไปได้อย่างมีคุณภาพ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งรัดร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

“ท่านนายกฯ ก็บอกว่าไม่ต้องห่วงร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวรัฐบาลชุดนี้เป็นคนร่าง เมื่อเสร็จเรียบร้อย เราเดินตามนั้น แต่ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกากับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ฉะนั้น ถ้าเลยกระบวนการของเราไปแล้ว เราจะไปเร่งรัดเขาไม่ได้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี,พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ตั้งเป้าพัฒนาภาคใต้ ตามแผนฯ 12

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบทิศทางการพัฒนาภาคใต้และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เสนอ

เนื่องจากภาพรวมของพื้นที่ภาคใต้มีทรัพยากรหลากหลาย โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก ระบบนิเวศน์ชายฝั่ง แหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำ แหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ขณะที่มีความได้เปรียบด้านที่ตั้งภูมิศาสตร์สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่ BIMSTEC แต่การท่องเที่ยวยังมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ทางทะเลบางแห่ง ทั้งปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม โดยกำหนดให้มีการพัฒนา

1) แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยจะมีการส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่อง การส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต ให้เป็น Smart City การจัดให้มีระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่

2) พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันที่หาดใหญ่-สะเดา ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยาง (Rubber City)

3) พัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรด้วยการผลิตแบบผสมผสาน

4) การพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย สายชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช-สงขลา เพื่อเชื่อมกับถนนสาย royal coast ทางภาคกลาง, การพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน, การพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงด้านเหนือ-ใต้ของฝั่งอันดามัน

ครม. รับลูก กรอ. หนุนพัฒนาขนส่งภาคใต้ รถ-ราง-เรือ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดมีข้อเสนอหลายเรื่องที่สอดคล้องกับแผนงานที่กระทรวงคมนาคมกำลังจะดำเนินการ ได้แก่ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ 339 กิโลเมตร และช่วงหาดใหญ่-ปาดังเปซาร์ 75 กิโลเมตร, การก่อสร้างรถไฟสายใหม่สุราษฎร์ธานี- ท่านุ่น จ.พังงา และสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก, รถไฟสายใหม่ จ.ชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกที่ระนอง, รถไฟฟ้าทางคู่สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส-โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงคมนาคมรับเรื่องไปพิจารณา โดยให้คำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาคเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน และความคุ้มค่าของการดำเนินงาน

นอกจากนี้ยังมีการเร่งรัดการพัฒนาท่าเรือเชื่อมโยงโครงข่ายทางทะเล โดยพัฒนาท่าเรือสำราญฝั่งอ่าวไทยที่สมุย และฝั่งอันดามันที่กระบี่, การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 1-2 และให้สภาพัฒน์หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสะพานเชื่อมสตูล-เปอร์ลิส ส่วนการพัฒนาและปรับปรุงสนามบินเพื่อเชื่อมโครงข่ายทางบกและทางรางนั้น นายกรัฐมนตรีให้จัดลำดับความสำคัญและพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ในอนาคต

จัดงบฯ 3,800 ล้าน ชดเชย “แบงก์รัฐ” ช่วยชาวใต้

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย โครงการที่ขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล รวม 3,800 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการเดิมที่ขอขยายระยะเวลา และปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไข รวม 3 โครงการ และโครงการใหม่ 1 โครงการ ได้แก่

1. ขยายเวลารวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเดิมสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ให้สิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีธนาคารออมสินเป็นผู้ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยตรง ในวงเงินโครงการ 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้มีวงเงินที่รัฐต้องชดเชยรวม 2,837 ล้านบาท

อนึ่งโครงการระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาวงเงินโครงการเดิม 25,000 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อใช้แล้ว 17,729 ล้านบาท คิดเป็น 70.92% คงเหลือวงเงินโครงการ 7,217 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมโครงการ 3,748 ราย

2. ขยายเวลาโครงการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยวงเงินพักชำระหนี้ไม่เกิน 200,000 บาท (คงเดิม) และมีวงเงินที่รัฐต้องชดเชยทั้งสิ้น 673 ล้านบาท ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ดำเนินการพักชำระหนี้ให้ลูกค้าได้แล้วจำนวน 60,389 ราย คิดเป็นเงินต้นจำนวน 5,032 ล้านบาท

3. ขยายเวลารวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 พักชำระหนี้ให้ลูกค้า โดยมีวงเงินที่รัฐต้องชดเชยรวม 90 ล้านบาท ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการขอรับเงินชดเชยไปแล้ว 1,762 ราย เป็นเงินเอาประกันภัยจำนวน 17,274 ล้านบาท

4. โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อมุสลิมและโครงการสินเชื่อบ้านมุสลิมชายแดนใต้ ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ในวงเงินโครงการ 500 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท มีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคคลธรรมดาที่นับถือศาสนาอิสลามและมีรายได้น้อย โดยมีวงเงินที่รัฐต้องชดเชยรวม 200 ล้านบาท

เห็นชอบ มาตรการใช้จ่ายงบฯ เยียวยาน้ำท่วมปี 61

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับมาตรการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2560 และเพื่อป้องกันอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2561 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยระบุถึงความจำเป็นของการมีมาตรการดังกล่าวว่า

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยประสบกับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งทรัพย์สินและการประกอบอาชีพ รวมถึงความ เสียหายที่เกิดขึ้นกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพโดยเร็วทันต่อสถานการณ์

โดยมีแนวทางในการช่วยเหลือ ได้แก่ กรณีส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น มีรายการที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 หรือกรณีที่มีเงินเหลือจ่ายจากการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ให้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และหรือโอนเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณ รายจ่าย เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟู ผู้ประสบอุทกภัย จากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2560

ทั้งนี้ การใช้กลไกของการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 และระเบียบว่าด้วยการบริหาร งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการ พ.ศ. 2559 จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการช่วยเหลือได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับในกรณีที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่มีรายการเงินกันไว้เหลื่อมปีและไม่สามารถดำเนินการก่อหนี้และเบิกจ่ายได้ ก็ให้ดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงรายการเงินกันไว้เหลื่อมปีมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2560 เป็นลำดับแรกด้วย

“นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นเวลานาน โดยแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นให้มีการช่วยเหลือเยียวยาตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด ส่วนในระยะยาวให้ความสำคัญกับการป้องกันอุทกภัยและการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับพื้นที่” นายณัฐพรกล่าว

เห็นขอบประกาศกระทรวง – สร้างระบบประปาส่งตรงเกาะสมุย

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอผ่อนผันการปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2535 เรื่อง แผนแม่บทการจัดการปะการังของประเทศ โครงการก่อสร้างระบบท่อส่งประปา ลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย เป็นการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี โดยการวางท่อส่งน้ำระยะยาวจากฝั่งแผ่นดินสุราษฎร์ธานีลอดใต้ทะเลไปยัง อ.เกาะสมุย เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจและการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย

ซึ่งหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะทำให้พื้นที่บริการมีความป็นอยู่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตขึ้น เป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะศูนย์กลางความเจริญของท้องถิ่นและส่งเสริมสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จะดำเนินโครงการดังกล่าว แต่ในระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย ขอให้การประปาส่วนภูมิภาคแจ้งรายละเอียดการดำเนินการให้กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) ทราบ เพื่อออกประกาศให้เรือที่แล่นสัญจรผ่านไป-มาใช้ความระมัดระวังการเดินเรือในพื้นที่ดังกล่าว

“นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากนี้ หากมีการดำเนินโครงการในพื้นที่ที่เป็นเกาะ จะต้องบรรจุโครงการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ลงไปด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลอาจจะมีแนวทางสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดตั้งโรงผลิตน้ำประปาบนพื้นที่เกาะ โดยมีมาตรการทางภาษีเพื่อเป็นการจูงใจให้มีการลงทุนด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เพิ่ม อ.มหาวิทยาลัย 3 จังหวัดชายแดนใต้ 374 อัตรา

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบอัตรากำลังพนักงานมหาวิทยาลัยของสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มเติมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2561-2564 รวมถึงมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี รวม 374 อัตรา แบ่งเป็น ฝ่ายวิชาการ 271 อัตรา ฝ่ายสนับสนุน 103 อัตรา ใช้งบทั้งสิ้น 138 ล้านบาท เพื่อให้มีอัตรากำลังเพียงพอกับภาระงานที่ปฏิบัติอยู่จริงในพื้นที่

สำหรับเงื่อนไขในการคัดเลือกการบรรจุบุคลากรฝ่ายวิชาการ และสาขาที่ขาดแคลน จะต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยเงื่อนไขผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต้องปฏิบัติงานประจำสถาบันอุอมศึกษาในพื้นที่อย่างน้อย 10 ปี จะต้องไม่ขอโอนย้ายออกจากพื้นที่ เน้นด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“จะเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป เพื่อให้เกิดการจูงใจให้คนในพื้นที่มาสมัคร หากผู้สมัครที่มีภูมิลำเนา หรือมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านในพื้นที่ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.นราธิวาส จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.สงขลา จ.สตูล ไม่น้อยกว่า 1 ปี จะได้คะแนนเพิ่มเป็นพิเศษร้อยละ 5 จากคะแนนสอบสัมภาษณ์” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

ดึงเงินสะสม อปท. 3 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบแนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดย อปท. สามารถนำเงินสะสมของตนเองไปสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ได้ เช่น การซ่อมแซมถนนหนทาง สนามกีฬา ระบบระบายน้ำ เป็นต้น

“แนวทางเบื้องต้นมีดังนี้ โครงการที่ดำเนินการจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เป็นการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น และ อปท. จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การใช้จ่ายเงินสะสม ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย โดยจะต้องคำนึงถึงสถานะทางการคลัง เสถียรภาพทางการเงินการคลังในระยะยาว” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอในที่ประชุมถึงข้อจำกัดบางประการ เช่น การจ่ายเงินทำงบประมาณในส่วนของรัฐบาล ที่กำหนดให้ อปท. ต้องใช้เงินสะสมของตนให้หมดก่อน ซึ่งไม่สอดรับกับแนวทางปฏิบัติ เนื่องจากเงินสะสมของ อปท. ทั่วประเทศที่มีอยู่ราว 3.18 แสนล้านบาทนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ทั้งหมดได้ โดยครึ่งหนึ่งจะต้องกันเอาไว้สำหรับการบริหารงาน เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ หรือคนพิการ ดังนั้นจึงให้สำนักงบประมาณรับข้อเสนอดังกล่าวไปดำเนินการแก้ไขให้เหมาะสม

นอกจากนี้ ครม. ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเกาะพะงัน ในท้องที่ตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. (อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-หมู่เกาะพะงัน) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญคือ เป็นการกำหนดบริเวณที่ดินป่าเกาะพะงัน ในท้องที่ตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

อ่าน มติ ครม. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ที่นี่