ThaiPublica > เกาะกระแส > ส.อ.ท.-สอศ.จับมือ”เชฟรอน”เปิดผลวิจัย”อุตฯ4.0″ ชี้ 75% ต่ำกว่า 3.0-เหตุขาดแรงงานทักษะขั้นสูง

ส.อ.ท.-สอศ.จับมือ”เชฟรอน”เปิดผลวิจัย”อุตฯ4.0″ ชี้ 75% ต่ำกว่า 3.0-เหตุขาดแรงงานทักษะขั้นสูง

4 ตุลาคม 2017


เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) นำเสนองานวิจัยเชิงลึก“ปัญหาและความท้าทายของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0” ณ ห้อง Salon 1 โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเผยผลวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับ “ปัญหาและความท้าทายของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0” ภายใต้โครงการ chevron enjoy science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งมอบหมายให้ “Chisholm institute Australia” วิจัยในรูปแบบสัมภาษณ์เชิงลึกและวิเคราะห์จากทั้งในและต่างประเทศ

งานวิจัยค้นพบว่า ในด้านเทคโนโลยีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย 75% ยังคงใช้เทคโนโลยีในระดับต่ำกว่า 3.0 ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวสู่ระดับ 4.0 ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมไทยยังใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตน้อยกว่าผู้ผลิตอื่นในภูมิภาคเอเชีย โดยข้อมูลจากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติในปี 2558 ประเทศมีจำนวนหุ่นยนต์ต่อแรงงาน 10,000 คนเพียง 33 ตัว เทียบกับของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวันที่ 347, 339, 129 ตามลำดับ

ผลการศึกษาจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติระบุว่า ผู้ประกอบการไทยหลายแห่งไม่สามารถปรับกระบวนการผลิตไปสู่ระดับการใช้ระบบอัตโนมัติ และการเชื่อมโยงของระบบต่างๆ ตามที่คาดการณ์ไว้ในนโยบาย Thailand 4.0 ในระยะเวลาอันสั้นได้ ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงเสนอว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าควรจะมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ในการยกระดับจากอุตสาหกรรม 2.0 ไปเป็น 3.0

ในด้านทักษะแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมไทย ยังต้องการแรงงานทักษะสูงและช่างเทคนิคที่มากขึ้น โดยเฉพาะด้านแมคคาทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติ และการควบคุมหุ่นยนต์ และต้องสามารถนำทักษะไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตที่มีเครื่องมือ เทคโนโลยี และวัสดุใหม่ๆ

ทั้งนี้ การประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกได้ระบุทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานโดบรวมในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2563 ว่าเหมือนกัน โดยอันดับแรกคือการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน รองลงมาคือทักษะการเข้าสังคม ทักษะเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน และทักษะเกี่ยวกับระบบ อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พบว่าความต้องการทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะการบริหารทรัพยากร ทักษะด้านเทคนิคลดลง ขณะที่ทักษะเกี่ยวกับระบบ ทักษะเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน และทักษะทางปัญญาและองค์ความรู้ มีน้ำหนักความต้องการเพิ่มขึ้น สะท้อนการใช้ระบบอัตโนมัติและระบบจัดการอัจริยะในการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ การประชุมยังคาดการณ์ไว้ด้วยว่าทักษะที่เกี่ยวกับกระบวนการคิดและการใช้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ การสร้างภาพ และการใช้วิจารณญาณอย่างมีเหตุมีผลจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต

ดังนั้น ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 การมีแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญคือดัชนีชี้วัดสำคัญ นโยบายหลักในการพัฒนาควรมุ่งเน้นไปที่ การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เน้นสเต็ม (STEM : Science Technology Engineering and Mathematics) การศึกษาและทักษะทางด้านอารมณ์ในการทำงาน (soft skills), การสนับสนุนการฝึกอบรมช่างเทคนิค, การสร้างความตระหนักรู้ในอาชีพช่างเทคนิคสู่สังคม, การพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลงานวิจัยสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของ ส.อ.ท. ซึ่งได้นำเสนอมาในช่วง 3-4 ปี และระยะหลังมีความชัดเจนเรื่องของคำนิยามมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรม 4.0 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรม 4.0 ของญี่ปุ่นที่เน้นสิ่งที่เรียกว่า connecting industry หรือ การเชื่อมโยงระหว่างโรงงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ทราบสถานะการดำเนินงานของแต่ละแห่ง และสามารถปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“อุตสาหกรรม 4.0 ของญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องของหุ่นยนต์เท่านั้นแล้ว แต่เป็นเรื่องดิจิทัลที่เชื่อมโยงกันด้วย เคยมีคนมาเสนอระบบนี้กับบริษัทผม เขาถามว่าบริษัทประชุมกันอย่างไร ผมบอกว่าเดือนละครั้งช่วงกลางเดือน เพื่อทบทวนและปรับแผนดำเนินงาน เขาบอกว่าข้อมูลเดือนที่แล้วที่ใช้ในการประชุม ใหม่สุดก็ 15 วัน เก่าสุดก็ 45 วัน ผมเห็นด้วยเลย ในยุคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วข้อมูลแบบนี้มันทำงานไม่ทันและอาจจะสร้างความเสียหาย รูปแบบการทำงานจะต้องเปลี่ยนไปให้ทำน้อยได้มาก และสิ่งสำคัญคือทักษะของแรงงาน” นายเจนกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยกำลังมีปัญหาเรื่องทักษะแรงงาน หลายประเทศมาคุยว่าที่จะให้มาลงทุน เขาถามว่าจะหาแรงงานที่ต้องการได้หรือไม่ ในบางอุตสาหกรรมอาจจะไม่มีปัญหามากอย่างยานยนต์ แต่ในบางอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนไปต้องมีการพัฒนาแรงงานมากขึ้น ซึ่ง ส.อ.ท. ได้สำรวจความต้องการแรงงานและส่งเสียงเป็นระยะอยู่แล้ว โดยสิ่งสำคัญคือต้องการแรงงานที่เคยลงมือปฏิบัติจริง ไม่ว่าอุตสาหกรรมนั้นจะต้องการทักษะอะไร ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้จัดทำหลักสูตรส่งเสริมการพัฒนาแรงงานทั้งแรงงานใหม่และแรงงานเดิมให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการเองด้วย

นอกจากนี้ ส.อ.ท. มีแนวทางจะพัฒนาระบบค่าตอบแทนให้เทียบเท่ากับกับสายสามัญและสะท้อนฝีมือที่แท้จริง เนื่องจากบางอุตสาหกรรมต้องการเฉพาะช่างเทคนิค โดย ส.อ.ท. ได้จัดทำมาตรฐานแรงงาน ซึ่งรวมถึงทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น และสามารถนำเป็นฐานในการพัฒนาเรื่องค่าตอบแทนได้

ด้าน ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลเพื่อพัฒนาการศึกษาของอาชีวะว่า ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณและภาระงานที่ต้องทำ แนวทางของรัฐบาลจะเน้นไปที่ระบบทวิภาคีระหว่างภาครัฐ ในฐานะผู้พัฒนาแรงงาน และเอกชน ในฐานะผู้ใช้แรงงาน โดยเน้นให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการความร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาต้นแบบการจัดการเรียนการสอนที่ต้องการ เพื่อนำไปปฏิบัติในวงกว้าง, การพัฒนาฐานข้อมูลแรงงาน ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ, การสร้างภาพลักษณ์ของอาชีวะในสายตาคนทั่วไปถึงความสำคัญของช่างเทคนิค เป็นต้น ขณะที่ระยะยาว สอศ.อยู่ระหว่างร่างแผนพัฒนาอาชีวะระยะ 20 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาล

ขณะที่ในอนาคตมีหลายประเทศแสดงความสนใจและเป็นห่วง และพร้อมสนับสนุนเงินทุน เพื่อช่วยให้ไทยพัฒนาแรงงานตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นไจก้าที่เสนอเงินกู้ 0.3% ต่อปี วงเงิน 2,800 ล้านบาท มาตั้งศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะ หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ที่เสนอเงินกู้เนื่องจากมองว่า ในอนาคต หากไทยไม่พัฒนาแรงงานจะสร้างปัญหาและสะท้อนความวิกฤติของปัญหาแรงงานในปัจจุบัน

ป้ายคำ :