ThaiPublica > เกาะกระแส > สงครามในยุคสมัยของ “โดรน” (Drone) ปัญหาจริยธรรมกับอาวุธสังหารไฮเทค

สงครามในยุคสมัยของ “โดรน” (Drone) ปัญหาจริยธรรมกับอาวุธสังหารไฮเทค

23 กรกฎาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ภาพยนตร์ Eye in the Sky สะท้อนปัญหาจริยธรรมของการสังหารผู้ก่อการร้ายโดยเครื่องโดรน
ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/File:Eye_in_the_Sky_2015

ภาพยนตร์ Eye in the Sky ที่ออกฉายในปี 2015 เป็นเรื่องราวของพันโทหญิงของกองทัพอังกฤษ ชื่อ แคเธอรีน เพาเวลล์ ที่มีหน้าที่ติดตามกลุ่มก่อการร้าย อัล-ชาบับ (al-Shabab) ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในแถบในแอฟริกาตะวันออก เช่น โซมาเลีย เธอทำหน้าที่ในหน่วยปฏิบัติการลับสุดของโครงการ “โดรน” (Drone) หรือเครื่องอากาศยานไร้คนขับของกองทัพอังกฤษ โดยประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการโดรนของสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งอยู่ในรัฐเนวาดา

สายลับในเคนยารายงานว่า หัวหน้ากลุ่มอัล-ชาบับที่เป็นสตรีชาวอังกฤษและสามี ปรากฏตัวในบ้านหลังหนึ่งในเมืองไนโรบี นครหลวงของเคนยา กลุ่มก่อการร้ายกำลังเตรียมปฏิบัติการระเบิดพลีชีพโดยใช้เด็กหนุ่ม 2 คน ทำให้แผนที่จะจับตัวผู้ก่อการร้ายต้องเปลี่ยนมาเป็นการสังหารด้วยโดรนแทน ก่อนที่เจ้าหน้าสหรัฐฯ ในศูนย์ปฏิบัติการโดรน จะกดปุ่มโจมตีกลุ่มก่อการร้ายด้วยขีปนาวุธจากโดรน ก็มีเด็กหญิงมุสลิมคนหนึ่ง นำขนมปังมาวางขายที่โต๊ะ ตั้งอยู่ติดกับกำแพงบ้านของผู้ก่อการร้าย

ภาพยนตร์ Eye in the Sky สะท้อนปัญหาสำคัญหลายอย่างของการทำสงครามในปัจจุบัน ที่อาศัยการโจมตีด้วยเครื่องบินแบบโดรน โดยเฉพาะปัญหาจริยธรรมที่ว่า เพื่อรักษาชีวิตของคนบริสุทธิ์จำนวนมากจากระเบิดพลีชีพ จะต้องโจมตีด้วยโดรนทันทีเลยหรือไม่ กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่กำลังประชุมกันอยู่ในบ้าน แต่การโจมตีดังกล่าว อาจหมายถึงการเสียชีวิตของเด็กหญิงมุสลิมคนหนึ่ง ที่กำลังขายขนมปังข้างบ้านหลังนี้ ปัญหาจริยธรรมก็คือว่า พึงสละชีวิตคนส่วนน้อย เพื่อรักษาชีวิตคนส่วนใหญ่หรือไม่ สหรัฐฯ มักจะประกาศว่า การโจมตีด้วยโดรนมีความแม่นยำสูงต่อเป้าหมาย แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้คำตอบต่อปัญหาจริยธรรมดังกล่าว

เครื่องโดรนประเภทต่างๆ ที่มาภาพ : dw.com

เครื่องโดรนประเภทต่างๆ

คำว่าโดรนหมายถึงอากาศยานที่ไม่มีคนขับอยู่บนเครื่อง กองทัพอากาศสหรัฐฯ เรียกโดรนว่า “เครื่องบินที่ควบคุมจากการขับที่อยู่ห่างไกลออกไป” ในทศวรรษ 1990 โดรนเป็นเครื่องบินแบบตรวจการณ์ทางทหาร หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 สหรัฐฯ เริ่มติดอาวุธให้กับเครื่องโดรนที่เป็นจรวดมีความแม่นยำสูง เครื่องโดรนแบบ Predator ของ CIA ทำการโจมตีและสังหารผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2001 และอีกหนึ่งปีต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2002 เครื่องโดรนของ CIA ก็โจมตีผู้ก่อการร้ายที่เยเมน นับเป็นครั้งแรกที่มีปฏิบัติการของโดรนนอกพื้นที่ประกาศสงคราม

เครื่องบินโดรนเป็นตัวอย่างของแนวโน้มสำคัญ 2 อย่างของเทคโนโลยีทางทหาร คือ อาวุธที่มีความแม่นยำสูงกับหุ่นยนต์ เมื่อ 2 อย่างนี้รวมกัน กลายเป็นอากาศยานไร้คนขับ ที่ขึ้นบินพร้อมกับอาวุธที่แม่นยำสูง โดยไม่มีความเสี่ยงใดๆ ของการสูญเสียนักบิน สหรัฐฯ สามารถต่อสู้กับพวกก่อการร้าย ไม่ว่าพวกนี้จะหลบซ่อนอยู่ที่ไหน แต่โดรนก็ทำให้การทำสงครามมีลักษณะเป็นเกมวิดีโอ ทำให้นักกฎหมายวิตกว่าจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า moral hazard ในเมื่อไม่มีความเสี่ยงต่อชีวิตของทหาร ก็ยิ่งทำให้การโจมตีด้วยโดรนขาดความการรับผิดชอบ

ไม่ว่าจะเครื่องบิน “โดรน” แบบไหนก็ตาม จะมีลักษณะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ การควบคุมเครื่องมาจากจุดที่อยู่ห่างไกลออกไป ส่วนโดรนในแต่ละแบบจะแตกต่างกันในเรื่องขนาดของเครื่อง สมรรถนะ และรัศมีการบิน เป็นต้น นอกจากนี้ เครื่องโดรนก็มีทั้งแบบที่ควบคุมการบินโดยคนและแบบที่บินโดยอาศัยการตั้งโปรแกรม โดรนบางชนิดมีการติดตั้งอาวุธ บางประเภทใช้บินเพื่อตรวจการณ์

องค์กรระหว่างประเทศชื่อ Missile Technology Control Regime (MTCR) ทำหน้าที่กำกับควบคุมเครื่องบินโดรน MTCR ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1987 โดยกลุ่ม G-7 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของอุปกรณ์ใช้บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์และอาวุธทำลายร้างอื่นๆ ที่มีสมรรถนะการบรรทุกตั้งแต่ 500 กิโลกรัม และรัศมีทำการ 300 กิโลเมตร ปัจจุบันมี 35 ประเทศที่เป็นสมาชิก MTCR

MTCR แบ่งเครื่องโดรนออกเป็นประเภทต่างๆ เครื่องโดรนใน Category 1 มีสมรรถนะการบรรทุกมากกว่า 1,102 ปอนด์ และรัศมีการบินมากกว่า 186 ไมล์ เครื่องโดรนของสหรัฐฯ แบบ Global Hawk, Predator และ Reaper จัดอยู่ใน Category 1 เพราะมีความสามารถทางยุทธศาสตร์ การส่งออกถูกควบคุมเข้มงวดมาก และต้องได้รับใบอนุญาต โดรนใน Category 2 จะมีสมรรถนะและรัศมีการบินต่ำกว่ากลุ่มแรก การส่งออกถูกควบคุมและเข้มงวดน้อยกว่า เพราะมีความสามารถแค่ด้านยุทธวิธี ส่วนเครื่องโดรนแบบจิ๋ว หรือ Mini-drone ไม่อยู่ในการควบคุมของ MTCR บริษัทผู้ผลิตสามารถส่งออกอย่างเสรี

ที่มาภาพ : dw.com

เครื่องโดรนทางทหาร

เว็บไซด์ข่าว dw.com ได้ทำบทรายงานเรื่อง คู่มือเกี่ยวกับเครื่องบินโดรนทางทหาร โดยกล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารเห็นตรงกันว่า เครื่องโดรนคือการทำสงครามในอนาคต ปัจจุบัน กองทัพของ 90 ประเทศในโลก มีเครื่องโดรนทางทหารประจำการอยู่ แต่มีเพียง 11 ประเทศเท่านั้น ที่มีเครื่องโดรนที่สามารถติดตั้งอาวุธ

เครื่องโดรนแบบมินิอย่างเช่น Black Hornet ที่มีขนาดใหญ่กว่าแมลงปอ ถูกนำมาใช้ในการรบเมื่อหลายปีมาแล้ว ทหารอังกฤษใช้เครื่องโดรน Black Hornet เป็นสายลับ บินสอดแนมดูบริเวณบ้านคนในอัฟกานิสถาน เครื่องโดรน Black Hornet ผลิตโดยบริษัทนอร์เวย์ชื่อ Prox Dynamics สามารถบินได้นาน 25 นาที อุปกรณ์ควบคุมทำให้บินได้ในรัศมี 1.6 กม. ราคาเครื่องละ 40,000 ดอลลาร์ รุ่นล่าสุดมีการติดตั้งกล้องดูภาพเวลากลางคืน

เครื่องบินโดรนทางทหารส่วนใหญ่เป็นเครื่องขนาดกลางและรัศมีการบินระยะกลาง ผู้เชี่ยวชาญทหารกล่าวว่า ปฏิบัติการบินของโดรนขนาดกลางจะมีเป้าหมายที่การสอดแนม หาข่าว และการเฝ้าติดตามเป้าหมายเฉพาะ เช่น เครื่องโดรนแบบ Heron ที่สร้างขึ้นโดยบริษัทอิสราเอลชื่อ Israeli Aerospace Industries (IAI) โดรน Heron มีน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ปีกยาว 16 เมตร สามารถบินได้นาน 52 ชั่วโมง ที่ความสูง 10,000 เมตร คือระดับเดียวกับเครื่องบินโดยสาร ลูกค้าของ Heron ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย แคนาดา และออสเตรเลีย

ส่วนเครื่องโดรนทางทหารที่มีชื่อเสียงคือโดรนขนาดใหญ่ที่สหรัฐฯ ใช้ปฏิบัติการทางทหาร โดรนประเภทนี้ถูกควบคุมการบินโดยนักบินในสหรัฐฯ โดยการสื่อสารผ่านดาวเทียม เช่น Predator และ Reaper ที่ติดตั้งจรวด เพื่อสังหารผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และเยเมน Reaper มีรัศมีการบินหลายพันไมล์ และทำการบินได้นาน 14 ชั่วโมง สมาชิกกลุ่มนาโตหลายประเทศก็มีโดรน Reaper ประจำการอยู่ เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส

แต่เครื่องโดรนขนาดใหญ่สุดเรียกว่า Global Hawk ที่ผลิตโดยบริษัท Northrop Grumman ของสหรัฐฯ Global Hawk เป็นโดรนราคาแพงที่สุด คือลำละ 131 ล้านดอลลาร์ สามารถบินในระดับความสูงที่ 18,000 เมตร สูงกว่าเครื่องบินพาณิชย์ ส่วนใหญ่สหรัฐฯ จะใช้ปฏิบัติงานในเขตสู้รบ แต่สมรรถนะในการตรวจจับสัญญาณ ทำให้ Global Hawk สามารถจับสัญญาณการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ

สมรรถนะของเครื่องโดรนทางทหาร ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯในสมัยบารัก โอบามา เห็นว่า โดรนเป็นวิธีการมีประสิทธิภาพในการต่อต้านการก่อการร้าย ประการแรก เครื่องโดรนสามารถจับตาการเคลื่อนไหวของเป้าหมายทางทหารได้ตลอดเวลา ประการที่ 2 โดรนสามารถปฏิบัติการแบบ จับตา-เล็ง-ทำลาย เป้าหมายได้ทันที และประการที่ 3 คือ ปฏิบัติการของโดรนไม่มีความเสี่ยงเรื่องการสูญเสียนักบิน

โดรนแบบ Reaper รุ่นล่าสุดของสหรัฐฯ ที่มาแทนแบบ Predator หลังจากปฏิบัติงานมานาน 15 ปี ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/General_Atomics_MQ-9_Reaper#/media/File:MQ-9_Reaper_CBP.jpg

โดรนกับกฎหมายระหว่างประเทศ

ยังไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศห้ามใช้โดรนเป็นอาวุธสงคราม เหมือนกับไม่มีข้อห้ามการใช้เครื่องบินรบ F-16 เป็นอาวุธโจมตี คนทั่วไปเองก็มักจะพูดกันว่า “โดรนไม่ได้ฆ่าคน คนด้วยกันเองต่างหากที่ฆ่าคน” เพราะฉะนั้น กฎหมายระหว่างประเทศถือว่าโดรนทางทหารเป็นอาวุธประเภทหนึ่ง เหมือนกับเครื่องบินรบ F-16 การใช้โดรนจะถูกกฎหมายหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่

กฎบัตรสหประชาชาติอนุญาตให้ประเทศต่างๆ มีสิทธิใช้กำลังเพื่อป้องกันตัวเอง การที่สหรัฐฯ ใช้โดรนโจมตีเป้าหมายกลุ่มก่อการร้ายที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สงครามหรือเขตการสู้รบ เช่น ปากีสถาน เยเมน หรือโซมาเลีย คนส่วนหนึ่งเห็นว่าสอดคล้องกับหลักการป้องกันตัวเอง เพราะกลุ่มก่อการร้ายนี้ถือว่าเป็นภัยคุกคามที่เร่งด่วนชัดแจ้ง แต่นักกฎหมายอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า ในเมื่อสหรัฐฯ ไม่ได้มีความขัดแย้งทางทหารกับประเทศอย่างเยเมน เพราะฉะนั้น การใช้โดรนโจมตีในประเทศเหล่านี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นด้านกฎหมายระหว่างประเทศอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า การโจมตีด้วยโดรนสอดคล้องหรือไม่กับหลักการจำแนกและได้สัดส่วน (distinction & proportionality) หลักการนี้เกิดจากแนวคิดเรื่องสงครามที่เป็นธรรม และนำไปสู่กฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คือการทำสงครามจะต้องจำแนกระหว่างพลเรือนกับกำลังรบ และการโจมตีต่อกำลังรบจะต้องทำให้เกิดความเสียหายต่อพลเรือนน้อยที่สุด

นายลูอิส โมเรโน-โอแคมโป (Luis Moreno-Ocampo) อดีตอัยการของศาลอาชญากรระหว่างประเทศ เคยกล่าวว่า “การเสียชีวิตของพลเรือนในตัวมันเองไม่ได้ก่อให้เกิดอาชญากรรมสงคราม” ยกเว้นว่าการเสียชีวิตของพลเรือนมาจากการจงใจ และความเสียหายต่อพลเรือนมีมากกว่าความได้เปรียบทางทหารที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

โดรนทางทหารยังทำให้เกิดการถกเถียงในเรื่องจริยธรรมของการทำสงคราม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่า การใช้เครื่องโดรนเป็นอาวุธต่อสู้กับการก่อการร้าย เป็นวิธีการที่มีจริยธรรมมากกว่าวิธีอื่นๆ เพราะการโจมตีด้วยโดรนจะมีความแม่นยำต่อเป้าหมาย ลดการสูญเสียต่อพลเรือน หรือทหารภาคพื้นดิน

แต่นักคิดทางสังคมอีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่า โดรนทำให้เกิดสถานการณ์เรียกว่า moral hazard คือเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีต้นทุนของความเสี่ยง ทำให้คนดำเนินการมีแรงจูงใจที่จะกล้าเสี่ยงมากขึ้น การโจมตีด้วยโดรนไม่ทำให้เกิดต้นทุนแก่คนที่ใช้วิธีการนี้ คนควบคุมการบินของเครื่องโดรนก็ไม่เสี่ยงที่จะถูกจับ และประชาชนก็ไม่เห็นทหารเสียชีวิตจากสงคราม สภาพแบบนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก ที่นักเล่นสกีสวมหมวกป้องกันศีรษะมากขึ้นถึง 70% แต่อุบัติเหตุต่อศีรษะของนักเล่นสกี ก็ไม่ได้ลดลง เพราะหมวกป้องกันศีรษะทำให้นักเล่นสกีกล้าเสี่ยงมากขึ้น

สภาพ moral hazard ดังกล่าว ทำให้นักปราชญ์อเมริกันชื่อ ไมเคิล วอลเซอร์ (Michael Walzer) ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่มีค้อนอยู่ในมือ จะมองเห็นอะไรอื่นๆ เป็นตะปูไปหมด ในเมื่อมีเครื่องโดรนติดอาวุธอยู่ในมือ ทุกอย่างดูจะกลายเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมไปหมด ทำให้มีการใช้โดรนเป็นอาวุธการโจมตีมากเกินไป

เอกสารประกอบ

Sarah Kreps. Drones: What Everyone Needs to Know, Oxford University Press, 2016.
A Guide to Military Drones. dw.com, 30.06.2017