ThaiPublica > คอลัมน์ > กระแสการต่อต้าน EU เริ่มขึ้นแล้วจากชาวประมงไทย

กระแสการต่อต้าน EU เริ่มขึ้นแล้วจากชาวประมงไทย

26 กรกฎาคม 2017


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2560 สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวประมงที่อยู่ในจังหวัดภาคใต้ และบทสรุปประการหนึ่งของพวกเราคือ การเห็นว่า “สหภาพยุโรป” หรือ “EU” ได้เข้ามาก้าวก่ายการทำงานของรัฐไทยอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคามอธิปไตยของชาติ จึงเห็นควรที่จะมีการแสดงออกให้กับสังคมได้รับทราบ และร่วมกันต่อต้านสหภาพยุโรปในทุกมิติ

ทำไมเราไม่เอา EU: เพราะเราสงสัยคุณ

จากการติดตามการตรวจเยี่ยมของคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปและการให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของประเทศไทยต่อรัฐบาล ทำให้เราอดสงสัยในเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปในการให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยว่า เกิดจากเหตุผลใด ระหว่าง

(1) การนำมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และรักษาประโยชน์ให้กับชาวประมงในสหภาพยุโรป

(2) ต้องการให้ประเทศไทยมีการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และใช้ประโยชน์อย่างรับผิดชอบ ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS 1982) โดยใช้มาตรการป้องกันและขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเป็นเครื่องมือ

(3) ต้องการตอบโต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของประเทศไทย เพื่อบีบให้คืนอำนาจให้กลับคืนสู่ประชาชนเช่นอารยประเทศโดยเร็ว

ทำไมเราสงสัยใน EU: เพราะคุณทำตัวน่าสงสัย

สาเหตุที่ทำให้ “สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย” เกิดความสงสัยในเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปนั้น มาจากการผลการดำเนินงานของรัฐบาลตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านมา ซึ่งเราเห็นว่าคณะกรรมาธิการยุโรปได้ทำการ

(1) คุกคามอำนาจอธิปไตยของไทย

(2) ก้าวล่วง และคุกคามการบริหารจัดการกิจการภายในของประเทศไทย

(3) เร่งรัดให้รัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่เป็นธรรม ตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนด โดยไม่คำนึงถึงบริบทของประเทศไทยที่แตกต่างจากสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องและส่งผลกระทบต่อมิติอื่นๆ หลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชน และไม่สามารถที่จะดำเนินการแก้ไขได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งแม้แต่ประเทศต่างๆ ในกลุ่มสมาชิกประชาคมยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปก็ใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกันนี้นานกว่า 30 ปี และใช้งบประมาณในการแก้ไขมากกว่า 5 แสนล้านบาท

(4) เข้ามาตรวจสอบร่างกฎหมายประมง เรือ และแรงงานประมง รวมทั้งการกำหนดมาตรการและการทำงานของหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเชิงลึกเกินกว่าที่มิตรประเทศพึงปฏิบัติต่อกัน รวมทั้งแนะนำให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรป โดยไม่คำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทย ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางการประมง ฯลฯ ทั้งๆ ที่ FAO ซึ่งเป็นผู้กำหนดมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม กำหนดให้แต่ละประเทศสามารถนำมาตรการที่กำหนดไว้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศตนได้

(5) ปล่อยให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริง ซึ่งเป็นหลักการสากลในการแก้ไขปัญหา โดยมิได้ทักท้วงหรือแนะนำ เป็นผลให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมา นอกจากจะไม่สามารถนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากสถานะประเทศที่มีคำประกาศแจ้งเตือนได้แล้ว ยังทำให้ภาคการประมงของไทยเกือบจะล่มสลายทั้งระบบ

(6) ไม่ให้โอกาสกับรัฐบาลไทยในการทำความเข้าใจ และให้เวลาในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ที่เหมาะสมและเพียงพอ โดยกำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ระบุไว้ในคำวินิจฉัยทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งบางกรณีโดยข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ทั้งๆ ที่ผู้บริหารประเทศและหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวขาดองค์ความรู้ด้านการประมงทะเล ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็นในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิคและองค์ความรู้เฉพาะทาง จึงทำให้สามารถคิดไปได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจเกิดจากการที่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลที่มิได้มีที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่สอดรับกับความคิดเห็นในเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนที่นานาอารยประเทศได้ให้การรับรอง

(7) มีการนำประเด็นของการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของมาตรการในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ที่ FAO กำหนดขึ้นนั้น คือ การอนุรักษ์ การจัดการ และการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำ (fish stock) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดความยั่งยืน และเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคต ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS 1982) ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การนำประเด็นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวพันกับประเด็นแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยให้รัฐบาลไทยต้องดำเนินการควบคู่กันไปนั้น ทำให้ประเด็นปัญหาที่รัฐบาลไทยต้องแก้ไขมีความซับซ้อน ยุ่งยาก และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหามากขึ้น ซึ่งหากพิจารณาด้วยความเป็นธรรมแล้ว แม้แต่ในสหภาพยุโรปเองก็ยังมีหลายประเทศที่มีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ซึ่งปรากฏตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอ หรือแม้แต่อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานสากล (ILO) ฉบับที่ C188 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล ที่สหภาพยุโรปพยายามผลักดันให้ประเทศไทยดำเนินการให้สัตยาบันโดยเร็วนั้น ก็มีประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมยุโรปเพียง 2-3 ประเทศ จาก 28 ประเทศสมาชิกเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ และดำเนินการให้สัตยาบัน

(8) การตรวจประเมินผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมนั้น คณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปมีความเข้มงวด รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขและข้อเสนอแนะในการดำเนินการกับประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่ได้รับใบเหลือง หรือมีคำประกาศแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้คิดไปได้ว่าสาเหตุมาจากการที่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลที่มิได้มีที่มาจากระบอบประชาธิปไตย

ทำไมเราไม่เอา EU: เพราะเราสงสัยคุณ

จากการติดตามการตรวจเยี่ยมของคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปและการให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ของประเทศไทยต่อรัฐบาล ทำให้เราอดสงสัยในเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรปในการให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยว่า เกิดจากเหตุผลใด ระหว่าง

(1) การนำมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และรักษาประโยชน์ให้กับชาวประมงในสหภาพยุโรป

(2) ต้องการให้ประเทศไทยมีการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และใช้ประโยชน์อย่างรับผิดชอบ ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS 1982) โดยใช้มาตรการป้องกันและขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเป็นเครื่องมือ

(3) ต้องการตอบโต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของประเทศไทย เพื่อบีบให้คืนอำนาจให้กลับคืนสู่ประชาชนเช่นอารยประเทศโดยเร็ว

EU, you did unfair to us.

เราเห็นว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องเงื่อนเวลาในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากการศึกษาถึงวิธีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ของประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ของสหภาพยุโรปนั้น สหภาพยุโรปใช้เวลาในการพัฒนามาตรการต่างๆ เป็นเวลานาน และใช้เวลาในการดำเนินการลดการลงแรงประมงนานกว่าสามสิบปี โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการไปแล้วมากว่า 5 แสนล้านบาท

ซึ่ง “สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย” เชื่อว่า คณะกรรมาธิการยุโรปทราบดีว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทย “เดินมาอย่างผิดทาง” มีการเร่งรัดการดำเนินการอย่างไม่รอบคอบ รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ฟังเสียงประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริง แต่คณะกรรมาธิการยุโรปก็นิ่งเฉย ไม่ทักท้วง กลับพยายามเพิ่มความกดดันและบีบคั้นให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ชาวประมงไทย ครอบครัว ผู้ประกอบการในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งส่งผลกระทบสร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศชาติอย่างรวดเร็วและรุนแรงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

สิ่งเหล่านี้จึงตอกย้ำถึงความคลางแคลงใจในเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าต้องการเห็นการประมงทะเลของประเทศไทยปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม จริงหรือไม่ อย่างไร

ฝากพี่น้องคนไทยช่วยพิจารณาด้วยครับ