ThaiPublica > คอลัมน์ > คนรวยหรือคนจนมีพฤติกรรมเอื้อสังคมมากกว่ากัน?

คนรวยหรือคนจนมีพฤติกรรมเอื้อสังคมมากกว่ากัน?

18 กรกฎาคม 2017


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ : http://www.settakid.com/
นี่เป็นคำถามที่กำลังถกเถียงกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งมักเป็นบ่อเกิดแห่งความเชื่อและอคติที่ไม่ได้มีข้อมูลรองรับเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนที่อยู่คนละฐานะกันกับตัวเรา เช่น คนรวยมองว่าคนจนไม่ทำประโยชน์ให้สังคม หรือ คนจนมองคนรวยว่าเอาเปรียบผู้อื่นและเห็นแก่ตัว

การทดลองภาคสนามในเนเธอร์แลนด์โดยทีมนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการให้และการช่วยเหลือผู้อื่น พบว่าจากการทดลอง “ตั้งใจส่งจดหมายผิดบ้านแล้วดูว่าใครจะใจดีพอที่จะส่งคืน” พฤติกรรมเอื้อสังคมระหว่างคนรวยกับคนจนไม่ได้มีความแตกต่างกันนักถ้าเราคำนึงว่าคนจนต้องฝ่าฟันความกดดันและเครียดทางการเงิน

ในบทความนี้ผู้เขียนจะมาสรุปงานวิจัยนี้ให้อ่านกันแบบง่ายๆ เนื่องจากนอกจากมันจะมีผลลัพธ์ที่น่าคิดแล้ว มันยังแยกแยะได้ด้วยว่าหากคนรวยกับคนจนมีพฤติกรรมเอื้อสังคมที่แตกต่างกันจริงๆ มันมาจากความเป็นตัวตนและความพึงพอใจทางสังคมของเขาแบบเพียวๆ (social preference) แค่ไหน และมาจากการที่แค่จำนวนเงินในบัญชีธนาคารที่แตกต่างกันระหว่างคนสองกลุ่มนี้แค่ไหน

ที่ประเด็นนี้สำคัญ และควรมีการทดลองเป็นเรื่องเป็นราว เป็นเพราะว่าหลายครั้งหลายคราในการศึกษาเรื่องนี้ ผลลัพธ์อาจถูกบิดเบือนเนื่องจากแรงจูงใจในการเอื้อสังคม (ช่วยผู้อื่น จ่ายภาษี ไม่ลักขโมย ฯลฯ) มักเปลี่ยนไปเมื่อคนเรามีเงินเพิ่มขึ้นหรือลดลง ที่เคยพบว่าคนรวยชอบหนีภาษีมากกว่าคนจน หรือ คนรวยไม่ค่อยเบี้ยวค่าปรับเวลาได้ใบสั่งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าคนรวยมีแรงจูงใจให้หนีภาษีมากกว่าคนจน (เนื่องจาก อัตราภาษีส่วนเพิ่ม หรือ marginal tax rate สูงกว่า) และมีแรงจูงใจให้จ่ายค่าปรับมากกว่า (เนื่องจากเงินก้อนที่เป็นค่าปรับมันกระทบความสุขของเขาน้อยกว่ากระทบความสุขของคนจน)

พูดง่ายๆ ก็คือการทดลองในงานวิจัยชิ้นนี้ดีไซน์มาเพื่อให้เราสามารถพูดได้ว่า ถ้า “สลับร่างสร้างทรัพย์”คนรวยกับคนจนแล้ว พวกเขาจะยังมีพฤติกรรมเอื้อสังคมเหมือนเดิมก่อนจะสลับร่างกัน ไม่ถูกกระทบโดยความเปลี่ยนแปลงของจำนวนเงินในกระเป๋าสตางค์

การทดลอง “ส่งจดหมายพลาด”

นักวิจัยตั้งใจทำจดหมายซองบางๆ ที่พอจะมองเห็นว่าข้างในมีข้อความว่าปู่กำลังส่งเงินมาให้หลาน โดยมีการแนบเงินสดหรือ bank transfer card จากนั้นก็ตั้งใจ “ส่งจดหมายพลาด” ไม่ได้ส่งไปให้หลานคนนี้ แต่ส่งไปยังบ้านที่มีความร่ำรวยแตกต่างกันเพื่อทำให้ดูเหมือนว่าไปรษณีย์ส่งพลาด แล้วก็คอยดูว่าอัตราที่จดหมายเหล่านั้นจะถูกส่งกลับไปยังที่อยู่ที่ถูกต้องของหลานคนนี้ (จ่าหน้าไว้แล้ว) จะแตกต่างกันไหมระหว่างบ้านที่ร่ำรวยและบ้านที่ยากจน

นั่นคือ เรามองว่าการเสียสละเวลาเอาจดหมายที่ส่งพลาดมาที่บ้านไปหย่อนในตู้ไปรษณีย์เพื่อส่งคืน (โดยไม่อุ๊บอิ๊บเก็บเงินสดไว้เองหรือขี้เกียจส่งคืนให้) ถือเป็นพฤติกรรมเอื้อสังคมอย่างหนึ่ง

โดยการส่งจดหมายพลาดนี้ก็พยายามทำให้เนียนที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือไปส่งเฉพาะในช่วงเวลาที่บุรุษไปรษณีย์มักมาส่ง แถมยังใส่ชุดพนักงานเวลามาส่งด้วยเผื่อถูกพบเข้า อีกทั้งก็ยังต้องทดลองดูว่าหากจดหมาย “ซีทรู” แบบนี้ถูกหย่อนลงไปในตู้ไปรษณีย์ บุรุษไปรษณีย์เขาจะส่งไปยังบ้านของหลานคนนี้จริงๆ ไหม พบว่าใน 85 ซองที่ส่งเพื่อทดลอง มีอยู่แค่ 1 ซองที่ถูกส่งกลับมาแต่เงินหายไป! ทางนักวิจัยจึงคิดว่าความซื่อสัตย์ของบุรุษไปรษณีย์อยู่ในระดับที่พอไหว

ส่วนการเลือกว่าบ้านไหนร่ำรวยหรือยากจน ทำโดยการเข้าไปดูในเว็บไซต์ขายบ้านเพื่อเสาะหาทำเลที่บ้านมักมีราคาแพงเพื่อประกอบเป็นกลุ่มตัวอย่างบ้านร่ำรวย และไปขอที่อยู่บ้านที่ยากจนจากองค์กรที่ให้ที่อยู่กับผู้ยากไร้เพื่อประกอบเป็นกลุ่มตัวอย่างบ้านยากจน

จากนั้นก็แบ่งจดหมายเป็น 4 แบบ 1) แนบเงินสด 5 ยูโร 2) แนบเงินสด 10 ยูโร 3) แนบ bank transfer card 5 ยูโร 4) แนบ bank transfer card 10 ยูโร สำหรับแต่ละแบบก็ส่ง 45 ซองไปที่กลุ่มบ้านร่ำรวย อีก 45 ซองไปที่กลุ่มบ้านยากจน รวมแล้วเป็น 90 ซองต่อแบบ หรือ 360 ซองสำหรับทั้งหมด

โดยรวมแล้วคนรวยส่งคืนถี่กว่า…แต่ไม่ใช่เพราะเอื้อเฟื้อกว่า

ผลลัพธ์แรกคือ ถ้าเทียบอัตราส่งจดหมายคืนแบบดื้อๆ จะพบว่าคนรวยส่งจดหมายคืนมากกว่าคนจนถึง 2 เท่า คนรวยส่งคืนร้อยละ 81 เทียบกับคนจนที่ส่งคืนแค่ร้อยละ 38

และหากเทียบระหว่างอัตราส่งคืนซองที่มี bank transfer card (ซึ่งไม่มีค่าหากไม่ได้เขียนชื่อคุณเป็นผู้รับ) กับซองที่มีเงินสด จะพบว่าคนจนส่งซองที่มีเงินสดคืนน้อยกว่าการส่งซอง bank transfer card คืนถึง 42% ในขณะคนรวยส่งคืนน้อยลงแค่ 10% ผลทั้งหมดนี้ยังคงเดิมแม้ว่าจะคำนึงถึงตัวแปรอื่นๆ เช่น ระยะห่างจากบ้านถึงตู้ไปรษณีย์ที่ใกล้ที่สุดแล้ว

แต่ทว่าผลลัพธ์เหล่านี้บอกไม่ได้ว่าความแตกต่างของพฤติกรรมเอื้อสังคมเกิดจากปัจจัยอะไร อาจจะเป็นความเอื้อเฟื้อที่แตกต่างกัน หรือ มาจากความแตกต่างในชีวิตที่มาจากการที่คนเรามีเงินจำนวนไม่เท่ากัน

เพราะฉะนั้นนักวิจัยกลุ่มนี้จึงคิดวิธีแยกวัดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (altruism) ออกจากปัจจัยอื่นๆ ที่น่าจะกระทบพฤติกรรมการส่งจดหมายคืน เช่น ผลประโยชน์จากการอุ๊บอิ๊บจดหมายไว้เอง (ซึ่งมาจากมูลค่าของเงินสดในจดหมาย หรือ เป็นศูนย์ในกรณี bank transfer card) และ ความกดดันทางการเงินที่อาจทำให้เราใส่ใจเรื่องของผู้อื่นน้อยลงเมื่อถูกกดดันมากขึ้น

หากพูดด้วยภาษาคณิตศาสตร์ก็คือ คนเราจะส่งจดหมายคืนให้ผู้อื่นก็ต่อเมื่อความเอื้อเฟื้อในจิตใจมันมากกว่าผลประโยชน์ทางโลกต่อตัวเองและความกดดันทางการเงินรวมกัน ความกดดันทางการเงินนี้ทางนักวิจัยวัดว่าในวันที่จดหมายส่งไปยังบ้านเหล่านี้นั้นมันผ่านมาแล้วกี่อาทิตย์หลังจากที่พวกเขาได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลหรือได้เงินเดือน โดยเขาสันนิษฐานว่ายิ่งเวลาผ่านไปนาน คนเรายิ่งน่าจะมีความกดดันทางการเงินมากขึ้น จนอาจสนใจผลประโยชน์ของผู้อื่นน้อยลง

ซึ่งเมื่อคำนึงถึงความกดดันทางการเงินแล้ว นักวิจัยพบว่าความเอื้อเฟื้อระหว่างคนรวยและคนจนไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย แต่ที่คนจนส่งคืนน้อยกว่าคนรวยเป็นเพราะว่าผลประโยชน์ที่พวกเขาได้จากการอุ๊บอิ๊บซองเงินสดมันสูงกว่าผลประโยชน์ที่คนรวยได้รับ (เงิน 5 ยูโรเท่ากัน แต่ความหมายของมันต่อแต่ละคนมันไม่เท่ากัน) และคนจนยังต้องเจอกับความกดดันทางการเงินมากกว่า ทั้งหมดนี้ทดสอบหรือคำนึงแล้วด้วยว่าไม่เกี่ยวกับการที่คนรวยกับคนจนอาจจะเช็คตู้จดหมายบ่อยไม่เท่ากัน หรืออาจไม่ทราบว่าส่งคืนด้วยวิธีไหนดีที่สุด และไม่เกี่ยวกับว่าผู้ได้รับจดหมายคิดว่าหลานคนนี้รวยหรือจนกว่าตัวเอง

นั่นก็คือ ถ้าเราเชื่อในผลการทดลองนี้ ไม่ว่าจะรวยหรือจน คนเรามีความเอื้อเฟื้อหรือมีความสามารถในการ “เป็น” คนเอื้อเฟื้อได้พอๆ กัน เพียงแต่คนจนมีโอกาส “แสดง” พฤติกรรมเอื้อสังคมได้น้อยกว่าเนื่องด้วยความกดดันทางการเงินที่รุมล้อมชีวิตเขา

จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่ามันจะเป็นเช่นนี้จริงไหมในพฤติกรรมเอื้อสังคมรูปแบบอื่นนอกจากการส่งจดหมายคืน หรือในสังคมอื่นนอกจากในย่านชนชั้นกลางประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นสถานที่ของการทดลองครั้งนี้ แต่ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นหลักฐานที่ว่าความกดดันทางการเงินมันทำให้คนเราที่มีความเอื้อเฟื้อพอๆ กัน (อย่างน้อยก็ในงานวิจัยนี้) แสดงพฤติกรรมเอื้อสังคมได้น้อยลง

เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สังคมควรหาวิธีลดความยากจนนะครับ

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.comครับ

อ้างอิง:
Andreoni, James, Nikos Nikiforakis, and Jan Stoop. Are the rich more selfish than the poor, or do they just have more money? A natural field experiment. No. w23229. National Bureau of Economic Research, 2017.
http://econweb.ucsd.edu/~jandreon/WorkingPapers/AndreoniNikiforakisStoop2017.pdf