ThaiPublica > คอลัมน์ > เงินตราอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักทรัพย์

เงินตราอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักทรัพย์

3 สิงหาคม 2017


พิเศษ เสตเสถียร

ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/a/ad/The-dao-logo.png

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities and Exchange Commission-SEC) ของสหรัฐอเมริกาได้ข้อสรุปที่สำคัญอันมีผลต่อกฎหมายหลักทรัพย์คือ “สินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นหลักทรัพย์

“สินทรัพย์ดิจิทัล” ที่ว่านี้หมายถีง DAO Token ซึ่งแทนค่าเงินตราทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ชื่อ Ethereum

ท่านผู้อ่านอาจจะคุ้นเคยกับเงินตราอิเล็กทรอนิกส์ที่ชื่อ Bitcoin แต่โดยแท้จริงแล้วในโลกทุกวันนี้ยังมีเงินตราอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายสกุล เช่น Litecoin, Zcash, Ripple และอื่นๆ อีกนับพันสกุล Ethereum ก็เป็นเงินตราอิเล็กทรอนิกส์อีกสกุลหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากรองจาก Bitcoin

SEC ได้ให้คำอธิบายว่า DAO หรือ Decentralized Autonomous Organization เป็นองค์กรเสมือน (virtual organization) อยู่ในรูปของรหัสคอมพิวเตอร์และทำงานบน distributed ledger หรือ blockchain ที่เรารู้จักหรือได้ยินอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่ง DAO ถูกสร้างให้เป็นองค์กรหากำไรซึ่งจะสร้างและถือสินทรัพย์ที่ทำการขาย DAO Token ให้แก่นักลงทุนเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายโครงการ (project) โดยนักลงทุนที่เข้าถือ DAO Token ก็หวังว่าโครงการนั้นจะสำเร็จทำให้ DAO Token มีค่าขึ้นมาในอนาคตและให้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนไปนั้น

นอกจากนี้ ผู้ถือ DAO Token ก็สามารถเปลี่ยน DAO Token เป็นเงินได้โดยการขาย DAO Token นั้นบน “Platform” ในอินเทอร์เน็ตซึ่งมีไว้ให้ซื้อขายเป็นตลาดรองของ DAO Token

ในหน้า Facebook ชื่อ “กฎหมายบริษัทและหลักทรัพย์” ได้ยกตัวอย่างของการขายเงินตราอิเล็กทรอนิกส์ที่ชื่อว่า Ethereum ไว้โดยกล่าวว่า

“คนที่เป็นเจ้าของโครงการเขาจะไปพัฒนาขึ้นมา ถ้าเราสนใจก็ร่วมลงทุนกับเขา แล้วเราจะได้เงินตราที่เขาสร้างใหม่นั้นเป็นผลตอบแทน โดยหวังว่าเงินตรานั้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต พูดอย่างง่ายๆ ก็เป็นการลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเงินตราสกุลใหม่ ยกตัวอย่างเช่น การเสนอขาย ICO (Initial Coin Offering -ผู้เขียน) ของเงินตราสกุล Ethereum ที่ประกาศในปี 2014 ได้เงินไป 18 ล้านเหรียญในรูปของ Bitcoin (รายการทำ ICO จะให้ชำระเป็น Bitcoin แทนเงินตราที่กันใช้อยู่ในปัจจุบัน) และในปี 2015 โครงการนี้ก็สำเร็จ ในปัจจุบัน Ethereum มีมูลค่ากว่า 14 เหรียญ (ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมามูลค่าขึ้นสูงกว่า 4000%)”

ดังนั้น DAO Token จึงเป็นเหมือนกับเป็นสิ่งที่แทนค่าเงินตราอิเล็กทรอนิกส์ (ซึ่งในปัจจุบันยอมรับแต่เงินตราสกุล Ethereum) หลังจากที่ SEC ได้ตรวจสอบลักษณะและวิธีการทำธุรกรรมของ DAO Token แล้วก็สรุปว่า DAO Token เป็นหลักทรัพย์ตาม the Securities Act of 1933 และ the Securities Exchange Act of 1934 (รายละเอียดไปดูได้จาก Report of Investigation Pursuant to Section 21(a) of the Securities Exchange Act of 1934: The DAO มีการวิเคราะห์ทางกฎหมายที่น่าสนใจมาก)

ผลของการที่ DAO Token เป็นหลักทรัพย์ก็คือ การเสนอขาย DAO Token ต้องกระทำตามกฏหมายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขาย DAO Token ก็จะต้องจดทะเบียนหลักทรัพย์เหล่านี้เสียก่อน

ก็ถือกันว่าเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของกฎหมายหลักทรัพย์สหรัฐฯ ที่ยอมรับเกี่ยวกับเงินตราอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ไม่ได้รับเงินตราอิเล็กทรอนิกส์ทุกสกุลนะครับ เพราะเท่าที่ทราบ DAO Token มีได้แต่ในระบบของ Ethereum เท่านั้น

ก่อนหน้านี้ ตอนปลายเดือนมีนาคม 2017 SEC เพิ่งปฏิเสธไม่ยอมรับกองทุนประเภท Exchange Traded Fund – ETF ชื่อ The SolidX Bitcoin Trust ซึ่งเป็นกองทุนที่มีสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็น Bitcoin ให้เข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และก่อนหน้านั้นเมื่อตอนต้นเดือนเดียวกัน SEC ก็ได้ปฏิเสธกองทุน ETF ประเภทเดียวกันชื่อ Winklevoss Bitcoin ETF (COIN) ไปเช่นเดียวกัน เรียกว่าปฏิเสธสองรายซ้อนในเดือนเดียว แต่อีกเพียงไม่กี่เดือนถัดมา เมื่อผลการศึกษาออกมา SEC ก็ยอมรับเงินตราอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นหลักทรัพย์

ในประเทศไทยเรา เงินตราอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Bitcoin ก็ไม่ถือว่าเป็นเงินตรา โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกข่าว a href=”https://www.bot.or.th/Thai/PressAndSpeeches/Press/News2557/n0857t.pdf”>ธปท. ฉบับที่ 8/2557< ลงวันที่ 18 มีนาคม 2557 ว่า

“Bitcoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และไม่มีมูลค่าในตัวเอง มูลค่าของหน่วยข้อมูลดังกล่าวแปรผันไปตามความต้องการของกลุ่มคนที่ซื้อขาย หน่วยข้อมูลมูลค่าจึงเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าได้เมื่อไม่มีผู้ใดต้องการแล้ว”

ที่มาภาพ: http://www.limlaongow.com/blog/limbitcoinpayment

แม้จะไม่มีกฎหมายรับรองแต่ก็ไม่ได้ถือว่าเงินตราอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย การจะใช้เงินตรานี้ซื้อขายแลกเปลี่ยนอะไรก็เป็นความสมัครใจของคู่กรณี (แต่ถ้ามีเรื่องขึ้นมาก็อาจจะฟ้องเรียกร้องอะไรกันไม่ได้) ถึงกระนั้นก็ยังมีกลุ่มผู้ที่ยอมรับและใช้ Bitcoin ในประเทศไทยการอยู่ไม่น้อยทีเดียว เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว “ลิ้มเหล่าโหงว” โฆษณาว่า

“…แม้ ‘ลิ้มเหล่าโหงว’ จะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่สร้างตำนานความอร่อยมาอย่างยาวนานกว่า 80 ปี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะปล่อยให้เทคโนโลยีวิ่งนำไป เพราะวันนี้คุณสามารถชำระค่าอาหารด้วย ‘บิทคอยน์’ …ได้แล้วที่ลิ้มเหล่าโหงว บิสโทร ชั้น 5 สยามสแควร์วัน หมดกังวลได้ทุกมื้อแม้ในวันที่ลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ที่บ้านหรือในรถ ก็ตามที!”

นอกจากนี้ก็ยังมีร้านอื่นๆ อีกหลายร้านเมืองไทยที่รับชำระราคาด้วย Bitcoin เช่น ร้าน Eat Me ซอยพิพัฒน์ 2 ถ.สีลม

ในแง่ของการเป็นหลักทรัพย์ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังไม่ได้แสดงความเห็นอะไรออกมาอย่างชัดเจน แต่ตามกฎหมายนั้น Bitcoin ไม่ใช่หลักทรัพย์แน่นอน เพราะสิ่งใดที่จะเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายไทยได้ต้องให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดเสียก่อน เมื่อยังไม่ได้มีประกาศกำหนดเช่นว่านั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นหลักทรัพย์ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร

แต่ก็ได้ข่าวจากคนที่อยู่ในวงการของ blockchain มาว่า การที่ SEC กำหนดให้ DAO Token เป็นหลักทรัพย์นี้ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะเมื่อเป็นหลักทรัพย์ การเสนอขายก็ดี การซื้อขายเปลี่ยนมือก็ดี จะมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องปฏิบัติมากมาย ซึ่งการสร้าง blockchain ขึ้นมาก็ต้องการให้คนเราสามารถทำธุรกรรมได้โดยความสะดวกรวดเร็ว และโดยเทคโนโลยีของ blockchain ก็มีระบบที่เชื่อถือได้และปลอดภัยโดยไม่ต้องอาศัยกฎระเบียบแต่อย่างใด ดังนั้น การที่มีกฎระเบียบมาควบคุมเช่นนี้ กลับทำให้การใช้ blockchain ทำงานมีอุปสรรค ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้

เรื่องอย่างนี้ให้ข้อคิดที่ดีสำหรับนักกฎหมายว่า บางทีการไม่มีกฎหมาย (ในบางเรื่อง) อาจจะดีกว่าการมีกฎหมายก็ได้