ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”ชี้ทางรอด SMEs ในโลกยุค 4.0-ประยุกต์ปรัชญา“เศรษฐกิจพอเพียง”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”ชี้ทางรอด SMEs ในโลกยุค 4.0-ประยุกต์ปรัชญา“เศรษฐกิจพอเพียง”

5 กันยายน 2017


เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถางานสัมมนา ธุรกิจยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตอน “ธุรกิจยั่งยืน ยุค 4.0” หัวข้อ “การเผชิญกับความท้าทายในอนาคตของธุรกิจ SMEs ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ณ ห้อง Lotus 5-7 โรงแรม Centara Grand Central World

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา ธุรกิจยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตอน “ธุรกิจยั่งยืน ยุค 4.0” หัวข้อ “การเผชิญกับความท้าทายในอนาคตของธุรกิจ SMEs ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิมั่นพัฒนาร่วมกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 5 กันยายน 2560

โดยดร.ประสาร กล่าวว่า การส่งเสริม SMEs ให้อยู่รอด และให้สามารถเป็นกลไกที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ในความสนใจของผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ OECD ธนาคารโลก IMF เพราะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจมีความก้าวหน้า และสร้างการเติบโตที่กระจายตัวอย่างทั่วถึง หรือ Inclusive Growth ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผมคิดว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวข้ามความท้าทาย คือ Survive ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าได้ไม่เต็มที่ และบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ จนสามารถพึ่งตนเองได้ หรือ Sufficient และพัฒนาธุรกิจให้มีความก้าวหน้า และเกิดความยั่งยืนคือ Sustainable ได้ในที่สุด และทุกท่านคงมีคำถามเหมือนกันว่า SMEs จะประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินธุรกิจอย่างไร? เพื่อตอบคำถามนี้ ผมขอร่วมเสนอมุมมองใน 3 ประเด็นคือ

    1. บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม
    2. โอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ
    3. การประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาธุรกิจ SMEs ให้ยั่งยืน

ส่วนที่ 1 บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม

พวกเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกที่เราอยู่ไม่เหมือนเดิม บ้างก็ว่า เรากำลังเผชิญกับ “โลกยุค 4.0” ที่เทคโนโลยีมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด งานสัมมนาในวันนี้ยังมีชื่อตอนว่า “ธุรกิจยั่งยืน ยุค 4.0” เรียกว่า “4.0” เป็นคำฮิตของยุคนี้ก็ว่าได้ ผมขอขยายความ โลกที่ไม่เหมือนเดิมในมุมที่กว้างขึ้นมาสักนิด กล่าวคือ มองไปข้างหน้า ปัจจัยที่จะมีนัยขับเคลื่อนโลกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมีอย่างน้อย 3 ปัจจัย

ปัจจัยขับเคลื่อนแรก เทคโนโลยี ทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีในหลากหลายสาขา ก้าวหน้ามีการพัฒนาในอัตราเร่ง และนวัตกรรมหลายอย่างทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การสร้างอวัยวะเทียมด้วย 3D Printing การปลูกถ่ายอวัยวะ รถยนต์ไร้คนขับ การใช้หุ่นยนต์มาช่วยทำงาน เป็นต้น ถ้าย้อนไปเพียงแค่ 2-3 ปี พวกเราคงไม่เชื่อว่าเรื่องต่อไปนี้จะเกิดขึ้น

    – หุ่นยนต์จะกลายเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือ ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ เป็นผู้ลงทุนในตลาดเงินเสียเอง
    – เราจะสามารถกดเงินจากตู้ ATM โดยไม่จำเป็นต้องใช้บัตร หรือ
    – เราจะสามารถจ่ายค่าวินมอเตอร์ไซด์ด้วย QR Code ผ่านมือถือได้
    – บริษัท McKinsey คาดว่า เป็นไปได้ว่า อีก 20 ปีข้างหน้า ระบบหรือ “กลไกอัตโนมัติ” จะแทรกเข้ามาอยู่ในการทำงานของพวกเราประมาณครึ่งหนึ่ง ที่สำคัญ การเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ยังเป็นไปใน “อัตราที่เร็วและเร่งขึ้น”

ผมขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ หลังจาก Alexander Graham Bell ประดิษฐ์ “โทรศัพท์” เครื่องแรกสำเร็จ เมื่อ 140 ปีก่อน (ปี 1876) และต้องใช้เวลาถึง 75 ปี กว่าโทรศัพท์จะกระจายครอบคลุมผู้ใช้ 50 ล้านคนแรก ขณะที่ Internet Facebook และ Instagram ใช้เวลาเพียง 4 ปี 3.5 ปี และ 6 เดือน ตามลำดับ ก็มีผู้ใช้บริการครบ 50 ล้านคนแล้ว ด้วยความเร็วของการแพร่กระจายเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ลึกๆ ในใจของพวกเราจะเกิดความหวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตยากขึ้น และยังส่งผลกระทบเร็วขึ้น

ปัจจัยขับเคลื่อนที่สอง โครงสร้างประชากร ปัจจุบันประชากรโลกมี 7.5 พันล้านคน และอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 8 พันล้านคน คนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ในสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ในอนาคต กลุ่มที่ขยายตัวมากคือ “ผู้สูงอายุ” ที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงประเทศจีนและไทย ซึ่งประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย

ขณะที่คนในวัยทำงานของโลกส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอินเดียอีกไม่ถึงทศวรรษจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแทนที่จีนที่เคยเป็นแชมป์ ซึ่งมีนัยต่อโครงสร้างการผลิตสินค้า และบริการของโลกเปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างอายุประชากรของแต่ละประเทศ และมีผลต่อเนื่องให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของหลายประเทศต้องเปลี่ยนไปในที่สุด ดังนั้น แม้จะเป็นตลาดเดิมแต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จึงเป็นโลกใหม่ที่พวกเราต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยขับเคลื่อนที่สาม บริบทการเมืองและเศรษฐกิจโลก บริบทโลกที่ซับซ้อนและความเกี่ยวพันกันของการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแยกกันไม่ออก กล่าวคือ หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกบทบาทมหาอำนาจอย่างสหรัฐอ่อนแรงลง และทำให้ปัญหาหนี้ของกลุ่มประเทศยูโรปะทุขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีนนับวันยิ่งแข็งแกร่งขึ้น และทำให้มีการคาดการณ์ว่า ขนาดเศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐและเป็นมหาอำนาจในไม่ช้า

อย่างไรก็ดี สหรัฐพยายามหวนกลับมายิ่งใหญ่ ตามแนวนโยบาย Make America Great Again ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ของโลก และความตึงเครียดบริเวณคาบสมุทรเกาหลี ส่วนหนึ่งเป็นการท้าทายกันระหว่างขั้วอำนาจเดิม

นอกจากนี้ ปัญหาการก่อการร้ายมีการกระจายตัวเป็นวงกว้าง ประเด็นเหล่านี้ไม่เพียงทำให้การคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจยากขึ้นแล้ว ยังเป็นความเปราะบางที่สามารถทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก “สะดุด” ได้ทุกเมื่อ ที่สำคัญ โลกที่เชื่อมโยงกันเช่นนี้ย่อมทำให้ผลกระทบเหล่านี้ส่งผ่านมาไทยได้ไม่ยาก และการทำธุรกิจในปัจจุบันยุ่งยากกว่าในอดีต เพราะไม่ใช่แค่ต้องคำนึงถึงปัจจัยในประเทศ แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยในต่างประเทศด้วย

ระบบการค้าเสรี และ Globalization ที่เดิมนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า จะช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับความสำเร็จที่ช่วยให้หลายประเทศ รวมทั้งไทย หลุดพ้นจากความยากจน แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความเหลื่อมล้ำ” กลายเป็นปัญหาสำคัญของโลก และประชาชนในหลายประเทศแสดงออกถึงความไม่พึงพอใจในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น “สงครามกลางเมือง” ในหลายประเทศ ผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ หรือการลงประชามติเรื่อง Brexit ของอังกฤษที่พลิกความคาดหมาย ก็สะท้อนความไม่พอใจในปรากฏการณ์ดังกล่าว

เมื่อย้อนเข้ามาดู “ภายในประเทศ” ในภาพใหญ่การพัฒนาที่ผ่านมาช่วยให้ความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจไทยโดยรวมดีขึ้น แต่ไทยก็เผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏในหลากหลายมิติ อาทิ รายได้คนเมืองและคนชนบท โอกาสของธุรกิจในกรุงเทพกับภูมิภาค ตลอดจนการแข่งขันระหว่างธุรกิจใหญ่และเล็ก

นอกจากนี้ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” หลายอย่างยังซ้ำเติมให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำถ่างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบจำนวนมากที่ “ขาด” การปรับปรุงให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือคุณภาพการศึกษาที่ต่ำลงส่งผลถึงคุณภาพแรงงาน และความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ซึ่งมีผลให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจอาจจะลดลงในที่สุด บทเรียนจากประวัติศาสตร์เตือนเราว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หากไม่ได้รับการแก้ไขจะนำไปสู่ความ “ไร้” เสถียรภาพของประเทศได้ในที่สุด

ส่วนที่ 2 โอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ

ถ้าเปรียบ “เศรษฐกิจ” เป็น “ผืนป่า” ที่ประกอบด้วยต้นไม้หลากหลายขนาดและสายพันธุ์ บริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เปรียบเหมือน “พายุ” ยามพายุพัดกระหน่ำผืนป่า ต้นไม้ใหญ่ ที่มีรากยึดโยงไว้อย่างดี อาจทานกระแสลมได้มาก แต่ถ้าเนื้อไม้ไม่แข็งแรง หรือ ลำต้นไม่มีรูปทรงที่ช่วยลดแรงปะทะทางธรรมชาติก็มีสิทธิที่จะหักโค่นกลางลำได้ ขณะที่ต้นไม้ขนาดกลางและเล็กแม้ลำต้นอ่อน ทำให้มีความสามารถในการปรับตัวสูง แต่ถ้าอยู่ใกล้ไม้ใหญ่ ก็หักโค่นตายไปพร้อมๆ กันได้ หรือ ถ้าอยู่ไกลออกมาหน่อยแรงลม และน้ำป่าก็อาจไปเซาะรากจนหายสาบสูญไป หรือไปเติบโตในที่ที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นก็ได้

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิมจากที่กล่าวมา ทั้ง

    – พัฒนาการของเทคโนโลยีที่รุดหน้าจนทำให้พฤติกรรมผู้บริโภค ตลอดจนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการทำงานเปลี่ยนแปลงไป
    – เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และ
    – ความไม่แน่นอนในทิศทางการบริโภคสินค้าและบริการของตลาดเก่าและตลาดใหม่ในอนาคต

ได้สร้างผลกระทบให้กับทุกธุรกิจอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เรียกว่า “แทบทุกธุรกิจต่างจำเป็นต้องปรับตัว” และเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่ต้องพยายามก้าวข้ามให้ได้

“หลายท่านในที่นี้คงจะเห็นเหมือนกับผมว่า หลายธุรกิจหายไปแล้ว อาทิ ร้านเทป ร้านเช่าวิดีโอ และ หลายธุรกิจกำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เช่น สื่อออนไลน์เข้ามาแทนที่หนังสือพิมพ์และนิตยสาร แม้กระทั่งเวทีสัมมนาต่างๆ นับวันผู้จัดงานจะเหนื่อยขึ้น เพราะเรียกผู้ฟังได้น้อยลงจากการที่ทุกคนสามารถชมถ่ายทอดสดผ่าน Smart Phone ได้ เป็นต้น”

หลายธุรกิจกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง อาทิ ธุรกิจค้าปลีกWalmart บริษัทธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐที่มีรายได้สูงสุดในโลกจากการจัดอันดับของ Fortune 500 ต้องเผชิญกับการแข่งขันรุนแรงจากร้านค้า Online อย่าง Amazon จนต้องเร่งปรับตัว และบางปีก็ไม่สามารถรักษาแชมป์ได้ อีกทั้งหลายปีที่ผ่านมากำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธุรกิจห้างสรรพสินค้าไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อรองรับกับทิศทางของ E-Commerce ที่นับวันจะ “ทวี” บทบาทในวงการค้าของไทยมากขึ้น

ธุรกิจการเงิน ปรากฏการณ์ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องปิดสาขานับร้อยแห่งจากทิศทาง Internet Banking และ Mobile Banking ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องเร่งปรับตัวรับมือ “FinTech” เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ด้วยการตั้งบริษัทลูกหรือร่วมมือกับ Fintech อื่น ในการพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าที่หลากหลายขึ้น

มีการคาดการณ์ว่า อีกไม่นาน “TechFin” หรือบริษัทที่ชำนาญด้าน Technology อาทิเจ้าของ “เครือข่าย” มือถือ หรือ บริษัท E-commerce จะผันตัวมาเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน นั่นหมายความว่า ธุรกิจการเงินไม่ใช่ธุรกิจผูกขาดโดยธนาคารพาณิชย์ เพราะบริษัทเหล่านี้มีข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer data) รายธุรกรรมจะช่วยประเมินความเสี่ยงและความสามารถในการชำระเงินของผู้กู้ นั่นหมายความว่า เจ้าของข้อมูลเหล่านี้สามารถพัฒนาตัวเองเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อหรือขายข้อมูลให้กับผู้สนใจทำธุรกิจนี้ หรือ

ในระดับปัจเจก มีการคาดการณ์ไว้ว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะทำให้งานกว่า 7 ล้านตำแหน่งทั่วโลกหายไป ภายในปี 2020 ขณะเดียวกันก็จะสร้างงานใหม่ 2 ล้านตำแหน่งขึ้นมา และในสังคมที่บางท่านเรียกว่า “Gig Economy” รูปแบบการทำงานจะเป็นลักษณะ Freelance หรือ Part time แทนที่งานประจำอย่างที่พวกเราคุ้นชิน

กลับมาที่ธุรกิจ SMEs ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพคล่อง สายป่านที่อาจไม่ยาวพอที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลง ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวรับบริบทโลกใหม่

แต่ในจุดอ่อนย่อมมีจุดแข็ง และที่ไม่สามารถมองข้ามได้คือ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว การปรับตัวให้เท่าทันโลกเป็นเงื่อนไขสำคัญในการอยู่รอด ซึ่ง SMEs เป็นกลุ่มที่มีความคล่องตัวสูง ยืดหยุ่น และไม่มีระบบองค์กรที่เทอะทะตีกรอบกระบวนการทำงานหรือความคิดในการแก้ปัญหา น่าจะสามารถปรับตัวได้เร็ว อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายโอกาสทางธุรกิจ

ตัวอย่างเช่น การโฆษณาผ่าน Social Media และการเชื่อมต่อการค้าและธุรกิจผ่าน Social Network ทำให้ SMEs แจ้งเกิดได้ง่ายกว่าในอดีตมาก ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีจะช่วยให้ SMEs ที่สามารถเก็บข้อมูลการรับชำระเงินอย่างเป็นระบบ สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการขอสินเชื่อ ซึ่งในหลายประเทศ ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์มาก ซึ่งสถาบันการเงินโดยธรรมชาติอยากปล่อยสินเชื่อ แต่จะปล่อยไม่ได้ถ้าไม่มีการยืนยันว่า ลูกค้ามีธุรกรรม หรือกระแสเงินสดอย่างไร ซึ่งข้อมูลนี้สำคัญกว่าหลักประกัน เพราะถ้าถึงขั้นตอนการขายหลักประกันก็ถือว่า ขาดทุนแล้ว ดังนั้น หากมีการบันทึกธุรกรรมอย่างเป็นระบบ สถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อโดยอาศัยข้อมูลเหล่านี้อ้างอิง (Information-based lending) แทนการใช้หลักประกันเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางการเงิน ยังช่วยให้ SMEs ที่มีศักยภาพได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำลงสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ได้รับมากขึ้น

ส่วนที่ 3 การประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาธุรกิจ SMEs ให้ยั่งยืน

ภายใต้บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่หลายเรื่องยากจะเดาว่าปลายทางจะเป็นเช่นไร ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงเป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมต่อบริบทโลกเช่นนี้

ผมคิดว่า คนไทยโชคดีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทาน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ไว้ให้เป็นหลักในการดำรงชีวิต เป็นหลักที่สามารถจะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้เท่าทันโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมเห็นว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทโลกเช่นนี้ ที่สำคัญ หลักการนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระดับบุคคล บริษัทธุรกิจ สังคม ประเทศ

อย่างไรก็ดี อาจจะมีความเข้าใจคาดเคลื่อนว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของภาคเกษตร และห่างไกลจากภาคธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไร แต่ความจริงแล้ว หลักการนี้ ไม่ได้ขัดกับการแสวงหากำไร หากแต่เน้นให้คิดถึง “ความยั่งยืน” หรืออีกนัยหนึ่งคือ คิดถึง “กำไรในระยะยาว” มากกว่าแค่ผลประโยชน์ในระยะสั้น เน้นการทำกำไรที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพลวัตของเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง ด้วยการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปอย่างรอบคอบ และมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

พวกเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้ประกอบการ SME ที่บริหารโครงการมากที่สุดท่านหนึ่งของประเทศ จากโครงการในพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งเกือบทุกโครงการเป็นโครงการระดับกลางและเล็กทั้งสิ้น และท่านทรงใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบริหารงานจนเกิดผลสำเร็จจนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในและต่างประเทศ ผมจึงเชื่อมั่นว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถเป็นกรอบที่ธุรกิจ SMEs สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหาร พัฒนา และขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืนได้

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมขอยกตัวอย่างการทรงงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ประกอบด้วย “ความมีเหตุผล” “ความพอประมาณ” “การสร้างภูมิคุ้มกัน” ภายใต้เงื่อนไขการทำงานด้วย “ความรู้” และ “คุณธรรม” ดังนี้

1) ความมีเหตุผล ทรงมองโลกตามความเป็นจริง จากความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ว่า “..ความปรารถนานั้นจักสำเร็จลงได้จักต้องมีวิธีที่จักดำเนินให้ไปถึง…” หนึ่งในวิธีที่พระองค์ทรงแนะนำคือ “มองโลกในแง่ดี และจะให้ดียิ่งขึ้น ควรมองโลกจากความเป็นจริง จักเป็นทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและเหมาะสม”

ตัวอย่างที่พระองค์ทรงแนะนำที่สะท้อนวิธีมองโลกจากความเป็นจริง ความตอนหนึ่งว่า

“ทำโครงการอะไรก็จะต้องนึกถึงขนาดที่เหมาะสม … จะต้องทำด้วยความรอบคอบ และอย่าตาโตเกินไป คือ บางคนเห็นว่า มีโอกาสที่จะทำโครงการอย่างโน้นอย่างนี้ และไม่ได้นึกถึงว่า ปัจจัยต่างๆ ไม่ครบ ปัจจัยหนึ่งคือ ขนาดของโรงงาน หรือ เครื่องจักรที่สามารถจะปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญที่สุดคือ วัตถุดิบ … ยิ่งถ้าวัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานนั้น เป็นวัตถุดิบที่ต้องนำมาจากระยะไกล หรือ นำเข้าก็จะยิ่งยาก เพราะ … ราคายิ่งแพง บางปีวัตถุดิบนั้นมีบริบูรณ์ ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ผลิตจากโรงงาน ก็ขายยากเหมือนกัน เพราะว่ามีมาก จึงทำให้ราคาตก นี่ก็เป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องมี”

ขณะเดียวกัน พระองค์สนับสนุนการลงทุนที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิต และใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรม ไม่ว่าในด้านการเกษตร หรือ ธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์ ครั้งหนึ่ง ทรงเล่าถึงโรงงานแช่แข็งผลผลิตของชาวไร่ที่ลำพูนที่เสด็จไปเยี่ยมว่า“เขาบ่นว่า ข้าวโพดที่เขาใช้สำหรับแช่แข็งคุณภาพไม่ค่อยดีก็เลยซื้อในราคาแพงไม่ได้ … ก็บอกเขาว่า นี่น่าจะส่งเสริมด้านการเงินให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ให้ได้ข้าวโพดที่มีคุณภาพดี โรงงานจะเจริญ”

2) ความพอเพียง การดำเนินการโครงการพระราชดำริ พระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ ด้วยการพัฒนาต้นแบบให้มั่นใจก่อนที่จะขยายผลให้ใหญ่ขึ้น สิ่งที่ทรงทำในภาษาธุรกิจคือ “Proof of Concept” เสียก่อนว่าสิ่งที่คิดนั้นสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ตัวอย่างโครงการส่วนพระองค์โรงนมจิตรลดา ผลิต “นมอัดเม็ด” โดยทรงทดลอง ทดสอบ จนมั่นใจ จึงจะขยายกำลังการผลิต จนทุกวันนี้ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มคนจีน ขายดีจนเป็นสินค้าขาดตลาด และต้องจำกัดปริมาณการซื้อ

ในการทรงงาน พระองค์จะมองปัญหาในภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ ดังพระราชดำรัสที่ว่า “แบบ Macro นี้เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมด ฉันไม่เห็นด้วย อย่างบ้านคนอยู่ เราบอกบ้านนี้มันผุตรงนั้น ผุตรงนี้ไม่คุ้มที่จะไปซ่อม เอาตกลงรื้อบ้านนี้ระเบิดเลย เราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ วิธีทำต้องค่อยๆ ทำ จะไประเบิดหมดไม่ได้” และเมื่อการแก้ปัญหามีความก้าวหน้า พระองค์จึงทรงมีพระราชวินิจฉัยต่อว่า “เรามาไกลแล้วนะ แบ่งๆ ให้ชาวบ้านบ้าง”

และการจะให้ชาวบ้านทำต่อได้ วัสดุที่ใช้ต้องหาได้ในท้องถิ่น และมีราคาถูก ตัวอย่างเช่น ทรงดำริเรื่อง “ฝาย” และทรงให้แนวทางว่า “ให้พิจารณาดำเนินการ สร้างราคาประหยัด ใช้วัสดุราคาถูก และหาง่ายในท้องถิ่น”

นอกจากนี้ แม้จะทรงสนับสนุนให้ลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต แต่ก็ทรงแนะให้ทำด้วยความรอบคอบ สมเหตุสมผลไม่เกินตัว ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“ไปทางชลบุรี … หลายสิบปีมาแล้ว .. มีพ่อค้าคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาทำโรงงาน สำหรับทำสับปะรดกระป๋อง เขาลงทุนเป็นล้าน จำไม่ได้แล้วกี่ล้าน เพื่อสร้างโรงงาน การลงทุนมากอย่างนั้น บอกให้เขาทราบว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าเคยทำโรงงานเล็กๆ ที่ทางภาคเหนือ ใช้เงินสามแสนบาท เพื่อที่จะเอาผลิตผลของชาวบ้านชาวเขามาใส่กระป๋องแล้วขายก็ได้ผล … บอกว่าที่เขาลงทุนเป็นล้าน รู้สึกว่าเสี่ยง เขาบอกว่าต้องทำอย่างนั้น … ลงทุนทำไปทำมา สับปะรดที่อำเภอบ้านบึง ทางชลบุรีก็มีไม่พอ เมื่อมีไม่พอต้องไปสั่งสับปะรดมาจากปราณบุรี สับปะรดจากปราณบุรีต้องขนส่งมา ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำไปทำมาโรงงานก็ล้ม”

3) การมีภูมิคุ้มกัน ทรงเน้นการพึ่งพาตัวเองได้จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด โดยเน้นให้พัฒนาตนเองในขั้น “พออยู่พอกิน” ก่อนจะพัฒนาไปสู่ขั้น “พอมีอันจะกิน” ต่อไป ซึ่งกลับทิศกับคนส่วนใหญ่ที่อยาก “พอมีอันจะกิน” ก่อนจะที่ “พออยู่พอกิน” ได้

ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงห่วงใยเกษตรกร เพราะส่วนใหญ่พึ่งพาอยู่กับพืชเกษตรชนิดเดียว เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางธรรมชาติ หรือการตลาดทำให้รายได้เกษตรกรมีความไม่แน่นอนสูง พระองค์จึงศึกษาและทรงมีพระราชดำริใน “เรื่องทฤษฎีใหม่” ที่ให้จัดสรรพื้นที่ทั้งในเรื่องทำนา ไร่สวน ประมง โรงเรือน และที่อยู่อาศัย และเป็นแนวทางให้เกษตรกร “พออยู่พอกิน” ในเบื้องต้นก่อน จึงสามารถแก้ปัญหาหนี้สิน และออกจากกับดักความยากจนได้

นอกจากนี้ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับ “การบริหารความเสี่ยง” กล่าวคือ ท่านจะมีแผนสองรองรับหากแผนแรกล้มเหลว ดังกรณีโครงการนมอัดเม็ด ที่แรกเริ่มมีการแปรรูปนมผงให้เป็น “ทอฟฟี่รสนม” ก่อน แต่ปรากฏไม่เป็นที่นิยม ก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็น “นมผงอัดเม็ด” สะท้อนว่า มีความจำเป็นที่เราต้องมี “แผนสำรอง” ให้กับชีวิต ให้กับธุรกิจที่ทำ

4) การใช้ความรู้ในการประกอบอาชีพ และส่งเสริมให้เรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง

ตัวอย่างเช่น การทดลองใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เช่น ในพื้นที่ที่เป็นดานคือไม่มีดินเลย ทรงทดลองใช้หญ้าแฝกระเบิดหิน หรือทดลองปรับสภาพน้ำที่เป็นด่างด้วยการใส่ปุ๋ยคอก เป็นต้น หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายๆ เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่อาศัยกระบวนการเติมออกซิเจนจากอากาศลงสู่น้ำ จึงเป็นที่มาของกังหันน้ำชัยพัฒนา ที่สำคัญ การที่พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยต่างๆ เช่นนี้ได้ เพราะพระองค์ทรงทำการทดลองในหลายพื้นที่ และพระองค์ทรงเป็นคลังความรู้ ที่ไม่เคยหยุดเรียนรู้

5) ความเพียร คือ คุณธรรมข้อสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติการงานสำเร็จ และเป็นหลักยึดให้กับจิตใจให้มีความกล้าหาญและสามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ดังพระราชดำรัส ว่า

“ความเพียรที่จะเป็นกำลังได้ต้องมีลักษณะแข็งกล้า ไม่ย่อหย่อนเสื่อมคลายด้วยอุปสรรค ด้วยความยากลำบากเหน็ดเหนื่อยประการใดๆ หากแต่อุตส่าห์พยายามกระทำเรื่อยไปไม่ถอยหลัง แม้หยุดมือก็ยังพยายามคิดต่อไป ไม่ทอดธุระ กำลังความเพียร จึงทำให้การงานไม่ชะงักล่าช้า มีแต่ดำเนินรุดหน้าเป็นลำดับไปจนบรรลุความสำเร็จ โดยไม่มีสิ่งใดจะยับยั้งขัดขวางได้” ซึ่งความเพียรอย่างไม่ย่อท้อ จึงเป็นแรงขับให้เกิดการ “ระเบิดศักยภาพจากภายใน”

ที่สำคัญ เมื่อทรงใช้ “ความรู้” ผนวกกับ “ความเพียร” ทำให้พระองค์สามารถสร้างนวัตกรรมที่สำคัญของโลก อาทิ “การทำฝนเทียม” หรือในโครงการ “แกล้งดิน” ต่างๆ เพื่อใช้ธรรมชาติปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกและหลายประเทศในโลกนำหลักการแก้ปัญหาดินของท่านไปใช้จนให้ผลเป็นที่ประจักษ์ และ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของท่านเป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) เพื่อเป็นการสดุดีพระเกียรติคุณ

ก่อนจบ ผมอยากจะสรุปสั้นๆ ว่า การจะเป็น SMEs ที่จะประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่แค่มีไฟ มีฝัน แต่ต้องเลือกธุรกิจที่จะทำได้ถูกต้อง มีความเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจนั้นอย่างแท้จริง วางกลยุทธ์ที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการที่ดี ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อยอดการพัฒนาได้ และหมั่นหาความรู้ ปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ การตั้งโจทย์ให้ “พออยู่พอกิน” ก่อนจะพัฒนาไปสู่ขั้น “พอมีอันจะกิน” จะทำให้โอกาสเกิดความสำเร็จมาก และขอปิดปาฐกถาด้วยพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า

“ที่พูด … ก็นึกว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจ … ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมากล้วนเดือดร้อน แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้องอาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ …ของการกระทำ … ก็จะสามารถอยู่ได้ .. การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้”

ป้ายคำ :