ThaiPublica > เกาะกระแส > ยุคที่คนจะอายุยืนถึง 100 ปี ทำให้ต้องวางแผนใหม่ กับวงจรชีวิต 3 ช่วง คือ การศึกษา-การทำงาน-การเกษียณ

ยุคที่คนจะอายุยืนถึง 100 ปี ทำให้ต้องวางแผนใหม่ กับวงจรชีวิต 3 ช่วง คือ การศึกษา-การทำงาน-การเกษียณ

28 กรกฎาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นายชิเกอากิ ฮิโนฮารา ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/shigeaki.hinohara

เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษรายงานข่าวว่า ญี่ปุ่นกำลังพัฒนารวดเร็วมากสู่สังคมคนสูงอายุ ในอีก 50 ปีข้างหน้า คาดว่าประชากรญี่ปุ่นจะลดลงจาก 127 ล้านคนในปี 2015 มาเหลือ 88 ล้านคนในปี 2065 ส่วนคนญี่ปุ่นที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีสัดส่วนเพิ่มจาก 27% เป็น 38% อายุเฉลี่ยของผู้ชายจะอยู่ที่ 84.95 ปี ส่วนผู้หญิงที่ 91.35 ปี ทำให้วงการแพทย์ของญี่ปุ่นกำลังรณรงค์ให้คำว่า ราษฎรอาวุโสหรือคนแก่ หมายถึงคนที่มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป

นายชิเกอากิ ฮิโนฮารา (Shigeaki Hinohara) ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์ โรงพยาบาล St Luke’s International ในโตเกียว แม้จะมีอายุ 100 ปีแล้ว ก็ยังทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้ เขาเป็นคนมีชื่อเสียงในญี่ปุ่น ที่สนับสนุนให้คนสูงอายุยังคงมีบทบาทในอาชีพการงานต่อไป ฮิโนฮาราเพิ่งจะเสียชีวิตเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อมีอายุ 104 ปี เขาเป็นหนึ่งในคนญี่ปุ่นที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ในปี 2016 มีทั้งหมด 65,692 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์

“คนแก่ที่ยังหนุ่ม”

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นิตยสาร Economist ก็ทำรายงานพิเศษเรื่อง เศรษฐศาสตร์ของการมีอายุยืนนานโดยกล่าวว่า การที่คนมีอายุยืนมากขึ้น มักจะถูกมองการณ์ว่าเป็นเรื่องในแง่ร้าย เพราะสังคมมีความคิดพื้นฐานแบบเดิมๆ ที่ว่า เมื่อคนมีอายุ 65 ปีไปแล้ว จะเปลี่ยนจากคนที่เคยเป็นฝ่ายให้สุทธิทางเศรษฐกิจ มาเป็นผู้รับประโยชน์แทน กลายเป็นคนที่สร้างภาระแก่สังคม ทุกวันนี้ ในประเทศพัฒนาแล้ว คน 90% ฉลองครบรอบวันเกิดปีที่ 65 และส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพดี แต่อายุ 65 ปียังยึดถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคนสูงอายุ

ที่มาภาพ : ภาพจาก global-economic-symposium.org

ตลาดแรงงานและระบบสวัสดิการต่างๆ ล้วนตั้งบนหลักเกณฑ์ที่คนเรามีอายุครบ 60 หรือ 65 สิ่งนี้สะท้อนถึงหลักเกณฑ์ของสังคมและตลาดแรงงาน ที่ก้าวไม่ทันกับความเป็นจริง ที่ชีวิตคนเรามีอายุยืนมากขึ้น และมีความสามารถทำงานได้ยาวนานมากขึ้น จริงๆ แล้ว กลุ่มคนที่ Economist เรียกว่า “คนแก่ที่ยังหนุ่ม” (The Young Old) ค่อนข้างจะมีสุขภาพดี ยังคงทำงานตามปกติอยู่ และยังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจแก่สังคม ทั้งในแง่ผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ความคิดเก่าๆ เดิมๆ เรื่อง วงจรชีวิต 3 ขั้นตอน ที่ประกอบด้วย การศึกษา-การทำงาน-การเกษียณ ยังฝังแน่นอยู่ ทำให้นายจ้างปิดโอกาสแก่คนเหล่านี้ ส่วนธุรกิจและสถาบันการเงินก็ไม่ค่อยสนองความต้องการคนกลุ่มนี้

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า การกำหนดวงจรชีวิตแบบใหม่ขึ้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างลุ่มลึกในหลายๆ ด้าน การให้ความสำคัญต่อเด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดกฎหมายการคุ้มครองเด็ก การศึกษาภาคบังคับ และธุรกิจใหม่ๆ ตั้งแต่ของเล่นเด็กไปจนถึงหนังสือเด็ก เพราะฉะนั้น การแบ่งขั้นตอนต่างๆ ของชีวิตคนเรา จึงเกิดขึ้นหรือสร้างขึ้นมาจากความคิดของสังคม และขั้นตอนชีวิตที่ถูกจัดแบ่งนี้ ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจแท้จริงด้วย

งานอาชีพกับอายุยืน 100 ปี

หนังสือชื่อ The 100-Year Life ผู้เขียนคือ Lynda Gratton และ Andrew Scott กล่าวว่า เนื่องจากคนทั่วไปจะมีอายุยืนมากขึ้น และก็ต้องทำงานเป็นระยะเวลาที่นานมากขึ้น เพื่อให้มีรายได้สำหรับชีวิตที่ยืนยาวดังกล่าว แต่อาชีพการงานในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การจะเลือกอาชีพการงานได้ถูกต้อง เพื่อรองรับมีชีวิตที่อายุยืนมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอาชีพการงานในอนาคต การมองเห็นหน้าที่การงานในอนาคตจึงมีความสำคัญต่อการมีชีวิตที่ยืนยาว

หนังสือที่กล่าวว่า การมีอายุยืนของคนเราจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน เหมือนกับผลกระทบของโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยี ที่มาภาพ : http://www.100yearlife.com/

นักวิเคราะห์หลายคนคาดหมายว่า รูปแบบบริษัทที่คนเราจะทำงานในอนาคต จะเปลี่ยนไป เศรษฐกิจในยุคของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นยุคที่ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และเป็นงานในสำนักงาน แต่ธุรกิจในรูปแบบบริษัทขนาดใหญ่กำลังตกต่ำลงและพ่ายแพ้ต่อบริษัทเล็กๆ ที่รายล้อมบริษัทใหญ่ๆ เทคโนโลยีทำให้บริษัทเล็กๆ มีความคล่องตัวกว่าบริษัทใหญ่ อย่างเช่น นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า เทคโนโลยี 3D Printing จะทำให้บริษัทขนาดใหญ่ไม่มีความได้เปรียบทางธุรกิจอีกต่อไป จากเดิมที่เคยอาศัยความได้เปรียบจากปริมาณการผลิตจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ

ในอนาคต บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ยังดำเนินธุรกิจอยู่ตามปกติ เช่น บริษัทน้ำอัดลม Pepsi หรือบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค Unilever แต่ก็มีบริษัทอย่าง Google หรือ Roche ที่มีเงินทุนมหาศาล ที่จะดึงคนเก่งที่สุดมาทำงาน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นต่อไป หรือยารักษาโรคใหม่ๆ ขึ้นมา

แต่ธุรกิจในอนาคต บริษัทขนาดใหญ่จะถูกรายล้อมด้วยบริษัทเล็กๆ หรือบริษัทสตาร์ทอัป ที่ต้องการคนทำงานที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน อย่างเช่น Samsung มีระบบธุรกิจที่รายล้อมด้วยบริษัทพันธมิตรขนาดเล็กๆ จำนวนหลายร้อยบริษัท รูปแบบธุรกิจของบริษัทขนาดเล็กดังกล่าว จะสร้างโอกาสการจ้างงานที่หลากหลาย จะเป็นการจ้างงานแบบเน้นความชำนาญการเฉพาะ และการจ้างงานจะมีความยืดหยุ่น

วงการแพทย์ญี่ปุ่นกำลังรณรงค์ ให้คนอายุ 75 ปีขึ้นไป เป็นคนสูงอายุ ที่มาภาพ : weforum.org

รูปแบบของเศรษฐกิจในอนาคต จะทำให้คนเรามีทางเลือกที่จะทำงานแบบจ้างงานตัวเอง (self- employment) เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงคนทำงานกับบริษัทที่ต้องการซื้อทักษะของคนคนนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น มีขอบเขตทั่วโลก และมีราคาถูกลง แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงดังกล่าวกำลังแพร่หลายมากขึ้น นำไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า Gig Economy และ Sharing Economy ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ต้นทุนการประมวลข้อมูลถูกลง ทำให้คนซื้อและคนขายมาพบกันง่ายขึ้น รวมทั้งช่วยระบุความน่าเชื่อถือและคุณภาพของแต่ละฝ่าย

Gig Economy หมายถึงเศรษฐกิจที่คนเป็นจำนวนมากมีรายได้ ที่ไม่ใช่จากการทำงานเต็มเวลาหรือบางเวลา แต่จากการทำงานเฉพาะอย่างให้กับคนซื้อที่หลากหลาย เช่น ทุกวันนี้ คนเราสามารถขายความเชี่ยวชาญของตัวเองผ่านแพลตฟอร์ม Upwork บริษัทที่เป็นตัวกลางให้ลูกค้าพบกับพวกมืออาชีพอิสระในสาขาต่างๆ บริษัทขนาดใหญ่เองก็ใช้วิธีการนี้ เพื่อมองหาคนที่มีความสามารถมาทำงานเฉพาะกิจมากขึ้น ส่วน Sharing Economy คือธุรกรรมที่เป็นแหล่งรายได้แบบยืดหยุ่น เช่น การหาลูกค้ามาเช่าที่พักผ่าน Airbnb
เงินทุนเพื่ออายุที่ยืนยาว

นิตยสาร Economist กล่าวว่า ในกลุ่มประเทศ OECD คนที่เกษียณมีอายุ 65 ปีขึ้นไป อาศัยเงินบำนาญจากรัฐ ในสหรัฐฯ และอังกฤษ คนเกษียณได้รับบำนาญประมาณ 40% ของรายได้สุดท้าย ส่วนบางประเทศในยุโรป สูงถึง 80% นอกจากนี้ ลูกจ้างที่เกษียณยังอาศัยเงินบำนาญเสริมจากโครงการบำนาญเอกชน ที่ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบ และรับบำนาญหลังเกษียณ ในเนเธอร์แลนด์ ระบบบำนาญเอกชนมีอยู่ 4 แบบ คือ กองทุนบำนาญทั่วไป กองทุนบำนาญบริษัท กองทุนบำนาญอาชีพอิสระ และกองทุนบำนาญคนจ้างงานตัวเอง

ระบบบำนาญหลังเกษียณตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดของวงจรชีวิตแบบเก่า ที่คนเกษียณเมื่ออายุ 65 ปี เมื่อคนมีอายุยืนมากขึ้น ระบบบำนาญรัฐจึงสร้างภาระทางการเงินแก่รัฐ ส่วนระบบโครงการบำนาญเอกชน ลูกจ้างเก็บออมน้อยไปในช่วงการทำงาน เพราะเหตุนี้ เมื่อคนมีอายุยืนมากขึ้น ธุรกิจการเงินจึงต้องหาทางมีนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะกับสินทรัพย์ของคนเกษียณ เพื่อให้คนสูงอายุเหล่านี้ สามารถมีรายได้มากขึ้นจากสินทรัพย์เหล่านี้ เช่น บ้านพักอาศัย เป็นต้น

คนจำนวนมากไม่ได้มีเงินออมเก็บพอเมื่อเกษียณ ในสหรัฐฯ 40% ของคนอเมริกันไม่มีเงินเก็บเมื่อเกษียณ คนอังกฤษที่มีอายุระหว่าง 55-65 ปี ผู้หญิง 20% ไม่มีเงินเก็บเพื่อเกษียณ ส่วนผู้ชาย 12% แต่ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความคิด คือคนบางส่วนประเมินต่ำไปว่า ตัวเองจะมีอายุยืนไม่มาก และประเมินสูงไปว่าเงินเก็บของตัวเองจะใช้ไปได้นาน ในอนาคตที่คนมีอายุยืนมากขึ้น คนจะทำงานแบบจ้างงานตัวเองมากขึ้น เช่น ขับรถแท็กซี่ Uber การทำให้คนกลุ่มนี้มีเงินเก็บออมมากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ รัฐและเอกชนอาจมีโครงการการเงินแบบเดียวกับกองทุนบำนาญสำหรับคนจ้างงานตัวเองของเนเธอร์แลนด์

ที่มาภาพ : https://www.weforum.org/agenda/2017/01/what-would-your-80-year-old-self-say/

การปันผลเศรษฐกิจจากอายุยืน

นิตยสาร Economist กล่าวว่า สังคมจะได้ประโยชน์จากสภาพที่ประชาชนมีอายุยืนมากขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า สังคมจะใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้อย่างไร ในต้นทศวรรษ 2000 ผู้ชายอเมริกันอายุ 69 ปี รู้สึกว่าตัวเองมีสุขภาพดีเหมือนกับคนอายุ 60 ปี ในทศวรรษ 1970 เพราะฉะนั้น คนมีอายุ 70 ปี ก็เหมือนกับคนอายุ 60 แบบใหม่ หากนายจ้างและธุรกิจต่างๆ ปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากคนสูงวัยเหล่านี้ จะเกิดการปันผลทางเศรษฐกิจจากการมีอายุยืน แบบเดียวกับการปันผลทางเพศที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 เมื่อผู้หญิงจำนวนมากเข้าสู่ตลาดแรงงาน

สังคมที่คนอายุยืนมากขึ้น ทำให้วงจรชีวิตแบบเดิม เช่นเกษียณเมื่ออายุ 60 หรือ 65 ปี ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่มาภาพ : independent.co.uk

ส่วนหนังสือ The 100-Year Life กล่าวว่า การมีชีวิตที่ยืนยาวนานมากขึ้น จำเป็นที่เราแต่ละคนต้องมีการออกแบบชีวิตใหม่ในระดับพื้นฐาน และการปรับโครงสร้างของช่วงเวลาการมีชีวิต ซึ่งจะทำให้การมีอายุยืนไม่ใช่สิ่งที่เป็นภาระ แต่จะกลายเป็นของขวัญชีวิต คนที่ชีวิตมีอายุยืนยาวจะต้องมองว่า อายุที่ยืนยาวนี้คือ การเดินทางแบบต่อเนื่องกันทั้งหมด (whole journey) ที่จะตัวกำหนดวิถีชีวิตของเรา และเราจะต้องเผชิญหน้ากับคำถามที่ว่า “การเดินทางนี้จะมีรูปแบบใด” และ “อะไรคือสิ่งสำคัญของการเดินทางครั้งนี้” คำตอบต่อคำถามนี้จะมาจากสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเรา

เอกลักษณ์คือสิ่งที่จะยึดโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของเราแต่ละคน ในวงจรชีวิตแบบเดิม 3 ขั้นตอน คือ การศึกษา-การทำงาน-การเกษียณ การเชื่อมต่อของแต่ละช่วงชีวิต เป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ง่าย อาชีพการงานให้ความมั่นคงทางการเงิน ทำให้คนเราสามารถใช้ชีวิตเกษียณที่มีกิจกรรมในยามว่างต่างๆ แต่ชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น ทำให้คนเราถูกบังคับให้ออกจากวงจรชีวิต 3 ขั้นตอนเดิมๆ ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำงาน หรือการเกษียณ

การเรียนรู้และการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตที่อายุยืนมากขึ้น ทำให้คนจำนวนมากจะมีการศึกษาและเรียนรู้มากขึ้น ใช้เวลามากขึ้นในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย มีการฝึกอบรมด้านวิชาชีพมากขึ้น การศึกษาที่มากขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงต้นๆ ของชีวิตเท่านั้น แต่จะเป็นการลงทุนแบบจริงจังในช่วงหลังๆ ของชีวิตอีกด้วย เพราะคนต้องเรียนรู้วิชาการเฉพาะด้านใหม่ๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนไป

สังคมที่คนมีอายุยืนยาวมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของคนเรา เหมือนกับผลกระทบของโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยี ที่มีต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของเราทุกคน คนแต่ละคนจะต้องคิดเตรียมการในเรื่องนี้ ที่รวมถึงการเตรียมการขององค์กรธุรกิจและภาครัฐ เพื่อให้ทุกส่วนของสังคม ได้ประโยชน์จากการมีอายุยืนของคนในสังคม

เอกสารประกอบ

The Economics of Longevity. The Economist, July 8, 2017.
Lynda Gratton and Andrew Scott. The 100-Year Life, Bloomsbury, 2016.