ThaiPublica > คอลัมน์ > ฉันมีสมอง, ฉันจึงเสพติด

ฉันมีสมอง, ฉันจึงเสพติด

31 กรกฎาคม 2017


ณัฐเมธี สัยเวช

***เรียบเรียงจาก BUZZED: The Straight Facts About the Most Used and Abused Drugs from Alcohol to Ecstasy เขียนโดย Cynthia Kuh, Scott Swartzwelder และ Wilkie Wilson, Duke University and Duke University School of Medicine***

หนังสือ BUZZED: The Straight Facts About the Most Used and Abused Drugs from Alcohol to Ecstasy เป็นความพยายามให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดยาเสพติดบนฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดังที่ผู้เขียนกล่าวในคำนำถึงคำกล่าวของ ดร.อลัน เลชเนอร์ เมื่อครั้งยังเป็นผู้อำนวยการของสถาบันแห่งชาติว่าด้วยการใช้ยาเสพติด [National Institute on Drug Abuse (NIDA)] ที่ว่า “มีความไม่เชื่อมต่อกันเป็นพิเศษระหว่างข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์กับความรับรู้ของสาธารณะในเรื่องของการใช้ยาในทางที่ผิดกับการเสพติด หากเราต้องการจะสร้างความคืบหน้าใดๆ เราก็ต้องเอาชนะ ‘ความไม่เชื่อมต่อกันอันยิ่งใหญ่’ นี้ให้ได้” นั่นทำให้หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญกับการอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องผลที่ยาเสพติดแต่ละชนิดมีต่อร่างกายของคนเรา และยังเน้นไปที่การให้ความรู้ทางประสาทวิทยาว่าด้วยการทำงานของสมองและระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเสพติดทุกชนิด โดยไม่จำกัดเฉพาะที่มีต่อยาเสพติดทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย

ในส่วนที่สองของหนังสือ ภายใต้หัวข้อ “การเสพติด” (Addiction) หนังสือได้อธิบายถึงสาเหตุของการเสพติดไว้หลากหลายรายละเอียด โดยจะขอนำมาเล่าให้ฟังกันโดยสังเขปดังนี้

การเสพติดคืออะไร

การเสพติด หรือที่บางคนก็เรียกว่าเป็นการพึ่งพายาทางจิตใจ (psychological dependence) นั้นก็คือภาวะที่บุคคลใช้สารชนิดหนึ่งซ้ำๆ อย่างไม่อาจหยุดได้แม้ว่าจะมีอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ การที่คนเราดื่มกาแฟทุกวันและเกิดอาการปวดหัวในวันใดที่ไม่ได้ดื่มอาจเป็นสัญญาณว่าอยู่ในภาวะมีการพึ่งพาทางกาย (physical addiction) แต่ก็ไม่ได้หมายว่านั่นคือสัญญาณของการเสพติด เพราะผู้ที่อยู่ในภาวะของการเสพติดนั้นมักจะมีลักษณะการพึ่งพาทางกายและทางใจร่วมกัน

นอกจากนี้ สิ่งน่าสนใจที่หนังสือบอกกับเราก็คือ นิยามของคำว่าการเสพติดนี้ไม่ได้จำเพาะเจาะจงอยู่แต่กับการใช้ยาเสพติดเท่านั้น แต่อาจหมายถึงพฤติกรรมการเสพติดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารมากเกินขนาด การพนันแบบมีบ้านขายบ้านมีรถขายรถ หรือกระทั่งการมีเพศสัมพันธ์ในระดับที่เข้าสู่ความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่ามีวงจร ประสาทบางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในการเสพติดพฤติกรรมเหล่านั้นและในยาเสพติด

การเสพติดเริ่มต้นขึ้นอย่างไร: วงจรประสาทของความพึงพอใจ

ในหัวข้อนี้ หนังสือเล่มนี้บอกกับเราว่าการเสพติดนั้นทรงพลังอย่างยิ่ง ซึ่งที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า การเสพติดนั้นไปขับเคลื่อนหน้าที่พื้นฐานบางอย่างของสมองที่ได้รับการออกแบบมาให้รับประกันการดำรงรอดของเผ่าพันธุ์ ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่า หน้าที่ของระบบประสาทนี้ก็คือ การทำให้เรามีความสุขกับกิจกรรมหรือสารใดๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อเราจะได้ทำกิจกรรมหรือรับเอาสารนั้นเข้าสู่ร่างกายซ้ำๆ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “วงจร ความพึงพอใจ” (pleasure circuit) วงจรดังกล่าวนี้ทำให้ทั้งมนุษย์และสัตว์ (รวมทั้งสัตว์ในห้องทดลองที่เป็นสิ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้) แสวงหาสิ่งกระตุ้นอันเป็นตัวเสริมแรง (reinforcer) ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ (บางครั้งก็เรียกว่า “วิถีรางวัล” หรือ reward pathway) ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การมีเพศสัมพันธ์ สภาพแวดล้อม หรือกระทั่งการที่สัตว์ในห้องทดลองพยายามเปิดกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ที่จะกระตุ้นวิถีความพึงพอใจนี้ให้แก่ตัวเองก็ตาม

ยาเสพติดกับวงจรความพึงพอใจ

ยาเสพติดสามารถทดแทนอาหารและการมีเพศสัมพันธ์ได้ การฉีดโคเคนหรือเฮโรอีนเข้าเส้นเลือดอย่างรวดเร็วสามารถสร้างความพึงพอใจในลักษณะเดียวกันกับที่ได้จากการถึงจุดสุดยอดจากการมีเพศสัมพันธ์ และสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีสมอง (ในความหมายของศูนย์รวมระบบประสาท ไม่ใช่สติปัญญา) และคือคำอธิบายว่าเหตุใดจึงพบปัญหาเรื่องการเสพติดได้ในทุกวัฒนธรรม

บทบาทพิเศษของโดปามีน

สารสื่อประสาทอย่างโดปามีนนั้นมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการเสริมแรงและการทำงานของยาเสพติด การทดลองหนึ่งพบว่า ทั้งการให้หนูทดลองมีเพศสัมพันธ์และการให้ยาเสพติด ล้วนทำให้ระดับของโดปามีนในสมองบริเวณเดียวกันของหนูทดลองตัวนั้นสูงขึ้น นอกจากนี้ อีกสิ่งที่น่าสนใจซึ่งได้จากการทดลองในลิงก็คือ ในตอนที่คาดหวังว่าจะได้รับรางวัล โดปามีนในสมองจะสูงขึ้นมากกว่าเวลาที่ได้รับรางวัลจริงๆ หนังสือยกตัวอย่างโดยใช้ประสบการณ์ที่บุคคลมีต่อมัฟฟินในร้านเบเกอรี โดปามีนจะหลั่งออกมาครั้งแรกเมื่อบุคคลได้รับประทานมัฟฟินแสนอร่อย แต่ในภายหลังนั้นจะหลั่งออกมาตั้งแต่ตอนที่เห็นร้านเบเกอรี เนื่องจากจำได้ว่าร้านเบเกอรีจะมีมัฟฟินแสนอร่อยนั้นอยู่ เพราะฉะนั้น ขั้นแรกสู่การเสพติดจึงไม่ใช่การกินมัฟฟินแสนอร่อย แต่คือการหาทางทำให้ตัวเองได้กินมัฟฟินแสนอร่อยนั้นอีก เช่น เลือกเส้นทางไปทำงานโดยเดินผ่านร้านเบเกอรีแห่งนั้น และก็อาจเป็นโดปามีนนี่เองที่มีส่วนในการทำให้เกิดกระบวนการตัดสินใจเช่นนั้น

ด้านมืด: คือความเจ็บปวด มิใช่ความพึงพอใจ

ความพึงพอใจที่ได้รับจากการเสพยาไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้คนเราต้องเสพยาซ้ำๆ นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเสพติดเท่านั้น เพราะอีกส่วนหนึ่งก็คือ คนเราเสพยาเสพติดซ้ำเพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์อันเกิดจากการ “ถอนยา” ซึ่งเป็นอาการผิดปรกติของร่างกายหลังจากไม่ได้รับยาเสพติดดังที่เคย ซึ่งอาการถอนยานี้จะแตกต่างกันไปในยาเสพติดแต่ละประเภท

แตงกวาและแตงกวาดอง: ความเปลี่ยนแปลงในสมอง

ผู้ที่ฟื้นฟูตัวเองจากการเสพติดนั้นเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและการดำรงชีวิตว่าเหมือนเปลี่ยนจากแตงกวาไปเป็นแตงกวาดอง ความเปลี่ยนแปลงนั้นอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า เมื่อถูกกระตุ้นด้วยยาเสพติดทุกวันแล้ว ระบบรางวัล (reward circuit) ในสมองของคนเราก็จะคาดหวังถึงการได้รับสารกระตุ้นดังกล่าวนี้ การหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันจะทำให้ระบบรางวัลนี้ปิดตัวเองลง สมองของผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ติดเฮโรอีน ติดเมทแอมเฟตามีน หรือแม้กระทั่งเสพติดการกินเกินขนาด ต่างก็แสดงลักษณะชีวเคมีทางสมองแบบเดียวกัน นั่นก็คือ ตัวรับความรู้สึกตัวหนึ่งของพวกเขาที่ปรกติจะคอยรับโดปามีนนั้นมีระดับต่ำกว่าปรกติ ซึ่งตรงนี้นั้นสมเหตุสมผลในแง่ที่ว่า เมื่อถูกกระหน่ำด้วยโดปามีนแล้ว เซลล์ที่คอยรับโดปามีนจะพยายามปิดตัวลงเพื่อไม่ให้ร่างกายถูกกระตุ้นมากจนเกินไป การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้นำมาทั้งการต้องพยายามเสพยามากขึ้นเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจเท่าเดิม และเมื่อหยุดยาแล้วก็ต้องเผชิญกับภาวะที่แม้แต่สิ่งอื่นๆ ที่เคยทำให้พึงพอใจก็ไม่สามารถทำให้รู้สึกพึงพอใจได้ และนี่ทำให้การหลุดพ้นจากภาวสะการเสพติดกลายเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกแบบหนึ่งที่ทำให้คนเราเลิกยาได้ยาก มนุษย์นั้นมีสมองส่วนที่ทำงานในการวางแผนอนาคตอยู่ สมองส่วนนี้นี่เองที่ทำให้เกิดการวางแผนจะไปเจอกับตัวเสริมแรงที่สร้างความพึงพอใจแก่ตัวเองอีก การใช้ยาเสพติดซ้ำๆ สามารถปล้นเอาศูนย์กลางการวางแผนนี้ไปได้ ดังนั้น การติดยาจึงไม่ใช่แค่เพราะใช้ยา แต่เป็นเพราะความสามารถในการจดจำและวางแผนให้ได้รับความพึงพอใจแบบเดิมซ้ำของเราด้วย และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่คงทนถาวรที่สุดในสมองของคนเรา ซึ่งอาจกล่าวง่ายๆ ว่า ขั้นตอนสุดท้ายของการเข้าสู่การเสพติดก็คือ เมื่อการหาทางให้ได้รับความพึงพอใจจากยาเสพติดกลายเป็นนิสัยหรือก็คือเรื่องที่คนเราทำเป็นปรกตินั่นเอง

ผู้ที่ติดยาเสพติดมีความบกพร่องของสารเคมีในสมองหรือไม่?

หากพบว่าสมองมีการทำงานผิดปรกติ ก็ยังเป็นการยากจะระบุได้ว่าความผิดปรกตินั้นเกิดขึ้นจากการใช้ยา หรือเป็นความผิดปรกติที่มีมาอยู่แต่เดิม การพบยีนส์แบบเดียวกันกับที่มีในผู้ที่ติดสุราเรื้อรังไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้คนคนหนึ่งติดสุราเรื้อรังไปด้วย แต่ในอีกทางหนึ่งนั้น ผู้ที่ไม่มีความผิดปรกติทางพันธุกรรมใดๆ เลยก็ยังอาจต้องใช้สุราหรือสารอื่นๆ เพื่อเยียวยาตนเองจนกลายเป็นการเสพติดได้หากชีวิตของพวกเขาพบเจอกับประสบการณ์อันน่าเจ็บปวดมาก่อน (เช่น ถูกทำทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็ก)

บุคลิกภาพและการติดยาเสพติด

ลักษณะของบุคลิกภาพที่เชื่อกันว่าเกี่ยวพันกับการใช้ยาเสพติดนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในยุคสมัยหนึ่งนั้นเชื่อกันว่าคนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำนั้นเป็นผลจากการใช้ยาเสพติด ปัจจุบันนี้มีความเชื่อว่าคนที่ชอบความตื่นเต้นและชอบความเสี่ยงนั้นอาจพัฒนาไปสู่การมีปัญหาการใช้ยาเสพติด แต่เรื่องนี้นั้นก็เช่นเดียวกันกับสารเคมีในสมองหรือพันธุกรรม นั่นก็คือ เพียงคนเรามีลักษณะบุคลิกภาพเช่นนี้เช่นนั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องเป็นผู้ติดยาเสพติดเสมอไป

ประสบการณ์ชีวิตกับการติดยาเสพติด

เหตุใดประสบการณ์แย่ๆ ในวัยเด็กจึงสามารถนำไปสู่การใช้ยาเสพติดเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติและที่อื่นๆ แสดงให้เห็นว่าลิงทารกที่ถูกแม่ของตนทารุณกรรมหรือเพิกเฉยนั้นจะเติบโตขึ้นมาโดยมีปัญหาด้านพฤติกรรมหลายๆ ประการ พวกมันมีแนวโน้มที่จะทำการทะเลาะวิวาท และหากมีโอกาสดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มันก็จะดื่มมากจนเกินพอดี นี่ไม่ใช่แนวโน้มทางพันธุกรรม เพราะทารกที่เกิดจากแม่ที่สมบูรณ์แบบก็อาจมีแนวโน้มเช่นนี้ได้หากอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของแม่ที่ปล่อยปละละเลย สิ่งที่น่าตกใจในเรื่องนี้ก็คือพฤติกรรมที่มีปัญหานั้นมีความเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของสมอง ลิงที่ดื่มสุรามีสารสื่อประสาทเซโรโทนินในสมองอยู่ในระดับต่ำ การศึกษานี้บ่งชี้ว่าประสบการณ์วัยเด็กอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองอย่างคงทนถาวร อันจะนำไปสู่พฤติกรรมเหล่านี้ได้

ในมนุษย์นั้น ผู้ที่ใช้ยาเสพติดมักเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ใช้ยาเสพติด โรคพิษสุราเรื้อรังนั้นสามารถส่งต่อจากพ่อแม่สู่ลูกได้ แต่ก็สามารถให้ผลในทางกลับกัน คือ ลูกอาจไม่ข้องเกี่ยวกับสุราไปทั้งชีวิตเลยก็ได้ด้วย มีความเป็นไปได้ที่เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีผู้ติดสุราจะใช้สุราตอบสนองต่อความเครียด และก็เป็นจริงที่ว่าลูกๆ ของผู้ที่ติดสุราอาจได้รับการทารุณกรรมทางกายและใจจากพ่อแม่ตนเอง

ในด้านของการคบหาผู้คน เราต่างรู้ดีว่าการเข้าไปข้องแวะกับผู้ที่ใช้ยาเพสติดนั้นเป็นการเปิดโอกาสสู่การทดลองใช้ยาเสพติด และก็มีหลักฐานมากมายที่บอกว่าผู้ที่ใช้ยาเสพติดผิดกฎหมายนั้นมักเริ่มจากการใช้เหล้าหรือบุหรี่มาก่อน กระนั้น ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่แม้จะใช้เหล้า บุหรี่ หรือกระทั่งกัญชา แต่ก็ไม่ได้พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดที่มีฤทธิ์รุนแรงกว่านั้น

ความเจ็บป่วยทางจิตกับการติดยาเสพติด

ยาเสพติดกับความเจ็บป่วยทางจิตบางประการนั้นสัมพันธ์ในลักษณะที่ยากจะบอกได้ว่าสิ่งใดเป็นสาเหตุของสิ่งใดกันแน่ แต่ผู้ติดยาที่เข้ารับการบำบัดบางรายก็บอกว่า ความกังวลหรืออารมณ์หดหู่ของตัวเองนั้นทำให้พวกเขาเริ่มดื่มหรือใช้สารอื่นๆ มารับมือกับความรู้สึกขัดสนและสิ้นหวัง และเมื่อทำเช่นนั้นไปนานเข้า การเสพติดก็กลายมาเป็นปัญหาหลักแทน

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเสพติด

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเสพติดก็คือ ใครมีสมองก็สามารถติดยาได้ทั้งนั้น และต่อให้มีชีวิตที่ดีโดยปราศจากหรืออยู่ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เพียงใด แต่ตราบใดที่ยังมีสมองอยู่ คนเราก็ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันต่อการเสพติด สังเกตได้จากยุคคลั่งโคเคนในทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ที่ผู้ที่มีการศึกษาสูงๆ มีงานดีๆ ทำ ต่างก็ติดโคเคนทั้งที่ชีวิตมีแต่ปัจจัยบวก