ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เอ็นจีโอฯแถลงการณ์ “ห่วงรัฐผูกขาด SDGs” หวั่นรายงาน VNR แค่สร้างภาพ ชี้ระวังผลกระทบกลุ่มรากหญ้า

เอ็นจีโอฯแถลงการณ์ “ห่วงรัฐผูกขาด SDGs” หวั่นรายงาน VNR แค่สร้างภาพ ชี้ระวังผลกระทบกลุ่มรากหญ้า

19 กรกฎาคม 2017


บรรยากาศการประชุมที่ผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมในเวทีย่อยของ HLPF ระดับเอเชียแปซิฟิก ก่อนที่การประชุมรายงานทบทวนผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยสมัครใจของไทยเริ่มขึ้น 18-20 กรกฎาคม 2560 ที่มาภาพ: http://webtv.un.org/watch/asia-pacific-initiatives-toward-a-sustainable-future-/5510542589001

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เวลา 12.00-14.00 น.ตามเวทีท้องถิ่น ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตัวแทนจากประเทศไทย รายงาน ทบทวนผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยสมัครใจ(Voluntary National Review: VNR)ที่นำเสนอความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเวทีการประชุม High-Level Political Forum on Sustainable Development (HLPF) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-19 กรกฎาคม 2560  เวทีกลางขององค์การสหประชาชาติในการติดตามความก้าวหน้าของ Agenda 2030 โดยในปีนี้มี 44 ประเทศที่เข้าร่วมการนำเสนอรายงานฯดังกล่าว

ล่าสุด องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ภาคประชาสังคม ในภาคเหนือตอนล่าง 15 องค์กร ที่ติดตามการดำเนินงาน SDGs ของภาครัฐที่ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ออก แถลงการณ์กรณี 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)  โดยองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งระดับพื้นที่ และเครือข่ายในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความห่วงใยและข้อกังวล การนำเสนอ “รายงานผลการทบทวนการดำเนินการตามวาระ การพัฒนา ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจของประเทศไทย ปี 2560”  ในครั้งนี้ ว่าไม่ต้องการให้เป็นเพียงการสร้างภาพ ของประเทศไทยต่อสังคมเพื่อให้เกิดการยอมรับจากเวทีโลกเท่านั้น แต่อยากให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนำสู่การปฏิบัติที่ตอบสนองต่อคนทั้งประเทศ เพื่อเป็นการเริ่มต้นใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย 

ทั้งนี้ได้แสดงความห่วงใยในเรื่องการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการกำหนดเป้าประสงค์และตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคือกลุ่มคนยากจนที่อยู่ในชุมชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

สำหรับรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์กรณี 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) องค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง

แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ผ่านมาในช่วง 30 ปี เป็นทิศทางของโลก แต่ในที่สุดการพัฒนาตามกระแสหลักไม่นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่ไม่พัฒนา และนำสู่ความหายนะของสังคม ของชุมชน ของโลก ความหิวโหย ความยากจน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก เกิดความขัดแย้ง ทางแนวคิด เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ จนเกิดความรุนแรงในสังคมโลก

ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ ปี 2559 ได้รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เป็นฉันทามติร่วมกัน กำหนดทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยกำหนด 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกประเทศ ที่จะนำสู่ความยั่งยืนร่วมกันของโลกทุกระดับ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในการดำเนินการ 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เป็น 2 ปีแรกของการเริ่มต้น ในวาระตัวแทนประเทศไทยจะรายงานทบทวนผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ในวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2560 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ภาคประชาสังคม ในภาคเหนือตอนล่าง ที่ติดตามการดำเนินงาน SDGs ของภาครัฐซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะเกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนทั้งประเทศไทย ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการกำหนดเป้าประสงค์และตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคือกลุ่มคนยากจนที่อยู่ในชุมชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งระดับพื้นที่ และเครือข่ายในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความห่วงใยและข้อกังวล การนำเสนอ “รายงานผลการทบทวนการดำเนินการตามวาระ การพัฒนา ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจของประเทศไทย ปี 2560 ” ไม่อยากให้เป็นเพียงการสร้างภาพของประเทศไทยต่อสังคมเพื่อให้เกิดการยอมรับจากเวทีโลกเท่านั้น แต่อยากให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนำสู่การปฏิบัติที่ตอบสนองต่อคนทั้งประเทศ เพื่อเป็นการเริ่มต้นใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย

ข้อกังวล คำถาม และข้อเสนอ ขององค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคเหนือตอนล่าง

  • การดำเนินงานขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ถูกผูกขาดการดำเนินงานจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ในการจัดทำเป้าประสงค์ ตัวชี้วัด เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่มีส่วนร่วม ไม่ครอบคลุมภาคส่วนอื่น และไม่มีการตัดสินใจร่วมกันของทุกกลุ่มทุกระดับ
  • การกำหนดเป้าประสงค์ ตัวชี้วัด หน่วยงานที่รับผิดชอบ หน่วยงานสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่มีการประสานระหว่างหน่วยงานที่เป็นเอกภาพ ที่สำคัญไม่สามารถแปลงส่วนการปฏิบัติที่จะให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเพียงเป้าประสงค์ ตัวชี้วัดของกระทรวง กรม ของหน่วยงานรัฐ มิใช่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เป็นเพียงเป้าประสงค์ของหน่วยงานรัฐ
  • แผนและนโยบายที่รองรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเพียงกรอบและนโยบายของแต่ละกระทรวง มิได้ตอบปัญหาระดับพื้นที่ “มติคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 25 ตุลาคม 2559 ให้ทุกกระทรวงนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” แต่การดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เป็นการสวนทางกับมติคณะรัฐมนตรี กรณีเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการทวงคืนผืนป่า การขยายโรงไฟฟ้าถ่านหิน การสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ รวมทั้งเป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นปัญหาที่ท้าทายของคนทั่วโลก 6 เป้าประสงค์ 7 ตัวชี้วัดไม่สามารถที่จะนำสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่และนโยบายของรัฐ ทั้งยังเป็นการทำลายศักยภาพการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่สร้างพื้นที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายมองเห็นว่า SDGs เป็นวาระเริ่มใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เสนอให้รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ใช้จังหวะและโอกาสการดำเนินการสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อเป็นทางรอดของประเทศไทยและเป็นความยั่งยืนของสังคมโลกที่จะไม่ทิ้งคนส่วนใหญ่อยู่ข้างหลัง

สำหรับองค์กรที่ร่วมในการแถลงการณ์ประกอบด้วย

    1. สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน จังหวัดสุโขทัย

    2. สมัชชาประชาชนสุโขทัย

    3. สหพันธ์รักษ์เมืองตาก

    4. โครงการปฏิรูปเกษตรกรรมและพัฒนาชนบท จังหวัดพิจิตร

    5. สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภาคเหนือตอนล่าง

    6. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง

    7. มูลนิธิคนเพียงไพร

    8. ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลก

    9. Climate Watch Thailand

    10. CAN THAILAND

    11. ชมรมพิทักษ์ธรรมชาติ (คนกับป่า) จังหวัดพิษณุโลก

    12. เครือข่ายสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนจังหวัดพิษณุโลก

    13. เครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง

    14. เครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า จังหวัดกำแพงเพชร

    15. สถาบันรักษ์ถิ่นกำแพงเพชร