ThaiPublica > เกาะกระแส > เสวนาถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้รัฐต้องตอบโจทย์ทำเพื่อใครให้ได้ก่อน การพัฒนาต้องเข้าใจ”ราก-วิถี”สังคม วัฒนธรรม

เสวนาถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้รัฐต้องตอบโจทย์ทำเพื่อใครให้ได้ก่อน การพัฒนาต้องเข้าใจ”ราก-วิถี”สังคม วัฒนธรรม

15 กรกฎาคม 2017


เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานเสวนา “แม่น้ำเจ้าพระยา…กับการพัฒนาเมือง”

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานเสวนา “แม่น้ำเจ้าพระยา…กับการพัฒนาเมือง” ในช่วงแรกได้เสวนาในประเด็น “ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา: จะพัฒนากันอย่างไร?” โดยมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย, ดร.ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร,นางสาวภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมืองอิสระ,นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นักธุรกิจผู้บริหารโรงแรม,นายยศพล บุญสม ผู้แทนจากเครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ, นายสาธิต ดำรงผล ผู้แทนจากชุมชนบางอ้อ

ต้องมีหน่วยงานกลางดูแลแม่น้ำภาพรวม

ดร.อดิศร์กล่าวว่า ประเด็นการพัฒนาเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งแรกที่จำเป็นต้องตระหนักคือ แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงคลองสาขา เป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ ซึ่งมีความยาวนับ 1,000 กิโลเมตร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และไม่สามารถพิจารณาเป็นส่วนๆ เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครได้ เนื่องการการพัฒนาจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่กว้างขวางในหลายพื้นที่ ตั้งแต่เรื่องน้ำอุปโภคบริโภค การระบายน้ำ สิ่งมีชีวิต การเดินเรือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สันทนาการ ประวัติศาสตร์

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การบริหารจัดการการพัฒนาเมืองของประเทศไทยยังขาดหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบต่อแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาโดยตรง แต่จะเป็นการบริหารจัดการแบบต่างคนต่างทำ ตั้งแต่กรมเจ้าท่าที่ดูเฉพาะเรื่องการเดินเรือ กรมชลประทานที่บริหารจัดการใช้น้ำดีในการเกษตร  รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ที่พิจารณาเฉพาะเขตพื้นที่ของตนเอง

“กลายเป็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิ่งปลูกสร้างที่หลากหลายไปแต่ละพื้นที่บนระบบนิเวศเดียวกัน สุดท้ายก็บริหารจัดการไม่ได้ เพราะสิ่งก่อสร้างหนึ่งจะกระทบไปทั้งระบบนิเวศ สร้างที่หนึ่งก็อาจจะไปกระทบการกัดเซาะชายฝั่งหรือตลิ่งในอีก 10 กิโลเมตร เพราะเส้นทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป ก็ให้หน่วยงานตรงนั้นแก้ไขปัญหาเอง หรือพอสร้างแล้วจะรื้อก็รื้อไม่ได้อีก สตง. ก็มาดูแล้วเพราะเป็นของราชการ สาเหตุมาจากเราไม่มีเราหน่วยงานใหญ่ดูระบบนิเวศทางทะเลหรือแม่น้ำภาพรวม แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่แค่ของคนกรุงเทพฯ แต่เป็นแม่น้ำเป็นระบบนิเวศของประเทศไทย” ดร.อดิศร์กล่าว

ดร.อดิศร์กล่าวถึงทางออกว่า ควรจะรวมหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบต่อแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขา โดยยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ซึ่งมีหน่วยงานเรียกว่า Canal & River Trust ดูแลรับผิดชอบแม่น้ำระยะทาง 2,000 ไมล์หลักในอังกฤษ ตั้งแต่การสร้างสะพาน ดูแลคลอง ตลิ่ง สถานีสูบน้ำ อ่างเก็บน้ำ ระบบระบายน้ำ ท่าเรือการเดินเรือ การอนุรักษ์สัตว์น้ำ อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยวสันทนาการ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยมีภารกิจหลัก ได้แก่ 1) การปกป้องคลอง แม่น้ำ ท่าเทียบเรือจากการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม 2) การปกป้องธรรมชาติ แหล่งน้ำที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ 3) บริหารจัดการกิจกรรมการเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 4) พัฒนาความยั่งยืนในระยะยาวของระบบนิเวศชุมชน

ในการบริหารกองทุนนี้จะมีการหารายรับจากเงินอุดหนุนและการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และมีโครงการบริหารจากหลายคณะกรรมการ ตั้งแต่คณะกรรมการกองทุน คณะที่ปรึกษา ตัวแทนที่มาจากกระเลือกตั้งและแต่งตั้ง ผู้อำนวยการและทีมบริหาร หน่วยงานภาคี

ทางจักรยานตอบโจทย์“ชาวบ้าน”

ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ด้าน ดร.ธงชัย กล่าวถึงการแบ่งถนนให้เป็นทางจักรยานว่าที่ผ่านมารัฐตั้งเป้าหมายผิดมาตลอด เนื่องจากในกลุ่มผู้ใช้จักรยาน 3 กลุ่ม ได้แก่ นักกีฬา นักจักรยาน และชาวบ้าน กลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญและจะทำให้โครงการยั่งยืนคือกลุ่มชาวบ้าน แต่ที่ผ่านมารัฐให้ความสำคัญกับคนกลุ่มที่ 2 มากกว่า ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยและมาใช้บริการบางครั้งบางคราว

“ตัวอย่างเช่น ทำทาง 184 กิโลเมตรจากรังสิต-ชัยนาท ถามว่าทำให้ใครใช้ พวกนักจักรยานอย่างผมปั่นได้นะครับ แต่ก็คงไม่กี่ครั้ง หรือทางจักรยานที่บางลำพู ชาวบ้านก็ไม่เอาเพราะไปขวางทางค้าขายเขา คนเข้ามาซื้อยาก มันไม่ได้ตอบโจทย์ชาวบ้าน” ดร.ธงชัย กล่าว

ดร.ธงชัยกล่าวว่า หากดูตัวอย่างในต่างประเทศจะพบว่ามีกรณีที่ไม่ต้องมีทางจักรยาน แต่ใช้วิธีควบคุมความเร็วรถยนต์ในเขตชุมชนที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งทำให้ผู้คนและการขี่จักรยานปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแม้ในประเทศไทยจะมีการกำหนดความเร็ว แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เกิดขึ้น หรือตัวอย่างที่ไทเป มีลักษณะคล้ายกับของประเทศไทย ตอนแรกจะทำเป็นถนนยื่นออกไปในแม่น้ำ แต่ผู้อยู่อาศัยคัดค้านเพราะทำลายภูมิทัศน์และเสี่ยงน้ำท่วม รัฐบาลจึงล้มแผนและหันมาพูดคุยหาทางออกร่วมกันจนในที่สุดสามารถก่อสร้างโดยทุกฝ่ายยอมรับได้

วิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น “landmark” อยู่แล้ว

นายศศิน เฉลิมลาภ

นายศศินกล่าวว่า จากที่ติดตามล่าสุด โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้ขยายออกไปกว้างขวางมาก ก่อนจะย้อนมาเล่าถึงวิธีของการสร้างถนนว่าเป็นวิธีคิดของคนรุ่นตนที่ต้องการนำความเจริญเข้าไปในทุกพื้นที่ เนื่องจากขณะนั้นธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์อยู่ สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาถือว่าเป็น “landmark” ของ กทม. อยู่แล้ว นักท่องเที่ยวที่มาเพียงขึ้นเรือก็ได้รับชม landmark ดังกล่าวแล้ว ผ่านวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำที่มีอัตลักษณ์หลากหลายแตกต่างกันไป มิใช่ถนนที่กำลังจะสร้าง ขณะที่การสร้างถนนได้มาทำลายความมีอัตลักษณ์ส่วนนี้ เพราะหน้าตาของถนนจะเหมือนกันไปหมดตลอดเส้นทาง และชาวบ้านบางส่วนชอบเนื่องจากป้องกันน้ำท่วมได้

อีกด้านหนึ่ง การสร้างเขื่อนจะสร้างประเด็นปัญหาการบุกรุกพื้นที่ ซึ่งของเดิมชาวบ้านที่ต้องพึ่งพิงแม่น้ำเป็นทางสัญจรก็จะต้องสร้างบ้านลงไปในแม่น้ำส่วนหนึ่งสำหรับจอดเรือ แต่เมื่อสร้างเขื่อนพื้นที่ส่วนนั้นกลายเป็นแผ่นดินขึ้นมาและทำให้ชาวบ้านรุกล้ำแม่น้ำเข้าไปโดยปริยาย ทั้งนี้เขื่อนควรจะสร้างเข้ามาข้างในแผ่นดินมากกว่าสร้างบนแม่น้ำ

“เราพัฒนากันมาแบบนี้ ข้างในเขื่อนก็มีปัญหาระบบนิเวศ น้ำเน่า ราคาที่ดินตก แบบนี้จะมีใครอยู่ได้ อาจจะกลายเป็นสลัมแทน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความปลอดภัยอีก ใครจะกล้าเดินตอนกลางคืน ส่วนตอนกลางวันแล้วการออกแบบไม่ได้คำนึงแบบเรื่องอุณหภูมิ ร้อนขนาดนี้ก็เดินไม่ได้อีก” นายศศิน กล่าว

วิถีชีวิตถูกตัดขาดจากแม่น้ำเจ้าพระยา

นายสาธิต ดำรงผล

ด้านนายสาธิต ในฐานะผู้ที่อยู่ในชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวย้อนไปว่า วิถีชีวิตดั้งเดิมของตนและครอบครัวต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่น้ำอุปโภคบริโภคจากแม่น้ำโดยตรง ของใช้จากเรือที่มาเร่ขาย หากเจ็บป่วยจะมีเรือจ้างนำไปส่งที่โรงพยาบาลศิริราช ไฟฟ้าก็ต้องปั่นใช้เอง ต่อมาเมื่อมีการสร้างถนนจรัญสนิทวงศ์ก็สร้างแต่เพียงภายนอก แต่ถนนที่ตัดเข้ามาในชุมชนต้องสร้างเองเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ทำให้บ้านที่อยู่ตรงกลางยังไม่สามารถสัญจรทางบกได้สะดวกเท่าทางน้ำ ต่อมาในปี 2535 และปี 2554 มีเหตุการณ์น้ำท่วม รัฐบาลมีนโยบายสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม แต่ชาวบ้านบางอ้อคัดค้าน เพราะสามารถมีวิถีชีวิตร่วมกับน้ำได้ แต่ว่าสุดท้ายจะสร้างขึ้นในที่สุด

นายสาธิตกล่าวต่อไปว่าเขื่อนที่สร้างขึ้นมาได้เปลี่ยนวิถีชีวิตชุมชนไปมาก เรือเร่ เรือจ้างที่เคยมีมาได้หายไปทั้งหมด ชาวบ้านที่อยู่ข้างในถูกตัดขาดจากการคมนาคม เพราะไม่สามารถสัญจรทางน้ำได้อีก ขณะที่ภายในเขื่อนใต้ถุนบ้านมีน้ำขัง สัตว์น้ำตายเน่าเหม็น กระทบต่อประเด็นด้านสาธารณสุข ซึ่งหน่วยงานที่สร้างเขื่อนมิได้คำนึงถึงเท่าที่ควร เนื่องจากมีหน้าที่สร้างเขื่อนเพียงอย่างเดียว

ทำไมไม่เปิดแผนแม่บท

นางสาวภารนี สวัสดิรักษ์

นางสาวภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมืองอิสระ กล่าวว่า TOR กำหนดว่าต้องทำแผนแม่บท ตนเห็นด้วย พอดูการพัฒนาที่ถูกออกแบบในการจัดทำแผนแม่บทต้องมีการสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูล ตนได้ให้ข้อเสนอแนะอยู่หลายเรื่อง แต่สิ่งที่ได้ทักท้วงคือ การทำแผนแม่บทเริ่มต้นไปพร้อมรูปแบบ ต้องมีทางเดินรอบแม่น้ำเจ้าพระยา 57 กิโลเมตร ตนอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างออกมาตามแผนแม่บทก่อน

“วันนี้ไม่ทราบว่าทาง กทม. ได้รับงานหรือไม่ เพราะ 120 วันผ่านไป สิ่งที่ได้กลับมาคือสิ่งที่เป็นอยู่เหมือนเดิม อีกทั้งแผนท่องเที่ยว แผนวัฒนธรรม ไม่เห็นผลการวิเคราะห์ในเรื่องนี้ ไม่มีการชี้แจงใดๆ พอถึงเดือนสิงหาคมมีงานเวทีพูดคุยกันกับผู้ประกอบการกลุ่มเล็กๆ แต่คณะอนุกรรมการที่ออกแบบก็ไม่แสดงรายละเอียดของงาน จนมาถึงการรับฟังครั้งสุดท้ายก็ไม่ได้ต่างจากที่คิดไว้ คือการเอาผังเมืองมาติด แต่ไม่ได้วิเคราะห์ว่าชุมชนจะได้ประโยชน์ หรือใครอยู่ หรือมีการใช้แม่น้ำยังไง ทั้งหมดนี้ไม่มีการวิเคราะห์ ไม่มีกระทั่งว่าชุมชนนี้มีคนอยู่เท่าไหร่ อีกทั้งในวันที่ประชุมแผนแม่บทก็ไม่มีรายละเอียดมาชี้แจง จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมแผนแม่บทเปิดเผยไม่ได้ ทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์ของ กทม. โดยที่ไม่มีที่มาที่ไปในการวิเคราะห์ถึงแผนแม่บท”

การท่องเที่ยว ต้องรักษา”ราก”วัฒนธรรม

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี

ด้านนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นักธุรกิจผู้บริหารโรงแรม กล่าวว่าการท่องเที่ยวทุกวันนี้ รัฐบาลทำต้องควบคู่ไปกับประชาชน ธุรกิจต้องดูแลสิ่งแวดล้อม การบริหารเพื่อความยั่งยืน การทำธุรกิจต้องพัฒนาชุมชนรอบข้างด้วยถึงจะยั่งยืนได้

“เศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรม วัฒนธรรมของเราเป็นต้นทุนของประเทศ วัดวาอารามเราสวยงามล้ำค่ามาก เราต้องพัฒนาให้เพิ่มค่า การท่องเที่ยวขับเคลื่อนทุกอย่างของประเทศได้ c]tการท่องเที่ยวกระจายรายได้สู่ชนบท โครงการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยานักธุรกิจก็เห็นด้วย แต่ทำไมต้องทำถนนแนวดิ่งก่อน เราพัฒนาชุมชนก่อนได้ไหม ประโยชน์ 8,000 ล้านที่ลงทุนไปใครจะได้ เศรษฐกิจก็ไม่เห็นดีขึ้น นักธุรกิจหลายคนก็บอกว่า 57 กิโลเมตร ไม่เกิดหรอก ในเชิงของท่องเที่ยว เราต้องรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของแม่น้ำเจ้าพระไว้”

รัฐทำเพื่อสนองรัฐบาลเอง

นายยศพล บุญสม ผู้แทนจากเครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ กล่าวว่า รัฐบาลคิดว่าชุมชนที่อยู่ริมน้ำจะจัดระเบียบการสร้างทางเรียบได้ จัดการคนไม่ให้บุกรุกเข้ามาในแม่น้ำได้ ซึ่งการพัฒนาแบบเก่านี้ เรากำลังทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือเปล่า เงินงบประมาณก้อนแรกจาก 14,000 ล้านเหลือ 8,000 ล้าน ถ้ามองแบบง่าย คือ ทางด่วนในแม่น้ำ หลายคนบอกจะได้เหมือนต่างประเทศ แต่สิ่งที่ตนทักท้วงมีอยู่ 3 ประเด็นคือ นโยบาย กระบวนการ และรูปแบบ

นายยศพล บุญสม

“โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา พอนโยบายมันล็อค ชุมชนที่อยู่ริมน้ำก็ไม่มีทางเลือก เพราะว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจแล้ว ทีนี้ลองดูว่าธุรกิจที่อยู่ริมน้ำ ทรัพยากรต้นทุนริมฝั่งแม่น้ำ กระแสน้ำมันจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน จนทำให้แม่น้ำตื้นเขิน ต้องเสียงบประมาณในการลอกตระกอน”

นายยศพลกล่าวต่อว่าสามอันดับที่คนอยากจะทำก่อนคือ ทำความสะอาดกำจัดน้ำเสีย พัฒนาพื้นที่สีเขียว พัฒนาชุมชน ทางเลียบแม่น้ำเป็นสิ่งสุดท้ายที่ประชาชนจะเลือก รัฐควรศึกษาว่ากำลังจะทำเพื่อใครก่อน จะเห็นได้ว่าแต่ละพื้นที่ มีความจำเป็นในการพัฒนาที่แตกต่างกัน และท้ายที่สุดขอสรุปว่า ทุกคนอยู่ในช่วงที่จะเลือกว่า จะเอาทางเรียบหรือพัฒนาชุมชน พัฒนาสิ่งแวดล้อม แต่ทุกวันนี้ที่รัฐบาลกำลังทำเพื่อตอบสนองรัฐบาลเอง ไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองของประชาชน ทั้งหมดนี้ถ้าทำได้จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง