ThaiPublica > คอลัมน์ > Uber: ธุรกิจที่ผิดกฎหมาย

Uber: ธุรกิจที่ผิดกฎหมาย

25 กรกฎาคม 2017


ทพพล น้อยปัญญา

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ผู้แทนของ Uber ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสนับสนุนการแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับปัจจุบันรองรับบริการร่วมเดินทางผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน พร้อมระบุว่า ขณะนี้มีประชาชนมากกว่า 51,000 คนร่วมลงชื่อเห็นด้วยผ่านทางเว็บไซต์เพื่อสนับสนุนการแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับปัจจุบันรองรับบริการร่วมเดินทางผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ดังนั้นเพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาสู่การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับบริการร่วมเดินทางให้คนไทยสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการเดินทางได้อย่างเต็มที่ จึงได้ยื่นหนังสือต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เปรียบเสมือนตัวแทนของประชาชนคนไทยพิจารณา

ในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ ๆ ตอนนี้คงจะมีน้อยคนแล้วนะครับที่ไม่รู้จัก Uber ผู้ให้บริการรถแท็กซี่แบบใหม่

Uber เป็นบริการรถแท็กซี่ที่มีคุณภาพดีกว่ารถแท็กซี่ทั่วไป เรียกใช้บริการได้ด้วย app รถที่สะอาดกว่า คนขับสุภาพกว่า และการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมื่อเทียบกับรถแท็กซี่ธรรมดาที่มีปัญหาในเรื่องของคุณภาพรถ คุณภาพของคนขับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร ปัญหาของคนขับรถบางคนที่ขับรถแบบไม่ปลอดภัย ปัญหามารยาทของคนขับ ฯลฯ เหล่านี้จึงทำให้ Uber ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว

แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า Uber เป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่อีกหลาย ๆ ประเทศในโลก หรือแม้แต่ต้นกำเนิดของ Uber เองก็เกิดขึ้นด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย

ในบทความเรื่อง Uber Can’t Be Fixed — It’s Time for Regulators to Shut It Down ของรองศาสตราจารย์ Benjamin Edelman ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2017 ที่ผ่านมา ได้ระบุว่า Uber เกิดขึ้นได้ก็โดยสร้างความได้เปรียบด้วยการอ้างตัวเป็นรถรับจ้างล่วงหน้า(prebooked trips) โดยใช้ app ในโทรศัพท์มือถือแทนที่จะใช้โทรศัพท์เรียกรถ ทำให้ Uber ไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตการเป็นรถแท็กซี่จำนวนมหาศาล นอกจากนี้ Uber ก็ไม่ต้องมีรถของตัวเอง ไม่ต้องมีป้ายทะเบียนแท็กซี่ ไม่ต้องมีการประกันภัยผู้โดยสาร และ ฯลฯ เหล่านี้ทำให้ Uber มีความได้เปรียบเหนือรถแท็กซี่ธรรมดารวมถึงรถรับจ้างอื่นที่ต้องมี เรียกได้ว่า Uber ก็เริ่มประกอบการโดยผิดกฎหมายมาแต่แรก อันนี้เลยเป็นวัฒนธรรมองค์กรของ Uber ที่พร้อมที่จะท้าทายกฎหมายของทุกแห่งที่ไปประกอบการ

เมื่อการกระทำผิดกฎหมายในสหรัฐแล้ว Uber ก็เลยขยายขอบเขตไปทำผิดกฎหมายในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย หนังสือพิมพ์ Independent เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้จัดทำรายชื่อประเทศที่ Uber ถูกห้ามไม่ให้ประกอบการ จะเรียกหาแท็กซี่ Uber ไม่ได้ นับดูได้มีสิบกว่าประเทศ(แต่ไม่ยักกะมีประเทศไทย หรือเขาถือว่าเมืองไทยยังเรียกได้ไม่รู้?) แต่ดูเหมือนว่า Uber จะไม่แคร์ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เช่น ที่ประเทศเยอรมัน ศาลแห่งรัฐในเมืองแฟรงค์เฟิร์ตได้สั่งห้ามไม่ให้ Uber ประกอบการจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่ Uber ก็ไม่สนใจและประกอบการต่อไป

นอกจากนี้ Uber ก็ยังถูกกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐทำการตรวจสอบบริษัทเพราะพบว่า Uber นอกจากวิ่งเป็นรถแท็กซี่แล้วยังใช้ซอฟต์แวร์พิเศษมีชื่อ “Greyball” เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้คนขับรถทราบว่าจะหลบหลีกการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ขนส่งของรัฐได้ โดยเฉพาะในรัฐที่ Uber ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการได้เช่น ในเมือง Portland รัฐ Oregon เป็นต้น เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอีกรูปแบบหนึ่ง นับว่าเจ้าเล่ห์ไม่เบา

และในเวลาไม่นานจากนี้ ศาล Court of Justice of the European Union แห่งสหภาพยุโรปก็คงจะตัดสินคดีว่า Uber เป็นบริษัทรถแท็กซี่หรือเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ให้บริการแก่ประชาชนในการเรียกรถแท็กซี่ เพราะถ้าศาลตัดสินว่าเป็นบริษัทรถแท็กซี่ ก็เท่ากับ Uber ประกอบกิจการโดยไม่มีใบอนุญาต คำพิพากษานี้จะมีผลอย่างมากต่อการประกอบการของ Uber ในประเทศในยุโรปทั้งหมด

ดูเหมือนว่าพฤติกรรมที่ชอบฝ่าฝืนกฎหมายของ Uber ทำให้เกิดคดีความต่าง ๆ อีกมากมายทั่วโลก ซึ่งนอกจากการไม่มีใบอนุญาตแล้วยังมีคดีเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน กฎหมายการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย เว็บไซต์ Wikipedia ในหัวข้อUber protests and legal actionsได้รวบรวมคดีที่ Uber เป็นคู่ความไว้ ปรากฏว่า Uber มี คดีทั้งหมดอยู่ถึง 37 ประเทศ(รวมทั้งประเทศไทย) มีคดีในเรื่องต่าง ๆ นับได้หลายร้อยคดี ผู้ที่สนใจไปติดตามอ่านดูได้

แม้ Uber จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องรถแท็กซี่ให้เรา แต่การแก้ปัญหานั้นก็ได้มาด้วยการที่ Uber ใช้รถยนต์ธรรมดาที่ไม่มีใบอนุญาตหรือป้ายทะเบียนเป็นรถสาธารณะ ไม่ต้องมีการประกันภัยผู้โดยสาร ไม่ต้องจดทะเบียนอะไร คนขับไม่ต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะ ไม่มีการตรวจประวัติคนขับหรือตัวรถอย่างที่รถแท็กซี่ต้องมี ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้เป็นมาตรการที่ทางรัฐกำหนดขึ้นเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ในบทความของ รศ.Edelman ข้างต้นถึงกับบอกว่า ปัญหาของ Uber ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการจัดการที่ผิดพลาดที่แก้ได้โดยการเปลี่ยนผู้บริหาร แต่เป็นปัญหาของการที่มีรูปแบบทางธุรกิจ(business model)ที่ผิดด้วยการที่จะมุ่งแต่ละเมิดกฎหมายเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่ตัวต้องการ ดังนั้นจึงต้องลงโทษบริษัทจนถึงขั้นปิดบริษัทเลยทีเดียว การที่จะไม่พยายามบังคับใช้กฎหมายกับ Uber เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการละเมิดกฎหมาย

นี่ขนาดเขาไม่ได้เป็นอาจารย์ทางกฎหมายนะยังพูดถึงการบังคับใช้กฎหมายขนาดนี้

อันที่จริงปัญหาของเรื่อง Uber นี้เป็นปัญหาใหญ่ไม่ใช่เฉพาะของ Uber รายเดียว เพราะยังมีผู้ประกอบการในธุรกิจอื่น ๆ ที่ทำแบบ Uber นี้อีกหลายราย ที่รู้จักกันดีก็เช่น Airbnb ที่ให้บริการจองห้องพักแก่นักท่องเที่ยว โดยห้องพักเหล่านั้นไม่ได้เป็นโรงแรม แต่เป็นบ้านหรือคอนโดของใครที่ประสงค์จะเอาบ้านหรือคอนโดบางห้องมาให้เช่าแก่นักท่องเที่ยวแบบโรงแรม

ธุรกิจแบบ Uber หรือ Airbnb นี้เป็นธุรกิจที่คำศัพท์สมัยใหม่เรียกว่า sharing economy หมายถึง ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน(เช่น รถหรือบ้าน) นำทรัพย์สินนั้นออกหารายได้โดยให้ผู้อื่นร่วมใช้(เช่น การไปรับส่งหรือให้เช่า) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่น ๆ อีกที่เป็น sharing economy เช่น การให้ยืมเงินโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านธนาคาร(peer-to-peer lending) หรือธุรกิจที่ทำงานร่วมกัน(co-working space) เป็นต้น

ปัญหาของ sharing economy นั้นคล้าย ๆ กันคือ ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่ใช่เจ้าของธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่ทำธุรกิจโดยผ่านซอฟต์แวร์

สมัยก่อนผู้ประกอบการที่จะร่ำรวยได้ต้องทำกิจการเองจนกิจการใหญ่โต เป็นเจ้าของทรัพย์สินเช่น โรงงาน โรงแรม หรือกิจการอื่น ๆ เอง แต่ในยุคของ sharing economy ผู้ประกอบการไม่ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินเลย แต่เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ที่ควบคุมธุรกิจทั้งหมดก็พอ

ธุรกิจแบบ sharing economy นี้โตขึ้นเรื่อย ๆ สำนักงานตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาทางธุรกิจ PWC ประมาณว่าธุรกิจ sharing economy นี้มีมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและจะเติบโตเป็น 335,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2035

sharing economy จึงเป็นรูปแบบของธุรกิจในยุคใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม กฎหมายก็เช่นเดียวกัน กฎหมายที่ตั้งอยู่บนแนวคิดเดิมจึงกลายเป็นปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดปัจจุบัน Rick Schmitt ได้กล่าวไว้ในบทความชื่อThe Sharing Economy: Can the Law Keep Pace with Innovation? ใน Stanford Lawyer ลงวันที่ 31 May 2017 ที่ผ่านมาว่า ในขณะที่ บริษัทที่เกี่ยวกับ sharing economy ทั้งหลายกำลังเปลี่ยนแปลงชีวิตและความเป็นอยู่ของคนนับล้าน ผู้พิพากษา ผู้ออกกฎหมาย หน่วยงานของรัฐก็กำลังดิ้นรนที่จะสร้างกฎที่ให้บริษัทเหล่านี้ว่าควรที่จะต้องประกอบการอย่างไร

ในบ้านเรา เคยมีผู้ทำผิดกฎหมายโดยบุกรุกป่าสงวน แต่ต่อมารัฐก็จัดระเบียบป่าสงวน แบ่งพื้นที่ให้ทำกิน แต่ขณะเดียวกัน ก็มีพ่อค้าแม่ค้าที่บุกรุกขายของบนทางเท้า แต่ถูกจัดระเบียบห้ามขายของไปเลย ฉะนั้น ธุรกิจ sharing economy ในประเทศไทยจะเป็นไปในทางใด ก็คงขึ้นอยู่กับวิธีการแก้ปัญหาของ Uber ในครั้งนี้แหละ