ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > thsdg17#2 (ตอนที่ 1) ความคืบหน้าภาครัฐเคลื่อนนโยบายระดับชาติ SDGs กพย. ผ่าน Roadmap สู่ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่

thsdg17#2 (ตอนที่ 1) ความคืบหน้าภาครัฐเคลื่อนนโยบายระดับชาติ SDGs กพย. ผ่าน Roadmap สู่ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่

27 กรกฎาคม 2017


เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดงาน Thailand SDGs Forum 2017#2: Thailand progress on SDGs implementation โดยในช่วงเช้า นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Thailand Progress on SDGs 2017: ความก้าวหน้า SDGs ประเทศไทย” รายละเอียดดังนี้

นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

“ครั้งนี้รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาพบกับทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง หลังจากครั้งที่แล้วเราได้พูดกันถึงเรื่อง SDG จำได้ว่าตอนที่ไทยพับลิก้าจัดครั้งแรก(Thailand SDGs Forum 2016#3: Thailand Sustainability Journey” 27 กันยายน 2559)  เป็นช่วงที่เรากำลังเริ่มขับเคลื่อน วันนี้ก็มีโอกาสมาเล่าให้ฟังว่าภาครัฐทำอะไรไปบ้าง ซึ่งต้องเรียนว่าเราทำไปค่อนข้างเยอะ ตั้งต้นก่อนว่าเราทราบว่าเรามี 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ และ 240 ตัวชี้วัด ถามว่าในช่วงที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง ขอเริ่มจากกลไกการทำงาน เรามีคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งครั้งที่แล้วที่คุยกันเราประชุมไป 1 ครั้ง ครั้งนี้ที่เรามาประชุมกันเราได้ประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง เพราะฉะนั้นจะมีอะไรใหม่ๆ มาพูดคุยกัน”

กพย. ผ่าน SDGs Roadmap 30 เป้าประสงค์

สิ่งที่ทำไปแล้วที่สำคัญมาก เราทำโรดแมปเป็นลักษณะที่ให้ภาครัฐที่ได้รับมอบเป็นหน่วยงานหลักและหน่วยงานหลักร่วม เนื่องจาก 1 เป้าหมายเรามีหน่วยงานหลักหลายหน่วยงาน เช่น ในกรณีของเป้าหมายที่ 1 เรื่องความยากจน มีทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, เป้าหมายที่ 6 เรื่องน้ำ มีทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย และเป้าหมายอื่นๆ ที่มีมากกว่า 1 เจ้าภาพ แต่บางเป้าหมายจะมีเจ้าภาพเดียวเพราะมีความชัดเจน เช่น เป้าหมายที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ชัดเจนว่าเป็นผู้รับผิดชอบเดี่ยว หรือเป้าหมายที่ 4 เรื่องของการศึกษา จะมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับผิดชอบกระทรวงเดียว

ทีนี้ เป้าหมายที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ เราต้องเน้นคำว่าบูรณาการ ในการทำโรดแมปจะต้องเน้นการบูรณาการเป็นหลัก นอกจากบูรณาการในภาครัฐแล้ว ที่เราเน้นคือการบูรณากับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมด้วย เพราะว่า 2 ภาคนี้สำคัญมาก ภาครัฐฝ่ายเดียวทำไม่สำเร็จถ้าไม่ได้ 2 ภาคนี้มาร่วมด้วยเพื่อให้เป็น SDG ของประเทศไทยจริงๆ ไม่ใช่ SDG ของภาครัฐเท่านั้น เพราะฉะนั้น คณะกรรมการก็ได้คืบหน้าไป

อีกอันหนึ่งที่สำคัญคือ เราให้มี Mr./Mrs.SDG ทำไมต้องมี เราต้องมีเนื่องจากว่าในการทำงานจะประกอบไปด้วยงานของหลายหน่วยงาน เวลาเราประสานงานกับผู้แทนหน่วยงานก็จะมีประเด็นว่าประชุมครั้งนี้จะมีท่านหนึ่งมา ครั้งหน้าอีกท่านหนึ่งมา ทำให้เราติดต่อลำบากมากและค่อนข้างจะมีปัญหา ดังนั้นเราจึงของให้มี Mr./Mrs.SDG ประจำกระทรวง มีหน้าที่ตอบคำถามและประสานงานกับฝ่ายเลขาธิการของคณะกรรมการ มิฉะนั้นเราจะเสียเวลามาก ซึ่งหลังจากที่ได้แต่งตั้งไปแล้วก็พบว่าการประสานงานดีขึ้น เพราะมีผู้รับผิดชอบโดยตรง และมีการทำงานที่สามารถตอบคำถามได้ชัดเจนมากขึ้น และส่วนใหญ่คนที่ได้มาจะเป็นระดับผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ จะมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ปลัดกระทรวงฯ มาเป็นเอง เพราะมีส่วนร่วมใน 5-6 เป้าหมายจึงรับทำงานทั้งหมดเลย อันนี้เป็นเรื่องที่ 2 ที่ได้มีความก้าวหน้าไป

ผ่าแผนงานความยั่งยืน ห่วงโครงการกระจุกตัวภาครัฐ

ประเด็นต่อไปที่เราได้ทำงานสำเร็จคือ การจัดลำดับความสำคัญของเป้าประสงค์ของเป้าหมายต่างๆ ใน 169 เป้าประสงค์ เราได้ความร่วมมือจากมูลนิธิสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยกันดำเนินการระดมความคิดเห็น เราจะดูทั้งมิติความสำคัญ มิติความพร้อมต่างๆ เราจะออกมาเป็นความสำคัญ 30 อันดับแรก ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะในที่สุดแล้ว เราจะต้องใช้ 30 อันดับแรกนี้เป็นจุดเริ่มต้น มิฉะนั้น การขับเคลื่อน 169 เป้าประสงค์อาจจะเป็นเรื่องลำบาก ทั้งจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ความจำกัดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราได้ทำโรดแมปครบหมดทุกเป้าประสงค์แล้วด้วยและผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการแล้ว ซึ่งในการรับผิดชอบหลายเป้าหมายทำได้ดี มีงบประมาณ มีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวที่ดี ชัดเจน แต่ยังมีข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่จะยังเป็นแผนงานของภาครัฐ เราขอให้เพิ่มเติมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมากขึ้น ดังนั้น แต่ละเป้าหมายก็มีครบถ้วนอยู่แล้ว บางเป้าหมายทำได้ค่อนข้างดี มีความชัดเจนว่าจะบรรลุได้ในกี่ปี บางเป้าหมายอาจจะไม่สามารถบรรลุได้ทันปี 2030 เป็นความท้าทายอีกว่าจะทำอย่างไรให้บรรลุได้ตามเป้าประสงค์ที่สหประชาชาติตั้งเป้ากันไว้ เราคงต้องช่วยกันพัฒนาแก้ไขปัญหาต่อไป

ประเด็นต่อมาจาก 30 เป้าประสงค์ที่เราจัดลำดับความสำคัญ ถ้าเราดูแต่ละชื่อจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราและมีความสำคัญจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมาตรการด้านการพัฒนาสังคม การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราอยากจะทำอยู่แล้วใน 30 ลำดับแรก เพราะฉะนั้น เมื่อมาอยู่ใน 30 ลำดับแรกจะเป็นเรื่องที่คงต้องเร่งดำเนินการ เพราะฉะนั้น หลังจากนี้ที่คณะกรรมการฯ ได้อนุมัติไปแล้ว การขับเคลื่อนจึงเป็นเรื่องต่อไปที่เราจะต้องทำให้ได้ ซึ่งมีความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

นอกจากนี้ การจัดลำดับของประเทศที่ขึ้นมาจาก 61 เป็น 55 แล้วมาเลเซียอยู่ที่ 54 แต่ที่เคยได้คุยกับอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ว่า มีประเทศหนึ่งที่อันดับขึ้นเรื่องแรงงาน คือ ประเทศอาเซอร์ไบจานที่ได้อันดับ 27 จึงคิดว่าเราต้องทำมากกว่านี้ เราไม่ควรจะได้ต่ำกว่าเขา ดังนั้นเราต้องตั้งต้นกันใหม่ให้ดีขึ้น โดยจะไปดูบทวิเคราะห์ของเขาว่าวิเคราะห์อย่างไร เพราะว่าต้องเรียนตรงๆ ว่าไม่เคยมีใครมาสัมภาษณ์เรื่องนี้เลย ไม่ทราบว่าจัดอันดับจากอะไร เขาอาจจะไปสัมภาษณ์คนอื่น สงสัยว่าไปคุยกับใครจึงออกมาเป็นอันดับเท่านี้ เราต้องหาความจริงแม้ว่าเราจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับลำดับมากนัก แต่ว่าถ้ามันสะท้อนความเป็นจริง เราต้องหาทางที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เหมือนกับการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันที่ผ่านมามีประเด็นคล้ายๆ กันว่าเก็บข้อมูลจากใคร ถ้าเราให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อันดับก็น่าจะดีขึ้นได้

ดันงบฯ บูรณาการ เล็งนำร่องยุทธศาสตร์ SDGs ระดับจังหวัด

นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ต่อไปจะเป็นประเด็นที่ท้าทาย หลังจากมีโรดแมปและลำดับความสำคัญแล้ว เราเห็นว่าอาจจะต้องมีงบประมาณบูรณาการโดยเฉพาะหรือไม่ แต่ในภาพรวมนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยและกำลังพูดคุยกับสำนักงบประมาณอยู่ว่าควรจะมีหรือไม่อย่างไร เพราะว่าทำงานกันหลายหน่วยงาน เวลาบูรณาการจะได้สนับสนุนงบประมาณตามความเหมาะสมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

อีกประเด็นที่สำคัญและท้าทายมากคือ การนำ SDG ลงไปสู่พื้นที่ อันนี้มีคำถามในการประชุมที่เวียนนาว่าเป็นห่วงว่าเราจะนำ SDG ลงไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างไร เพราะว่าเขากลัวว่าภาครัฐจะทำฝ่ายเดียว ซึ่งได้ตอบไปว่าเราพยายามที่จะให้ลงพื้นที่แน่นอน เราได้จัดการประชุมไปครั้งหนึ่งเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว และนำผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในภาคกลางมาพูดคุยร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆ รอบหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจว่า SDG คืออะไรแล้วจะสามารถช่วยเหลือกันได้อย่างไร เพราะเรามองว่าแต่ละจังหวัดมีงบประมาณ มีแผนงานจังหวัด กลุ่มจังหวัด เพราะฉะนั้น ถ้า อปท. และจังหวัดเข้าใจว่าคืออะไร เขาจะสามารถนำแต่ละเป้าหมายไปดำเนินการในแผนงานต่างๆ ได้

แล้วเราเห็นตรงกันว่า เราจะอาศัยการวิเคราะห์จากจังหวัด เพราะแต่ละจังหวัดจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน บางจังหวัดอาจจะมีปัญหาเรื่องความยากจนมากก็จะไปเน้นการขับเคลื่อนป้าหมายที่ 1 เรื่องความยากจน หลายจังหวัดทำเกษตรกรรมก็จะช่วยขับเคลื่อนในเป้าหมายที่ 2 เรื่อง Zero Hunger ได้ บางจังหวัดมีเรื่องอุตสาหกรรม บางจังหวัดอาจจะมีประเด็นเรื่องของน้ำ ก็อาจจะหยิบเรื่องพวกนี้เข้าไปขับเคลื่อนได้ด้วย

จากที่พูดคุยกันในภาคกลาง เราพบว่าแต่ละจังหวัดมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่อาจจะยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น ในการที่เราได้ลงไปประชุมวันนั้นก็ได้ยกตัวอย่างให้ดูว่าแต่ละจังหวัดมียุทธศาสตร์แบบนี้ เราจะสามารถเลือกเป้าหมายของ SDG ได้อย่างไร ซึ่งเราก็ได้เสนอในการประชุมของคณะกรรมการล่าสุดและนายกรัฐมนตรีเห็นชอบว่าต้องให้จังหวัดต่างๆ มีเรื่องของ SDG เข้าไปในแผนจังหวัดด้วย และขณะนี้พอดีว่าสภาพัฒน์ฯ ได้รับมอบเป็นฝ่ายเลขานุการของกรรมการจังหวัดอยู่ด้วยในการบูรณาการ ก็คิดว่าจะนำเรื่อง SDG เข้าไปบรรจุไว้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาแผนการของคณะกรรมการจังหวัดด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและก้าวสำคัญระยะต่อไปที่ทำต่อเนื่องในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัญหาใหญ่ “ฐานข้อมูล” เตรียมปลดล็อกรื้อ จัดระบบ

อย่างไรก็ตามคิดว่าต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพราะเท่าที่ดูคือจังหวัดยังไม่ค่อยเข้าใจนัก เป็นประเด็นที่ท้าทายคือความเข้าใจ จากที่พูดคุยจากหลายเวที ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจว่า SDG จะมีประโยชน์อย่างไร คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญที่จะสร้างความรู้ให้ต่อเนื่อง ซึ่งดีใจว่าที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ ที่จัดเวทีเหล่านี้มากมาย จะเป็นการช่วยกัน แล้วที่ได้คุยกับท่านวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก  ก็บอกว่าเป็นเรื่องแปลกที่ SDG ไม่ใช่พันธกรณีที่ผูกพัน แต่ประเทศต่างๆ ยินดีที่จะทำและให้ความสนใจที่จะมาทำร่วมกัน

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของการเก็บข้อมูลที่ค่อนข้างมีปัญหา เราต้องปรับปรุงการเก็บฐานข้อมูลให้ดีขึ้น หลายหน่วยงานทีมของสภาพัฒน์และสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ไปคุยที่กระทรวงมาแล้วว่าเราจะเริ่มตั้งต้นสร้างฐานข้อมูลอย่างไร เพราะมิฉะนั้นทำไปแล้วเราประเมินผลไม่ได้ว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่ และเป็นปัญหาต่อไปว่าเราจะไม่สามารถเปรียบเทียบความก้าวหน้าได้ ข้อมูลที่ว่านี้ก็ยังเป็นเฉพาะของภาครัฐ ยังมีของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมอีกที่ต้องดำเนินการรวบรวมต่อไปอีก ซึ่งได้ทำไว้ในพื้นที่ต่างๆ มากมาย

สุดท้ายขอฝากไว้ว่าเวทีนี้จะเป็นอีกเวทีที่ช่วยสร้างความเข้าใจและสร้างโอกาสที่จะร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม คิดว่าภาคเอกชนที่ได้ไปพูดหลายวันก่อน ได้เห็นว่าภาคเอกชนไปได้ไกลแล้ว ก็จะมีภาคประชาสังคมหลายส่วนที่ไปไกลแล้ว แต่ยังมีหลายส่วนที่ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องหรืออาจจะอยากร่วมแต่ไม่มีโอกาส คิดว่าเป็นประเด็นที่ต้องเปิดโอกาสให้คนมาเข้าร่วมมากขึ้น เราต้องสร้าง SDGs ของประเทศไทย ไม่ใช่ของภาครัฐ แต่ภาครัฐมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อน บางคนอาจจะถามว่าทำไมต้องทำมากมายเพื่อสหประชาชาติหรือ คำตอบคือไม่ใช่ เราทำเพื่อตัวเรา เพื่อประเทศเรา เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนให้ได้