ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์พลวัตเงินเฟ้อยุคใหม่ เมื่อการคาดการณ์สำคัญกว่าที่คิด

วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์พลวัตเงินเฟ้อยุคใหม่ เมื่อการคาดการณ์สำคัญกว่าที่คิด

1 พฤศจิกายน 2017


วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้วิเคราะห์ “พลวัตเงินเฟ้อยุคใหม่ เมื่อการคาดการณ์สำคัญกว่าที่คิด” โดยรายงานว่า พลวัตเงินเฟ้อ (inflation dynamics) ของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาพลังงาน ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่นำมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อกลับมีอิทธิพลต่ออัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) กลับส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จากความหนืดของการคาดการณ์ทำให้อัตราเงินเฟ้อในอดีตกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตมากขึ้น

จากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่ราคาพลังงานยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในอนาคตมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในอัตราค่อนข้างจำกัด (0.7% ในปี 2560 และ 1.6-1.7% ในปี 2561) ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีน้ำหนักไม่มากต่อการตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ในระยะต่อไป

จากการศึกษาพลวัตเงินเฟ้อของไทยระหว่างปี พ.ศ. 2542-2560 วิจัยกรุงศรีพบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยถูกกำหนดจาก 3 ตัวแปรหลัก ได้แก่ ช่องว่างการผลิต (output gap) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ โดยในอดีตราคาสินค้าโภคภัณฑ์สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อทั่วไปของไทยได้มากกว่า 70% นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศยังทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อของต่างประเทศ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่หรือไม่

วิจัยกรุงศรีจึงแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นการศึกษาการส่งผ่านของราคาพลังงานในตลาดโลกมายังราคาพลังงานในประเทศ และส่วนที่สองเป็นการศึกษาผลกระทบของปัจจัยในประเทศที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อของไทย

การส่งผ่านของราคาพลังงานในตลาดโลกมายังราคาพลังงานในประเทศ

วิจัยกรุงศรีพบว่า มากกว่า 80% ของราคาพลังงานในประเทศถูกกำหนดจากราคาพลังงานในตลาดโลก โดยการส่งผ่านมักจะกินเวลาประมาณ 3-4 เดือน ในอดีต ราคาพลังงานในช่วงขาขึ้นและขาลงจะส่งผลต่อระดับราคาน้ำมันในประเทศแตกต่างกัน กล่าวคือ เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น จะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้นตามเป็นสัดส่วนประมาณ 85% แต่ในกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงกลับส่งผ่านมายังราคาน้ำมันในประเทศเพียงประมาณ 80% อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2556 ผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผ่านมายังราคาน้ำมันในประเทศทั้งในช่วงราคาน้ำมันขาขึ้นและขาลงกลับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับเดียวกันที่ประมาณ 90%

ปัจจัยในประเทศส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างไร

การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทำผ่านแบบจำลองที่กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ทั้งราคาน้ำมันดีเซลและราคาสินค้าเกษตรในประเทศ) และเงินเฟ้อคาดการณ์ (ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างอัตราเงินเฟ้อในอดีต และส่วนเบี่ยงเบนของอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย) พบว่า ราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักที่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อได้ โดยการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อสามารถอธิบายได้ด้วยราคาน้ำมันดีเซลถึง 47% ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์และภาวะเศรษฐกิจสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อได้ 34.5% และ 8.5% ตามลำดับ

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อัตราเงินเฟ้อมีความเชื่อมโยงกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลงมาก และการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศก็ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อลดลงเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า แม้ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อก็จะไม่ขยับมากเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ในขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อกลับมีผลต่อต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยเงินเฟ้อในอดีตเป็นส่วนที่มีอิทธิพลมากขึ้นต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งเห็นได้จากเงินเฟ้อในอดีตสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อได้มากขึ้นจาก 13% ในช่วงปี 2542-2549 เป็น 21.7% ในช่วงปี 2556-2560 ซึ่งเมื่อกลับมาพิจารณาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วงปี 2556-2560 จะพบว่าอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.6% สะท้อนให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยน่าจะคงอยู่ในระดับไม่สูงนักในอนาคต

คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคต

เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มขยับสูงขึ้นไม่มาก อีกทั้งราคาน้ำมันยังยังมีอิทธิพลต่ออัตราเงินเฟ้อลดลง บวกกับอัตราเงินเฟ้อในที่ผ่านมาของไทยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่น่าจะปรับสูงขึ้นมากในระยะต่อไป

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเข้าสู่ช่วงเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1.0-4.0% ราวต้นปีหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.7% ในปี 2560 และ 1.6-1.7% ในปี 2561 ซึ่งทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะมีน้ำหนักไม่มากต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน