ThaiPublica > คอลัมน์ > นวัตกรรมของการเดินทางยุคหน้า(2) : จิ๊กซอว์สามประสานของการเดินทางยุคหน้าคืออะไร

นวัตกรรมของการเดินทางยุคหน้า(2) : จิ๊กซอว์สามประสานของการเดินทางยุคหน้าคืออะไร

11 กรกฎาคม 2017


อังคีร์ ศรีภคากร

ในขณะที่บ้านเรายังตื่นเต้นปนตระหนกกับการมาของ EV หรือรถไฟฟ้า ถ้าใครตามข่าวค่ายรถหรือประเทศหลายๆ ที่ เขากำลังง่วนและช่วงชิงเรื่องระบบขับขี่อัตโนมัติและบริการแบ่งปันรถกันอย่างขมีขมัน

ในตอนที่แล้ว ได้เล่าไปแล้วถึงเรื่องรถไฟฟ้า รถไฟฟ้า (electric vehicle) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของดีเอ็นเอพันธุ์ใหม่ของรถและการเดินทางสัญจรในศตวรรษนี้ โนว์ฮาวของเครื่องยนต์ที่เคยถูกถือว่าเป็นสุดยอดทางวิศวกรรมถูกลดระดับความสำคัญลงไป หัวใจของระบบขับเคลื่อนยุคหน้าอัดแน่นไปด้วยเรื่องของไฟฟ้า ซอฟต์แวร์ และไอที และด้วยจุดเปลี่ยนนี้เอง ที่เป็นโอกาสของประเทศหน้าใหม่และบริษัทหน้าใหม่ที่จะมีโอกาสถีบตัวขึ้นมาอยู่ในแนวหน้าของอุตสาหกรรมนี้ ไม่ว่าจะผ่านการดึงการลงทุนจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่มาลงฐานการผลิต หรือใช้การทดสอบรูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศตัวเองให้พร้อมขยายไปสร้างรายได้ในประเทศอื่น

กับกรณีของรถไฟฟ้า เรื่องหลักอยู่ที่เทคโนโลยีที่พลิกรูปแบบไป อีกจิ๊กซอว์หนึ่งของการเดินทางยุคหน้าคือ ระบบขับขี่อัตโนมัติ (autonomous driving) กรณีนี้เรื่องหลักมุ่งตรงไปที่คน คือระบบขับขี่อัตโนมัติจะยกระดับความปลอดภัยของการเดินทางได้อย่างสำคัญ

คู่ขนานกับการพัฒนายานยนต์ที่พาให้ผู้คนได้เดินทางอย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ได้พัฒนารูปแบบความปลอดภัยมามากมาย ตั้งแต่ระบบพาสซีฟเซฟตี้ เช่น โครงสร้างรถที่ยุบตัวเพื่อลดแรงกระแทกแก่ผู้โดยสาร เข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย มาจนถึงระบบแอคทีฟเซฟตี้ เช่น ระบบเบรก ABS ระบบควบคุมการทรงตัว VSC แม้จะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีก็ยังมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1.3 ล้านคน และบาดเจ็บกว่า 50,000,000 คนทั่วโลก จากข้อมูลในปี 2015 (UN) จนมาในวันนี้ ความก้าวหน้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เซ็นเซอร์ต่างๆ และความฉลาดของคอมพิวเตอร์ จะเข้ามาเสริมความปลอดภัยในการขับขี่ของมนุษย์ได้ ในรูปแบบของระบบ ADAS (advanced driver assistance system) หรือระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง

ในเรื่องอุบัติเหตุทางถนนนั้น ข้อมูลทางสถิติชี้ชัดว่าระหว่างคน รถ และถนน ก็เป็นคนนี่แหละที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของอุบัติเหตุ จากการแก้ที่ปลายทางเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วในระบบพาสซีฟเซฟตี้ มาสู่การปรับตัวของรถต่อสถานการณ์สุ่มเสี่ยงในระบบแอคทีฟเซฟตี้ ระบบ ADAS เป็นการเข้าแทรกแซงการควบคุมรถของผู้ขับขี่ในระดับต่างๆ กัน เพื่อลดโอกาสของการเกิดเหตุให้ได้มากที่สุด โดยใช้เซ็นเซอร์ที่มีความไวกว่าสัมผัสของมนุษย์ คู่กับคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลไปสู่การตัดสินใจได้ไวกว่าสัมปชัญญะของมนุษย์

ผู้อ่านอาจจะบอกว่ากำลังคุยกันเรื่องระบบขับขี่อัตโนมัติ แต่ทำไมไม่เห็นพูดถึง กลับมาเล่าแต่เรื่องระบบ ADAS ก็ต้องบอกว่าในข่าวทุกวันนี้ จะมีสองคำที่ใช้ซ้อนทับกันอยู่คือ ระบบขับขี่อัตโนมัติ (autonomous driving) และรถไร้คนขับ (driverless car) ในเชิงเทคนิคแล้วพูดได้ว่า ระบบขับขี่อัตโนมัติครอบคลุมระบบ ADAS จากง่ายไปหายาก นับแต่การแค่ช่วยเบรกไปจนถึงการหมุนพวงมาลัยและกดคันเร่งและแตะแป้นเบรกแทน ในขณะที่รถไร้คนขับหมายถึงการบรรลุขั้นสุดยอดของระบบ ADAS คือการไม่มีทั้งพวงมาลัยและคันเร่งและแป้นเบรกในตัวรถแล้วโดยสิ้นเชิง

แน่นอนว่า เทคโนโลยีระบบขับขี่อัตโนมัตินี้ตอบโจทย์ของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ในเรื่องความปลอดภัยได้อย่างสำคัญ การพัฒนาก้าวล้ำไป จนแม้แต่เริ่มมีการออกแบบในลักษณะที่ลดความแข็งแรงของโครงสร้างของรถ ทั้งนี้เพราะมั่นใจในความปลอดภัยที่ระบบจะมีให้ได้แก่ผู้โดยสารและผู้ขับขี่ แล้วใช้การลดน้ำหนักของโครงสร้างไปช่วยลดอัตราการใช้พลังงานในการขับขี่

การจำแนกห้าระดับของระบบ ADAS

บริการแบ่งปันรถ:car sharing

จากเรื่องเทคโนโลยีในรถไฟฟ้า มาถึงเรื่องความปลอดภัยในระบบขับขี่อัตโนมัติ จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายเป็นเรื่องธุรกิจ ก็คือ บริการแบ่งปันรถ (car sharing)

บริการแบ่งปันรถเป็นการพลิกเศรษฐศาสตร์ของการใช้รถจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากรถยนต์ที่หมายถึงความสะดวกสบายในอดีต ในปัจจุบันภาพดูจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ การใช้รถยนต์หมายถึงการจราจรที่ติดขัด ไม่ถึงที่หมายสักที และเมื่อถึงที่หมายก็หาที่จอดรถไม่ได้อีก และในโลกปัจจุบัน กับผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ช่วงชีวิตการใช้งานก็ไม่ได้ยาวนานเหมือนในอดีต มือถือก็ตาม กล้องถ่ายรูปก็ตาม ใช้ได้ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนรุ่น ความคุ้นชินนี้ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการถือครองรถยนต์

แล้วยังไงคือบริการแบ่งปันรถ บริการนี้เป็นชื่อรวมของธุรกิจการให้บริการเดินทางส่วนตัวด้วยรถ โดยเป็นการจับคู่ความต้องการการเดินทางในเวลาหนึ่งกับความว่างของผู้ให้บริการในเวลานั้น ซึ่งมีทั้งแบบมาพร้อมคนขับ เช่น Uber หรือแบบขับเองจากจุดจอดไปยังอีกจุดจอด เช่น Autolib หรือไปปล่อยรถในจุดจอดที่ไหนก็ได้ในบริเวณ เช่น car2go หรือ Haupcar ที่เป็นบริการแบ่งปันรถเจ้าแรกในประเทศไทย

หลากรูปแบบของโมเดลธุรกิจของบริการแบ่งปันรถในปัจจุบัน ที่มา : Future of Mobility-Introducing the New Business Models Revolutionising Urban Mobility, Frost&Sullivan 2015

โดยพื้นฐานแล้ว บริการแบ่งปันรถเป็นธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ที่จะให้มูลค่าเพิ่มมาจากทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว คือรถบนถนนหรือรถที่จอดไว้ยังไม่ใช้งานระหว่างวัน แต่จริงๆ แล้วธุรกิจที่จะเกิดได้มีมากกว่านั้นอีกมาก ดังจะสังเกตได้จากข่าวด้านธุรกิจยานยนต์ ว่ามีเม็ดเงินไหลไปลงทุนกับบริษัทที่ให้บริการแบ่งปันรถเช่น Uber เป็นจำนวนมาก

และที่น่าสนใจก็คือ ตามข่าว กลายเป็นว่าเงินลงทุนมาจากบริษัทรถค่ายยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น ก็ในเมื่อจะมีบริการจำพวกนี้มีมากขึ้น คนก็ไม่ซื้อรถ บริษัทรถก็คงแย่ แต่จริงๆ แล้ว นับวัน ยิ่งรถฉลาดขึ้น มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารมากขึ้น นอกจากรายได้จากการขายขาดของตัวรถ รายได้ของบริษัทรถยนต์ในปัจจุบันยิ่งมาจากการให้บริการกับลูกค้าหลังการขาย ทั้งบริการในการซ่อมบำรุงที่เราคุ้นเคย มาจนถึงการให้บริการเชิงข้อมูล ที่มีมากขึ้นมาก และที่แน่ๆ ก็คือ กับแนวโน้มการขยายตัวของเมืองในทุกภูมิภาคของโลก ความต้องการการสัญจรมีโอกาสทำรายได้มากกว่าการผลักดันการซื้อรถให้ไปล้นถนนที่เต็มไปด้วยรถอยู่แล้ว

ยานยนต์หนึ่งในอุตสาหกรรม S-curve

แล้ว…สามเรื่องนี้สำคัญกับประเทศไทยอย่างไร กับเรื่องรถไฟฟ้า รัฐบาลระบุชัดว่ายานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-curve ซึ่งก็หมายถึงการมุ่งเป้าไปที่การขยับชุดเทคโนโลยียานยนต์แบบใหม่เพื่อขยับเพิ่มมูลค่าที่จะผลิตได้จากซัพพลายเชน เพราะการที่เราไม่มียี่ห้อรถยนต์เป็นของตัวเอง ระหว่างบริษัทผู้ผลิตและซัพพลายเชน เม็ดเงินที่จะไหลกลับมาหล่อเลี้ยงประเทศก็คงเดาได้ว่ามาจากซัพพลายเชนเป็นสำคัญ

ความตั้งใจนี้ก็สอดคล้องกับเป้าหมายของซัพพลายเชนหลายเจ้าในประเทศ ซึ่งถึงแม้จะผลิตชิ้นส่วนจำนวนมากในตัวรถ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงชิ้นส่วนมูลค่าสูงเช่นเครื่องยนต์ แต่นั่นก็ด้วยการที่เราไม่มียี่ห้อรถยนต์เป็นของตัวเอง ฐานความรู้ของชิ้นส่วนมูลค่าสูงจึงไม่อยู่ในประเทศ และการสร้างองค์ความรู้ตรงนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องสั่งสมมาอย่างยาวนาน จนมาถึงจังหวะของการเปลี่ยนผ่านสู่รถไฟฟ้านี่เอง ที่ทุกประเทศใหญ่หรือเล็ก ทุกบริษัทใหญ่หรือเล็ก ก็เหมือนจะนับหนึ่งพร้อมๆ กันหมด

หากจะยกตัวอย่าง การลงทุนเพื่อสร้างอนาคตให้กับตัวเองก็เป็นสิ่งที่ประเทศจีนทำกับอุตสาหกรรมยานยนต์มาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในกรอบ New Energy Vehicle ซึ่งถึงแม้มาถึงวันนี้ การผลักดันผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดโลกจะสะดุดอยู่บ้างในตลาดรถเก๋ง แต่กับการพึ่งพาตนเองได้ในประเทศ ก็ถือว่าประเทศจีนได้สลัดตัวเองออกจากพันธนาการของเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของเครื่องยนต์น้ำมันได้ พึ่งพาตัวเองได้ในเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับประเทศไทย มาในวันนี้ ถึงแม้เราจะเริ่มช้าไปสักนิด แต่กับรากฐานความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสม การเข้าถึงการผลิตชิ้นส่วนมูลค่าสูงเท่านั้นที่จะยกระดับซัพพลายเชน พาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ S-curve ได้

สำหรับเรื่องระบบขับขี่อัตโนมัติ ถ้ามองไปถึงรถไร้คนขับ อาจมองว่าฝันเลื่อนลอยไปไกล แต่ระบบขับขี่อัตโนมัติเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยระบบ ADAS ขั้นต้น เช่น ระบบเตือนก่อนการชนด้านหน้า (forward collision warning) หรือระบบควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (lane keeping) ซึ่งเป็นระบบที่มีอยู่ในเชิงพาณิชย์แล้ว และถึงดูว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นขั้นต้นๆ ของระบบขับขี่อัตโนมัติ แต่จะช่วยลดโอการการเกิดเหตุในกรณีที่พบบ่อยว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การหลับใน หรือการใช้มือถือในรถจนรถออกนอกเส้นทาง และข้อมูลทางสถิติก็บ่งชี้ว่าเทคโนโลยีขั้นต้นเหล่านี้ให้ประสิทธิผลในการลดการเกิดอุบัติเหตุได้ในสัดส่วนที่มากกว่าเทคโนโลยีขั้นที่สูงกว่าเสียอีก นอกจากโอกาสการลดอุบัติเหตุแล้ว ที่สำคัญ สำหรับยานยนต์สมัยใหม่ นับวัน ระบบ ADAS ก็จะเป็นอีกส่วนประกอบในรถที่มีมูลค่าสูงขึ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้น จึงเป็นเทคโนโลยีที่ซัพพลายเชนควรมุ่งเป้าไว้ด้วย

อุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะที่เราคุ้นเคยกันอย่างชินชาเกินไปหรือไม่
ที่มาภาพ : https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1434423011

อีกข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือระบบ ADAS ถ้าจะให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลดี ระบบก็ต้องถูกโปรแกรมให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้ขับขี่และลักษณะท้องถนนของประเทศไทยด้วย ยกตัวอย่างเช่น ระบบเตือนก่อนการชนด้านหน้าที่เริ่มมีติดตั้งมากับรถแล้วในปัจจุบัน ถ้าไม่มีการปรับแต่งให้เหมาะกับพฤติกรรมการขับจ่อคันหน้าอย่างที่เราคุ้นเคย ซึ่งในประเทศผู้ผลิต เช่น ญี่ปุ่นหรือเยอรมัน มีพฤติกรรมต่างไปมาก หรือไม่ออกแบบเผื่อการปาดเข้าปาดออกของมอเตอร์ไซค์ ก็รังจะมีแต่การเตือนที่ผิดพลาดและสร้างความรำคาญจนผู้ใช้มักจะปิดระบบ จนเสียโอกาสในการใช้เพื่อความปลอดภัย ดังนั้นด้วยข้อเท็จจริงนี้ แทนที่จะยอมให้เป็นข้อจำกัดให้บริษัทผู้ผลิตไม่สามารถนำระบบความปลอดภัยที่ทันสมัยมาใช้ในประเทศไทยได้ ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่สนับสนุนให้มีหน่วยงานพัฒนาฐานข้อมูลพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อรองรับการพัฒนาระบบ ADAS ในประเทศ

ดังนั้น การเริ่มผลักดันการนำมาใช้ของระบบ ADAS แม้ระบบอย่างง่าย จะให้ผลลดการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างสำคัญ และถ้ามีการนำมาใช้กันในปริมาณที่เพียงพอ เช่น การบังคับให้ติดตั้งในรถสาธารณะ ก็จะมีปริมาณในตลาดเพียงพอที่จะดึงดูดการพัฒนาซัพพลายเชน และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ต่อการเกิดอุบัติเหตุ การพัฒนาอุตสาหกรรมของระบบ ADAS ก็เป็นอีกรากฐานหนึ่งของยานยนต์สมัยใหม่ที่จะไปสู่มูลค่าเพิ่มจาก S-curve ได้เช่นเดียวกันกับรถไฟฟ้า

นอกจากเรื่องความปลอดภัย เทคโนโลยีที่จะมาช่วยเรื่องความอิสระ-ความสะดวกสบายในการเดินทางในเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญ ในวันนี้ ต้องยอมรับว่าถ้าพูดถึงทางเลี่ยงจากการจราจรที่ติดขัด และการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายกับที่จอดรถ ทางออกเดียวในปัจจุบันคือโครงข่ายรถไฟฟ้า แต่ก็ต้องรอกันนานปีกว่าจะครอบคลุมมากขึ้นกว่านี้ และมาพร้อมกับการลงทุนระดับแสนล้านก็คือโครงข่ายรถไฟฟ้า แต่ในปัจจุบัน บริการแบ่งปันรถอย่าง Uber ให้อีกทางเลือกได้ทันทีในวันนี้ กับการไม่ต้องเหนื่อยกับการจราจรที่ติดขัด และเลือกความสบายได้ในรถรุ่นที่มีมาให้เลือก อันนี้สอดคล้องกับนิยามของเทคโนโลยีพลิกโลกหรือ disruptive technology โดยในกรณีนี้ เป็นการพลิกจากที่การเดินทางสัญจรได้หมายถึงการต้องเป็นเจ้าของรถยนต์มาเป็นการเข้าถึงบริการแทน หรือที่ใช้คำเรียกที่ว่า MaaS (Mobility as a-Service) และเป็นการพลิกบทบาทผู้เดินทางเป็นผู้ให้บริการสัญจร แต่ในเมื่ออยู่ดีๆ มาพลิกรูปแบบการให้บริการแบบนี้ ก็ไม่แปลกที่จะเจอกับข้อติดขัดทางกฎหมายอย่างที่ได้ยินกันอยู่ เพราะในบรรดาการเปลี่ยนแปลง กฎหมายก็มักจะใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนช้ากว่าเขา

ในเมื่อเราอธิบายบริการแบ่งปันรถด้วยนิยามของเทคโนโลยีพลิกโลก คำถามคือ ทำอย่างไรที่สาธารณะจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ในวันนี้เลย ทำอย่างไรให้การพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เหล่านี้จะอยู่กับบริษัทคนไทย แทนที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับให้บริษัทต่างประเทศนำเงินออกนอกประเทศ บริการแบ่งปันรถเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่มาถึงตัวแล้วของเทคโนโลยีพลิกโลก ถ้าสังคมไทยจะอยู่ได้ในโลกที่ปรับไปด้วยเทคโนโลยีพลิกโลกเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่า และกระโดดไปสู่บรรทัดฐานใหม่ (new normal) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ต้องเรียนรู้และมีคำตอบต่อคำถามเหล่านี้

แล้วทำอย่างไร ที่จะขยับไปสู่การเดินทางยุคหน้า

กับสามเรื่อง คือ รถไฟฟ้า ระบบขับขี่อัตโนมัติ และบริการแบ่งปันรถ ที่ดูจะไปคนละด้าน คือ ด้านเทคโนโลยี ความปลอดภัย และรูปแบบทางธุรกิจ แต่ทั้งสามเรื่องนี้อาจถูกมองได้ว่าเป็นสามประสานที่จะพาประเทศไปสู่การเดินทางยุคหน้า เริ่มที่รถไฟฟ้า ที่อาจดูเหมือนกับว่าก็แค่เอาเครื่องยนต์และถังน้ำมันออก แต่การมีมอเตอร์และแบตเตอรี่เป็นเหมือนการฝังดีเอ็นเอใหม่ในรอบ 100 ปีกับเทคโนโลยียานยนต์ ยานยนต์ยุคหน้าถูกอัดแน่นไปด้วยซอฟต์แวร์และไอที ซึ่งก็ด้วยเหตุนี้ทำให้รถไฟฟ้าเป็นฐานที่จะก้าวไปสู่ระบบขับขี่อัตโนมัติได้ง่ายกว่ารถแบบดั้งเดิมมาก และเมื่อมาในวันนี้ รถยนต์ถูกพัฒนาด้วยวัฒนธรรมของธุรกิจซอฟต์แวร์ วงรอบของการพัฒนาจึงลัดสั้นกว่าเดิมมาก ซึ่งเสริมได้ดีกับการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ และกับปัจจุบันของบริการแบ่งปันรถที่ต้นทุนในสัดส่วนที่สูงอยู่กับคนขับ เมื่อระบบขับขี่อัตโนมัติพัฒนาไปสู่รถไร้คนขับ ก็จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินการของบริการแบ่งปันรถได้อย่างสำคัญ รถไฟฟ้ายังช่วยส่งเสริมบริการแบ่งปันรถได้ เพราะเป็นที่รู้กันว่ารถไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายในการทำงานรวมทั้งการบำรุงรักษาที่ต่ำกว่ารถแบบดั้งเดิมมาก รถไฟฟ้าจึงช่วยลดต้นทุนการให้บริการแบ่งปันรถได้ดี และในทางกลับกัน ยิ่งมีการใช้งานรถในสัดส่วนเวลาที่สูงขึ้นในบริการแบ่งปันรถ ก็จะทำให้ต้นทุนของรถไฟฟ้าลดลงได้อีก โดยเฉพาะจากค่าแบตเตอรี่

หรือแม้แต่สามารถทำให้รถไฟฟ้าให้บริการได้ด้วยรถคันที่เล็กลง และจำกัดขนาดของแบตเตอรี่ให้เล็กลงได้ ทั้งนี้ก็ด้วยซอฟต์แวร์ของธุรกิจบริการแบ่งปันรถที่ชาญฉลาด และยิ่งถ้ามีระบบขับขี่อัตโนมัติด้วย การขับไปเติมพลังงานไฟฟ้าในเวลาว่างโดยไร้คนขับก็เป็นไปได้ นี่ก็จะลดขนาดของแบตเตอรี่ในรถไฟฟ้าได้มากเข้าไปอีก สุดท้าย สิ่งที่น่าสนใจมากคือ ด้วยการมองไปที่ตัวรถแบบ MaaS คือเห็นที่บริการที่มีให้ มากกว่ายึดติดที่รูปลักษณ์ของตัวรถ ก็หมายถึงว่ารถที่รูปร่าง หน้าตา หรือแม้แต่ยี่ห้อต่างไปก็เข้ามาในตลาดได้ ดังนั้น ถ้าวันนั้นมาถึง ซัพพลายเชนในประเทศอาจเติบโตไปเป็นบริษัทผู้ผลิตรถที่มีตลาด MaaS ได้ในปริมาณที่ไม่น้อยเลย โดยอาจไม่มีใครสนใจว่ายี่ห้ออะไร

ดังนั้น กับโลกวันนี้ที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว-ปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมนำมาสู่ดีเอ็นเอใหม่ของการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า พลังการคิดคำนวนอันมหาศาลนำมาสู่ที่ทำงานกับปัญญาประดิษฐ์ในระบบขับขี่อัตโนมัติ-และการมาถึงของสังคมเมืองที่หนาแน่นไปด้วยผู้คนแต่ก็ล้อมรอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานของไอที-ที่นำมาสู่ตลาด MaaS ในบริการแบ่งปันรถ ไม่ว่าท่านจะอยู่มุมไหนของสามประสานนี้ ไม่ว่าจะในบทบาทผู้พัฒนา หรือผู้ใช้บริการ เรามาเริ่มนับหนึ่งกัน เพื่อขับเคลื่อนวงล้อของการเกื้อหนุนกันในสามเทคโนโลยีนี้ให้หมุนเป็นวงรอบ เพื่อพาประเทศไปสู่การเดินทางยุคหน้า

อ่านจบแล้ว คุณคิดอย่างไร

บทความนี้ทำให้คุณติดตามอ่านข่าวรถไฟฟ้า-ระบบขับขี่อัตโนมัติ-บริการแบ่งปันรถได้ง่ายขึ้นหรือไม่

ในฐานะผู้บริโภค ที่ต้องการทางเลือกในการสัญจรที่ทันสมัย ปลอดภัย และประหยัดเงิน คุณรู้สึกว่าเรากำลังเสียโอกาสหรือไม่ กับสถานการณ์ปัจจุบัน

และกับเศรษฐกิจไทยในวันนี้ คุณคิดว่ารัฐไทยควรจะทำอะไร กับการเอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี ต่อการดึงระบบความปลอดภัยมาลงเมืองไทย และต่อการผลักดันให้มี MaaS เกิดขึ้นให้ทันกับระบบรางที่จะครบโครงข่ายในอีกไม่นาน