ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ศาลสั่งจำคุก “จิตตนาถ ลิ้มทองกุล – พชร สมุทวณิช” และ “ตำรวจซาอุฯ ไม่เอาผิดสาวกระโปรงสั้นชมโบราณสถาน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ศาลสั่งจำคุก “จิตตนาถ ลิ้มทองกุล – พชร สมุทวณิช” และ “ตำรวจซาอุฯ ไม่เอาผิดสาวกระโปรงสั้นชมโบราณสถาน”

22 กรกฎาคม 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 15-21 ก.ค. 2560

  • ศาลสั่งจำคุก “จิตตนาถ ลิ้มทองกุล – พชร สมุทวณิช” ทำกิจการวิทยุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • องค์กรพระสังฆาธิการฯ แถลงการณ์ต้าน ผอ.พศ.
  • นายกฯ ห่วง “นักเรียน-นักศึกษา” บันทึกภาพ-เสียง แทนจด
  • โพสต์เหล้าเบียร์ “ได้ลุ้น” ปรับสองแสน-คุกหนึ่งปี
  • ตำรวจซาอุฯ ไม่เอาผิดสาวกระโปรงสั้นชมโบราณสถาน
  • ศาลสั่งจำคุก “จิตตนาถ ลิ้มทองกุล – พชร สมุทวณิช” ทำกิจการวิทยุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสด (https://www.khaosod.co.th/?p=445268)

    เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 18 ก.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1870/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล และนายพชร สมุทวณิช ผู้บริหารบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการสาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต หลังจากเดือนกันยายน 2548 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549

    จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ โดยร่วมกันทำการบันทึกรายการภาพและเสียงหรือทำการถ่ายทอดสดรายการตามที่มีกำหนดไว้ในผังรายการแล้วส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงผ่านทางสายเคเบิลใยแก้ว ซึ่งเช่าจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งต่อไปที่เกาะฮ่องกง ประเทศจีน จากนั้นมีการส่งสัญญาณภาพและเสียงต่อไปยังดาวเทียม NSS6 แล้วดาวเทียมส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงกลับมาที่ประเทศไทยทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อดูรายการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อันเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

    คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 แต่ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีความเห็นโดยสรุปว่า แม้ไม่มีพยานคนใดเบิกความให้เห็นว่าการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยการส่งภาพและเสียงของจำเลยทั้งสามในขั้นตอนใดที่จะถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 แต่โจทก์มีคำให้การในชั้นสอบสวนของ นายอานนท์ ลอยกุลนันท์ เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ โดยพยานโจทก์สรุปได้ความว่า สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ของจำเลยที่ 1 มีการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านสายเคเบิลใยแก้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 เช่าสายเคเบิล จากบริษัท กสท และเป็นการส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงในประเทศไทย จากนั้นส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังสายเคเบิลใต้น้ำจากประเทศไทย ไปที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นส่งสัญญาณภาพและเสียงไปยังดาวเทียม NSS-6 และส่งสัญญาณจากดาวเทียวดังกล่าวกลับมายังประเทศไทย

    พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งวิทยุโทรทัศน์หรือ ประกอบกิจการโทรทัศน์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

    ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2495 มาตรา 3, 5, 17 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสาม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 เหลือจำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 60,000 บาท กับให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวัน วันละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2548 – 23 ม.ค. 2549

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังไม่ถือเป็นที่สุด โจทก์หรือจำเลยสามารถยื่นฎีกาได้อีกภายในเวลา 30 วัน

    องค์กรพระสังฆาธิการฯ แถลงการณ์ต้าน ผอ.พศ.

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (https://goo.gl/i5u7mp)

    วันที่ 17 ก.ค. 2560 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานถึงแถลงการณ์องค์กรพระสังฆาธิการแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการแชร์ต่อกันในโลกออนไลน์ เรื่องการทุจริตเงินอุดหนุนพัฒนาวัดและเงินอุดหนุนการศึกษาสงฆ์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยมีความตอนหนึ่งกล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พศ. เกี่ยวกับการทุจริตเงินอุดหนุนพัฒนาวัดทั่วราชอาณาจักรทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกาย ซึ่ง ผอ.พศ. ให้สัมภาษณ์เสมือนว่าเจ้าอาวาสวัดต่างๆ เป็นผู้ทุจริตโกงกินงบประมาณแผ่นดินดังกล่าวเสียเอง ทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาบันพระพุทธศาสนาโดยภาพรวม ทั้งที่ผลสอบข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏ

    นอกจากนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวยังบอกว่า การให้ข่าวแบบคลุมเคลือของ ผอ.พศ. แสดงถึงความบกพร่องอย่างรุนแรงด้านภาวะผู้นำ หลักธรรมาภิบาล และวุฒิภาวะในฐานะผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทางพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการโยกย้ายข้าราชการของ ผอ.พศ. ที่มุ่งโยกย้ายข้าราชการผู้ปฏิบัติการมากกว่าที่จะเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีหลักฐานพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชัน

    และในตอนท้านของแถลงการณ์ได้มีการระบุว่า องค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทยจึงแถลงการณ์มาเพื่อให้ทุกวัด และโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาทุกแห่งภายในประเทศและต่างประเทศขึ้นป้ายไม่ขอรับเงินอุดหนุนใดๆจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ พศ. หรือผู้นำ พศ. แสดงความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นใน พศ. เชิงประจักษ์เสียก่อน โดยไม่กระทำเพียงหวังสร้างเครดิตให้แก่ตนเองเท่านั้น

    นายกฯ ห่วง “นักเรียน-นักศึกษา” บันทึกภาพ-เสียง แทนจด

    ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ.
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (https://goo.gl/Gaipm5)

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ นายกฯ ได้ย้ำเรื่องการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาว่า ให้ดูความพร้อมของโรงเรียนและครูด้วย อีกทั้งควรนำความรู้เรื่องภูมิศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา และการประเมินผลผู้เรียนในทุกระดับชั้น ทุกวิชาจะต้องได้รับการประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อสอบในการประเมิน ควรเป็นอัตนัยแบบข้อเขียน เพื่อฝึกให้เด็กได้เขียน และคิดวิเคราะห์เป็น และให้นำระบบอีเลิร์นนิ่ง มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน สำหรับการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย

    “นายกฯ เป็นห่วงว่าปัจจุบันการเรียนการสอนในชั้นเรียน นักเรียน นักศึกษา ไม่นิยมจดบันทึก ทั้งที่การจดบันทึกจะช่วยให้เด็กได้คิดและช่วยจำ แต่ผู้เรียนกลับใช้วิธีการนำโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูป บันทึกเสียงแทนการจด ดังนั้น ในส่วนของ ศธ. ผมจะกำชับให้สถานศึกษาทุกระดับ เข้มงวดเรื่องการนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องเรียน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการใช้โทรศัพท์มือถือ จะเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ใช้ได้เฉพาะนอกเวลาเรียนที่มีความจำเป็นในการติดต่อผู้ปกครองเท่านั้น ซึ่งโรงเรียนบางแห่งเข้มงวดในเรื่องนี้อยู่แล้ว” ปลัด ศธ. กล่าว

    โพสต์เหล้าเบียร์ “ได้ลุ้น” ปรับสองแสน-คุกหนึ่งปี

    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 ก.ค.2560 ที่ห้องประชุมผิวพรรณ สภ.เมืองนนทบุรี – พล.ต.อ.ดร.วิระชัย ทรงเมตตา ที่ปรึกษาสบ.10 และหัวหน้าคณะทำงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ เดินทางมาประชุมและติดตามเร่งรัดคดี พร้อมตรวจสอบเอกสารหลักฐานในการดำเนินคดีกับเหล่าศิลปินดารา นักร้อง และเน็ตไอดอล ที่ถ่ายรูปโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แอบแฝงหลังได้รับเอกสารแจ้งความดำเนินคดีจากทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 5 คดี

    โดยมี นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมประชุมนานกว่า 1 ชม.

    พล.ต.อ.ดร.วิระชัย กล่าวว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรีได้รับเอกสารแจ้งความดำเนินคดีกับศิลปินดาราจากทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกกอฮอล์แล้วนั้นตนจึงเดินทางมากำชับพนักงานสอบสวนให้ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน รูปถ่ายที่น่าจะเข้าข่ายการกระทำผิดตามพรบ.เครื่องดื่มและแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 มาตรา 32 ในฐานความผิดร่วมกันโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ในเบื้องต้นพบว่ามีผู้กระทำผิดในขณะนี้ทั้งหมด 12 รายและมีการดำเนินคดีไปแล้ว 2 ราย ส่วนในวันนี้จากการตรวจสอบพบว่ามีดาราที่เข้าข่ายจะกระทำความผิดจำนวน 5 ราย ตนจึงอยากฝากเตือนผู้ที่ถ่ายรูปในลักษณะที่มีการโชว์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ด้วยและมีการนำรูปไปลงในโซเชียลไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดาหรือศิลปินดารา ก็ถือว่ามีความผิดเหมือนกัน แต่หากรู้แล้วว่าทำผิดและดำเนินการแก้ไขหรือลบรูปดังกล่าวออกตั้งแต่ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะไม่สามารถดำเนินคดีได้ แต่หากว่ายังไม่ลบรูปหรือดำเนินการใดๆทางพนักงานสอบสวนจะรวบร่วมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป และหากประชาชนคนใดพบเจอการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวสามารถแจ้งความดำเนินดคีได้ทุกสถานีตำรวจนอกจากนี้ผู้ที่แจ้งความดำเนินคดียังจะได้รับรางวัลนำจับเป็นเงิน 1 ใน 4 ของค่าปรับ

    สำหรับผู้กระทำความผิดครั้งแรกทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำการสั่งปรับไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทและถ้าถูกจับเป็นครั้งที่ 2 จะสั่งปรับไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท

    ตำรวจซาอุฯ ไม่เอาผิดสาวกระโปรงสั้นชมโบราณสถาน

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เนชั่นทีวี (https://goo.gl/uhinLj)

    เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า จากกรณีที่มีคลิปวิดีโอหญิงสาวสวมกระโปรงสั้นและสวมเสื้อเอวลอย เดินไปรอบๆ ป้อมโบราณร้างในเมืองอูเชียเกอร์ ทางตอนเหนือของกรุงรียาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเป็นอนุรักษนิยมมากที่สุดของประเทศ จนนำไปสู่การควบคุมตัวหญิงสาวคนดังกล่าว

    กระทรวงข่าวสารของซาอุดีอาระเบียระบุว่า สตรีคนดังกล่าวสารภาพว่านุ่งกระโปรงสั้นและสวมเสื้อเอวลอยเดินไปเข้าในโบราณสถานจริง แต่บอกว่า เธอไม่รู้ว่าวิดีโอถูกอัปโหลดลงบนสื่อออนไลน์

    คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว และจุดชนวนให้เกิดความคิดเห็นแตกเป็นสองฝ่ายทั่วภูมิภาค ในประเด็นคำถามเกี่ยวกับเพศและสิทธิในประเทศนี้ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบีย กำหนดให้ผู้หญิงชาวซาอุดีอาระเบียต้องสวมชุดอาบายะ ซึ่งเป็นชุดกระโปรงยาวหลวมๆ และมีผ้าคลุมศรีษะ เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียยังมีกฎหมายจำกัดสิทธิของสตรีในหลายเรื่อง เช่น ไม่อนุญาตให้ขับรถ และต้องมีผู้ติดตาม หรือได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากญาติผู้ชาย โดยปกติแล้วมักเป็น บิดา, สามี หรือพี่น้อง กรณีต้องการเข้ารับการศึกษา ทำงาน หรือเดินทาง