ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาวะสังคมไทยQ1/2560 คนว่างงานสูงสุดในรอบ 7 ปี สวนทางจีดีพี – แต่มีความสุขอันดับ 2 ของอาเซียน

ภาวะสังคมไทยQ1/2560 คนว่างงานสูงสุดในรอบ 7 ปี สวนทางจีดีพี – แต่มีความสุขอันดับ 2 ของอาเซียน

26 พฤษภาคม 2017


เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงข่าวภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ว่า ในไตรมาสแรกมีจำนวนผู้ว่างงาน 460,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% เพิ่มขึ้นจาก 0.97% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานดังกล่าวถือว่าเป็นอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ 1.3% หรือสูงสุดในรอบ 7 ปี และหากเทียบจากช่วงเวลาเดียวจะพบว่าอัตราการว่างงานเริ่มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ที่มีอัตราการว่างงาน 0.9% ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้การจ้างงานของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสปัจจุบันมีจำนวน 37.4 ล้านคน จากกำลังแรงงาน 38.2 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 0.6% และเป็นการลดลงในภาคเกษตรกรรม 1.4% และลดลงในภาคอุตสาหกรรม 0.3%

โดยการจ้างงานในภาคเกษตรลดลงเนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคนอกการเกษตรในช่วงภัยแล้งต่อเนื่องของปี 2557-2559 ประกอบกับแรงงานส่วนหนึ่งออกจากการเป็นกำลังแรงงานเนื่องจากเข้าสู่วัยสูงอายุและการทดแทนแรงงานใหม่ลดลง ขณะที่การจ้างงานในอุตสาหกรรมลดลงจากภาคก่อสร้างและอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลักที่ 8.7% และ 1.5% เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ส่วนของสาขาค้าส่ง/ปลีก โรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง ยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ตามการบริโภคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาลดลงเล็กน้อย 0.9% อย่างไรก็ดี ค่าจ้างภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 5.2% และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 4.0%

“จ้างงานยังสวนทางกับเศรษฐกิจ แต่ต้องไปดูว่ามันอาจจะเป็นเรื่องปรับตัวโครงสร้างเศรษฐกิจ ภาคเกษตรแรงงานก็สูงอายุออกไปเรื่อยๆ ถ้าเราเน้นประสิทธิภาพ ผลิตภาพ เครื่องจักรเครื่องยนต์มากขึ้น ยังไม่นับเรื่องหุ่นยนต์อะไรเข้ามาอีก ก็คงต้องมีปรับตัวแรงงานในการผลิตเดิมๆ ที่ทยอยออก หรือรับตัวหางานใหม่ ก็เป็นไปได้ที่ต้องคอยดูในช่วงนี้ แล้วเราก็เห็นการย้ายไปใช้เครื่องจักร อย่างในภาคก่อสร้างเอง แม้แต่ถนน เดี๋ยวนี้ก็เป็นเครื่องจักรซะมาก ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจช่วงที่ฟื้นตัว การจ้างงานอาจจะไม่ได้สูงเท่าที่ผ่านมา แต่คิดว่าไม่น่าเป็นปัญหามาก อย่างภาคเกษตรไตรมาสแรกขยายตัว แต่การจ้างงานลดลง พอเมษายนก็จ้างงานเพิ่มตาม ต้องคอยดูอีกระยะหนึ่ง ส่วนภาคอุตสาหกรรมคงต้องร่วมมือกันปรับตัวทั้งเอกชนทั้งรัฐ วางแผนไปตอบรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง อย่างฝึกฝนแรงงานรับ s-curve ใหม่จากฐานอุตสาหกรรมเดิมแบบนี้ก็ได้” ดร.ปรเมธีกล่าว

ดร.ปรเมธีกล่าวต่อไปถึง 2 ประเด็นที่ต้องจับตามอง ได้แก่ 1) การเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรและการปรับตัวของภาคเกษตร ซึ่งการจ้างงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปัญหาโครงสร้างแรงงาน โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แรงงานเกษตรลดลง 1.3 ล้านคน แรงงานในช่วงอายุ 30-49 ปีลดลง 0.99 ล้านคน ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากภาวะภัยแล้งในช่วงปี 2557-2559 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายออกไปทำงานในภาคนอกเกษตร ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนและกลุ่มแรงงานสูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลง

ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องโดยพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรลดงจาก 151.0 ล้านไร่ในปี 2546 เป็น 149.2 ล้านไร่ในปี 2556 ลดลงเฉลี่ยปีละ 0.16 ล้านไร่ สะท้อนภาคเกษตรที่มีแนวโน้มเล็กลงทั้งจำนวนแรงงานและพื้นที่เพาะปลูก ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพการผลิตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายสำคัญเพื่อช่วยเพิ่มผลิตภาพการเกษตรและรายได้เกษตรกร เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ การปรับปรุงระบบส่งน้ำ/กระจายน้ำ การใช้เกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรแบบผสมผสานเป็นแนวทางที่จะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายที่สำคัญนี้ให้สำเร็จ รวมถึงการสร้าง Smart Farmer

2) การฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่จะมีผลต่อการจ้างงาน แม้การส่งออกจะมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่สามปี 2559 เป็นต้นมา แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมูลค่าของการส่งออกสินค้ายังคงต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงปี 2555-2556 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการจ้างงานเพิ่ม อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับจากระดับ 48.7 ในปี 2558 เป็น 49.6 และ 50.8 ในปี 2559 และไตรมาสแรกปี 2560 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2560 หากการส่งออกสามารถเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายและตลอดปีขยายตัวได้เฉลี่ย 3.6% ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจ และนำไปสู่การขยายตำแหน่งงานในระยะต่อไป โดยเฉพาะภาคการผลิต การก่อสร้าง และการขายส่ง/ขายปลีก และช่วยลดอัตราการว่างงาน

ไทยมีความสุขอันดับ 2 ของอาเซียน รองสิงคโปร์

สำหรับภาวะสังคมด้านอื่นๆ คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี สอดคล้องกับดัชนีความสุขโลก จากผลการสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2558 คนไทยมีคะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ยอยู่ที่ 31.44 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยกลุ่มอายุ 25-59 ปี มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี และ 60 ปีขึ้นไป ตามลำดับ ความรักความผูกพันและการดูแลซึ่งกันและกันของคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี สอดคล้องกับ World Happiness Report 2017 ซึ่งรายงานค่าดัชนีความสุขโลก พบว่าประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 33 ในช่วงปี 2556-2558 เป็นอันดับที่ 32 ในช่วงปี 2557-2559 และอยู่ในอันดับที่ 19 ของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ในไตรมาสแรกปี 2560 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ที่ 22.7% โดยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลง 44.7% เนื่องจากทุกฝ่ายร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคที่มากับยุงลายอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 3.2% และติดตามสถานการณ์เด็กจมน้ำในช่วงปิดภาคเรียนซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดเฉลี่ยปีละ 348 คน สำหรับในปี 2560 จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคในช่วงปิดภาคเรียนมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 127 คน ทั้งหมดเป็นเด็กช่วงอายุ 5-14 ปี

คนไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ยกเว้น กทม.

ภาวะโภชนาการในเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มดีขึ้น จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2558-2559 (MICS 5) พบว่าภาวะโภชนาการเมื่อเทียบกับปี 2555 (MICS 4) ดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 6.7 % มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 5.4% มีภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน (ผอม) 10.5% มีภาวะทุพโภชนาการเรื้อรัง (เตี้ย) และ 8.2% มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (อ้วน) สำหรับสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่กินนมแม่อย่างเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีเด็ก 23.1% ที่กินนมแม่อย่างเดียว และ 42.1% กินนมแม่เป็นหลัก แต่ยังต้องเฝ้าระวังในกลุ่มแม่ที่ไม่ได้เรียนหนังสือเนื่องจากมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพียง 0.2%

ที่มาภาพ : http://countryoffice.unfpa.org/thailand/drive/ICPDat15Thaifinal.pdf

แม่วัยรุ่นลดลงแต่ยังสูง เฝ้าระวังมีเพศสัมพันธ์วัยเรียน

การตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง และยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี ต่อหญิงวัยเดียวกัน 1,000 คน ลดลงอย่างต่อเนื่องจากอัตรา 53.4 ในปี 2555 เป็นอัตรา 44.8 ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม อัตราการคลอดในกลุ่มวัยรุ่นยังอยู่ในระดับสูง และยังมี 5 จังหวัดที่มีอัตราการคลอดสูงกว่า 60.0 ได้แก่ ชลบุรี นครนายก ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสาคร นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มนักเรียนซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น อัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสถานการณ์การทำแท้งในกลุ่มวัยรุ่นที่พบว่า 53.1% มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และ 28.6% ยังมีสถานภาพเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา

บริโภคเหล้า-บุหรี่ลดลง – จับตาภัย “มือสอง” กระทบส่วนรวม

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังภัยของเหล้า-บุหรี่ มือสอง ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ควันบุหรี่ อุบัติเหตุจากการดื่มเหล้า ในไตรมาสแรก ปี 2560 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 38,544 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.2 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 14,972 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.2

ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังภัยของเหล้า-บุหรี่มือสอง ที่ส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสุขภาพของผู้ที่ไม่ได้ดื่มเหล้าและไม่ได้สูบบุหรี่ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์และขับเคลื่อนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของพิษภัยจากการสูบบุหรี่ ผลกระทบและความสูญเสียทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพื่อนำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีสุขภาพที่ดี และเชิญชวนให้ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำเลิกสูบ โดยมีเป้าหมาย 3 ล้านคน ในระยะเวลา 3 ปี

คดีอาญาหด เหตุปราบปรามต่อเนื่อง

คดีอาญาโดยรวมลดลงจากการปราบปรามอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง คดีอาญาโดยรวมไตรมาสแรกปี 2560 ลดลง 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์และคดียาเสพติดลดลง 13.5% และ 0.3% ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศเพิ่มขึ้น 0.3% นอกจากนี้ ได้มีการเร่งปราบปรามภัยอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ได้แก่ (1) การป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนและการสาธารณสุขเป็นพื้นฐานการแก้ไขปัญหา ภายใต้หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข (2) การค้าประเวณีที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการค้ามนุษย์ จึงมีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งวางมาตรการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด กวาดล้างจับกุมการลักลอบค้าประเวณี ดำเนินคดีข้าราชการที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ จัดให้ผู้เสียหายได้รับการคุ้มครอง และ (3) ธุรกิจในลักษณะฉ้อโกงประชาชน การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทำลายระบบเศรษฐกิจและประชาชนในทุกระดับ ควรตรวจสอบพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และเมื่อตกเป็นเหยื่อควรเข้ามาร้องทุกข์เพื่อตัดวงจรขบวนการ ภาครัฐควรบูรณาการการทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วด้วยการสร้างการรับรู้ ติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมผู้ต้องสงสัย และจับกุมผู้กระทำความผิด

อุบัติเหตุทางบกลด 7.2% – เสียชีวิตเพิ่ม 1.3%

การลดการใช้ความเร็วในการขับรถเพื่อบรรเทาความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ ไตรมาสแรกปี 2560 อุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง 7.2% มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.3% มูลค่าความเสียหายลดลง 75.0% จากไตรมาสเดียวกันปี 2559 โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 พบการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 7.0% และ 4.2% แต่ผู้เสียชีวิตลดลง 11.8% โดยเฉพาะการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุลดลงเหลือ 50% เป็นผลจากการคุมเข้มการใช้รถ การเข้มงวดบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่งผู้โดยสารรถทุกประเภท มาตรการห้ามนั่งท้ายกระบะเกิน 6 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงมาจากการเมาสุราและการขับรถเร็ว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเมาแล้วขับยังต้องเน้นการปลูกจิตสำนึกและสร้างวินัยการใช้รถใช้ถนนให้กับคนไทยอย่างเข้มข้น รวมทั้งการแก้ปัญหาขับรถเร็วยังต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง และเมื่อตรวจพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินคดีทันที รวมถึงมาตรการลงโทษหากไม่เสียค่าปรับเมื่อได้รับใบสั่ง

การร้องเรียนสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น การรับร้องเรียนของ สคบ. และ กสทช. เพิ่มขึ้น 3.2% และ 11.6% จากไตรมาสก่อน โดยสินค้าที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ รถยนต์ อาคารชุด และสินค้าบริการทั่วไป ส่วนบริการกิจการโทรคมนาคมมีการร้องเรียนบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด โดยประเด็นการร้องเรียนคือมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ ซึ่งการดำเนินงานนอกจากจะแก้ไขปัญหาแล้วยังร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนเฝ้าระวังสินค้าบริการที่ไม่ปลอดภัยและการทดสอบสินค้าเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้รูปแบบการบริโภคสินค้าและการให้บริการเปลี่ยนไป เช่น กรณีบริการของรถรับจ้างโดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งบางบริการไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งความปลอดภัยและการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค จำเป็นต้องมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการให้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป