ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > TIJ เปิดเวทีสาธารณะ หลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนฯ ถกประเด็นป่าชุมชน – การกำกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

TIJ เปิดเวทีสาธารณะ หลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนฯ ถกประเด็นป่าชุมชน – การกำกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

21 กรกฎาคม 2017


ที่มาภาพ: สไลด์ประกอบการเสวนาคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนด้วยหลักนิติธรรม กรณีศึกษาจังหวัดน่าน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) จัดประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “หลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” ผ่านกรณีศึกษาของโครงการตามแนวทางพระราชดำริและแนวทางการพัฒนาจากฐานรากที่สะท้อนแง่มุมของการบังคับใช้กฎหมายในบางบริบทที่มีปัจจัยของการพัฒนาและความเป็นธรรมในสังคมเข้ามาเป็นองค์ประกอบ

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ถ่ายทอดเรื่องราวจากที่ได้ฟังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเล่าแก่นายเลียนเชน จิกมี ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศภูฏานภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติริย์เป็นประมุข ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าท่านทรงทำอย่างไรให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นแล้วกลับมาปลูกพืชทดแทนยาเสพติด ที่สะท้อนถึงหลักการบังคับใช้กฎหมาย (enforcement of law) คือ หลักนิติธรรม ว่าจะใช้กฎหมายอย่างไรให้ไม่กดขี่ ใช้อย่างไรให้มีความยืดหยุ่น แต่เป็นความยืดหยุ่นที่วางอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝงแต่ประการใด

“พระองค์ทรงตรัสว่า จากที่รัฐบาลได้เคยให้ทหารทำการตัดต้นฝิ่นออกทั้งหมดแล้วบอกชาวเขาว่านี่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งพอทำแบบนั้นแล้วทำให้ชาวเขากลายเป็นผู้ก่อการร้าย hill tribe became terrorists เพราะเขาไม่เข้าใจ ทำไปเพราะถูกบังคับ แต่เมื่อใช้เวลาเป็น 10 ปีแล้ว ชาวเขานั้นเองเป็นผู้ตัดฝิ่น the hill tribe who cut down poppies จากการค่อยๆ พูดจาทำความเข้าใจกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นการสะท้อนการบังคับใช้กฎหมาย ที่บอกว่าปลูกฝิ่นผิดกฎหมาย แล้วต้องบังคับใช้กฎหมายโดยการจับชาวเขาที่ปลูกฝิ่นขายฝิ่นก็คงได้ แต่ผลคงไม่เกิดความเป็นธรรม และการพัฒนาที่ยังยืนมาถึงวันนี้ได้” ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว

นับว่านำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นธรรมและการพัฒนาที่ยังยืน เห็นได้ชัดว่าพระองค์ท่านไม่ได้เห็นว่าการใช้บังคับกฎหมายจะต้องใช้บังคับเต็มที่ตลอดเวลา เพราะว่า extreme justice อาจจะเป็น extreme injustice การที่บังคับกฎหมายอย่างตึงเกินไปอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมได้ เพราะฉะนั้นจึงค่อยๆ ใช้เวลา ท่านรับสั่งว่าการที่กฎหมายไปกดหัวเขา ถือว่าเขาไม่รู้กฎหมาย แล้วเขาต้องรู้กฎหมาย ทำให้ฝ่ายที่ถูกกฎหมายใช้บังคับนั้นกลายเป็นผู้ก่อการร้าย

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเป็นที่ยอมรับกันว่าโครงการตามพระราชดำริ โครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นโครงการที่แฝงไปด้วยหลักนิติธรรม เป็นโครงการที่สร้างความเป็นธรรมสร้างการยอมรับ ไม่ได้ละเลยความเป็นกฎหมาย หรือความเป็นสูงสุดของกฎหมาย แต่เป็นโครงการที่เข้าใจ การนำกฎหมายมาใช้บังคับให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับในสังคมได้ต้องมีความยืดหยุ่น ซึ่งทรงใช้คำว่าอะลุ่มอล่วย แต่ต้องเป็นความอะลุ่มอล่วยที่ตั้งอยู่บนหลักสุจริต จึงจะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนด้วยหลักนิติธรรม

นายสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ สถาบัน Change Fusion, ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี, นายจักรพงษ์ มงคลคีรี อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด, นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ และนายสำรวย ผัดผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง (ซ้ายไปขวา)

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ รองผู้อำนวยการ สํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้โครงสร้างที่ได้ทำไว้สำเร็จในระดับโครงการนำร่อง และกำลังจะทำการขยายไปสู่พื้นที่ต่างๆ การจะแก้ไขปัญหาให้คนอยู่กับป่าได้นั้นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งปัญหาที่เผชิญอยู่ คือ ปัญหาในเชิงระบบของกฎหมาย เนื่องจากไทยมีกฎหมายเรื่องป่าไม้ 5-6 ฉบับ รวมกฎหมายเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทำให้มีกฎหมายในด้านนี้กว่า 50 ฉบับที่ออกมาในต่างกรรมต่างวาระ ต่างวัตถุประสงค์ แต่นำไปสู่ความขัดแย้ง ระหว่างหน่วยงานรัฐที่บังคับใช้กฎหมาย กับประชาชน กลายเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างของระบบกฎหมาย

โดย ดร.บัณฑูร ระบุถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่แม้มีการความพยายามแก้ปัญหาจากรัฐบาลหลายครั้งผ่านการออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ปัญหายังคงยืดเยื้อมากว่า 20 ปี ดังนั้นมาตรการต่างๆ ที่ต้องดำเนินการ ได้แก่

  • การแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
  • นำกฎหมายที่มีอยู่มาใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจาก พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 ตามมาตรา 19 เปิดให้ให้ชุมชนเข้ามาร่วมดูแลบริหารจัดการได้
  • การสร้างกฎหมายใหม่ที่จะรองรับป่าชุมชน เพื่อรับรองสิทธิในการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยให้สิทธิดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิในการใช้ประโยชน์ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุในระดับกฎหมาย (พระราชบัญญัติ)
  • จากปัญหาที่ไม่มีการออกกฎหมายระดับกลาง จึงต้องข้ามไปที่ข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยใช้หลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ในการนำเอาจารีตวิธีปฏิบัติ การดูแลจัดการป่าของชุมชน ที่พิสูจน์มาแล้วว่าดูแลจัดการป่าได้อย่างยั่งยืน ผ่านกลไกของสภาตำบล เทศบาล มาทำให้มีสถานะเป็นกฎหมายโดยการดึงออกมาเป็น “ข้อบัญญัติท้องถิ่น” โดยตั้งเป้า 54 ตำบลใน จ.น่าน
  • การแก้กฎหมายไม่พอ ยังต้องมีส่วนที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้การจัดการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ
  • สร้างระบบสิทธิในทรัพยากร (Property Right) ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ โดยการทำ “โฉนดชุมชน” หรือ “ที่ดินแปลงรวม” เป็นการจัดการในระบบที่ไม่ได้ให้เป็นสิทธิปัจเจก แต่ให้ทั้งชุมชนดูแลจัดการที่ดิน โดยมีกติการ่วมของชุมชน
  • การดูแลจัดการในระดับจังหวัด ภายใต้พันธะผูกพัน SDG 16 เรื่องหลักนิติธรรม SDG 17 เรื่องความร่วมมือระหว่างรัฐชุมชนและเอกชน เพื่ออุดช่องโหว่ของภาครัฐ เพราะการแก้ปัญหาในส่วนกลางอย่างเดียวไม่พอ
  • การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ ซึ่งมีการทำงานร่วมกับพื้นที่กว่า 40 ตำบล ใน จ.น่าน ผ่านแอปพลิเคชัน “Nan Sustain” ให้รัฐสามารถติดตามธรรมาภิบาลของชุมชน ผ่าน GPS ว่าเขาสามารถดูแลจัดการป่าตามแนวป้องกันไฟป่า เก็บของป่า ตามกติกาหรือไม่
ที่มาภาพ: กรมป่าไม้

ขณะที่ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างนายจักรพงษ์ มงคลคีรี อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด จ.ตาก และนายสำรวย ผัดผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งต่างเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าสวงนฯ แต่ได้มีการจัดการชุมชนโดยนำศาสตร์ของพระราชา เช่น ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ฯลฯ มาปรับเข้ากับวิธีการที่ชุมชน เกิดเป็นป่าชุมชน มีการสร้างฝาย การจัดระบบน้ำ และแนวเขตป่า เลิกการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งนอกจากจะช่วยฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ยังสร้างรายได้ที่ยังยืนให้กับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

โดยที่พื้นที่ของ อบต.เมืองจัง สามารถคืนพื้นที่ป่าได้แล้วกว่า 450 ไร่ ในพื้นที่นำร่อง 2 หมู่บ้าน จาก 11 หมู่บ้าน พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,000 ไร่ ด้านพื้นที่ของบ้านห้วยปลาหลด สามารถฟื้นฟูป่าไปได้แล้วกว่า 2.2 หมื่นไร่ โดยเริ่มปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจแทนการปลูกฝิ่นตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 พื้นที่ได้มีการทำงานประสานร่วมกับกรมป่าไม้และหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดการที่ดินแปลงรวม

ในส่วนของภาครัฐ นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เหตุการณ์แบบนี้พูดกันเมื่อ 3 ปีที่แล้วตนคงบอกว่าตัวใครตัวมัน เพราะไม่มีทางออก แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยน วันนี้รัฐบาลเห็นความสำคัญในวาระเร่งด่วนที่ 30 พูดถึงเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งคาดว่าในไม่ช้านี้จะได้เห็นรูปแบบป่าชุมชนในพื้นที่ที่อยู่ในความสงบ โดยเฉพาะการจัดการที่ดินแปลงรวม ได้มีการประสานงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวระหว่างหน่วยงานครั้งแรก ผ่านคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารจากอีกหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วม

ที่มาภาพ: กรมป่าไม้
ที่มาภาพ: กรมป่าไม้

ปัจจุบันกรมป่าไม้ตั้งต้นการแก้ปัญหาที่ “ป่าเศรษฐกิจ” เนื่องจากการแบ่งแยกพื้นที่ของไทยมีทั้งเขตอุทยานแห่งชาติ เขตพื้นที่ป่าไม้ และที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทั้งหมด 323 ล้านไร่ ส่วนนี้เป็นฐานขอมูลที่สนับสนุนการทำงานได้ โดยในพื้นที่ของแต่ละหน่วยงานก็มีภารกิจที่จะต้องเพิ่มพี้นที่สีเขียวขึ้นมาให้ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นการปลูกต้นไม้เป็นพืชเชิงเดี่ยว แต่เป็นการให้ความสำคัญกับพื้นที่ป่าบุกรุกที่จะนำมาเปลี่ยนแปลงเป็นป่าชุมชน

สำหรับ จ.น่าน การเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมที่ผ่านมาเป็นการเพิ่มพื้นที่โดยอาศัยให้รายได้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มจำนวนพื้นที่เท่านั้น ไม่มีการบริหารการใช้ประโยชน์ที่ดี วันนี้ได้ดำเนินการจำแนกพื้นที่ จ.น่าน ในส่วนที่เป็นพื้นที่อุทยาน พื้นที่ใดเป็นพื้นป่า หรือพื้นที่ให้เป็นการใช้ประโยชน์ในลุ่มน้ำ ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ดำเนินไปแล้วกว่า 2 แสนไร่ ก่อนจะดำเนินการฟื้นฟูต่อไป

“ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาโดยเริ่มจากประชาชนนั้นสามารถทำได้ วันนี้ได้มีการทำความตกลงกับพี่น้องที่เขตป่า หมายถึงการร่วมมือร่วมใจกับชาวบ้านทั่วไป มาตกลงกันว่าจะวางแผนตามรูปแบบใด จะเก็บป่าไว้เท่าไร ฟื้นฟูแบบใด เช่น พื้นที่แม่แจ่ม มีการพูดคุยกันว่าจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือเรื่องของการตลาด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เราไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ลำพัง วันนี้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็พร้อม หากเราสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้ ผมเชื่อว่าเกษตรไม่จำเป็นต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวแน่นอน ซึ่งสิ่งที่ทางกรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรฯ ต้องการง่ายๆ 3 อย่าง คือ 1. พื้นที่ป่าไม่ลดลง 2. ลดการใช้สารเคมี สิ่งแวดล้อมดีขึ้น 3. สามารถทำให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้” นายชลธิศกล่าว

ธนาคารโลกแนะ 3 จุด ตรวจสอบ “ประสิทธิภาพ” กฎระเบียบ

นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการ ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กล่าวถึงการกำกับดูแลที่เหมาะสม การออกแบบสถาบัน กับเทคโนโลยีและการพัฒนา (Technology and Development: Appropriate Regulatory and Institutional Design) โดยมีสาระสำคัญว่า โลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลก (Disruptive Technology) ที่มีมากขึ้นและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล รวมไปถึงผู้บริโภคที่จะได้รับประโยชน์ดังกล่าว อีกด้านหนึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นมาจะยังไม่ถูกกำกับดูแลจากภาครัฐ คำถามคือภาครัฐควรเข้ามากำกับหรือไม่ มันเป็นสิ่งที่ต้องกำกับดูแลหรือไม่ แล้วถ้ากำกับจะส่งผลอย่างไรต่อผู้คนในอนาคต ต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ พูดอีกอย่างหนึ่ง โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การกำกับดูแลระดับไหนที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป ต้องสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องประชาชนจากให้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างปลอดภัยและการดำรงอยู่ของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ผู้คนสะดวกสบายขึ้นในอนาคต

คำตอบของคำถามดังกล่าวต้องหันกลับไปยังเป้าหมายสำคัญ (Intended Outcome) ของการกำกับดูแล โดยการกำกับดูแลที่ดีในทางทฤษฎีควรจะต้องมีคุณสมบัติลดความไม่แน่นอนต่างๆ ของสังคม เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่สังคมโดยรวมภายใต้กฎระเบียบดังกล่าว โดยมุ่งเน้นไปที่ความมีประสิทธิภาพและความเท่าเทียมของการกำกับดูแล ตัวอย่งเช่น การกำกับดูแลต้องมีความชัดเจนและตรงประเด็น เปิดเผยต่อสาธารณะ โปร่งใสตรวจสอบได้ บังคับใช้เท่าเทียม และมีต้นทุนต่ำ

ในทางปฏิบัติ ธนาคารโลกมีหลักการอยู่ 3 หลักการ เพื่อดูว่ากฎเกณฑ์กำกับดูแลนั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ ได้แก่ 1) ต้องมีข้อผูกมัดว่าจะสามารถปฏิบัติได้สำเร็จอย่างไร (Commitment) คือการหาทางที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม โฟกัส และมอบคำมั่นที่จะปฏิบัติให้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตัวอย่างหนึ่งที่ใช้ได้คือกรอบการลงทุนระยะปานกลางของรัฐบาลที่ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งผูกมัดให้ทั้งรัฐบาล รัฐสภา เจ้าพนักงานต้องปฏิบัติตาม การมีแผนแบบนี้จะช่วยสร้างความมั่นคง ความชัดเจน ให้ประชาชนรู้ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้ามีแผนการอย่างไร และปฏิบัติให้สำเร็จอย่างไร แต่ปัจจุบันประเทศไทยไม่มี ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมถึงประเทศต่างๆ ในโลกมีแผนเหล่านี้

2) ต้องช่วยให้ทำงานอย่างสัมพันธ์กัน (Coordination) ตัวอย่างที่ชัดเจนของการกำกับดูแลที่มีการประสานงานกันได้คือการบริหารจัดการภัยพิบัติ เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ กัน และการจะปฏิบัติงานให้สำเร็จจะต้องการการประสานของหน่วยงานที่สอดคล้องกันอย่างมาก อันรวมไปถึงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลต่างๆ ที่หน่วยงานเหล่านี้บังคับใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาล หน่วยงานอื่นๆ

3) สามารถปฏิบัติได้ง่าย (Cooperation) ตัวอย่างที่ดีของการกำกับดูแลที่ปฏิบัติได้ง่ายคือระบบภาษี เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องและบังคับใช้กับทุกคนในประเทศ โดยการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีความง่ายและชัดเจนเพียงพอที่ทุกคนจะสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสมัครใจและไม่หลีกเลี่ยงภาษี

ในแง่ของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาจะยิ่งช่วยทำให้เราสามารถลดการกำกับดูแลลง แต่ได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น การเก็บข้อมูล จากเดิมที่ต้องกรอกแบบฟอร์มจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีอย่าง smart card สามารถมาทำให้ประชาชนส่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น ขณะที่ภาครัฐได้รับข้อมูลที่จำเป็นและนำไปวางแผนได้ง่ายขึ้น หรือตัวอย่างของการสร้างระบบที่คงเส้นคงวาโดยรวมกฎระเบียบทั้งหมดไว้ด้วยกัน ซึ่งช่วยจัดระเบียบไม่ให้กฎระเบียบมีความซ้ำซ้อนกัน และในการออกกฎเกณฑ์ใหม่จะต้องเป็นเรื่องที่ใหม่และสอดคล้องกับระบบกฎหมายเดิม ซึ่งรวมไปถึงการปรับปรุงเอาของเก่าออกก่อนใส่ของใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น เป็นต้น

ทางเลือกเทคโนโลยีก้าวกระโดดด้วยหลักนิติธรรมและระบบ Regulatory Sandbox

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ ฝ่ายนวัตกรรม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวย้อนไปถึงสมัยที่ตนเองยังทำงานในภาคเอกชนและมีส่วนร่วมกับเหล่า startup ประเทศไทยว่า ที่ผ่านมา startup จะพบปัญหาว่าไม่ว่าจะคิดธุรกิจอะไรมาจะต้องผิดกฎหมายด้านใดด้านหนึ่งของประเทศไทย สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพของระบบกฎหมายไทย และเมื่อหันมาคุยและทำงานกับภาครัฐก็พบปัญหา 4 ประการ กฎหมายไทยล้าสมัย โดยเฉพาะกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น นิยามบริษัทของไทยมีความแตกต่างกันนิยามทั่วไปที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน, ไม่มีการกำหนดขอบเขตของโลกดิจิทัลที่ชัดเจน ซึ่งทำให้การทำธุรกิจมีความยากลำบาก, การกำหนดกรอบราคาที่ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงและมีการตัดราคาจนเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม, การเกิดขึ้นของ Sharing Economy สร้างปัญหาต่อทั้งผู้เล่นหน้าใหม่และหน้าเก่า รวมไปถึงความตึงเครียดของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งต้องได้รับการบริหารจัดการที่ดี

“พอลองศึกษาดูพบว่าเราต้องปรับปรุงมุมมองของการกำกับดูแลใหม่หมด อย่างอูเบอร์ ลึกๆ จริงๆ เขาเริ่มต้นจากการเอาเวลาที่ว่าง เอาห้องที่ว่างมาให้บริการ แสดงว่าพวกนี้ไม่ใช่มืออาชีพแบบนั้น เราจะเห็นแล้วว่าต่างกันนะ แท็กซี่ไม่ใช่อูเบอร์แน่ๆ โรงแรมไม่ใช่ Airbnb ดังนั้น ถ้าเราใช้กฎหมายเดียวกันอาจจะไม่ยุติธรรมกับทั้ง 2 ฝ่ายด้วยซ้ำ แบบนี้ควรจะต้องออกใบอนุญาตใหม่หรือไม่ ดูแลกันคนละแบบ ซึ่งเหล่านี้ไปทดสอบใน Sandbox ได้ว่าจะหาทางออกแบบไหนเหมาะสมที่สุด แต่ให้ร่างตอนนี้ คิดไม่ออก เรายังไม่เห็นภาพ ต้องลองดูว่าจะเป็นอย่างไรดี แล้วอูเบอร์กับ Airbnb จะเป็นแค่จุดเริ่มต้น ต่อไปมันจะไปทุกธุรกิจ แล้วความจริงสิ่งเหล่านี้ถ้าหาทางออกได้กลับจะสร้างผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย เพราะอย่าง Airbnb มีการศึกษาพบว่ารายได้ที่หายไปของโรงแรมน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นของ Airbnb แปลว่ามันสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาที่ของเดิมไม่เคยมีและกฎหมายเดิมไม่เคยเข้าไปกำกับอยู่ ดังนั้นอย่างบอกว่าเขาผิด ดึงเขาขึ้นมาให้อยู่บนโลกกับเรา มันจะอยู่อีกนาน ไปฆ่ามันไม่ได้” ดร.พณชิตกล่าว

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในการใช้ Sandbox ต้องระมัดระวังถึงผลกระทบภาพรวมนอกจากผู้เล่นอย่างผู้ซื้อหรือผู้ขายโดยตรงของธุรกิจดังกล่าว แต่ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดด้วย ตัวอย่างเช่น อูเบอร์ ไม่ได้มีเพียงผู้บริโภคของอูเบอร์ แต่ยังมีแท็กซี่ทั้งหมดที่จะได้รับผลกระทบ จะมีการแก้ไขปัญหาหรือปรับการกำกับดูแลอย่างไร หรือการใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงาน บางฝ่ายบอกว่าแรงงานในระบบก็ไปพัฒนาขึ้นเป็นแรงงานที่มีทักษะเพิ่ม แต่ยังมีประเด็นว่าแรงงานบางส่วนที่ไม่สามารถพัฒนาได้ เช่น มีอายุแล้ว จะต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับกฎระเบียบของการกำกับดูแลที่ปัจจุบันค่อนข้างจะยืดหยุ่นและเปิดโอกาสมากกว่าระบบกฎหมายเดิมที่จะเน้นไปที่การสั่งและควบคุม