ThaiPublica > คอลัมน์ > กระบวนการและผลทางกฎหมาย เมื่อผู้บริโภคฟ้องฟอร์ดเป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action)

กระบวนการและผลทางกฎหมาย เมื่อผู้บริโภคฟ้องฟอร์ดเป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action)

13 กรกฎาคม 2017


ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเหยื่อรถยนต์ https://www.facebook.com/substandard.cars/photos/

ตามที่มีข่าวว่าผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ฟอร์ด ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทในเครือ เป็นจำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค ความรับผิดในความชำรุดบกพร่อง และความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พร้อมกับการยื่นคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มประกอบด้วยผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ฟอร์ดจำนวนหลายร้อยรายนั้น นับว่าเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตั้งแต่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา

โดยขณะนี้ศาลอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มหรือไม่ ล่าสุดศาลได้เลื่อนการไต่สวนคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม จากวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ไปเป็นวันที่ 11 กันยายน 2560 การฟ้องคดีแบบกลุ่มในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและติดตามเป็นอย่างยิ่ง และมีข้อที่น่าสนใจศึกษาด้วยว่ากระบวนการและผลทางกฎหมายในการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นอย่างไร และมีลักษณะเฉพาะอย่างไรบ้าง

การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่บรรดาผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากการกระทำเดียวกัน จึงมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ กรณีที่มีผู้เสียหายที่มีมูลเหตุในการฟ้องคดีร่วมกันเป็นจำนวนมาก การจะฟ้องคดีโดยผู้เสียหายทุกคนเป็นโจทก์ร่วมกันย่อมทำให้ไม่ได้รับความสะดวก หรือถ้าผู้เสียหายทุกคนต่างคนต่างฟ้องคดีก็ย่อมก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทุกคน การดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มที่เป็นผู้เสียหายให้เป็นโจทก์ฟ้องคดี จึงเป็นการหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและความขัดแย้งกันของคำพิพากษา เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล และยังเป็นการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยที่ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีต่อศาล ให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิด้วย

การดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้เป็นวิธีพิจารณาคดีที่นิยมบังคับใช้อย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบกฎหมายแองโกล-อเมริกัน และยังแพร่หลายไปในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณีหรือระบบคอมมอนลอว์ เช่น ประเทศแคนาดา ประเทศออสเตรเลีย และในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย หรือระบบซีวิลลอว์ เช่น รัฐควิเบกของประเทศแคนาดา ประเทศบราซิล ประเทศจีน และประเทศฝรั่งเศส ด้วย

ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งบัญญัติให้การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นวิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้นอีกประเภทหนึ่งนอกเหนือจากวิธีพิจารณาวิสามัญว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ การพิจารณาคดีโดยขาดนัด และอนุญาโตตุลาการ โดยการร่างกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่มของประเทศไทยได้ยกร่างโดยนำหลักการส่วนใหญ่มาจากกฎข้อ ๒๓ ของกฎสหพันธรัฐว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง (Rule 23 of Federal Rules of Civil Procedure) ของสหรัฐอเมริกา บทบัญญัติเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มมีทั้งสิ้น ๔๙ มาตรา ตั้งแต่มาตรา ๒๒๒/๑ ถึง มาตรา ๒๒๒/๔๙ ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยกระบวนพิจารณาส่วนใดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยเฉพาะ ให้นำเอาบทบัญญัติในภาค ๑ บททั่วไป และบทบัญญัติในคดีสามัญของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และกำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเว้นแต่ศาลแขวงมีอำนาจในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

การดำเนินคดีแบบกลุ่มตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าว หมายความถึง การดำเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงสิทธิของโจทก์และสมาชิกกลุ่ม โดยในคดีละเมิด คดีผิดสัญญา คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า กลุ่มบุคคลที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน คือมีข้อเท็จจริงร่วมกันที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องร่วมกันของกลุ่มบุคคล และมีสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เหมือนกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มบุคคลเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม สามารถแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มให้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มพร้อมกับการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้

โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกันจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์เท่านั้นที่จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี ตัวอย่างของกรณีที่สามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ เช่น กรณีรถแก๊สระเบิดทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน เป็นจำนวนมาก กรณีโรงงานปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำทำให้ผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้เลี้ยงปลา ชาวสวน ผู้ใช้น้ำจากแม่น้ำ ได้รับความเสียหาย กรณีที่น้ำมันจากเรือบรรทุกน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลสร้างความเสียหายต่อประชาชน ชาวประมง ระบบนิเวศวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติ และธุรกิจการท่องเที่ยว กรณีกลุ่มลูกจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายจ้าง หรือกลุ่มผู้บริโภคฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจ เป็นต้น

การที่ศาลจะพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม นอกจากศาลจะพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังต้องพิจารณาให้ได้ความด้วยว่า กลุ่มบุคคลมีสมาชิกกลุ่มจำนวนมากและการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญจะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการดำเนินคดี โจทก์มีคุณสมบัติ ส่วนได้เสีย รวมทั้งการได้มาซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่มตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม พ.ศ. 2559 และโดยเฉพาะต้องให้ได้ความชัดเจนว่า โจทก์รวมทั้งทนายความที่โจทก์เสนอให้เป็นทนายความของกลุ่มสามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มโจทก์และทนายความของกลุ่มมีบทบาทสำคัญมากในการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์และเรียกร้องค่าเสียหายแทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมด กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลต้องตรวจสอบการทำหน้าที่ของโจทก์และทนายความของกลุ่มเป็นการเฉพาะด้วย

เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ศาลจะประกาศและส่งคำบอกกล่าวคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มทราบ โดยในประกาศและคำบอกกล่าวนี้จะแจ้งรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับคดี เช่น ชื่อและที่อยู่ของคู่ความและทนายความฝ่ายโจทก์ ข้อความโดยย่อของคำฟ้องและลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ชัดเจน สิทธิของสมาชิกกลุ่ม ระยะเวลาการแจ้งความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ผลของการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ผลของคำพิพากษาที่ผูกพันสมาชิกกลุ่ม การประกาศและส่งคำบอกกล่าวที่มีประสิทธิภาพไปยังสมาชิกกลุ่มให้ได้รับรู้อย่างทั่วถึงกันจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายให้กับสมาชิกกลุ่ม

ผลของคำพิพากษาศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะผูกพันสมาชิกกลุ่มทุกคนแม้ว่าสมาชิกกลุ่มจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก็ตาม อันเป็นการยกเว้นหลักคำพิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความ (Res Judicata) ตามมาตรา ๑๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อย่างไรก็ตาม กฎหมายให้สิทธิสมาชิกกลุ่มที่ไม่ประสงค์จะผูกพันตามคำพิพากษาในคดีแบบกลุ่ม ที่จะแสดงความประสงค์ขอออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม (Opt-out) โดยการแจ้งความประสงค์ต่อศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด และเนื่องจากสมาชิกกลุ่มไม่มีฐานะเป็นคู่ความเพราะไม่ได้เป็นโจทก์ในคดี จึงมีสิทธิจำกัดเพียงเท่าที่กฎหมายกำหนดให้ไว้เท่านั้น เช่น สิทธิในการเข้าฟังการพิจารณาคดี สิทธิในการร้องขอและคัดค้านการร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ สิทธิในการตรวจเอกสารหรือขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนความ สิทธิในการจัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทนทนายความของกลุ่ม และสิทธิในการตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้

การดำเนินคดีแบบกลุ่มมีรูปแบบการดำเนินคดีที่มีลักษณะเฉพาะหลายประการ เช่น ในวันนัดพร้อมหรือวันชี้สองสถานได้กำหนดให้มีการนำหลักการเปิดเผยเอกสาร (Discovery of Document) ที่คู่ความจะต้องนำพยานเอกสารและพยานวัตถุที่ประสงค์จะอ้างอิงมาแสดงต่อศาลเพื่อให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายตรวจดู และการสอบถามข้อเท็จจริง (Interrogatories) ที่ศาลจะสอบถามข้อเท็จจริงต่างๆ ในคดีจากคู่ความว่าข้อเท็จจริงใดยอมรับหรือปฏิเสธ มาใช้ในกระบวนการตรวจสอบพยานหลักฐานและรวบรวมข้อเท็จจริงก่อนวันสืบพยาน และศาลยังมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีเพิ่มเติมได้ด้วยตนเองนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่ความ มีอำนาจในการสั่งให้แบ่งกลุ่มย่อยเนื่องจากลักษณะความเสียหายที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลในกลุ่มได้ด้วย

นอกจากนี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้สมาชิกกลุ่มเข้าแทนที่โจทก์ สั่งให้โจทก์และสมาชิกกลุ่มจัดหาทนายความคนใหม่มาดำเนินคดีแทน และสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และมีบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องอายุความในการฟ้องคดีของสมาชิกกลุ่มสะดุดหยุดลงไว้เป็นการเฉพาะในหลายกรณี เช่น กรณีที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม อายุความในการฟ้องคดีของสมาชิกกลุ่มจะสะดุดหยุดลง นับตั้งแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เป็นต้น

คำพิพากษาของศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะกล่าวถึงลักษณะโดยชัดเจนของกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มย่อยที่จะต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษา และในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน คำพิพากษาต้องระบุจำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม

เมื่อศาลมีคำพิพากษาในการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้โจทก์ชนะคดีแล้ว โจทก์หรือทนายความฝ่ายโจทก์เท่านั้นที่จะมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมด โดยสมาชิกกลุ่มมีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีด้วยตนเอง และศาลต้องประกาศและส่งคำบอกกล่าวแจ้งคำพิพากษาให้อธิบดีกรมบังคับคดีและสมาชิกกลุ่มทราบ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ ออกคำสั่งในเรื่องการขอรับชำระหนี้ และมีอำนาจเรียกคู่ความในคดี สมาชิกกลุ่ม ผู้มีส่วนได้เสีย หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้อง มาสอบสวนในเรื่องคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มได้ สมาชิกกลุ่มมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มคนอื่นได้ สมาชิกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งในเรื่องคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยื่นคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลได้ และหากสมาชิกกลุ่มไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลก็สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้

คู่ความในการดำเนินคดีแบบกลุ่มมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โดยไม่นำข้อจำกัดสิทธิเรื่องทุนทรัพย์ของการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงมาใช้บังคับ ส่วนสมาชิกกลุ่มเนื่องจากไม่ได้เป็นคู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่เป็นการอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลในเรื่องคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานบังคับคดี

เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รวบรวมเงินหรือทรัพย์สินของจำเลยเสร็จและหักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว กฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนที่เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเป็นลำดับแรก จากนั้นจ่ายเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ แล้วจึงจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์เป็นลำดับถัดไป และจ่ายให้โจทก์ สมาชิกกลุ่ม และเจ้าหนี้อื่นที่มีสิทธิได้รับเฉลี่ยทรัพย์ เป็นลำดับสุดท้าย การฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยใช้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม สมาชิกกลุ่มจึงต้องพิจารณาถึงโอกาสที่จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่จะได้รับด้วย

ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ทนายความฝ่ายโจทก์จะมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อประกอบการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยและเป็นผู้ออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไปก่อน กฎหมายจึงกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลทนายความฝ่ายโจทก์ไว้เป็นการเฉพาะ โดยกำหนดให้จำเลยเป็นผู้จ่ายเงินรางวัลทนายความฝ่ายโจทก์ (ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐอเมริกาที่สมาชิกกลุ่มจะเป็นผู้จ่ายเงินรางวัลทนายความ) และให้ศาลกำหนดจำนวนเงินรางวัลโดยพิจารณาถึงความยากง่ายของคดีประกอบกับระยะเวลาและการทำงานของทนายความฝ่ายโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่ทนายความฝ่ายโจทก์ได้เสียไป และในกรณีที่คำพิพากษาศาลกำหนดให้จำเลยใช้เงิน จำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ต้องไม่เกินร้อยละสามสิบของจำนวนเงินที่โจทก์และสมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ ซึ่งเรื่องเงินรางวัลทนายความฝ่ายโจทก์นี้ นักกฎหมายบางท่านมีความคิดเห็นว่า เป็นการยุยงส่งเสริมให้เป็นความกันและทำให้ทนายความได้รับประโยชน์แทนที่จะเป็นสมาชิกกลุ่ม

สำหรับการฟ้องคดีแบบกลุ่มซึ่งผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ฟอร์ดเป็นโจทก์ฟ้องคดี โดยมีสมาชิกกลุ่มเป็นผู้เสียหายจำนวนหลายร้อยรายในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของผู้บริโภคในการเรียกร้องและปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองได้เป็นอย่างดี และเป็นการใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีผลต่อการกระตุ้นเตือนบรรดาผู้ประกอบธุรกิจให้ตระหนักถึงความตื่นตัวของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น และทำให้บรรดาผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้ความระวัดระวังและให้ความสำคัญและความเอาใจใส่ต่อมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าและบริการของตนให้มากยิ่งขึ้นด้วย