ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > #thsdg17: Business in Action (4) บทสรุป SDGs ของมิตรผลและอิเกีย “ทำในสิ่งที่เราทำได้ในบริบทของโลก”

#thsdg17: Business in Action (4) บทสรุป SDGs ของมิตรผลและอิเกีย “ทำในสิ่งที่เราทำได้ในบริบทของโลก”

24 กรกฎาคม 2017


บรรยากาศในงาน Thailand SDGs Forum 2017#1 Business in Action ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมคอนราด เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา

 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ Thailand SDGs Forum 2017#1: BUSINESS in ACTION ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมีองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกและระดับประเทศที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ เทสโก้ โลตัส, โคคา-โคล่า, เอสซีจี, บางจาก, เอไอเอส, ดีแทค, ซีพีเอฟ, อิเกีย, กสิกรไทย และ PTTGC มาร่วมแบ่งปันบทเรียนและความคืบหน้าจากการนำกรอบแนวคิด SDGs ไปดำเนินการในองค์กร

ข้อค้นพบบนเวทีครอบคลุมหลายประเด็นสำคัญ โดยแนวโน้มสำคัญขององค์กรธุรกิจชั้นนำด้านความยั่งยืน ทั้งในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 17 ประการ โดยเลือกโฟกัสในเป้าหมายที่สอดคล้องกับการสร้างผลกระทบองค์การ และดำเนินการงานด้านความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ ดังที่ไทยพับลิก้าได้ถอดบทเรียนจากงานวงเสวนาและนำเสนอไปแล้วใน #thsdg17: Business in Actionตอนที่ 1-3

ในตอนนี้ Thailand SDGs Forum 2017#1: BUSINESS in ACTION ตอนที่ 4 จะเป็นตอนสุดท้ายที่จะนำเสนอเรื่องราวผ่านบทเรียนของ 2 องค์กรธุรกิจที่แม้จะแตกต่างอย่าง “มิตรผล” บริษัทน้ำตาลสัญชาติไทยที่เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัวจนเติบโตในระดับโลกและ “อิเกีย” บริษัทผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกที่ได้รับการยกย่องด้านความยั่งยืน  ทว่าในความแตกต่างคงมีความเหมือนโดยเฉพาะการยืนหยัดใน “วิธีคิด” และ “ตัวตน” เรื่องความยั่งยืนความยั่งยืนขององค์กร โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นตัวกำกับทิศทางนับจากนี้

มิตรผล: ความยั่งยืนที่เริ่มด้วย “vision” และ “culture”

วรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

นายวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า วิธีคิดที่มิตรผลดำเนินการเรื่องความยั่งยืน ตรงกับทุกคนที่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเราก็พยายามทำอยู่ผมเห็นด้วยว่าเรื่อง “vision” เป็นเรื่องสำคัญ มิตรผลจะเพิ่มอีกเรื่องหนึ่งคือ “culture” ทุกคนทราบดีว่าเจ้าของมิตรผลเป็นชาวไร่อ้อยมาก่อน อพยพมาจากเมืองจีน ปากกัดตีนถีบ ขยันขันแข็ง พัฒนาก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำของโลก

“ปัจจุบันเราผลิตน้ำตาลเป็นอันดับ 4 ของโลก เราเป็นผู้ผลิตเอทานอลอันดับ 1 ในเอเชีย ผลิตไบโอแมสอันดับ 1 ในเอเชีย เหตุทั้งหมดนี้เนื่องจาก value chain ของมันที่เราดำเนินการทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าก่อนหน้านี้เราก็ไม่รู้จัก SDG เราเกิดมาเราก็เป็นอย่างนี้ ซึ่งผมกำลังโยงว่า business context ที่เรามีก็คือ เราผลิตน้ำตาล เรามีความเชื่อมโยงกับเกษตรชาวไร่อ้อย เพราะฉะนั้นถ้าเราเชื่อว่านี่คือ key success factor ของเรา business context ของเราคือเรื่องนี้ ฉะนั้น อย่างที่หลายท่านพูดว่า เราคงไม่ต้องไปทำอะไรที่กระโดด หรือต่างจากที่เราทำ เราเลือกโฟกัสได้ และสิ่งที่เราทำได้ดี มันจะส่งผลต่อประเทศ

เรามองว่าเกษตรกรไทยมีจำนวน 1 ใน 3 ของประเทศ เวลาพูดถึงเกษตรกรหลายคนอาจคิดว่าฐานะอาจไม่ค่อยดีนัก เป็นเกษตร 1.0 ต้องพัฒนาอีกเยอะ แต่ถ้าเราพัฒนาเกษตรกรไทยได้ กำลังซื้อจะเกิดอีกมหาศาล ความเป็นอยู่จะดีขึ้นอีกเยอะ ข้ออื่นๆ ผมคิดว่าก็อาจจะตามมาได้ เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ no poverty (การยุติความยากจน) เป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่น เกษตรกรที่เราดูแล แม้จะไม่ได้ทำไร่อ้อย แต่อยู่ในชุมชน เราก็พัฒนาเขา เรามีโครงการ community development นี่คือสิ่งที่เป็นโฟกัสของเรา โดยทำร่วมกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ด้วย  ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อเชิญ สสส. ไปดูที่โรงงานที่เราไปพัฒนาชุมชน สสส. ก็กรุณาและเห็นว่าตรงกับเรื่องตำบลสุขภาวะ และ สสส. ก็เชื่อว่า ถ้าตราบใดที่เกษตรกรหรือชุมชนยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ จะไปพัฒนาเรื่องอื่นก็ทำได้แบบไม่ยั่งยืน ฉะนั้นจึงก่อให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา

SDGs in action: ทำจากสิ่งที่ธุรกิจเรา “ทำได้ดี” ในบริบทของโลก

business context ที่พูด นำมาสู่อะไรต่อมิอะไรมากมาย วันแรกที่ผมเห็น SDG (Sustainable Development Goals) ก็ยังงงอยู่เลย เพราะหลายท่านที่มาจากภาคอุตสาหกรรมคงจะทราบดีว่ามีมาตรฐานต่างๆ เยอะแยะไปหมดและก็เข้าใจดีว่าทุกคนคงมีเป้าหมายเรื่อง ความยั่งยืนเหมือนกันรวมถึงใน “เกษตรอุตสาหกรรม” ก็จะมีมาตรฐานของเขาเอง ซึ่งตอนที่มิตรผลเริ่มทำ SDGs เราก็ mapping แต่ก็มีคนถามผมว่า map ไป map มาก็เกือบครบ 17 ข้อแล้ว แต่ผมก็บอกว่าเอาสิ่งที่เราทำแล้วมีผลกระทบ

ส่วนวิธีทำของผมง่ายมาก เราก็ทำทั้ง top-down และ bottom-up รวมทั้งศึกษาจากคนที่เก่งๆ ทั้งหลาย ซึ่ง bottom-up ความหมายของผมก็คือว่า เรามีการดำเนินการที่เยอะแยะอยู่แล้ว เช่น CSR เราก็มาจับดูว่า อะไรที่เราทำอยู่แล้ว สามารถทำได้ดีอีกส่วนหนึ่งก็คือ อะไรที่เป็นบริบทโลก ซึ่งเราอาจจะยังไม่ได้คำนึงนัก ก็นำมาดู ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง gender equality ที่ผ่านมาเราก็รู้ตามกฎหมายว่า ไม่แบ่งแยกเพศ เด็ก เพศที่สาม ก็รับคนปกติถ้าท่านได้ดูคลิป “อ้ายสาคร” ของมิตรผล เรามีเรื่องของการจ้างงานเพศที่สามมาช่วยงานชุมชนของเรา และเป็นชีวิตจริงด้วย ผมเป็นคนรับเอง เรื่องนี้เกิดขึ้นจากตอนที่มิตรผลครบรอบ 60 ปี ก็ให้พนักงานส่งเรื่องเข้าประกวด น้องคนนี้ก็ส่งเข้ามา (ดูคลิปอ้ายสาครที่นี่) 

ภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง “อ้ายสาคร” แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของ สาคร มูนโพลงาม พนักงานของมิตรผลและการให้ความสำคัญกับประเด็น ความเท่าเทียมทางเพศของมิตรผล

แล้วก็มีอีกเรื่องหนึ่ง ก็ส่งไปที่ท่านประธาน ผมก็คิดในใจว่าเรื่องอย่างนี้ทางผู้ใหญ่คงไม่สนใจ แต่ท้ายที่สุดท่านเลือกเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้รางวัล แล้วเราก็คิดว่า จริงๆ แล้วยังมีประเด็นที่เรายังทำได้อีกหลายเรื่อง แต่เรายังไม่เอื้อมมือไป ฉะนั้น ที่เราดำเนินการทุกวันนี้ ก็จะเริ่มจาก “สิ่งที่เราทำได้ดี” ก่อน ตาม context ที่เรามี ก็คือ  no poverty ลดความเหลื่อมล้ำ ท้ายสุดเรื่อง urbanization เรื่อง sustainable community ก็เป็นสิ่งที่เรามองอยู่ 

นอกจากนี้แล้ว เรายังทำธุรกิจพลังงานทางเลือก ทำเอทานอล ทำไฟฟ้าชีวมวล เรามองเรื่องพลังงานลม พลังงานโซลาร์ Goal ข้อ 7 ก็เป็นข้อที่เรามอง เพราะฉะนั้นข้อที่เราโฟกัส เราไม่รู้สึกว่าเราเหนื่อยเลย เพราะเราก็ทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทำให้เป็นรูปร่าง มิตรผลไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่สิ่งที่เราทำก็พยายามเลียนแบบสิ่งที่บริษัทชั้น  นำทำ เช่น DJSI เขาไม่เชิญเรา เราก็เสียเงินสมัครเข้าไปเอง เราก็อยากจะ benchmark เราไม่ได้อยากจะบอกว่า เราได้ DJSI เป็น member แต่อยากจะ benchmark ว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (food and beverage) คนอื่นเข้าทำยังไง แล้วเรามีช่องว่าง (gap) เราก็ปรับปรุงไป แล้วท้ายที่สุดก็มีคนถามว่า สิ่งที่แต่ละท่าน แต่ละบริษัททำ มันตอบโจทย์ ประเทศอย่างไร

เชื่อในพลังของ Value Chain

ผมก็ยังเชื่อเรื่อง value chain เพราะผมเชื่อว่าเป็นพลังที่จะทำให้สิ่งที่ตอบโจทย์ของ micro บริษัทหนึ่ง แต่จะนำไปสู่อีก 10 บริษัท นำไปสู่อีก 100 บริษัท แล้วก็นำไปสู่ระดับชาติ แล้วก็ระดับโลก ถ้าเราเชื่ออย่างนี้มันก็หนีไม่พ้น เช่น โค้กเป็นลูกค้าผม เขาก็มีนโยบาย ก็มาหา หรือซีพีบอกว่า ซื้อ volume จากใครเยอะ คนนั้นมีผลกระทบเยอะ ก็มาหา มิตรผลก็เป็นผู้ซัพพลายอันดับต้นๆ ของทางโคคา-โคล่า เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาก็มาหาเราสิ่งที่เป็น sustainable ของเขา เราก็ต้องทำ เวลาเราทำ เราคงไม่ทำคนเดียว เราก็ต้องถอยไปหาชาวไร่ ถ้าเวลามีคนมาตรวจเราในโรงงาน ผมหลับตา ผมผ่านแน่นอน มันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของระบบ

แต่กับชาวไร่ที่เราดูแล เขาไม่เคยบันทึก ไม่เคยจด ใช้จำ แถมดื้ออีก มีอะไรใหม่ๆ ไม่ฟังหรอกครับ เขาจะเชื่อคนที่เป็นเกษตรกรด้วยกัน จึงต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นผมยังเชื่อพลังของ value chain ว่า ท้ายที่สุดต้นทางคิดดี กลางทางคิดดี ปลายทางก็นำสิ่งดีดีมาเช่นกัน ยกตัวอย่าง มิตรผลผลิตน้ำตาลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีลูกค้ารายหนึ่งเป็นญี่ปุ่น ซื้อน้ำตาลเรา วันนั้นเรายังเคยคิดว่า เราไม่ต้องส่งให้เขาดีกว่า เรื่องมาก แล้วลูกค้าน้ำตาลมีคนมาง้อ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ เขาทำให้เราพัฒนาขึ้นมาอีกเยอะเลย ทำให้เราพัฒนา

“ผมมองว่า SDG หรืองานที่เราทำเรื่อง SD ต่างๆ มองว่า มันเป็น driving force ทำให้เราจากสเต็ปเล็กๆ โตขึ้นมาอีกก้าวหนึ่ง และผมก็เชื่อว่าอันนี้มันจะทำให้เราโตไปอีกขั้นหนึ่ง ท้ายที่สุดคือเรื่องข้อได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) ท้ายสุดคนที่ไปก่อนก็คือปลาเร็ว คำว่าไปคือ ไปในทางดี  เราก็เป็นปลาเร็ว เราจับกระแสแล้วก็ไปทำสิ่งที่ดี เราก็มีข้อได้เปรียบเหนือกว่าในเชิงธุรกิจ”

ดังนั้น เราไม่สามารถแยกธุรกิจกับความยั่งยืนออกจากกัน ถ้าคิดแยกจากกันเมื่อไหร่ งบประมาณมีจำกัด คนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องมีน้อย แต่ถ้าเราทำควบคู่กันให้เติบโตไปกับธุรกิจ ผมเห็นว่างบประมาณเท่าไหร่เราก็ให้ได้ เพราะว่ามันเป็น win win win

ผ่ากลยุทธ์ความยั่งยืน “อิเกีย” “people & planet positive strategy”

ศุภฤกษ์ วิเชียรโชติ ผู้จัดการแผนกความยั่งยืน อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศุภฤกษ์ วิเชียรโชติ ผู้จัดการแผนกความยั่งยืน อิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในเรื่องความยั่งยืน อิเกียก็ทำงานเรื่องนี้มาสักพักหนึ่งทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค คำว่าความยั่งยืนของเราคือ ทำอย่างไรก็ตามให้เศรษฐกิจ ให้ผู้คน ให้สิ่งแวดล้อม มีความเป็นอยู่ที่ดีในวันนี้และในอนาคต ถามว่าทิศทางของอิเกียคืออะไร ก็คือ “a better everyday life for people and the planet” จริงๆ มันสืบเนื่องมาจากวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจของเราก็คือ การที่จะสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนทั่วไป

people ในที่นี้ของเราหมายถึง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน หรือพนักงานที่ทำงานให้กับซัพพลายเออร์ รวมทั้งเรื่องของสังคม และสิ่งแวดล้อม นิยามของคำว่า sustainability ของอิเกีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโอเปอร์เรชันทำอย่างไรให้ยั่งยืน ในเรื่อง supply chain หรือ value chain การทำงานกับชุมชนต่างๆ เราต้องการทำให้ผู้คนที่อยู่ในสังคมใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

ในการที่จะทำให้ความยั่งยืนสำเร็จได้ เราก็มีกลยุทธ์ ซึ่งเราเขียนกลยุทธ์หนึ่งขึ้นมาเรียกว่า “people & planet positive strategy” ในการที่จะทำให้ภารกิจเราเชื่อว่ามี change driver 3 ตัว ที่จะทำให้ความยั่งยืนประสบความสำเร็จ

เรื่องแรกเราต้องการที่จะ “inspire” ทำให้ลูกค้าของเราใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในบ้านของเขาเอง เนื่องจากเราเป็นผู้จำหน่ายเฟอนิเจอร์ ฉะนั้นเราต้องการมุ่งหวังให้ลูกค้าใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วเราขายผลิตภัณฑ์ที่เป็น lighting ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ หรือโคมไฟต่างๆที่ขายในอิเกียสโตร์ โดยทุกผลิตภัณฑ์มาจาก LED ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ปีที่แล้วเราขาย LED ไปประมาณ 79 ล้านชิ้นทั่วโลก ฉะนั้นคิดดูว่า ลูกค้าเราช่วยกันเซฟพลังงานปริมาณมากเท่าไหร่

ฉะนั้นเราเชื่อว่า การที่เราช่วย inspire ลูกค้า ให้เขาใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนที่บ้านเขา ทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าประหยัดพลังงาน หรือทำให้ลูกค้าประหยัดแม้กระทั่งเวลา เพราะเวลาก็เป็น resource ชนิดหนึ่ง ทำยังไงก็ได้ให้เขาประหยัดน้ำ หรือบริหารจัดการขยะให้ efficiency มากที่สุดเพราะฉะนั้นเราเชื่อว่า สิ่งที่เราสามารถสร้างผลกระทบให้กับโลกนี้ได้ ก็คือการ inspire ให้ลูกค้าของเราใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องของ “sustainable operations” แล้วก็เรื่อง supply chain หรือ value chain ในเรื่องของการที่ใช้ทรัพยากร ใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดในโลกให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงการที่จะมองหาเรื่องพลังงานสีเขียว ที่เอามาใช้ใน operations ของเรา  และเรื่องที่สาม จะเป็นเรื่องของ “คน” ทำยังไงให้สร้างชีวิตที่ดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับเรา

SDG in action: กรณีศึกษา responsible sourcing

เมื่อพูดถึง SDG กับสิ่งที่อิเกียทำ เรามีการ mapping ซึ่ง action ที่เราได้ทำกับเรื่อง SDG เรื่องที่ผมต้องการไฮไลต์ในวันนี้คือเรื่อง “responsible sourcing” หรือการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีความรับผิดชอบ อย่างที่ทราบกันดีว่าเรามีซัพพลายเชนที่ค่อนข้างใหญ่ เรามี 389 โซนทั่วโลก ในประมาณ  44 ประเทศ ก็ต้องบอกว่าเราบริโภคทรัพยากรค่อนข้างเยอะ ยกตัวอย่างเช่น “ไม้”  หรือ ผลิตภัณที่เป็น “กระดาษ” ปีที่แล้วเราใช้ไม้ในการผลิตสินค้าประมาณ 16 ล้านคิวบิก เราเป็นผู้ใช้ไม้รายใหญ่รายหนึ่งของโลก และ 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์เรามาจากไม้ เพราะฉะนั้น เราเชื่อในเรื่องของ “responsible sourcing”

ดังนั้น ในการที่จะนำวัตถุดิบใดก็ตามมาผลิตสินค้า เราจึงมองหาแหล่งที่มาจาก sustainable source ทุกวันนี้ 61% ของไม้ที่เรานำมาใช้ในอุตสาหกรรมของเราก็มาจาก sustainable source ซึ่ง 4% มาจากรีไซเคิลและอีกประมาณ 57% มาจากผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผ่าน FSC certified ก็คือ “Forest Stewardship Council”  ตัว certificate นี้ก็จะไปทำงานกับผู้ผลิตไม้ ให้เขามี forest management ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การเก็บเกี่ยว ส่วนเรื่องที่สองก็จะเป็นเรื่องของการทำอย่างไรไม่ให้มีไม้ที่เป็น non-certified เข้ามาเจือปน นั่นเป็นสิ่งที่อิเกียพยายามทำ แล้วเรามุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภายในปี 2020 ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ 100% จะเป็น sustainable source

อีกอย่างหนึ่งที่เราโฟกัสก็คือ “Focus on Bamboo” ทำไม่ต้องเป็น “ไผ่” หลายท่านอาจไม่ทราบว่าไผ่เป็นหญ้าชนิดหนึ่ง ไม่ได้เป็นต้นไม้ แต่ข้อดีของไผ่คือมีความแข็งแรงและโตเร็ว และขยายได้เร็ว ไผ่สามารถมีความสูงได้ภายใน 2-3 เดือน และสามารถเก็บเกี่ยวมาใช้ได้ภายใน 3 ปี ซึ่งเร็วกว่าต้นไม้ทั่วๆ ไป แล้วในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เราพยายามที่จะออกแบบให้ไม้ไผ่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เราได้ ตัวอย่างต่อไปคือในเรื่อง “cotton” ซึ่งจริงๆ แล้วมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งทอ เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่มต่างๆ ทำไมเราต้องโฟกัสในเรื่อง cotton  ก็เพราะถ้าเราศึกษาเรื่องกระบวนการผลิตภัณฑ์ cotton  จะทราบว่ามันมีผลกระทบในเชิงลบกับสิ่งแวดล้อมมาก

เพราะฉะนั้น เราจึงโฟกัสในเรื่องของการทำยังไงก็ได้ให้ cotton  ที่เราใช้มาจากแหล่ง sustainable source ซึ่งเราโฟกัสในเรื่องของการใช้ Better cotton initiatives  ซึ่งเราทำงานร่วมกับทางผู้ผลิตฝ้าย ทำยังไงให้ลดการใช้น้ำ ทำยังไงให้ลดการใช้ย่าฆ่าแมลง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี  ซึ่งตอนนี้สินค้าที่ขายในอิเกียทั้งหมด 100% มาจากแหล่งที่เป็น sustainable source อีกเรื่องคือ “Fish และ Seafood” ซึ่งสินค้าที่เราขายในอิเกียสโตร์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร อาหาร หรืออาหารแช่แข็งที่เป็นแซลมอน เรา committed ว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะมาจาก ASC หรือ MSC certified ซึ่งจะช่วยกัน certified ว่า แหล่งที่นำวัตถุดิบมาผลิตเป็นสินค้ามาจากแหล่ง sustainable source แล้วทั้งสิ้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอิเกีย)

และนี่เป็นบางส่วนขององค์กรธุรกิจชั้นนำซึ่งเป็นทิศทางขององค์กรความยั่งยืนในระดับโลก ที่นำแนวทางตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) มาปรับใช้ในองค์กร ด้วยเหตุและผลที่แตกต่างกัน

ย้อนดูเรื่องจากเวที #thsdg17: Business in Action ได้เพิ่มเติมที่