ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สรรพากรดึง “วัด-โรงเรียน” เข้าระบบ e-Donation ตู้รับบริจาคเงินติด QR Code ระบุไม่พบข้อมูล-ไม่คืนภาษี

สรรพากรดึง “วัด-โรงเรียน” เข้าระบบ e-Donation ตู้รับบริจาคเงินติด QR Code ระบุไม่พบข้อมูล-ไม่คืนภาษี

9 พฤศจิกายน 2017


เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร มอบนโยบาย ทิศทางการบริหารงานและการจัดเก็บภาษีอากรประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้กับผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพากรทั่วประเทศ ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
นางแพตริเซีย มงคลวนิช รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ และรองอธิบดีกรมสรรพากร (ซ้าย)

นอกจากมาตรการภาษีสนับสนุนการมีบุตรเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุแล้ว ในงานประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพากรทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบถึงทิศทางการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรประจำปีงบประมาณ 2561 นางแพตริเซีย มงคลวนิช รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ และรองอธิบดีกรมสรรพากร ยังได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าในการพัฒนาระบบ e-Donation ว่าเป็นระบบที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อให้หน่วยรับบริจาคเงิน เช่น สถานศึกษา ศาสนสถาน ใช้บันทึกข้อมูลการรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน เป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาคเงินเป็นหลัก ยืนยันไม่ได้เก็บภาษีโรงเรียนหรือวัดตามที่เคยเป็นข่าวแต่อย่างใด โดยผู้บริจาคสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ โดยที่หน่วยรับบริจาคเงินไม่จำเป็นต้องพิมพ์หลักฐานการรับเงินบริจาค ยกเว้นผู้บริจาคเงินร้องขอ ตามแผนงานที่กำหนดไว้นั้น กรมสรรพากรได้เริ่มโครงการนำร่องกับโรงเรียนและวัดในพื้นที่จังหวัดน่านตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 และตั้งเป้าหมายที่จะนำระบบ e-Donation มาบังคับใช้เป็นการทั่วไปในปี 2561

ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังเร่งพัฒนาและออกแบบโปรแกรม e-Donation เพื่อการรับบริจาคเงินเอาไว้ 2 ช่องทาง คือ 1. บริจาคเป็นเงินสด รูปแบบนี้ศาสนสถานและสถานศึกษาจะเป็นผู้นำเข้าข้อมูล หรือ กรอกข้อมูลการบริจาคเข้าสู่ระบบ e-Donation 2. บริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น QR Code หรือ โอนเงินบริจาคผ่านสถาบันการเงิน รูปแบบนี้สถาบันการเงินจะมีหน้าที่นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ทั้งนี้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่กรมสรรพากรกำลังพัฒนาสามารถรองรับการทำงานทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยเจ้าหน้าที่สรรพากรสามารถอัปโหลดไฟล์ข้อมูลการบริจาคเงินได้

จากนั้นกรมสรรพากรต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการบริจาคเงิน โดยออกกฎหมายกำหนดให้สถานศึกษา ศาสนสถาน และหน่วยที่รับเงินบริจาคหรือทรัพย์สิน ต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก และบันทึกข้อมูลการรับบริจาคเข้าสู่ระบบ e-Donation เพื่อให้เจ้าหน้าที่สรรพากรใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบและประกอบการพิจารณาอนุมัติสิทธิหักลดหย่อนภาษี

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า หลังจากกรมสรรพากรวางระบบ e-Donation เสร็จและมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปแล้ว กรมสรรพากรจะอนุญาตให้ผู้เสียภาษีนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีได้เฉพาะเงินบริจาคในส่วนที่ถูกบันทึกอยู่ในระบบ e-Donation เท่านั้น หากเจ้าหน้าที่สรรพากรไม่พบข้อมูลการบริจาคเงินในระบบ e-Donation ผู้เสียภาษีจะนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีไม่ได้หรือไม่ได้คืนภาษี ยกตัวอย่าง การบริจาคเงินให้วัดหรือโรงเรียน โดยใช้เงินสดหยอดตู้รับบริจาคเงินแบบเดิม เช่น ทำบุญโลงศพ สร้างหลังคาโบสถ์ ชำระหนี้สงฆ์ ทำบุญค่าน้ำ ค่าไฟ กรณีนี้ผู้เสียภาษีไม่ได้รับสิทธิหักลดหย่อนภาษี แต่ถ้าตู้รับบริจาคเงินติดเครื่องหมาย QR Code ไม่ว่าผู้เสียภาษีจะบริจาคเงินไปกี่ครั้งก็ตาม ครั้งละ 10 บาท 20 บาท และ 100 บาท ข้อมูลการบริจาคเงินทั้งหมดในรอบระยะเวลา 1 ปีจะมารวมและถูกบันทึกอยู่ในระบบ e-Donation สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด

“ตามเป้าหมายกรมสรรพากรจะเริ่มนำระบบ e-Donation มาใช้ในปี 2561 ระหว่างนี้จึงต้องเร่งเชื่อมโยงข้อมูลการบริจาคเงินในรูปแบบต่างๆ เช่น การโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร QR Code เข้าสู่ระบบ e-Donation เพื่อให้การบริจาคทุกรายการที่ใช้สิทธิทางภาษีต้องมีข้อมูลบนระบบของกรมสรรพากร ต่อไปนี้ถ้าไม่มีข้อมูลเงินบริจาคอยู่ในระบบ e-Donation กรมสรรพากรก็คืนภาษีไม่ได้ เงินบริจาคที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ต้องมีข้อมูลอยู่ในระบบ e-Donation เท่านั้น แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากรกล่าว

สำหรับแนวปฏิบัติในการตรวจสอบการใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีกรณีบริจาคเงินให้วัดนั้น แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากรกล่าวว่า กรมสรรพากรตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 5,000 บาท หากผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ ขอใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีบริจาคเงินให้วัดเกิน 5,000 บาท เจ้าหน้าที่ก็ต้องขอดูหลักฐานการบริจาคเงิน เช่น ใบอนุโมทนาบัตร ใบเสร็จรับเงิน จากนั้นเจ้าหน้าที่สรรพากรจะโทรศัพท์หรือทำหนังสือไปสอบถามพระที่วัด กรณีที่มีการบริจาคเงินผิดปกติ เช่น แจ้งว่ามีเงินได้ทั้งปี 500,000 บาท แต่บริจาคเงินให้วัด 200,000 บาท หากหน่วยรับบริจาคทำหนังสือยืนยันว่ามีการบริจาคเงินจริงถูกต้องตามจำนวนที่แจ้งไว้กับกรมสรรพากร ผู้เสียภาษีก็จะได้รับสิทธิหักลดหย่อนภาษี แต่ถ้าหน่วยรับบริจาค ปฏิเสธก็ถูกตัดสิทธิ

ส่วนระบบใหม่นั้น เจ้าหน้าที่สรรพากรไม่ต้องเรียกเอกสารการบริจาคเงินจากผู้เสียภาษี ไม่ต้องโทรศัพท์หรือทำหนังสือไปถามพระ เพียงแต่คีย์เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ในโปรแกรม e-Donation ข้อมูลการบริจาคเงินทั้งหมดจะมาปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หากผู้เสียภาษีลืมหรือยื่นเงินบริจาคไม่ครบ กรมสรรพากรก็จะเพิ่มยอดเงินบริจาคให้ด้วย แต่ถ้าเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลการบริจาคในระบบ e-Donation ก็จะถูกตัดสิทธิทันที

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากรกล่าวต่อไปว่า นอกจากกรมสรรพากรจะเร่งพัฒนาระบบ e-Donation ดำเนินโครงการนำร่อง และยกร่างกฎระเบียบใหม่แล้ว ระหว่างนี้ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจให้ประชาชน หน่วยรับบริจาคเงิน และเจ้าหน้าที่สรรพากร เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้ คือ

    1. เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี

    2. ไม่ต้องเก็บเอกสารหรือหลักฐานการบริจาค

    3. ไม่ถูกเจ้าหน้าที่ขอให้ส่งหลักฐานการบริจาคเหมือนในอดีต

    4. ผู้เสียภาษีได้รับเงินคืนภาษีได้รวดเร็วขึ้น

    5. สร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการเงินภายในสถานศึกษาหรือวัดวาอาราม

    6. ช่วยให้การจัดทำบัญชีรับ-จ่ายของศาสนสถานที่ต้องส่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติง่ายและสะดวกขึ้น

    7. สร้างความเชื่อมมั่นให้กับประชาชน สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

    8. ลดระยะเวลาการปฏิบัติงานคืนภาษีของกรมสรรพากร

    9. รองรับการบริจาคด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต

    และ 10. เชื่อมโยงข้อมูลกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยอัตโนมัติ

โครงการ e-Donationต้นฉบับ