ThaiPublica > คนในข่าว > ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา “เล็กๆ ที่ใช่ ดีกว่าใหญ่ที่ไม่จริง”…หาคุณค่าที่แท้จริงของคุณให้เจอ แล้วคุณจะยืนอยู่ในโลกอนาคตได้อย่างสง่างาม

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา “เล็กๆ ที่ใช่ ดีกว่าใหญ่ที่ไม่จริง”…หาคุณค่าที่แท้จริงของคุณให้เจอ แล้วคุณจะยืนอยู่ในโลกอนาคตได้อย่างสง่างาม

1 สิงหาคม 2017


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/openbooks2/

บ่ายวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” เจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks นักเขียนเจ้าของผลงาน FUTURE: ปัญญาอนาคต และ MANAGING ONESELF: ปัญญางาน จัดการตน เปิดบทบรรยายสั้นๆ ในหัวข้อ “เล็กๆ ที่ใช่ ดีกว่าใหญ่ที่ไม่จริง” ณ ร้านหนังสือเดินทาง – Passport Bookshop ท่ามกลางปัจเจกชนคนธรรมดาตัวเล็กๆ ทั้งวัยเด็ก คนหนุ่มสาว และผู้ใหญ่วัยกลางคน ที่เดินทางมาฟังและร่วมแลกเปลี่ยนบทสนทนากันอย่างใกล้ชิด เป็นกันเอง

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ถอดความในประเด็นการสนทนามาฝากคุณผู้อ่านให้ได้ขบคิดด้วยสติและปัญญา ว่าเราจะค้นหา ปรับตัว สร้างตัวตน สร้างธุรกิจ สร้างชีวิต สร้างอนาคตของตัวเองได้อย่างไร ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก

มองย้อนประวัติศาสตร์ เห็นอนาคต

หัวข้อที่จะคุยกันในวันนี้ชื่อว่า “เล็กๆ ที่ใช่ ดีกว่าใหญ่ที่ไม่จริง” ซึ่งเป็นคำพูดของเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) แล้วผมก็ใคร่ครวญดูว่า แม้คำพูดนี้จะพูดมาหลายร้อยปีแล้ว แต่น่าจะเป็นคำพูดที่จริงและเหมาะสมสำหรับยุคสมัยปัจจุบันมาก

ผมคุยหลายที่หลายเวที พยายามจะฉายภาพให้เห็นว่า ในปีปัจจุบันเราอยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก ปัญหาของการอยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ เราเป็นปลาที่ว่ายอยู่ในสายน้ำ เราจะไม่เห็นภาพรวมของแม่น้ำทั้งหมด เราเป็นต้นไม้ที่อยู่ในป่า เราจะไม่เห็นภาพรวมของป่าทั้งหมด

เราจะไม่เห็นว่าเราอยู่จุดไหน จนกว่ากาลเวลาจะล่วงผ่านเราไป แล้วมองย้อนกลับมาจะเห็นเลยว่า เราอยู่จุดไหนในสายธารประวัติศาสตร์ เราเป็นต้นไม้ต้นไหน เป็นคนคนไหน เมื่อมองจากภาพรวมทั้งหมด แต่เนื่องจากเราเป็นปลาในสายน้ำ เป็นมนุษย์ในประวัติศาสตร์ เราไม่เห็นว่าเราอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์

นักประวัติศาสตร์ นักคิดที่สำคัญของโลกบอกว่า การจะพยากรณ์อนาคตหรือมองไปข้างหน้าให้ได้ไกลที่สุด สิ่งหนึ่งที่คุณต้องทำคือ มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ให้ไกลที่สุด ยิ่งคุณมีความรู้ทางประวัติศาสตร์กว้างไกลลึกซึ้งขนาดไหน คุณยิ่งเห็นอนาคตชัดเจนขนาดนั้น

ความรู้ทางประวัติศาสตร์คือ รู้ในมุมกว้าง รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในภาพรวมทั้งหมด มองเห็นภาพใหญ่ ไม่ใช่มองเห็นเฉพาะจุดจุดหนึ่ง ไม่ใช่มองเห็นเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ไม่ใช่มองเห็นเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาค แต่เห็นภาพรวมทั้งหมดในระดับโลก นี่คือมองอย่างภาพกว้าง

ถ้ามองอย่างลึก มองย้อนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติกลับไปให้ไกลที่สุด คุณจะเห็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยแต่ละยุค ความขัดแย้ง และการคลี่คลาย

ปัญญาเหล่านี้ คือสิ่งที่จะช่วยให้เราขบคิดเรื่องอนาคต รวมทั้งขบคิดเรื่องปัจจุบันได้ดีที่สุด แต่ปัญหาคือ ระบบการเรียนการสอนของเราไม่ได้สอนประวัติศาสตร์แบบนี้ ไม่ได้สอนให้มนุษย์ขบคิดด้วยปัญญาแบบนี้ เราจึงเผชิญกับวิธีคิด กับการมองปัญหาเฉพาะหน้า เราตีกรอบความคิดในการมองปัญหา ในการแก้ปัญหา ด้วยความรู้ปัจจุบันแคบๆ ที่เรามีอยู่ แล้วเราก็ติดในกับดักความรู้นี้

10 ปีที่แล้ว 2007 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเทคโนโลยี สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) คิดไอโฟนขึ้นมาได้ แต่การที่จะมีไอโฟนขึ้นมาได้หนึ่งเครื่องนั้น มันหมายความว่าชิปข้างในของไอโฟน ต้องถูกคิดจนกระทั่งสามารถประมวลผล แล้วทำงานในระดับที่ก้าวหน้ามาก จนบรรจุเหลือแค่ไอโฟนตัวเดียวได้

ไอโฟนและเทคโนโลยีอื่นๆ เปลี่ยนแปลงโลกมากมายในเวลา 10 ปีนี้ แต่เราเป็นปลาในสายน้ำ เราใช้มันจนชิน เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง เราชินกับเฟซบุ๊ก ชินกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น โดยลืมไปว่าก่อนหน้านั้นไม่เคยมีเทคโนโลยีเหล่านี้

สื่อมวลชน อาชีพอย่างผม เป็นแถวหน้าของการถูกกระแทกด้วยคลื่นของความเปลี่ยนแปลง แน่นอน ผมจึงสัมผัสคลื่นของการเปลี่ยนแปลง แล้วพยายามบอกเล่าส่วนหนึ่ง และพยายามจะปรับตัวเอง

ป่วยการที่จะบอกเล่าคนอื่นทั้งหมดว่าควรจะทำ หนึ่ง สอง สาม แต่ตัวเองไม่ทำอะไรเลย นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น

ขงจื๊อบอกว่า ทุกคนที่เดินมาล้วนเป็นครูของเรา เราสามารถเรียนรู้จากผู้อื่นได้ และขงจื๊อก็บอกไว้ว่า ทุกคนล้วนกระหายอยากจะเป็นครูของผู้อื่น คือนอกจากอยากจะเรียนรู้ผู้อื่นแล้ว เรายังอยากจะสอนคนอื่น เราอยากเป็นครูของผู้อื่น

ทุกวันนี้เราก็เป็นครูผู้อื่นด้วยการเขียนสเตตัสในเฟซบุ๊ก เราสั่งสอนพ่อแม่พี่น้องเรา เพื่อนเรา คนที่เป็นฟอลโลเวอร์เราว่าควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ แม้กระทั่งจะกินอาหาร เรายังบอกว่าถ่ายรูปยังไงให้มันสวย เรากระหายที่จะบอกเล่าเรื่องราวของเราให้คนอื่นได้รับรู้

แต่บางครั้งเราไม่ได้มองย้อนกลับมาที่ตัวเองว่า ในกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เราควรจะต้องปรับตัวเองหรือเปลี่ยนตัวเองอย่างไร เพื่อให้เข้ากับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งมาถึงในปัจจุบันแล้ว

ผมย้อนดูประวัติศาสตร์สั้นๆ นักคิดในระดับโลกที่พูดเรื่องอนาคต ฟันธงตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้างว่า เราอยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เรามีการปฏิวัติครั้งที่ 1 คือเราปฏิวัติเกษตรกรรมขึ้นมา ทำให้เราอยู่ติดที่ได้ เราเลี้ยงสัตว์ เพาะปลูก สามารถสร้างอารยธรรม

หลังจากนั้นมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เราเรียนหนังสือกันมาหมด สังคมศาสตร์ตั้งแต่ ม.2 สอนเราเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่เราท่องจำว่ามันเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
เจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks

เจมส์ วัตต์ (James Watt) คิดเครื่องกลจักรไอน้ำได้ นำมาสู่การพัฒนารถไฟ สร้างเรือเดินสมุทร แล้วในที่สุดมาสู่การคุกคามตะวันออกของตะวันตก เพราะว่ากำลังการผลิตมันล้นเหลือ ก็ต้องหาที่ค้าขาย ต้องแสดงแสนยานุภาพ เมจิของญี่ปุ่นถูกคุกคาม ราชวงศ์ชิงของจีนถูกคุกคาม ราชวงศ์จักรีในสมัยรัชกาลที่ 5 รอยต่อถูกคุกคาม เราเรียนกันหมด เราถูกล่าอาณานิคม เรารู้ดี

ผมย้อนกลับไปที่ยุโรป สิ่งที่เขาไม่ได้สอนเราก็คือว่า หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ในยุโรป ประเทศต่างๆ ในยุโรปตอนนั้นซึ่งไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ รวยขึ้น ความมั่งคั่งกับอำนาจเป็นของคู่กัน เมื่อคุณมีความมั่งคั่ง คุณจะแสวงหาอำนาจ เมื่อมีอำนาจจะแสวงหาความมั่งคั่ง คุณจะผูกติดกันอยู่แบบนี้

ในยุโรปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มหาอำนาจรวย มีอังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นมหาอำนาจเก่า มีเยอรมันซึ่งสร้างตัวขึ้นเป็นมหาอำนาจอยู่ตรงกลางยุโรป แล้วในที่สุดสงครามระหว่างชนชั้นนำ ระหว่างคนรวย ที่คิดว่าจะยึดครองยุโรปและสร้างอำนาจให้มากขึ้นหลังจากสั่งสมความมั่งคั่งจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็หาเหตุจนถึงที่สุด เพื่อจะนำมาสู่การต่อสู้กันในสงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นเรื่องคนรวยในยุโรป 2 ฝ่ายรบกัน แล้วก็คิดว่ามันจะจบง่าย คิดว่ารบกันไม่กี่เดือน แล้วจะเป็นที่แพ้-ชนะ หรือจะเป็นที่ยุติ ประเทศใดประเทศหนึ่ง อาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่ง จะสามารถปกครองอาณาจักรที่เหลือได้ จะเป็น The war to end all war สงครามจะจบ แต่ปรากฎว่า 4 เดือนที่พยากรณ์ไว้ไม่จบ สงครามรบกันยาวนานและมีผู้เสียชีวิตหลายล้านคนในสงครามโลกครั้งที่ 1

อาณาจักรในยุโรปที่เคยใหญ่ จักรวรรดิออตโตมัน ล่มสลายไป ออสเตรีย ฮังการี ที่เคยเป็นมหาอำนาจในยุโรป ล่มสลายไป และนี่คือจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรป โมนากีล่มสลายไปจากการพ่ายแพ้สงคราม และการเข้าข้างผิด

แต่ถามว่าสงครามมันเกิดขึ้นเพราะคนอยากจะทำสงครามกระนั้นหรือ หาใช่ไม่ คำตอบคือสงครามเกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีมันเปลี่ยนในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม พอเทคโนโลยีเปลี่ยน ความมั่งคั่งเกิดขึ้น การแสวงหาอำนาจตามมา เมื่อคนมีอำนาจก็อยากมีเงิน เมื่อมีเงินก็อยากมีอำนาจ ถึงที่สุดนำมาสู่การสู้รบกัน แล้วก็พังทลายยุโรป แล้วนึกว่าจะจบ ไม่จบ เว้นวรรคการเมืองนิดหน่อย ไปสู้กันต่อในสงครามโลกครั้งที่ 2

ผลสะเทือนจากการปฏิวัติเทคโนโลยี

ผมกลับมาในสมัยปัจจุบัน ถ้าการปฏิวัติอุตสาหกรรมคือการปฏิวัติโลกครั้งที่ 2 มันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลก ระดับที่เกิดตามมาด้วยสงครามโลกถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2

คำถามก็คือว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือการปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ มันก่อให้เกิดผลสะเทือนอย่างไรกับพวกเราบ้าง ซึ่งเป็นปัจเจกชนธรรมดา

มีหลักสูตรหลายหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรของผู้มีอำนาจ และลูกหลานของผู้มีอำนาจ ที่ส่งมาเรียนกัน คนเหล่านี้มีโอกาสดีอยู่แล้ว คือถ้าเป็นหลักสูตรผู้มีอำนาจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่เป็นตัวย่อทั้งหลาย เรียนแล้วก็เรียนอีก หน้าเดิมๆ ซ้ำๆ แล้วก็นับกันว่าใครเป็นประธานรุ่น ใครเป็นรองประธาน แล้วเย็นนี้จะปาร์ตี้ที่ไหน เมื่อหลักสูตรเหล่านี้หมด ก็มาถึงหลักสูตรรุ่นลูก พ่อแม่เรียนกันมาแล้ว ก็ส่งลูกมาเรียนในหลักสูตรต่อไป

คนเหล่านี้คือผู้ได้ประโยชน์ จากการสั่งสมความมั่งคั่งในอดีต เขาอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้วิชาความรู้ ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ และความเข้าใจในตัวเองมากกว่าพวกเราคนธรรมดาสามัญ

บางครั้งผมจึงอยากคุยกับคนธรรมดาสามัญ เพราะคือกลุ่มคนที่จะเผชิญหน้าความท้าทายและความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งก็คือปัจจุบันนั่นเอง

ถ้าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดสงคราม 2 ครั้ง ก็น่าสนใจว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมโลกครั้งที่ 4 ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ทำให้แลนด์สเคปของอนาคต ของบริษัทขนาดใหญ่ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แน่นอน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจในยุโรปที่เคยเป็นมหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายอ่อนกำลังลง และพ่ายแพ้ลง ไม่สามารถคงความยิ่งใหญ่เช่นในอดีตได้ ฝรั่งเศสล่มสลายเพราะเป็นสมรภูมิ ไม่สามารถกลับมายิ่งใหญ่เหมือนสมัยพระเจ้าหลุยส์ได้อีกต่อไป

อังกฤษเคยเป็นประเทศที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน ตอนนี้พระอาทิตย์ตกดินสิ้นแล้วที่อังกฤษ เหลืออยู่นิดเดียว ก็ยังดันไป Brexit ออกจากยุโรปเข้าเสียอีก วันนี้ความรุ่งเรื่องของอังกฤษ ซึ่งความจริงแล้วล่มสลายไปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มันไม่ได้หวนกลับมาอีก

ถามว่าถ้าสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้อาณาจักรใหญ่ๆ จักรวรรดิออตโตมันพังไป ออสเตรีย ฮังการี พังไป สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อังกฤษ ฝรั่งเศส และยุโรปพังไป ไม่เป็นมหาอำนาจในสถานการณ์ปัจจุบันอีกแล้ว อเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/openbooks2/

มหาอำนาจใหม่ แพลตฟอร์มใหม่ แลนด์สเคปของอนาคต

ถามว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แม้ไม่เกิดสงครามโลก แต่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงลึก ถามว่าอะไรจะพังไป สิ่งที่พังไปคืออำนาจของประเทศที่เคยยิ่งใหญ่อย่างอเมริกา จะไม่ได้ยิ่งใหญ่อีกต่อไป แม้ว่าบริษัททั้งหลายที่ยิ่งใหญ่จะอยู่ในอเมริกา

บริษัทอย่างแอมะซอน (Amazon) บริษัทอย่างกูเกิล (Google) แอร์บีแอนด์บี (Airbnb) บริษัทที่เป็นนวัตกรรมจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในอเมริกา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ประเทศต่างๆ กลับมายิ่งใหญ่ได้

สิ่งที่บริษัทเหล่านี้กำลังจะเป็นคือ บริษัทเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจ มหาอาณาจักรใหม่ ซึ่งเราไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ถามว่ากูเกิลใหญ่ขนาดไหน ในอนาคตกูเกิลอาจจะใหญ่พอๆ กับสหภาพยุโรป ไม่ใช่ประเทศเดียวแล้ว ถ้าอัตราการพัฒนาของกูเกิลหรือแอมะซอนยังเป็นอัตราเร่งเท่านี้ บริษัทเหล่านี้จะกลายเป็นมหาอาณาจักร จะมีอำนาจ อิทธิพล ครอบครองส่วนแบ่งทางการค้ามากกว่าประเทศขนาดใหญ่ เอาแค่ยูนิตเดียวของกูเกิล อาจจะใหญ่กว่าแอฟริกาทั้งประเทศ เอาแค่ยูนิตเดียวของแอมะซอน อาจจะใหญ่กว่าประเทศโลกที่สามบางประเทศ

วันสองวันที่ผ่านมา มีการประกาศรายชื่อบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ก็กลายเป็น เจฟ เบซอส (Jeff Bezos) แห่งอเมซอน ความมั่งคั่งที่สั่งสมขึ้นมาเรื่อยๆ แพลตฟอร์มที่บริษัทเหล่านี้สร้างขึ้นมาเรื่อยๆ จะทำให้บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทท็อป 5 ท็อป 10 ของโลก ที่กินส่วนแบ่งการตลาดแทบจะครอบคลุมทั้งหมด

แพลตฟอร์มได้ถูกสร้างสำเร็จแล้วภายในเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ยากมากที่ปัจเจกชนธรรมดา คนในประเทศอย่างพวกเรา ที่คิดว่าจะไปสร้างแพลตฟอร์มที่ใหญ่ขนาดนั้น แล้วท้าทาย แพลตฟอร์มที่ได้ establish แล้วในระดับโลก

จีนฉลาดพอที่จะไม่ให้บริษัทอเมริกาเข้าไปทำการค้า และสร้างแพลตฟอร์มในประเทศ จีนจึงสามารถสร้างอาลีบาบา (Alibaba) และบริษัทไอทีของจีนขึ้นมาเองได้ และยังมีอำนาจท้าทายกับบริษัทตะวันตกได้ เพราะว่าจำนวนคนที่ใช้งานพอๆ กัน

บริษัทเหล่านี้เป็นเครื่องมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นของรัฐบาลจีน ที่จะคานอำนาจกับมหาอำนาจใหม่ทางตะวันตกที่เกิดในฟากตะวันตกของอเมริกา

ถ้าเราเข้าใจแลนด์สเคปแบบนี้ เราจะเห็นเส้นพรมแดนของโลกหายไป ประเทศเราเป็นแค่ส่วนน้อยนิด เฟซบุ๊กมีรายได้จากโฆษณาเป็นหลายหมื่นล้าน อาจจะถึงแสนล้าน จ่ายภาษีให้เราแค่แสนบาท

เราซื้อสินค้าผ่านอเมซอนมากมาย แต่เราเก็บภาษีจากอเมซอนไม่ได้ แต่บุคคลในประเทศเราเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย เราไม่มีทางที่จะมีอำนาจต่อรองเหนืออาณาจักรและเหนือประเทศต่างๆ เหล่านี้ได้

นี่คือแพลตฟอร์มใหม่ เราต้องเห็นแลนด์สเคปก่อนว่า นี่คือแลนด์สเคปของอนาคตที่กำลังจะไป ที่กำลังจะเป็น และเป็นอนาคตที่เรากำลังจะอยู่

แต่ถามว่าประเทศเรามีนโยบายและมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้มากพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงระดับนี้ได้ไหม คำตอบดูจากนโยบายที่แถลงข่าวออกมาเป็นรายวัน และความถี่ของการใช้มาตรา 44 อยู่บ่อยครั้ง ผมไม่ต้องขยายความ

นี่คือสิ่งที่เขียนไว้ใน FUTURE: ปัญญาอนาคต ว่า เมื่อรัฐบาลไม่มีบริการหลังการขาย รัฐบาลอาจจะตั้งใจดี มีความมุ่งมาดปรารถนาดีต่อประชาชนในทุกภาคส่วน ทุกมิติ แต่ถ้าคิดนโยบายไม่ออกว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้ประชาชนฝ่าความยากลำบาก ฝ่าวิกฤต ฝ่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปได้ มันเหลืออยู่ไม่กี่ทางที่ประชาชนในประเทศนี้จะอยู่ได้ คือ ประชาชนก็ต้องหันกลับมามองว่า แล้วตัวเองจะทำอย่างไร จะอยู่อย่างไร จะพึ่งตนเองได้อย่างไร

“ความเหลื่อมล้ำ” ปัญหา อุปสรรค ความทุกข์ยากที่แบกไว้

ฉะนั้น ถ้าว่าในระดับมหภาค สถานการณ์เหล่านี้จะนำเราไปสู่สิ่งที่เป็นแล้วในปัจจุบัน และจะเป็นหนักขึ้น นั่นก็คือ ประชากรของโลกที่ได้เปรียบ 1 เปอร์เซ็นต์ จะครอบครองสินทรัพย์ 99 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประชากรที่เหลือคือพวกเรา 99 เปอร์เซ็นต์ จะเหลือสินทรัพย์ให้ครอบครองแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่า

ปัญหาคือ ถ้าคุณเป็นคนส่วนน้อย แล้วคนส่วนใหญ่ทั้งหมดเอาไปครอบครอง แล้วคนส่วนใหญ่เหลือทรัพย์สินส่วนน้อยที่ครอบครอง ปัญหาคือเขาไม่พอจะแบ่ง ไม่พอจะกิน ไม่พอที่จะสร้างอนาคตให้ลูกหลานของเขาได้ นี่คือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของโลก แล้วก็คุยกันในเวทียูเอ็น

Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกก็คุยเรื่องนี้ คุยเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่สมดุลของการกระจายทรัพยากร ซึ่งเราจะรู้สึกได้ทันทีในประเทศของเรา รู้ได้ในทันทีในสถานการณ์ปัจจุบันว่า ทำไมคนรวยในทุกๆ ประเทศ รวยเอาๆ แล้วรวยไม่หยุด

แล้วทำไมโครงการใหม่ๆ เกิดกับคนรวยทั้งหมด ทำไมมีอยู่ 2-3 บริษัทได้โครงการ ที่ดินแทบจะเป็นเจ้าของไปหมดประเทศแล้ว จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าโฉนดที่ดินเป็นของตัวเอง ซื้อไปแล้วยังไปซื้อที่ดินตัวเองซ้ำอีก

เชียงใหม่ถนนทั้งเส้นเป็นของไม่กี่ตระกูล กรุงเทพฯ เขาจองกันเป็นเส้น เส้นสุขุมวิทใครจอง เส้นพระรามสี่ คุณไปดูโครงการกำลังจะเกิดโครงการของใครบ้าง

เมื่อทรัพยากรกระจุกอยู่กับไม่กี่ครอบครัว เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วขนาดนี้ เมื่อภาคการเมืองไม่ตอบสนอง เราเหมือนถูกกดทับด้วยหลายระดับ เราเป็นใบตองที่ถูกขนมชั้นทับอยู่สี่ห้าชั้น

เทคโนโลยีระดับโลกทำให้บริษัทใหญ่กินแพลตฟอร์มเราไปหมด นโยบายการเมืองที่ไม่สอดรับ เศรษฐีตระกูลใหญ่ในเมืองไทยก็กดทับ ส่วนแบ่งเหลือนิดเดียวให้เราแบ่งกัน 1 เปอร์เซ็นต์ ในหมู่ 99 เปอร์เซ็นต์ นี่คือความทุกข์ยาก นี่คือปัญหาและอุปสรรคที่เราต้องแบกไว้

ถามว่าทำไมบริษัทขนาดใหญ่เกิดได้ในซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) เกิดได้ในสหรัฐอเมริกา เมื่อไอเดียมันเกิด สักพักหนึ่งจะมี venture capitalist เข้ามาช่วยลงทุน เพื่อให้ไอเดียมันไปต่อได้ แล้วขยายขึ้นไป เจ้าของยังคงเก็บสัดส่วนหุ้นของตัวเองไว้ใน สัดส่วนที่สูงมาก

สักพักหนึ่ง เมื่อมันไปต่อ เริ่มมีกำไร ขายออกไป มีเงินเข้ามาเพื่อบริหารธุรกิจ ขายออกๆ จนกระทั่งราคาต่อหน่วยของหุ้นมันพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วในที่สุดก็เอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ เมื่อระดมทุนได้ ก็ติดปีก แล้วก็ไปไม่หยุด

บริษัทอย่างอเมซอน ไม่ใช่เปิดแล้วกำไรเลย ขาดทุนต่อเนื่องมายาวนาน แต่ผู้ถือหุ้นเล็งเห็นว่าสักวันหนึ่งมันจะกำไร และจะกำไรมหาศาล ระยะเวลาที่ลากมันยาวนานพอให้ปัจเจกชนธรรมดา สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวในหนึ่งชั่วอายุคน จนกลายเป็นมหาเศรษฐีในระดับโลกได้

แต่ของไทย คุณเดินเข้าไปเถอะครับ ดอกเบี้ยแบงก์ที่คุณไปกู้จากธนาคาร ถ้าคุณเป็นปัจเจกชนธรรมดา ถ้าคุณไม่มี asset หนุนหลัง ไม่มีที่ดิน 1. เขาไม่ปล่อยกู้ให้คุณ ไม่ว่าปัญญาคุณจะหลักแหลมขนาดไหน 2. ถ้าคุณมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถ้าเศรษฐีไปกู้ตอนนี้ดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นปัจเจกชนธรรมดา เอาบ้านไปตึ๊งที่แบงก์ แบงก์จะให้คุณกู้ที่ดอกเบี้ย 5-6 หรือ 7 เปอร์เซ็นต์

อาจจะดูไม่ต่างกันระหว่าง 5, 6, 7 แต่ถ้าคิดว่าเงินมันเป็นร้อยล้าน แล้วเอาตัวเลขที่ต่างกัน 5 เปอร์เซ็นต์คูณ ต้นทุนของคุณต่อเดือนเฉพาะจ่ายค่าดอกเบี้ย ก็ไม่มีทางแข่งชนะเศรษฐีในประเทศนี้ได้แล้ว คุณแพ้ตั้งแต่ต้นทุนทางการเงิน

ฉะนั้น การต่อสู้ มันเป็นการต่อสู้ที่ไม่ยุติธรรม การศึกษาก็ไม่เท่าเทียมกัน ลูกเราเรียนโรงเรียนเทศบาล เรียนโรงเรียนประจำจังหวัด ลูกคนรวยเรียนโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนดีๆ ระดับมัธยมในเมืองไทยตอนนี้ นักเรียนเข้าน้อยลง เพราะลูกคนรวยไปเรียนอินเตอร์หมดแล้ว คนรวยที่สุดก็ส่งลูกไปเรียนอังกฤษ ก็ไปเป็นขั้นๆ รู้จักกันเอง เป็นเครือข่ายกันเอง know who รู้จักกันหมดทุกคน

แล้วเราเป็นคนธรรมดาสามัญ ไม่รู้จักใครเลย ไม่รู้จักแบงก์ ดอกเบี้ยก็สูงกว่า venture capitalist ก็ไม่มี มีแต่สตาร์ทอัปที่โปรโมตหลอกๆ กัน ไม่รู้จะสตาร์ทดาวน์ไปเท่าไหร่ คุณดูใน 2-3 ปีนี้ ฟองสบู่สตาร์ทอัปจะแตก มันมีโครงการสตาร์ทอัปน้อยมากที่เป็นจริง แต่เราปั่นฟองสบู่สตาร์ทอัปเพื่อโฆษณา เราไม่ได้มุ่งเน้นสตาร์ทอัปที่เป็นสตาร์ทอัปจริงๆ สปิริตมันคนละแบบ

#จุดเปลี่ยน…

เมื่อไล่ปัจจัยทั้งหมดมาให้เห็นแล้วว่าเราอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ แต่ถ้าจบตรงนี้ก็เป็นการบรรยายที่ชวนหดหู่สิ้นหวัง ถามว่าจุดเปลี่ยน แล้วสิ่งที่เราควรจะทำ หรือเราทำได้ในสถานการณ์แบบนี้คืออะไร

พวกสตาร์ทอัป พวกที่เริ่มธุรกิจ มีจุดเปลี่ยนนิดเดียวครับ หลายปีก่อนมีนักธุรกิจคนหนึ่งจากซีแอตเทิล เผอิญไปเที่ยวมิลาน (อิตาลี) แล้วก็ไปเห็นวัฒนธรรมการชงกาแฟที่มิลาน มิลานมีร้านกาแฟอยู่ประมาณ 3 หมื่นร้านทุกหัวมุมถนน

วัฒนธรรมการกินกาแฟคือ ตอนเช้ากินเอสเพรสโซหรือคาปูชิโนนิดหน่อยแล้วแต่ชอบ ยืนกินช็อตสองช็อต แล้วก็รีบไปทำงาน ตอนบ่ายก็กลับมากินใหม่ นี่คือวัฒนธรรมการกินกาแฟของพวกอิตาเลียน พวกมิลาน ชายคนนี้จากซีแอตเทิลก็ไปเห็นว่า ทำไมประเทศเราไม่กินกาแฟแบบนี้บ้าง ซีแอตเทิลก็มีโรงคั่วกาแฟดีๆ

อย่ากระนั้นเลย ไปคุยกับโรงคั่วกาแฟ แล้วก็พัฒนากาแฟ โรงคั่วกาแฟก็คั่วกาแฟขึ้นมาให้ แต่ว่าเป็นโรงคั่วกาแฟ ไม่อยากเป็นหน้าร้าน ชายคนนี้ก็บอกว่าขอทำหน้าร้านได้ไหม ถกกันอยู่สักช่วงหนึ่ง ในที่สุดก็เกิดกิจการกาแฟซึ่งไม่มีใครเชื่อเลยใน พ.ศ. นั้น ว่าจะเป็นกิจการกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “สตาร์บัคส์” (Starbucks)

ผมนั่งเครื่องบินไปญี่ปุ่น ขากลับดูหนังเรื่องหนึ่งชื่อ “The Founder” เล่าเรื่องการก่อตั้งของ “แมคโดนัลด์” (McDonald’s) ถ้าคุณอ่านตำราจะรู้ดีว่า เรย์ คร็อก (Ray Kroc) คนที่ก่อตั้งแมคโดนัลด์ ไม่ได้เป็นเจ้าของสูตรหรือร้านอาหารแมคโดนัลด์ตั้งแต่แรก

แมคโดนัลด์เป็นของพี่น้องสองคน แต่เรย์ คร็อก เป็นชายสูงวัย ผมสีดอกเลา เร่ร่อนขายเครื่องมิลค์เชค เอาใส่ท้ายรถขับเร่รอนไปตามที่ต่างๆ พยายามจะขายเครื่องปั่นมิลค์เชคให้ได้ แต่ก็ไม่มีใครซื้อเครื่องปั่นมิลค์เชคจากเรย์ คร็อก

จนกระทั่งเรย์ คร็อก แปลกใจว่ามันมีร้านไกลปืนเที่ยงอยู่ร้านหนึ่ง ที่สั่งเครื่องมิลค์เชคอยู่ตลอดเวลา ก็แวะไปดู แทนที่จะพบว่ามิลค์เชคมันขายดี แล้วอยากจะขายเครื่องมิลค์เชคต่อไปได้ แต่กลับไปพบวิธีการใช้สายพานการผลิตควบคุมการทำแฮมเบอร์เกอร์ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น แล้วในโมเมนต์นั้นก็เหมือนพระเจ้ามาโปรด นั่นคือจุดเริ่มต้นของแมคโดนัลด์

พี่น้องแมคโดนัลด์สองคน ปฏิวัติการทำแฮมเบอร์เกอร์ให้อร่อย รวดเร็ว และใช้สายพานการผลิต แต่แทนที่เรย์ คร็อก จะคิดว่าทำอย่างไรจะขายเครื่องมิลค์เชคให้แมคโดนัลด์ได้มากขึ้น เรย์ คร็อก ฝันเห็นอาร์ตโค้งสีเหลืองกระจายไปทั่วอเมริกา ฝันเห็นว่าถ้าเอาแมคโดนัลด์ขยายไปทั่ว กิจการจะเฟื่องฟูขนาดไหน

สิ่งที่เรย์ คร็อก เห็น เป็นสิ่งเดียวกับที่ โฮเวิร์ด ชูลตซ์ (Howard Schultz) เห็นเมื่อได้กลิ่นกาแฟที่มิลาน มันเป็นโมเมนต์เดียว ผมหวังว่าคุณอาจจะได้พบเจอโมเมนต์นั้นในชีวิต โมเมนต์ที่เห็นอะไรบางอย่างแล้วคิดว่านี่คือ “จุดเปลี่ยน”

นี่คือจุดเปลี่ยนที่คน 2 คน เวลาต่างกัน 30-40 ปี ที่เขาเห็น ผมไม่รู้ว่าโมเมนต์นั้นของแต่ละคนเป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าโฮเวิร์ด ชูลตซ์ เห็นโมเมนต์นั้นที่มิลาน แล้วเรย์ คร็อก เห็นโมเมนต์นั้นที่สาขาแรกของแมคโดนัลด์

ในที่สุด ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ ก็ขอไลเซนส์แล้วก็เปิดร้านรีเทลของกาแฟครั้งแรกที่ซีแอตเทิล เป็นสตาร์บัคส์ขึ้นมา เรย์ คร็อก ก็เปิดแมคโดนัลด์ และในที่สุดสาขามันไปได้ดีกว่า ก็ไปเทคโอเวอร์บริษัทแม่

ถ้าดูหนังอาจจะเห็นประวัติสั้น แต่ถ้าไปอ่านประวัติศาสตร์ธุรกิจละเอียด จะเห็นกระบวนการระดมทุน เห็นการต่อสู่เรื่องแฟรนไชส์ เห็นวิชาบริหารธุรกิจสมัยใหม่ในการเปลี่ยนจากความคิดวูบเดียวของคนให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่

ซึ่งมันเป็นที่วิชาบ้านเราไม่สอน ไม่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ไม่ได้สอนแพทเทิร์นการคิด การทำไฟแนนซ์ การระดมทุน การหาผู้ร่วมทุน การเปลี่ยนไอเดียที่เล็กที่สุดให้กลายเป็นไอเดียที่ใหญ่ที่สุด

สองคืนก่อน ผมนั่งดูหนังลอร์ดออฟเดอะริงส์ (Lord of the Rings) ในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ซึ่งก็เป็นโมเดลเปลี่ยนโลกเหมือนกัน มีอยู่ประโยคหนึ่งตอนที่ฮอบบิทสองคนกำลังจะเอาแหวนไปทำลายทิ้ง

ฮอบบิท คือคนที่ตัวเล็กที่สุด มีอำนาจน้อยที่สุด แต่มีความริษยา มีความคับแค้นใจ มีโมหะจริตที่น้อยเหมือนกัน ในหมู่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อยู่ในลอร์ดออฟเดอะริงส์ มันน่าสงสัยว่า ทำไมผู้เขียนนิยายถึงเอาอำนาจวิเศษสูงสุดให้ไปเป็นภาระหน้าที่ของคนที่ตัวเล็กที่สุดในประวัติศาสตร์ คนที่ตัวเล็กที่สุดในนวนิยาย

หนึ่งประโยคนั้นเขาบอกว่า…

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มันจะถูกเปลี่ยนด้วยคนที่ตัวเล็กที่สุด คนตัวเล็กที่สุดจะเป็นผู้ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ “the smallest person can change the course of the future”

ผมก็มองย้อนว่า นี่เป็นความซับซ้อนของ โทลคีน (John Ronald Reuel Tolkien) ที่เป็นคนแต่งลอร์ดออฟเดอะริงส์ แทนที่เขาจะให้อำนาจสูงสุดไปอยู่ในมือกษัตริย์ ในมือพระ ในมือเอลฟ์ ในมือเทวดา ในมืออสูร ในมือคนทุกคนที่เราคิดว่าควรจะยิ่งใหญ่ในมายาภาพของเรา

เขาไม่เอาลงไปใส่ เขาไม่มอบแหวนและภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของนวนิยายเรื่องที่ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งของโลกให้กับบุคคลเหล่านั้น เขาเลือกที่จะมอบอำนาจและพลังพิเศษให้กับคนที่ตัวเล็กที่สุด โทลคีนอาจจะคิดเหมือน ดา วินชี “เล็กๆ ที่ใช่ ดีกว่าใหญ่ที่ไม่จริง”

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/openbooks2/

ความมุ่งมั่นและทักษะเฉพาะทาง

นี่คือจุดเปลี่ยนที่ผมอยากจะคุยกับทุกคนในวันนี้ว่า เราไม่จำเป็นต้องใหญ่ เราไม่จำเป็นต้องรอปัจจัยทุกอย่างพร้อมเพรียงหมด แล้วถึงจะเริ่มต้นกำหนดอนาคต หรือทำสิ่งที่เราชอบได้

เราสามารถกำหนดอนาคต สร้างอนาคต แม้ว่าเราจะมีปัจจัยน้อยที่สุด อยู่ในจุดที่ไม่พร้อมมากที่สุด แม้ว่าเราจะเป็นคนที่ตัวเล็กที่สุดในเกมการแข่งขันทั้งหมด

ใน FUTURE ผมเขียนถึงคนที่แล่ปลาและทำซูชิ ซึ่งซูชิบาร์เหล่านี้มีเต็มญี่ปุ่นไปหมดทุกหัวถนน แล้วยิ่งดีเท่าไหร่ ยิ่งแพงเท่าไหร่ คนก็ยิ่งถามหามากขึ้น ในเมืองไทยวัฒนธรรมเหล่านี้แพร่เข้ามาในหมู่คนรวย

ร้านซูชิจะถูกจองเต็มไปหมด นั่งหน้าเคาน์เตอร์ ถามว่าใครแล่ปลา ไม่ใช่เชฟญี่ปุ่นนะครับ เจ้าของร้านอาจจะเป็นลูกคนรวย แต่คนแล่ปลาส่วนใหญ่ที่ผมพบคือคนอีสาน คนอีสานแล่ปลาดิบเก่งมาก แล้วก็ฝึกจนมีทักษะที่เชี่ยวชาญ

วิธีกินซูชิ คุณต้องกินจากมือเชฟ รวยเป็นหมื่นล้านก็ต้องกินผ่านมือที่ไม่มีถุงมือ ล้างมือสะอาดเรียบร้อย ปั้นข้าวให้อุ่น ทาวาซาบิ แล้วยื่นไปวางข้างหน้า มือต่อมือจากคนอีสานที่ได้ชื่อว่ามาจากภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศ ยื่นให้เศรษฐีระดับพันล้าน หมื่นล้าน แล้วเชฟก็จะเล่าให้ฟังว่าอาหารที่เรากินคืออะไร ทำโดยเชฟแค่หนึ่งคนเท่านั้น คล้ายๆ กับซูชิบาร์ คือทำด้วยคนจำนวนที่น้อยมาก

เมื่อคืนผมเดินไปกินข้าวแถววัดโพธิ์ เสร็จแล้วเดินต่อไปปากคลองตลาด ผ่านไปทางตลาดยอดพิมาน ผ่านร้านสตาร์บัคส์ที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา กินอาหารเวียดนามมาอิ่ม ก็ชั่งใจว่าจะกินสตาร์บัคส์ดีไหม

ในที่สุดก็ไม่กิน แล้วเดินเลี้ยวไปที่ปากคลอง ไปหยุดอยู่ที่ร้านดอกไม้ ชื่อร้าน “นภสร” นภสรเป็นร้านจัดดอกไม้ชื่อดัง ชั้น 2 ของนภสรเปิดเป็นคาเฟ่ Floral Cafe ขายชา ขายเครื่องดื่ม ขายขนมเค้ก อร่อยมาก คนที่เป็นเจ้าของชื่อ “พี่เอี๋ยว” พี่เอี๋ยวเป็นนักจัดดอกไม้ชั้นนำของเมืองไทย จัดดอกไม้สวยมาก

ชั้นล่างเป็นที่จัดดอกไม้ อยู่ตัวแล้ว ชีวิตดี มีฐานะ รู้จักตัวเองดีมากว่าทำดอกไม้แล้วชอบ ชั้น 2 เปิดเป็นคาเฟ่ มีดอกไม้ประดับสวยงาม กลิ่นหอม มีแชนเดอเลียร์ประมาณ 10 ตัวติดอยู่ข้างบน ชั้น 3 ขึ้นไปเป็นร้านขายของเก่า

ผมอยากรู้ก็เลยถามคุณเอี๋ยวว่า พี่ครับ พี่ชีวิตดีอยู่แล้ว จะมาเหนื่อยยากขายกาแฟ กับขายชาแก้วละ 90 บาท ทำไมครับ พี่เอี๋ยวก็บอกว่า อยู่บ้านแล้วมันเฉา เคยทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก ช่วยพ่อแม่ทำงานไม่เคยสบายในชีวิต พอเริ่มสบาย แล้วอยู่บ้านเฉยๆ มันเฉาแล้วพอเปิดคาเฟ่ ชั้น 4 ก็จะเริ่มทำครัว ถามว่าทำไมทำครัว คนบอกว่าหิวข้าว ก็เลยอยากทำข้าวให้กิน พอกินข้าวเสร็จ ดื่มชากาแฟ ซื้อของเก่า แล้วค่อยกลับบ้าน

เล่าเรื่องนี้เพราะอะไร กาแฟหรือชาที่ร้านภสร แก้วละ 90 บาท ราคาบวกลบเท่ากับเอสเพรสโซหรืออเมริกาโนที่สตาร์บัคส์ คุณภาพสูสีกันหรืออาจจะดีกว่า ขนมเค้กราคาเท่าสตาร์บัคส์ สูสีกันและดีกว่า

ถ้าคุณมีโอกาสไปเดินย่านปากคลองตลาด ถ้าคุณเลือกได้หนึ่งครั้ง หรือหนึ่งมื้อที่คุณจะกิน คุณจะเลือกอะไร ถ้ารู้ว่ามีสองร้าน มีสตาร์บัคส์กับนภสร

สตาร์บัคส์เก่งมากในระดับโลก แต่ถ้าผมเลือกที่จะกินได้หนึ่งครั้งในมื้อค่ำหลังอาหาร ผมจะเลือกกินนภสร ราคาเท่ากัน ไม่ได้ต่างกันฟ้ากับเหว

นี่คือสิ่งที่ทำให้คนตัวเล็กสู้กับคนตัวใหญ่ นี่คือสิ่งที่ทำให้นักจัดดอกไม้เมืองไทย ซึ่งจัดดอกไม้มาทั้งชีวิตและจัดสวยมาก สู้กับเชนกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีทุนหนาที่สุดในโลกได้

ถามว่านภสรมีอะไร นภสรมี passion มีความมุ่งมาดปรารถนาจะทำในสิ่งที่เขาเชื่อ ทำในสิ่งที่เขารัก แล้วเขาทำในระดับที่ดีที่สุด ทำทุกอย่างด้วยรายละเอียดของเขา ทำด้วยความรัก passion และ skill ที่เฉพาะทาง นี่คือสิ่งที่จะทำให้คนตัวเล็ก ต่อสู้และเอาชนะคนตัวใหญ่ได้

ใช้ “เทคโนโลยี” ในการเปลี่ยนแปลง

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เราไม่มีทางที่จะไปแข่งด้วยเทคโนโลยี ด้วยวิธีการเดียวกับสิ่งที่บริษัทขนาดใหญ่ทำได้ คุณไม่มีทางชนะ แต่ถ้าคุณพลิกมุม แล้วใช้ passion ของคุณ ใช้ skill ของคุณ ใช้ขนาดที่เหมาะสมของคุณ ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องของคุณ แล้วคุณเอาไปแข่ง คุณมีสิทธิ์ชนะในต้นทุนที่ถูกกว่า ในเวลาที่รวดเร็วกว่า ในการปรับตัวที่สูงกว่า

ถามว่าทุกวันนี้ ปัญหาของบริษัทขนาดใหญ่ที่เคยใหญ่ในประเทศไทยคืออะไร คนที่เป็นผู้บริหาร เป็นซีอีโอ มีวิสัยทัศน์ เขาเห็นหมดแล้วว่าแลนด์สเคปมันเปลี่ยน เหมือนที่เราคุยกัน เขาเห็น เขาเข้าใจ

แต่คำถามคือ ถ้ามันมีพนักงานอยู่ 2 พันคนในบริษัท จะเปลี่ยนอย่างไร มีพนักงานอยู่ 3 พันคน มีคู่ค้าอยู่ 500 บริษัท จะเปลี่ยนอย่างไร นับจากวันนี้เป็นต้นไป ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในเมืองไทยที่เคยเฟื่องฟูทั้งหมด ไม่มีอัตราการเจริญเติบโตอีกแล้ว

ในสหรัฐอเมริกา เรากำลังเห็นการล่มสลายของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มอลล์ทั้งหลาย กำลังเดินทางมาสู่ยุคที่กำลังจะสิ้นสุดลง กำลังถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีการค้าขายออนไลน์ มอลล์จะพังทลายโดยสิ้นเชิง และพยากรณ์ได้ว่า อะไรที่พังในอเมริกา อีก 5-10 ปี จะเดินทาง มาถึงสยามอย่างแน่นอน

ฉะนั้น ความกลัวของความใหญ่คือ แบกต้นทุนไว้เยอะ แบกค่าโสหุ้ยไว้เยอะ แบกคนไว้เยอะ แบกพนักงานไว้เยอะ เวลาจะปรับที กว่าจะพูดจากบนสุดไปถึงล่างสุดใช้เวลา 3 ปี ใช้เวลา 2 ปีในการปรับ ซึ่งไม่ทันเสียแล้ว

รายใหญ่กำลังเผชิญหน้าความท้าทายจากการ disrupt ทางเทคโนโลยี ขณะที่รายเล็กกำลัง ซิกแซก และคิดว่ากำลังจะใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร

เทคโนโลยี ถ้าปล่อยให้มันใช้เรา เราก็จะถ่ายรูป อัปเฟซบุ๊กสิ่งที่เราเจอ สิ่งที่เรากิน ตลอดเวลา บ่นเบื่อเพื่อนฝูง บ่นเบื่อผู้คน บ่นเรื่องความขัดแย้ง บ่นเรื่องเหลวไหลไร้สาระไป วันๆ แต่ถ้าเราใช้มันให้ถูก เทคโนโลยีจะมีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง และช่วยให้คนเล็ก ใหญ่ได้

ความใหญ่ของแพลตฟอร์มในโลกสมัยใหม่นั้น ทำให้คนเล็กใหญ่ได้ ถ้าเราใช้แพลตฟอร์มเป็น สมัยก่อนไม่มีทางที่จะใช้เฟซบุ๊ก ใช้ออนไลน์โฆษณาขนาดนี้ ไม่มีทางในต้นทุนที่ถูกขนาดนี้ เราทำไม่ได้

แต่วันนี้เราใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงในสมัยใหม่ได้ รับใช้เราได้ เพราะถ้าไม่มีเรา จะไม่มีพลังตัวคูณ เพื่อที่จะสร้างเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มเหล่านั้นให้ใหญ่ได้

เราคือเขา เขาคือเรา เราคือหนึ่ง เขาคือล้าน แต่ล้านใช้หนึ่งได้ หนึ่งก็ใช้ล้านได้ ใช้สิบล้านได้เหมือนกัน ถ้าเราใช้เขาเป็น อย่าปฏิเสธเทคโนโลยี อย่ากลัวเทคโนโลยี เราเป็นหนึ่งในหนึ่งล้านนั้น เราเป็นหนึ่งในพันล้านนั้น

ถ้าพันล้านใช้หนึ่งได้ หนึ่งต้องเรียนรู้ที่จะใช้พันล้านนั้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงธุรกิจเราในต้นทุนที่ถูกที่สุด เพราะเราแชร์ต้นทุนเฉลี่ยกับคนหนึ่งพันล้านคน

ถามว่าวันนี้คนเล็กๆ ทำอะไรได้บ้าง หาโมเมนต์นั้นแบบที่โฮเวิร์ด ชูลตซ์ เจอที่มิลาน หาโมเมนต์นั้นที่เรย์ คร็อก เจอที่แมคโดนัลด์สาขาแรก หาโมเมนต์เหล่านั้น ที่เราเดินทาง ที่เราอ่านหนังสือ ที่เราเห็น ที่เรากิน ที่เราดื่ม

หาส่วนนั้นให้เจอ จับมันไว้ให้มั่น อย่าให้ใครสั่นคลอนความเชื่อมั่น อย่าให้ใครทำให้การตัดสินใจของเราสั่นไหว ใช้ความกล้าหาญเริ่มต้นอะไรบางอย่าง ภายใต้ข้อจำกัด ภายใต้ทรัพยากรที่เรามี

อย่าใช้ข้ออ้างของการไม่มีทรัพยากร อย่าใช้ข้ออ้างของการที่ประเทศเราไม่มีนโยบาย ประเทศไม่ช่วยเราในเรื่องของการไม่มีเงินทุน ไม่มีเพื่อนฝูง ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีทรัพย์มรดก ทิ้งข้ออ้างไป แล้วมองหาโอกาสที่ดีที่สุดจากสิ่งที่มันมีอยู่ แล้วเรียนรู้ที่จะเป็นหนึ่งที่จะใช้ล้าน เรียนรู้ที่จะเป็นหนึ่งที่จะใช้สิบล้าน เรียนรู้ที่จะเป็นหนึ่งที่จะใช้พันล้าน

ทิ้งข้ออ้าง หาโอกาส ลงมือทำ สร้างอนาคตด้วยตัวเอง

ถามว่ากระบวนการเหล่านี้เรียนรู้ได้อย่างไร ไม่มีหลักสูตรอบรมที่ไหนหรอกครับ ไม่มีวิทยากรที่ไหน ไม่มีหนังสือที่ไหน ไม่มีตำรา How To ที่ไหน ไม่มีปริญญาที่ไหนที่จะประสิทธิประศาสตร์ความรู้เหล่านี้และประสบการณ์เหล่านี้ให้เราได้ นอกจากเราลงไปลงมือทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ด้วยตัวเอง

ต้องเสียเหงื่อ เสียหยาดน้ำตา ถ้าปั้นซูชิก็ต้องถูกด่า ถ้าขายขนมปังก็ต้องอบแล้วมันไม่อร่อยหลายต่อหลายที ทุกอย่างของการสร้างการงานในยุคต่อไปเป็นความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ใหม่ เพราะว่าความรู้เดิมได้ถูกลบล้างไปหมดแล้ว ถ้าตำราเดิมๆ หรือสิ่งที่ทำมาเดิมๆ มันประสบความสำเร็จได้ ทุกคนจะประสบความสำเร็จเท่าเทียมกัน

แต่ปัญหาทุกวันนี้คือ เทคโนโลยีมัน disrupt วิชาความรู้เดิม วิชาการตลาดแบบเดิมรุ่นที่ผมเรียนมา ใช้ได้ไม่หมด หรือใช้ได้น้อยมาก วิชานิเทศศาสตร์รุ่นที่ผมศึกษามา ใช้ได้น้อยมาก วิชาไฟแนนซ์แบบเดิม ใช้ได้น้อยมาก ทุกวิชาที่เคยเรียนมา ใช้ได้น้อยมาก จนกระทั่งความได้เปรียบไม่มีอีกต่อไป

ฉะนั้น เราต้องกลับไปเรียนรู้กระบวนการนี้ใหม่ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ โฮเวิร์ด ชูลตซ์ ไม่ได้เริ่มต้นสตาร์บัคส์ตอนที่เป็นเด็ก เริ่มต้นด้วยวัยกลางคนพอสมควร เรย์ คร็อก เริ่มต้นตอนสูงวัย ผมเป็นสีดอกเลาแล้วด้วยซ้ำไป

ฉะนั้น อย่าใช้ข้ออ้างเรื่องอายุเป็นข้อจำกัดในการเริ่มต้นอะไรใหม่ อย่าคิดว่าฉันแก่ไปแล้ว ฉันเริ่มไม่ได้ ชีวิตให้โอกาสคุณเสมอ ทุกคนเริ่มได้ในทุกช่วงวัย แล้วเทคโนโลยีสมัยใหม่มันเปิดโอกาสให้คุณเรียนรู้ได้อย่างง่ายดายมาก ที่จะสร้างตัวเองขึ้นมาในโลกสมัยใหม่

แต่มันเรียนรู้จากเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอ เรียนรู้ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเดียวไม่พอ มันต้องเรียนรู้ด้วยการลงไปปฏิบัติจริง กระบวนการผิดหวัง ล้มเหลว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระบวนการที่เหนื่อยยาก ลงไปทำแล้วเหนื่อย ไม่หล่อ แบกของ ทำสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน ทิ้งความหล่อ ทิ้งความเท่ ความสวย

วิชาความรู้ที่สร้างด้วยกำลังของเรา ด้วยความคิดของเรา ความเหนื่อยยากของเรา มันจะเป็นประสบการณ์ใหม่ จะเป็นบทเรียนใหม่ที่คนอื่นไม่มีทางลอกเลียนได้

คุณจะเอาบทเรียนนั้นไปเขียนหนังสือก็ได้ คุณจะแชร์ในเฟซบุ๊กก็ได้ คุณจะมาเล่าให้ทุกคนฟังแบบผมก็ได้ แต่บทเรียนที่ลึกที่สุดมันเกิดจากประสบการณ์ตรงของคุณ มันอยู่ในใจของคุณ แต่นั่นหมายความว่าคุณต้องยอมเหนื่อย ยอมยาก ยอมลำบาก คุณต้องลงมือทำ แล้วนี่คือ asset คือเพชรที่มันจะอยู่ในตัวคุณตลอดไป นี่คือความรู้ที่จะช่วยให้คุณรับมือกับอนาคตได้

สร้างอนาคตด้วยตัวของคุณเอง ในต้นทุนที่น้อยที่สุด เอาหนึ่งไปสู้กับล้านได้ เอามีดด้ามเดียวไปแล่ซูชิให้เศรษฐีกินได้ เอากาแฟถ้วยเดียวไปเปลี่ยนโลกได้ เอาเสื้อผ้าชิ้นเดียวไปสร้างดีไซเนอร์ แบรนด์ของคุณได้

เอาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เอาสิ่งที่คุณชอบ สิ่งที่เป็น passion ของคุณ สิ่งที่เป็นความมุ่งมาดปรารถนาของคุณ ผลักดันชีวิตคุณให้สร้างสิ่งที่คุณคิดว่ามีค่ากับชีวิตของคุณขึ้นมาได้

# รู้จักตัวเอง

ชีวิตของเราไม่ยาวนานนะครับ เมื่อเช้ามีกระดาษที่ผมทำตกอยู่ กระดาษนี้คือพินัยกรรมชีวิตของหลวงพี่ไพศาล วิสาโล

หลวงพี่ไพศาลปีนี้ 60 เราก็คุยเรื่องความตายและความหมายของชีวิต ไม่นานหลวงพี่ไพศาลก็สั่งไว้ว่าสวด 3 วันก็พอ แล้วก็ตั้งศพไว้ พอถึงเวลาจริงๆ ที่ต้องเผา ก็แจ้งล่วงหน้าวันเดียวก็พอ

ไม่ได้ต้องการเล่าเรื่องพินัยกรรมหลวงพี่ แต่ต้องการเล่าว่า เวลาแป๊บเดียว 60 ปี มันผ่านไปเร็วมาก พระไพศาล วิสาโล แป๊บเดียวเดินทางมาถึง 60 ปี หลวงพี่เขียนพินัยกรรมสั่งเสียว่าจะให้จัดการงานศพอย่างเรียบง่ายอย่างไร หลวงพี่สร้าง legacy ในทางโลกและทางธรรมไว้พอสมควร

เรามาพบกันในวันนี้ ไม่แน่ใจว่าอีกกี่ปี อีกกี่วัน กี่เดือน จะกลับมาพบกันใหม่ คำถามก็คือว่า นับจากนี้ต่อไป ในช่วงชีวิตอันสั้นนักของเรา ของผม 47 บวกไปอีก 13 จะ 60 เหลืออีก 13 ปีที่จะทำ ที่จะสร้างในสิ่งที่อยากทำ ที่จะสร้างในสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น ที่อยากให้มี เหลือ 13 ปี ที่จะใช้ในชีวิตในสิ่งที่อยากจะเป็น ได้ทำสิ่งที่อยากจะทิ้งไว้ให้กับโลกนี้เท่าที่อยากจะทำ

คำถามของพวกเราทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่อายุน้อยกว่าผม เราจะใช้เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ไปกับการสร้างอะไร กับการทำอะไร ที่จะฝากไว้กับตัวเอง กับลูกหลานของเรา กับโลกของเรา

แล้ววันหนึ่งเมื่อเราเขียนพินัยกรรมแบบหลวงพี่ไพศาล เราจะไม่มีความเศร้าสร้อย เราจะไม่อาลัยโลกนี้ เราจะรู้สึกว่า เราได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเอง ให้กับโลกของเราแล้ว การจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็กลับมาที่หนังสือที่เขียนไว้ มันย้อนกลับมาที่การ “รู้จักตัวเอง”

FUTURE พูดถึงการรู้จักโลก ภาพใหญ่ของโลก ฉายภาพว่าโลกมันเป็นแบบนี้ แบบที่ผมพูดคุยให้ฟัง แล้วถ้าเราจะอยู่ได้ในโลกที่อยากลำบากแบบนี้ ทำอย่างไร

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/openbooks2/

แล้วก็เขียนใน MANAGING ONESELF บอกว่า ถ้าจะพัฒนาเชิงลึก เพื่อเราจะสร้างจุดแข็ง แล้วนำไปสู่ภาคปฏิบัติ เราจะทำอย่างไร ประมวล 2 เล่มออกมา ก็เป็นเรื่องที่เราคุยกันในวันนี้

ว่าถ้าเราทำแบบนี้ เราจะสามารถกำหนดที่ทางของเราในอนาคตได้ว่า เราจะอยู่ตรงไหน จะยืนอย่างไร ในยุคที่วุ่นวายโกลาหลขนาดนี้ เราเป็นคนตัวเล็กๆ เราจะยืนให้สง่างามในโลกได้อย่างไร

คนเล็ก ไม่ใช่หมายความว่าจะยืนอยู่โดยก้มหัว ก้มหน้า ให้กับผู้มีอำนาจทั้งหลาย คนเล็กคือคนที่แบกแหวน และแบกประวัติศาสต์ของโลกเอาไว้

คนเล็ก คือคนที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของโลก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ความเล็กของเราให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้หนึ่งไปเอาชนะล้าน ใช้หนึ่งไปสู้กับพันล้านได้อย่างไร

ถ้าเรารู้เคล็ดวิชา หนึ่งกับล้านเท่ากัน เศรษฐีกับคนแล่ปลา เศรษฐีกับคนปั้นซูชิ นั่งเผชิญหน้ากัน เท่ากัน ถามว่าใครรอใคร เศรษฐีรอครับ ในวันที่คุณเป็นเชฟมิชลิน 3 ดาว เศรษฐีรอครับ หรือต่อให้ไม่ต้องมิชลิน 3 ดาว เศรษฐีก็ต้องรอครับ

หาคุณค่าที่แท้จริงของคุณให้เจอ แล้วคุณจะยืนอยู่ในโลกอนาคตได้อย่างสง่างาม แล้วคุณจะเคารพและรักตัวเองได้ อย่าเสียเวลาหมดเปลืองไปกับเรื่องไร้สาระ เรื่องกวนใจ อย่าทดท้อ อย่ายอมให้คนอื่นมาทำลายความมุ่งมาดปรารถนาของคุณ

แม้ว่าเราไม่ใช่คนใหญ่ แม้ว่าเราไม่ใช่คนที่มีทรัพยากรเยอะ เราไม่ know who เราไม่รู้จักผู้คนมากมายในสังคม แต่ถ้าเรารู้จักตัวเอง ค้นพบความมุ่งมาดปรารถนาของเรา ค้นพบ passion ของเรา ผมเชื่อว่าทุกคนจะเปลี่ยนแปลง และสร้างอนาคตของตัวเองได้