ThaiPublica > บล็อก > ทำไมต้องทบทวนเพื่อก้าวต่อ : SDGs ประเทศไทย

ทำไมต้องทบทวนเพื่อก้าวต่อ : SDGs ประเทศไทย

27 กรกฎาคม 2017


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าและมูลนิธิมั่นพัฒนา จัดงาน Thailand SDGs Forum 2017#2 Thailand progress on SDGs implementation เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม2560 ที่ผ่านมา ที่โรงแรม คอนราด ถ.วิทยุ โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่ไม่เพียงต้องการสะท้อนให้เห็นความคืบหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ในระดับนโยบายและฝั่งภาครัฐ ในอีกด้านหนึ่งเป็นความต้องการสะท้อนทิศทางการขับเคลื่อนในหลายเรื่องที่อาจจะยังต้อง “ทบทวน” และอีกหลายเรื่องหลากมิติที่จะต้อง “ก้าวต่อ”

ถ้านับจากวันที่นายกรัฐมนตรีไปร่วมลงนามรับรองฉันทามติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับ 193 ประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการ จนวันนี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งที่เลือกเดินตามเส้นทางการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในสหัสวรรษใหม่ ในระดับกลไกการขับเคลื่อนในระดับประเทศรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.)โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการจัดประชุมแล้ว 3 ครั้ง

และล่าสุดจากการเปิดเผยของ นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯ บนเวที Thailand SDGs Forum 2017#2 Thailand progress on SDGs implementation ระบุว่า ล่าสุดคณะกรรมการกพย.อนุมัติเพื่อเดินหน้า Roadmap เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม2560 ที่ผ่านมา โดยเดินหน้า Roadmap ใน 30 เป้าประสงค์สำคัญจาก 169 เป้าประสงค์ที่ไทยจัดลำดับความสำคัญมาก่อนหน้า พร้อมให้เตรียมดำเนินการยุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่

เป็นวาระของการอนุมัติ ก่อนที่ประเทศไทย ที่นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตวินัย นำคณะผู้แทนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย ไปร่วมการประชุม High Level Political Forum (HLPF) ที่มหานครนิวยอร์ค ระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ถือเป็นการประชุมสำคัญขององค์การสหประชาชาติเพื่อให้เกิดการทบทวนความคืบหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมายของแต่ละประเทศ ในการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 43 ประเทศที่ นำเสนอ “รายงานผลการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ.2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ” (VNR) โดยสาระสำคัญในการรายงานอยู่ที่ในระดับภาพกว้างและการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายที่มีการกำหนดให้ SDG s เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯรวมไปถึงยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี และการเดินหน้าความยั่งยืนประเทศไทยโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่สะท้อนผ่านการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ภายใต้แนวคิด “SEP for SDGs” และนั่นคือความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนในระดับภาคใหญ่

อย่างไรก็ตามเสียงสะท้อนจากเวที Thailand SDGs Forum 2017#2 Thailand progress on SDGs implementation เมื่อ 26 กรกฎาคม 2560 ยังมีหลายเรื่องที่อาจจะยังต้องทบทวนและอีกหลายเรื่องยังมีท้าทายก่อนที่จะถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ในปี ค.ศ.2030 ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินการตามในระดับเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันในแผนดำเนินการส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปในลักษณะของโครงการที่กระจุกตัวอยู่ในฝั่งภาครัฐ การขาดข้อมูลจากฝั่งเอกชนและประชาสังคม รวมถึงระบบฐานข้อมูลที่ยังมีดัชนีชีวัดอีกจำนวนมากที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะวัดได้ และนั่นรวมถึงการทำงานในระดับของการ “บูรณาการ” ในระดับข้ามกระทรวง และการทำงานอย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนการมอบหาแพลทฟอร์มใหม่ๆในการทำงานร่วมกัน ซึ่งล้วนแล้วจะเป็นหัวใจสำคัญของ “Spirit” SDGs ในการทบทวนและก้าวต่อไปข้างหน้าของ SDGs ประเทศไทย

สำหรับท่านที่สนใจประเด็นของการทบทวนเพื่อก้าวต่ออย่างละเอียดสามารถติดตามได้เพิ่มเติม ที่ www.thaipublica.org เร็วๆนี้