ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คลังเข็นกองทุนรวม TFF ขายสิ้นปีนี้ ระดมทุน 4 หมื่นล้าน ลงทุนทางด่วนขั้นที่ 3-วงแหวนตะวันตก

คลังเข็นกองทุนรวม TFF ขายสิ้นปีนี้ ระดมทุน 4 หมื่นล้าน ลงทุนทางด่วนขั้นที่ 3-วงแหวนตะวันตก

3 สิงหาคม 2017


จากปัญหางบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ละปีมีงบลงทุนเฉลี่ย 500,000 ล้านบาท การพึ่งพาการกู้ยืมเงินก็ติดเพดานหนี้สาธารณะ ทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทยไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร ปี 2560 สถาบัน IMD World Competitiveness Center จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับ 27 แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ โดย IMD จัดอันดับอยู่ที่ 49 ของโลก

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดดังกล่าว วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการโอนรายได้จากค่าผ่านทางโครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) มาใช้ในการระดมทุนผ่าน “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย” (Thailand Future Fund : TFF)

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะโฆษก สคร.

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) ว่าหลังจากที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการโอนรายได้ค่าผ่านทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 2 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษฉลองรัช และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถีในสัดส่วน 45% ของรายได้ เป็นระยะเวลา 30 ปี มาให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานฯ ผ่านการทำสัญญาโอนและรับสิทธิโอนรายได้ (Revenue Transfer Agreement: RTA) โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ตามมติ ครม. มอบหมายให้ กทพ. นำไปใช้ในการก่อสร้างโครงการทางพิเศษใหม่อีก 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 44,819 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงิน 30,437 ล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก (ถนนเกษตร-นวมินทร์) วงเงินลงทุน 14,382 ล้านบาท

นายชาญวิทย์กล่าวว่า ตามแผนการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรก จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานฯ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) วงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ขณะนี้กระทรวงการคลังได้เข้าไปลงทุนกองทุนฯ ดังกล่าว 1,000 ล้านบาท และได้ผ่านการอนุมัติจาก ก.ล.ต. เรียบร้อยแล้ว โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC) เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนฯ

เฟสที่ 2 เป็นขั้นตอนของการโอนรายได้ในอนาคต หรือรับซื้อกระแสเงินสด (RTA) ของโครงการทางด่วนฉลองรัชและบูรพาวิถีเข้ามาเป็นสินทรัพย์ของกองทุนรวมฯ เป็นระยะเวลา 30 ปี ในสัดส่วน 45% ของรายได้จากค่าผ่านทางนี่คือภายใต้เงื่อนไขหลักๆ นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขย่อยที่คณะทำงานกำลังเร่งทำการศึกษา เช่น กำหนดให้มีบุคคลที่ 3 เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ หรือกรณีถนนชำรุดเสียหาย การซ่อมบำรุงจะดำเนินการอย่างไร ต้องศึกษาอย่างละเอียด เพื่อที่จะนำไปกำหนดเป็นเงื่อนไขของสัญญาให้ชัดเจนและแจ้งต่อนักลงทุนด้วย กระบวนการดังกล่าวนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้

จากนั้น สคร. ก็จะส่งร่างสัญญาโอนและรับสิทธิโอนรายได้ (RTA) ไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจทานสัญญาฯ ระหว่างนี้ก็ยื่นคำร้องขอเสนอขายหน่วยลงทุนต่อ ก.ล.ต. (Filling) หลังจาก ก.ล.ต. ตรวจสอบเสร็จเมื่อไหร่ ก็พร้อมที่จะเปิดขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนทั่วไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของ กทพ. ด้วยว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการทางด่วนเส้นใหม่ทั้ง 2 โครงการได้เมื่อไหร่ ไม่ใช่กระทรวงการคลังระดมทุนมาแล้ว กทพ. ยังไม่พร้อม มันก็จะกลายเป็นต้นทุนทางการเงิน แต่อย่างไรก็ดี ตามแผนงานที่กำหนดไว้คาดว่าจะสามารถเปิดขายหน่วยลงทุนได้ภายใน ธันวาคม 2560

“หลักการคือนำเงินรายได้ในอนาคตของทางด่วนที่ทำเสร็จแล้ว 2 เส้น คือ ฉลองรัชและบูรพาวิถี มาแปลงเป็นหน่วยลงทุนขายให้กับประชาชนทั่วไป และนักลงทุนสถาบัน ทั้งนี้เพื่อนำเงินไปลงทุนก่อสร้างโครงการ 2 เส้น คือ ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง กับทางด่วนขั้นที่ 3 ซึ่งเป็นตอหม้ออยู่กลางถนนเกษตร-นวมินทร์ เมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย ก็อาจจะนำรายได้จากค่าผ่านทางมาทำ RTA เพื่อให้ กทพ. ใช้เป็นช่องทางในการระดมทุนในการก่อสร้างโครงการอื่นต่อไป เป็นลูกโซ่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลจะเลือกระดมทุนแบบไหน จะใช้งบประมาณแผ่นดิน, กู้เงิน, PPPs หรือ กองทุนรวมฯ” นายชาญวิทย์กล่าว

นายชาญวิทย์กล่าวต่อว่า ข้อดีของการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานคือไม่มีผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ เพราะไม่ถือเป็นการกู้เงิน แต่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐ สนับสนุนการออมของประเทศ และที่สำคัญทรัพย์สินยังเป็นของ กทพ. ไม่ต้องรอหรือพึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ประชาชนได้ใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการโปร่งใสภายใต้กลไกการตรวจสอบของตลาดทุน ส่วนข้อเสียคือเรื่องต้นทุนอาจจะแพงกว่าการกู้เงินเล็กน้อย ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าผ่านทางก็เป็นไปตามสัญญาที่กำหนดไว้ ไม่ถือเป็นความเสี่ยง สำหรับผลตอบแทนที่จะจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนขึ้นอยู่กับปริมาณรถยนต์ที่มาใช้บริการทางด่วน

“ส่วนการขายหน่วยลงทุน ตามมติ ครม. ให้เน้นไปที่นักลงทุนรายย่อยเป็นหลัก การขายจะเป็นแบบ Book Building ไม่ใช่มือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งตรงนี้นักลงทุนสถาบันเข้าใจดี จึงต้องขายให้กับนักลงทุนสถาบันด้วย ถามว่าในอนาคตจะมีการระดมทุนผ่าน TFF เป็นวงเงินเท่าไหร่ ตามประมาณการเดิมกำหนดไว้ที่ 100,000 ล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้วคาดว่าทำได้มากกว่านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของ Asset ที่จะโอนเข้ามาที่กองทุนฯ” นายชาญวิทย์กล่าว

ที่มาภาพ: สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ