ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > ปตท.สผ.แจกแจงการฟ้องร้องในประเทศอินโดนีเซียกรณีน้ำมันรั่วที่ออสเตรเลีย

ปตท.สผ.แจกแจงการฟ้องร้องในประเทศอินโดนีเซียกรณีน้ำมันรั่วที่ออสเตรเลีย

7 พฤษภาคม 2017


เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์

ที่มาภาพ : http://www.au.pttep.com/wp-content/uploads/2017/03/Montara-Factsheet-Mar2017-v2.pdf

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อว่า The Coordinating Ministry for Maritime Affairs อินโดนีเซีย ยื่นฟ้อง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ( มหาชน ) หรือ ปตท.สผ. และ PTTEP Australasia (Ashmore Cartier) หรือ PTTEP AA ต่อศาลในกรุงจาการ์ตา เรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของแหล่งมอนทารา ในทะเลติมอร์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2552 นั้น

ปตท.สผ. ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลขึ้นในปี 2552 PTTEP AA บริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ในฐานะผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินการโครงการมอนทารา ได้ประสานงานกับรัฐบาลออสเตรเลียทำการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระด้านสิ่งแวดล้อมทำการศึกษา วิจัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำมัน ผลการศึกษาสรุปได้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในน่านน้ำออสเตรเลียและและบริเวณใกล้เคียงน่านน้ำอินโดนีเซียแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงการสร้างแบบจำลองการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมัน (Trajectory Modelling) พบว่าคราบน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในน่านน้ำออสเตรเลีย ที่สำคัญคือคราบน้ำมันไม่ได้ลอยเข้าสู่แนวชายฝั่งทั้งออสเตรเลียและอินโดนีเซีย

เมื่อปี 2553 ปตท.สผ. และ PTTEP AA ได้รับทราบว่ารัฐบาลอินโดนีเซียยื่นข้อเรียกร้องค่าเสียหายว่าน้ำมันที่รั่วไหลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีผลต่อการประมง ปตท.สผ. และ PTTEP AA ได้ประสานงานกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ปตท.สผ. และPTTEP AA ยินดีที่จะเจรจาอย่างสุจริตใจและร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียในการพิสูจน์ความเสียหาย รวมถึงจัดส่งผลการศึกษาให้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลบริเวณแนวปะการังบริเวณใกล้เคียงกับน่านน้ำอินโดนีเซีย เพื่อตรวจสอบว่ามีคราบปิโตรเลียมหรือไม่ ผลการทดสอบพบว่าไม่พบคราบปิโตรเลียมซึ่งมาจากการรั่วไหลของแหล่งมอนทารา และไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อสภาพปะการังในบริเวณดังกล่าว

PTTEP AA ได้เจรจากับรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นเวลาพอสมควร และพยายามที่จะประสานงานเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง PTTEP AA กับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อหาข้อยุติและพิสูจน์ความเสียหาย (หากมี) ร่วมกัน เริ่มด้วยการให้ทั้งสองฝ่ายจัดส่งเอกสารหลักฐานในส่วนของตน โดย PTTEP AA ได้ดำเนินการจัดส่งผลการศึกษา แต่ทางรัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่ได้จัดส่งเอกสารเพื่อพิสูจน์ความเสียหาย รวมถึงยังไม่อนุญาตให้ PTTEP AA เข้าพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ MOU ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการกลางร่วมกัน เพื่อให้ความเห็นจากผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ปตท.สผ. และ PTTEP AA พร้อมรับฟังหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นและพร้อมจะรับผิดชอบหากมีความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจริง โดยสามารถดูผลการวิจัยเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่http://www.environment.gov.au/node/18259 และที่http://www.au.pttep.com/sustainable-development/environmental-monitoring/