ThaiPublica > เกาะกระแส > “Phnom Penh SEZ” หุ้นกัมพูชารายแรก จดทะเบียน “Secondary- Listing” ในตลาดหุ้นไทย

“Phnom Penh SEZ” หุ้นกัมพูชารายแรก จดทะเบียน “Secondary- Listing” ในตลาดหุ้นไทย

24 กรกฎาคม 2017


คุณหญิงลิม ชิว โฮ

Phnom Penh SEZ Plc. เขตเศรษฐกิจพิเศษอันดับหนึ่งกัมพูชา มุ่งขยายสู่อาเซียน ด้วยการวางเป้าหมายเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเป็นรายแรกของกัมพูชาและ CLMV

การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (Cambodia Securities Exchange: CSX) ขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ของกัมพูชา และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community: AEC) อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2558 เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสนามแข่งขันของธุรกิจในกัมพูชาและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia)

Phnom Penh SEZ Plc. จึงเข้าจดทะเบียนใน CSX เพื่อเดินหน้าธุรกิจไปพร้อมกับโอกาสที่เปิดกว้างในอาเซียน โดยเปิดการซื้อขายวันแรกภายใต้ชื่อ PPSP ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 นับเป็นบริษัทจดทะเบียนรายที่ 4 ของ CSX ถือเป็นบริษัทเอกชนกัมพูชารายแรกที่เข้าจดทะบียนใน CSX

Phnom Penh SEZ Plc. ก่อตั้งในปี 2549 โดยนักธุรกิจหญิงชั้นนำของกัมพูชา โลกจุมเตียว อกญา ลิม ชิว โฮ หรือ คุณหญิงลิม ชิว โฮ ร่วมกับ Zephyr Co., Ltd บริษัทลงทุนจากญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในเดือนกรกฎาคม 2558 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเข้าจดทะเบียนใน CSX

PPSP ได้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรกในปี 2559 จำนวน 11.58 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2,860 เรียลจากราคาพาร์ 2,000 เรียล เมื่อหลังเข้าจดทะเบียนแล้ว คุณหญิงอกญา ลิม ชิว โฮ ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 56% ลดลงจาก 70% ส่วน Zephyr Co., Ltd. นักลงทุนญี่ปุ่นถือหุ้นลดลงจาก 22% เหลือ17.6% และ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)(Finansia Syrus Securities Pcl.:FSS) ในฐานะตัวแทนนักลงทุน ถือหุ้น 11.41% (ดูเพิ่มเติม)

จดทะเบียน Secondary-listing ตลาดหุ้นไทยปี 2561

การเข้าจดทะเบียนใน CSX เป็นเพียงก้าวแรกของ Phnom Penh SEZ Plc. ในการขยายธุรกิจจากโอกาสที่เปิดกว้างในอาเซียน เพราะต้องการที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคุณหญิงอกญา ลิม ชิว โฮ ประธานบริษัท (Chairwoman) หรือมาดามลิม ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ว่า ได้วางแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรูปแบบ Secondary-listing เพื่อระดมทุนในการขยายกิจการไปในกลุ่ม CLMV

มาดามลิมกล่าวว่า นับตั้งแต่ก่อตั้ง PPSP มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเติบโตจนกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชั้นนำของประเทศจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดที่มี 34 เขต และเข้าจดทะเบียนใน CSX แต่ก็ต้องการที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้ขยายตัวขึ้นไปอีก จึงมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนแบบ Secondary-listing ในตลาดหุ้นไทยซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ได้มีการหารือกับทางผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับแนวทางและความเป็นไปในการจดทะเบียนดังกล่าว

“การที่เราจะนำ PPSP เข้าจดทะเบียน Secondary-list ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพราะต้องการที่จะนำ PPSP ไปสู่ อาเซียน เป็นบริษัทมหาชนในอาเซียน ซึ่งคาดว่าการเข้าจดทะเบียน Secondary-listing คาดว่าแล้วเสร็จในต้นปี 2562 หรืออีกประมาณ 18 เดือนจากนี้ การจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยส่งผลดีต่อบริษัทเพราะนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีความรู้ความเข้าใจมีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนเป็นอย่างดี ต่างจากตลาดกัมพูชาที่เพิ่งตั้งมาได้ 5 ปี นักลงทุนยังเข้าใจไม่มากพอเกี่ยวการระดมทุน รวมทั้งการกระจายให้นักลงทุนทั่วไปในตลาดไทย จะช่วยบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในกัมพูชา ไทย และในอาเซียน”

มาดามลิมกล่าวว่า PPSP ปัจจุบันบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พนมเปญ และปอยเปต และมีแผนที่จะขยายไปตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สะหวันนะเขตในลาว เนื่องจากได้รับการชักชวนจากรัฐบาลลาว โดยรัฐบาลจัดสรรที่ดินให้รวม 350 เฮกตาร์ รวมทั้งมีแผนขยายธุรกิจไปบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษในชายแดนเวียดนามอีก 1 แห่ง หลังจากที่การจดทะเบียน Secondary-listing ในตลาดหลักทรัพย์เสร็จสิ้น”

มาดามลิมกล่าวว่า การจดทะเบียนแบบ Secondary-listing ในตลาดหุ้นไทยอยู่ระหว่างการหารือกันและแต่งตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน หลังจากได้รับการแนะนำในช่วงที่หารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีที่ผ่านมา

Phnom Penh SEZ Plc.

มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

มาดามลิมเปิดเผยถึงการก่อตั้ง Phnom Penh SEZ Plc. ว่า มาจากเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจะเป็นการสร้างงานให้มีการว่าจ้างแรงงานมากขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตก็เอื้อให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ โดยเริ่มพัฒนาโครงการมาตั้งแต่ปี 2548 และเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 2550 มีลูกค้าซึ่งเป็นนักลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นรายแรก ขณะนี้มีนักลงทุนเข้ามาใช้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 82 ราย กระจายอยู่ในหลายภาคธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตอาหารสัตว์ รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

PPSP ให้บริการแบบ One Stop Service มีบริการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ครบถ้วนทั้ง ไฟฟ้า น้ำ และระบบบำบัดน้ำเสีย ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม นอกจากนี้ในเขตเศรษฐกิจเศษไม่มีอุตสาหกรรมหนักเข้ามาตั้ง จึงไม่มีปัญหาอากาศเป็นพิษ

มาดามลิมกล่าวว่า ปัจจุบันมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้จัดตั้งมี 34 แห่ง เพื่อเปิดรับทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศ แต่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของ PPSP ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติเกือบ 90% โดยรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ด้วยการยกเว้นภาษีให้ 4-7 ปี เริ่มตั้งแต่ปีแรกของการเริ่มดำเนินธุรกิจ สำหรับนักลงทุนไทยมีจำนวน 3-4 ราย ได้แก่ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) (SVI) ธุรกิจอิเลคโทรนิคส์ บริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน) (BETAGRO) ธุรกิจอาหาร และ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) (TF)

PPSP แบ่งการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ 3 เฟส โดยเฟสแรกพื้นที่ 141 เฮกตาร์(1 เฮกตาร์ = 6.25 ไร่) ยังพอมีเนื้อที่เหลือให้นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานได้ ส่วนเฟสสอง 162 เฮกตาร์เหลือเนื้อที่เล็กน้อย เฟสสาม 57 เฮกตาร์ อยู่ในระหว่างพัฒนา โดยการปรับปรุงหน้าดินและคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

นโยบายจ่ายปันผล 20%

PPSP รายงานผลประกอบการรวมของปี 2560 ว่า มีรายได้รวม 9,460,107 เหรียญสหรัฐ กำไรสุทธิ 1,445,672 เหรียญสหรัฐ กำไรต่อหุ้น 0.025 เหรียญสหรัฐ โดยมีสินทรัพย์ 56,158,001 เหรียญสหรัฐ สามารถจำแนกได้เป็นส่วนผู้ถือหุ้น 36,242,226 เหรียญสหหรัฐ และหนี้สิน 19,915,775 เหรียญสหรัฐ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 20%ของกำไรรวมปีงบประมาณ

เว็บไซต์ Phnom Penh SEZ Plc. ให้ข้อมูลบริษัทไว้ว่า PPSP เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้พัฒนาและบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2549 ปัจจุบันบริษัทบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษในพนมเปญด้วยพื้นที่ 357 เฮกตาร์ และมีนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานกว่า 80 ราย

PPSP ซึ่งเป็น 1 ใน 11 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการดำเนินงานจากที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 34 ราย มีข้อได้เปรียบ 4 ด้าน ข้อแรก คือ ด้านที่ตั้ง เพราะห่างจากศูนย์กลางธุรกิจของพนมเปญเพียง 10 กิโลเมตรและห่างจากสนามบินเพียง 8 กิโลเมตรเท่านั้น ข้อสอง มีผู้บริหารที่มีประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญ ข้อสาม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และข้อสุดท้ายให้บริการที่ดี

ในเว็บไซต์ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์และแผนงานของบริษัทไว้ว่า ต้องการที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาและบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งสร้างคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชม โดยการที่จะเป็นผู้นำเขตเศรษฐกิจพิเศษ บริษัทจึงได้พัฒนาระบบงานจนได้ มาตรฐาน ISO 9001 ด้านระบบบริหาร และ ISO 14001 ระบบจัดการสิ่งแวดล้อม

แผนงานในระยะต่อไป จะซื้อที่ดินเพิ่มในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งจะจัดสรรพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจให้รองรับนักลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น และจะสร้างรายได้ต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ

นอกจากนี้ presentation ของบริษัทที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน 2560 ยังระบุว่า PPSP มีมูลค่าโครงการ 36 ล้านเหรียญ ดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้ถึง 507 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนักลงทุนที่เข้าตั้งโรงงานเป็นญี่ปุ่นถึง 55% จากทั้งหมด 14 ประเทศ สามารถสร้างงานได้ถึง 17,000 คน และสัดส่วน 80% เป็นแรงงานหญิง

PPSP มีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเองโดยร่วมทุนกับนักลงทุนสิงคโปร์ตั้ง ColbenEnergy (Cambodia) PPSEZ Ltd. เพื่อผลิตไฟฟ้ามีกำลังการผลิต 11 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง มีระบบผลิตน้ำประปา 14,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และระบบบำบัดน้ำเสียรองรับได้ถึง 4,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ PPSP มีทั้งเปิดขายและให้เช่า โดยให้เช่านานสุด 50 ปี ในราคามาตรฐาน 70 เหรียญสหรัฐต่อตารางเมตร ส่วนอัตราค่าบริการน้ำ 0.30 เหรียญสหรัฐต่อลูกบาศก์เมตร อัตราค่าบริการบำบัดน้ำเสีย 0.26 เหรียญสหรัฐต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าไฟฟ้า 0.1868 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ ค่าบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภค 0.06 เหรียญสหรัฐต่อตารางเมตรต่อเดือนบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 10%

นอกจากนี้ PPSP ได้ร่วมทุน กับบริษัทสิงคโปร์ตั้งบริษัท Bok SengPPSEZ DryPort Ltd. เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าสำหรับการนำเข้าและส่งออกแก่ลูกค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพื้นที่รอบๆข้าง

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษในปอยเปตภายใต้ขนาดพื้นที่ 68.7 เฮกตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ PPSP ได้ใช้เงินจาก IPO มาดำเนินโครงการนั้น นับว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีข้อได้เปรียบด้านที่ตั้ง ห่างตัวเมืองไปทางตะวันออกเพียง 6 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางมากรุงเทพมหานครเพียง 2.5 ชั่วโมง อีกทั้งธุรกิจในปอยเปตก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทะลุถึงทางหลวงหมายเลข 5 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนไฮเวย์เว้นที่ 1 (Asian Highway 1) เขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปตจึงเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมโฮจิมินห์ พนมเปญ เสียมเรียบ และกรุงเทพฯ