ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Way “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ชู “DNA Make THE Difference” สู่เป้าหมายเด็ด *ดอกจัน* – Need-Based ของลูกค้า

TMB Way “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ชู “DNA Make THE Difference” สู่เป้าหมายเด็ด *ดอกจัน* – Need-Based ของลูกค้า

30 เมษายน 2017


“บุญทักษ์ หวังเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี

กว่า 8 ปีที่ “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ชูแนวคิด Make THE Difference เพื่อให้ทุกคนใช้ความสามารถ ศักยภาพที่มี เปลี่ยนโลก เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เปลี่ยน…เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น ซึ่งเป็นความเชื่อมั่นลึกๆ ว่านี่คือสิ่งที่ใช่

ด้วยความมุ่งมั่นและความเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ และถ้าเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ Make THE Difference การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปถึงเรื่องใหญ่ๆ ก็จะเกิดขึ้น นี่คือการ transformation การรื้อสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เป็นการลงมือทำเมื่อ 8 ปีที่แล้ว วันนี้ได้ออกผลในรูปบริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ที่ปฏิรูปวงการแบงกิงของไทย ที่แบงก์ขนาดกลางออกมานำอุตสาหกรรมแบงกิง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮีโร่อย่าง TMB All Free หรือ บัญชีเงินฝาก No Fixed เป็นต้น

และภายใต้ Make THE Difference ทำให้วันนี้ผู้บริโภคได้เห็นบริการการเงินที่ไม่มีดอกจัน *** ไม่มีเงื่อนไขในแต่ละบริการมากขึ้นเรื่อยๆ

“บุญทักษ์” เล่าว่าทีเอ็มบีสร้างความเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน…เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น โดยยึด Brand DNAs ใน 4 เรื่องหลัก คือ

    1. ท้าทายสิ่งที่ทำอยู่ (Challenge Status Quo) ด้วยคำถามง่ายๆ ว่าทำไมต้องทำแบบนี้ หรือมีวิธีที่จะทำให้มันดีขึ้นกว่านี้หรือไม่

    2. ต้องมีความรู้ ความสามารถ (Intelligent)

    3. จริงใจ (Genuine) โดยย้ำว่า “ตัวนี้สำคัญที่สุดสำหรับเรา เป็นสิ่งที่ต้องสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับลูกค้า ไม่ใช่สร้างภาพ”

    4. ง่ายและใช้งานได้จริง (Simple&Easy)

“DNA เราไม่เคยเปลี่ยนเลย ทำมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นความเชื่อว่าก่อนที่เราจะนำเสนออะไรให้ลูกค้า มันต้องเริ่มต้นจากข้างในก่อน และทุกๆ ครั้งเราต้องเริ่มข้างใน แล้วแก้ไปข้างนอก”

ปี 2552 เป็นจุดเริ่มต้น TMB มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน เอาเงินฝากนำ คนงงมาก ว่าทำไมเอาเงินฝากนำ ไม่เอาสินเชื่อนำ ตอนนั้นสิ่งที่ TMB ทำคือ no slip เป็นแบงก์แรกที่ทำ ไปสาขาไม่ต้องกรอกสลิป บอกที่เคาน์เตอร์ ทำธุรกรรมได้เลย ทั้งนี้เพื่อลดการทำธุรกรรมให้เหลือขั้นตอนน้อยที่สุด

ปี 2553-2554 TMB Way ตอนนั้นเป็นปีแรกนับจากมีระบบแบงกิงในเมืองไทยมา 50-60 ปี TMB แยกบัญชีเพื่อการใช้และบัญชีเพื่อการออมออกจากกัน บัญชีเพื่อการใช้ No Fee ไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ถ้าเป็นเงินฝาก No Fixed เป็นฝากไม่ประจำ แค่บาทแรกก็ได้ ไม่ต้องมีการฝากขั้นต่ำ ถอนเมื่อไหร่ก็ได้ อัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับเงินฝากประจำ

ปี 2555 TMB มี Lean Six Sigma ในองค์กร เราเปิดตัว Me by TMB เป็นดิจิทัลแบงก์ สิ่งที่ได้คือเป็นดิจิทัลแบงก์ที่ไม่มีสาขา และลูกค้าได้มากกว่า เพราะสิ่งที่แบงก์ประหยัดได้ก็คืนกลับให้ลูกค้า ลูกค้าได้ดอกเบี้ยสูงขึ้น

ปี 2556-2557 เปลี่ยนการให้อำนาจกับคนในองค์กรกับการทำงาน (empowering organization) และเรื่องกองทุนรวม Mutual Fund Open Architecture เราไม่ได้ขายเฉพาะกองทุนที่เป็นของบริษัทลูก แต่ขายให้กับกองทุนอื่นๆ 7 บริษัท เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าได้

ปี 2558 เริ่มเข้าสู่ agility team เป็นคอนเซปต์การทำงานที่ไม่เป็นฝ่ายๆ แต่คนจากฝ่ายต่างๆ มาร่วมทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียว และสามารถตัดสินใจทำงานได้เลย ทำให้ TMB สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นดิจิทัลได้เร็ว คือ TMB Touch Mobile App

ปี 2559 เพื่อให้องค์กรสามารถทำงานโดยเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางจริงๆ ไม่เป็นระบบเจ้าขุนมูลนาย เลิกใช้ตำแหน่งในองค์กร ตำแหน่งในองค์กรทิ้งหมด เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมเป็นทีมเดียวกันได้ เปิดธุรกรรมไม่มีข้อจำกัด All Free ไม่มีขอบเขตจำกัด

“ตอนนี้ได้ agile โครงสร้าง ได้ขยายไปเรื่อยๆ หลายจุด เราได้เปิดตัวเป็นแบงก์แรก business touch มือถือสำหรับเอสเอ็มอี และมีเรื่อง all free จริงๆ ทั้งโอนข้ามแบงก์ ไม่มีค่าธรรมเนียม ถือเป็นการให้บริการการเงินที่ไม่มีดอกจัน ไม่มีเงื่อนไข นี่เป็นสิ่งเราทำมา อย่างที่เห็น การที่เราเอาเงินฝากเป็นตัวนำ เน้นบัญชีเพื่อการใช้ทำธุรกรรมการเงิน เราเน้นความจริงใจกับลูกค้า ไม่มีค่าธรรมเนียมซ่อนอยู่ และถ้ามีเงินเหลือไม่ใช่ไปล็อกฝากประจำว่าขั้นต่ำต้อง 1 หมื่นบาท หรือ 5 หมื่นบาท บาทเดียวก็ได้ และไม่มีข้อจำกัดว่าถ้าถอนก่อนกำหนดจะถูกปรับ ของ TMB ถอนเมื่อไหร่ก็ได้ อัตราดอกเบี้ยก็ใกล้เคียงกับฝากประจำ นั่นคือสิ่งที่เราถือว่าเป็นดีเอ็นเอของเรา”

นอกเหนือจากบัญชีเงินฝากที่จริงใจ ไม่มีการซ่อนค่าธรรมเนียมไว้ ยังใช้ได้ง่ายผ่านดิจิทัล TMB Touch เป็นระบบที่อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกับอินเทอร์เน็ต ใช้ได้ง่ายมาก ถามว่าแล้วปี 2560 จะทำอะไร ก็ยังวนอยู่อันเก่า ไม่เปลี่ยนแปลงในดีเอ็นเอ 4 ตัวที่กล่าวมา เราทำให้มันชัดขึ้นๆ คือ Need-Based Bank กับเรื่อง Simple & Easy

“need-based อยากจะแปลเป็นภาษาไทย แต่ยังหาคำแปลที่ตรงใจไม่ได้ need-based ก็คือว่า เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำเสนอบริการ ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้า ก่อนผลประโยชน์ของแบงก์ เราจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับลูกค้า โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าก่อนผลประโยชน์ของแบงก์ เราต้องการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าที่แท้จริงกับลูกค้า ไม่ใช่สร้างภาพ นั่นคือ need-based ส่วน simple & easy แปลได้ง่ายคือลูกค้าไม่ต้องปรับตัวเพื่อมาใช้บริการแบงก์ แบงก์จะปรับตัวเข้ากับชีวิตของลูกค้า เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกค้า นี่คือทิศทางที่เราจะไป” นายบุญทักษ์กล่าว

TMB เด็ด *ดอกจัน* ทิ้ง

ด้านนายรูว์ ไฮซแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ทีเอ็มบี กล่าวว่า แนวทางการตอบโจทย์ลูกค้าบุคคลของทีเอ็มบีก็เช่นเดียวกัน คือ ยึดแนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน…เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของลูกค้าบุคคลในยุคปัจจุบันที่มีความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น ด้วยการเน้นคืออยากให้ลูกค้าได้ประโยชน์จากการทำธุรกรรมการการเงินประจำวันทุกวัน เรื่องของการให้คำแนะนำ ให้ความรู้ ความจริงใจ ลงในผลิตภัณฑ์และบริการของทีเอ็มบี ซึ่งการทำธุรกรรมแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการถอนเงิน การโอนเงิน การจ่ายบิล ทั้งหมดนี้คือการทำบัญชีเพื่อใช้บัญชีทำธุรกรรมและบัญชีเพื่อการออม ทั้งหมดรวมกันโดยใช้ TMB Touch ที่เป็นแพลตฟอร์มให้ลูกค้าสะดวกสบายขึ้น เพราะเราเชื่อมั่นว่าการทำธุรกรรมการเงินทุกวันเป็นส่วนที่เราได้สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี

“การจะทำได้ดี แน่นอน ต้องทำความเข้าใจลูกค้าอย่างถ่องแท้ก่อนว่าต้องการอะไร ถ้าถามทุกคนในห้องนี้ว่าชีวิตของลูกค้าต้องการอะไรบ้างในการทำธุรกรรมการเงินประจำวันในแต่ละวัน ลูกค้าทั่วไปอย่างพวกเราไม่ชอบอะไรที่มีข้อยกเว้น รายละเอียด เงื่อนไข หรือมีดอกจัน (*) หรือโดนบังคับด้วยกฏระเบียบต่างๆ นั่นก็เป็นที่มาของการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮีโร่โปรดักส์ของเรา ที่ชื่อว่า TMB All Free เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2558 สิ่งที่ให้ประโยชน์กับลูกค้า สามารถถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศไทย ไม่มีค่าธรรมเนียม และให้ลูกค้าจ่ายบิลและโอนเงิน 5 ครั้ง/เดือน ผลตอบรับจากลูกค้าดีมาก 9 เดือน ได้ลูกค้ามา 7 แสนบัญชี และหลังจากเปิด TMB All Free เราเห็นเทรนด์ว่าลูกค้าอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้น ใช้ธุรกรรมผ่านดิจิทัลมากขึ้น ก็ได้มีการออกฟีเจอร์ที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับ TMB All Free และเมื่อเดือนกันยายน 2559 ให้โอนเงินต่างธนาคาร จ่ายบิล ไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่จำกัดจำนวนครั้ง”

จากพฤติกรรมลูกค้าที่ใช้มือถือในการโอนเงิน ทำให้ TMB เพิ่มผลประโยชน์ให้ลูกค้ามากขึ้น คือ ณ วันนี้ TMB All Free สามารถโอนเงินต่างธนาคารผ่าน TMB Touch ได้ฟรีไม่จำกัดจำนวนครั้งแล้ว ปลายทางได้รับเงินทันที

สิ่งที่ TMB All Free เชื่อว่าจะเป็นบัญชีที่ใช้ทำธุรกรรมที่ดีสุดของประเทศตอนนี้ ในแง่ของการทำธุรกรรมการเงินไม่ว่าจะกดเงิน โอนเงิน จ่ายบิล เติมเงิน ไม่มีดอกจัน ไม่มีเงื่อนไขอีกต่อไป ให้ประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า ยิ่งมีพร้อมเพย์ก็จะโอนเงินได้ง่ายขึ้นไปอีก

TMB No Fixed เปิดตัวด้วยการอยากให้ลูกค้าเข้าถึงบัญชีเงินฝาก โดยมีความคล่องตัวสูง ไม่ต้องฝากประจำ ถอนได้และได้ดอกเบี้ยสูงด้วย เป็นที่มาของ No Fixed เริ่มแค่หนึ่งบาท ลูกค้าไม่ต้องมีเงินฝากเป็นก้อนเพื่อมาฝาก

สำหรับลูกค้าที่รักการออม ชอบผลตอบแทนสูง บัญชีเงินฝากไม่ประจำ ดอกสูง (TMB No Fixed) เพิ่มระดับความพึงพอใจด้วยดอกเบี้ยสูงถึง 1.6 % เมื่อลูกค้าคงเงินหรือฝากเพิ่มในแต่ละเดือน มีจำนวนลูกค้า 2.1 ล้านราย

“ในชีวิตคนเรามีบัญชีเพื่อใช้เพื่อออมดีที่สุดแล้ว ณ เดือนนี้ TMB เพิ่งเปิดตัวสำหรับลูกค้ายิ่งใช้เยอะยิ่งได้ผลประโยชน์มากขึ้น เป็นที่มาของแคมเปญ No Fixed ที่ตอนนี้ดอกเบี้ย 1.3% หากใช้ All Free อย่างต่อเนื่อง ก็จะมีการให้ดอกเบี้ยบน No Fixed เป็น 1.6% เราจึงคิดว่าน่าจะเป็นส่วนผสมผลิตภันฑ์ที่น่าจะตอบโจทย์ลูกค้าในชีวิตประจำวันในการทำธุรกรรมการเงิน

จากผลิตภัณฑ์ ก็อยากให้ลูกค้าใช้ง่ายขึ้นด้วย TMB Touch การเปิดบัญชีออนไลน์ได้เงินด้วยมือถือ และมีฟีเจอร์เพิ่มใช้ลายนิ้วมือล็อกออนเข้า TMB Touch Mobile Banking ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ บัตรเครดิตของ TMB ตอนนี้สามารถผ่อนจ่าย 0% 3 เดือนได้ โดยสามารถเลือกรายการได้ ไม่ว่าจะไปช็อปร้านไหนก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะมีโปรแกรมส่งเสริมการขาย ลูกค้าสามารถเลือกเองได้ด้วย TMB Touch สมมติลูกค้าเข้าไปร้านหนึ่ง อยากแบ่งจ่าย ก็เข้าไปที่ TMB Touch ลูกค้าสามารถเลือกรายการได้และกี่รายการก็ได้

จากการพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ตอนนี้มีลูกค้าสมัครใช้ TMB Touch กว่า 1 ล้านราย การใช้ดิจิทัลทำให้ชีวิตลูกค้าง่ายขึ้น เช่น ช็อปปิ้งออนไลน์ ทีเอ็มบีได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารผ่านระบบดิจิทัล ด้วยบริการขอข้อมูลและสมัครผลิตภัณฑ์ออนไลน์ (Digital Drop Leads) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าทุกที่ทุกเวลา โดยที่พนักงานจะโทรกลับในเวลาไม่เกิน 5 นาที (Call Me Now) และในปี 2560 มีบริการให้คำปรึกษาทางการเงินการลงทุนสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อน โดย Remote Expert ณ สาขาเซ็นทรัลปิ่นเกล้า สาขาสยามพารากอน สาขาฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต สาขาแฟชั่น ไอส์แลนด์ สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ สาขาเดอะมอลล์ นครราชสีมา และสาขาเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรึกษาเรื่องการลงทุนกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง โดยธนาคารมีแผนงานขยายจำนวนสาขาเป็น 20 สาขา ภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้

ส่วนลูกค้าที่นิยมการทำธุรกรรมบนโทรศัพท์มือถือ ทีเอ็มบี ทัช โมบายล์แอปพลิเคชัน (TMB Touch) เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้นโดยไม่ต้องมาที่สาขาธนาคารเลย ลูกค้าสามารถใช้จ่ายบิล โอนเงินและดูข้อมูลสถานะการเงิน พอร์ตการลงทุน และประกันได้แล้ว ยังสามารถเปิดบัญชีออนไลน์ เปิดใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิต และสามารถใช้บริการแบ่งชำระผ่าน So GooOD โดยเลือกรายการที่ต้องการแบ่งจ่าย 0% 3 เดือน ได้ด้วยตนเอง

TMB Business Touch อ่านทะลุใจลูกค้า

นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี เปิดเผยว่า ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับลูกค้าเอสเอ็มอีด้วยความจริงใจและตรงไปตรงมากับลูกค้าเสมอมา มองว่าค่าธรรมเนียมเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องจ่าย ดังนั้น จึงได้เริ่มยกเว้นค่าธรรมเนียมข้ามเขต ค่าธรรมเนียมเช็คเรียกเก็บ ให้กับลูกค้าทีเอ็มบีตั้งแต่ปี 2556 ช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีประหยัดค่าธรรมเนียมไปได้ 150 ล้านบาทใน 4 ปีที่ผ่านมา และยกระดับเพิ่มขึ้นอีกขั้นด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน ข้ามเขต ข้ามแบงก์ ทำให้ลูกค้าประหยัดค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 300 ล้านบาท

ล่าสุดได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้เรื่องธุรกรรมรับ-จ่ายสะดวกขึ้น โดยเชื่อมโยงบัญชีธุรกิจ TMB SME One Bank เข้ากับช่องทางดิจิทัล คือ TMB Business Touch ซึ่งเป็นโมบายแอปพลิเคชันตัวแรกของไทยที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อ SME โดยเฉพาะ สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ สามารถใช้ TMB Business Click ธนาคารออนไลน์ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่อย่างแท้จริง เพิ่มความสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา และทุกครั้ง มีการทำธุรกรรมผ่านทาง TMB Business Click มากกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือเติบโตขึ้นมากกว่า 67% นอกจากนี้ หากลูกค้าเดินบัญชีกับทีเอ็มบีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Promptpay, EDC หรือการเดินบัญชีปกติ ก็จะมีสิทธิ์ได้รับพิจารณาวงเงินสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะธนาคารสามารถวิเคราะห์การทำธุรกรรมรับ-จ่ายของลูกค้าตลอด จนทำให้ทราบได้ทันทีว่าลูกค้ามีความต้องการเงินทุนเพิ่มเติมหรือไม่

ปัจจุบันลูกค้าเอสเอ็มอีได้รับการสนองตอบด้านสินเชื่อที่เป็นมาตรฐานใหม่ของธุรกิจธนาคาร ได้รับเงินทุน 3 เท่าของหลักประกัน โดยทีเอ็มบีเริ่มให้สินเชื่อทีเอ็มบี 3 เท่าของมูลค่าหลักทรัพย์เป็นรายแรก ส่งผลให้ขยายฐานลูกค้าได้มากกว่า 7,000 รายในปีแรกด้วยวงเงิน 58,000 ล้านบาท และมีการยกระดับอย่างต่อเนื่องในปีถัดมาเป็นสินเชื่อทีเอ็มบี 3 เท่าพลัส โดยลูกค้าได้รับการค้ำประกันทั้งจาก บสย. และ International Finance Corporation หรือ IFC ทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 15,000 ราย วงเงินเพิ่มเป็น 140,000 ล้านบาท ล่าสุด ทีเอ็มบีสนับสนุนให้ลูกค้าใช้หลักประกันรูปแบบใหม่ในการเพิ่มวงเงินเป็นธนาคารแรก หรือสินเชื่อทีเอ็มบีเอสเอ็มอี 3 เท่า

จากซ้ายไปขวา นายไตรรงค์ บุตรากาศ นายรูว์ ไฮซแมน นายบุญทักษ์
หวังเจริญ นายปิติ ตัณฑเกษม

ซัพพลายเชน เชื่อมทุกข้อมูลตอบสนองทันท่วงที

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ กล่าวว่า การสนับสนุนเงินทุนในระบบ ซัพพลายเชนเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อแต่ละหน่วยธุรกิจในซัพพลายเชนแข็งแกร่ง จะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้ทั้งซัพพลายเชน จึงเริ่มให้การสนับสนุนเงินกู้ให้กับซัพพลายเชนของลูกค้า เช่น ปตท. บุญรอด SCG คูโบต้า และเซ็นทรัล รวมถึงลูกค้าของลูกค้า ซึ่งก็คือธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาต่อยอด ทำให้ลูกค้าของลูกค้าของลูกค้า หรือยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น และเมื่อทั้งซัพพลายเชนแข็งแกร่ง ก็สามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับลูกค้าได้ และในปัจจุบันได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพ ทำให้เป็นระบบ paperless ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถจัดเก็บข้อมูลและนำกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมามีมูลค่าการชำระเงินกว่า 81,000 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของยอดขายของลูกค้าทีเอ็มบี

ส่วนในเรื่องของความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับผู้นำเข้าและส่งออก ลูกค้าจำเป็นต้องได้รับข้อมูลแนวโน้มเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ และต้องการคำแนะนำที่มีประโยชน์ประกอบการตัดสินใจอย่างเร่งด่วนเสมอ ทีเอ็มบีจึงได้พัฒนา FX Simulation เพื่อเป็นเครื่องมือให้ลูกค้าร่วมวางแผนบริหารความเสี่ยงกับผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ลูกค้าสามารถทำได้ด้วยตนเอง และลองวางแผนในหลายๆ สถานการณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและควบคุมความเสี่ยง ช่วยให้ลูกค้าสามารถได้ผลกำไรตามที่ได้คาดการณ์เอาไว้

ทีเอ็มบียังคงพัฒนาบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงธุรกิจซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง และก้าวไปพร้อมกับลูกค้าธุรกิจทุกสถานการณ์เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างทันท่วงที

นายบุญทักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการ Make THE Difference เพื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลแล้ว ทีเอ็มบียังดำเนินการเพื่อ Make THE Difference ต่อชุมชนและสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผ่าน “ไฟ-ฟ้า” กิจกรรมเพื่อการพัฒนาเยาวชนและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา “ไฟ-ฟ้า” ได้จุดประกายการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในชุมชนด้วยการเข้าถึงการเรียนรู้ศิลปะและทักษะชีวิต ผ่านศูนย์ “ไฟ ฟ้า” 4 แห่ง ได้แก่ ประดิพัทธ์ จันทน์ ประชาอุทิศ และบางกอกน้อย โดยมีเยาวชนมาเรียนรู้ที่ศูนย์ “ไฟ-ฟ้า” มากกว่า 60,000 ครั้งต่อปี และ “ไฟ-ฟ้า” ยังได้ขยายการเรียนรู้ไปสู่โรงเรียนต่างๆ โดยมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 140,000 คน ในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ธนาคารยังเปิดโอกาสให้พนักงานทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครที่ช่วยกันทำกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 37 แห่ง และมีพนักงานทีเอ็มบีมากกว่า 50% หรือ 4,500 คนเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ

สำหรับเป้าหมายในปี 2560 ในส่วนของเยาวชน ตั้งเป้าหมายว่าจะเข้าถึงเยาวชนผ่านการเรียนรู้ที่ศูนย์ “ไฟ-ฟ้า” เพิ่มมากกว่า 10% อาสาสมัครทีเอ็มบีเพิ่มขึ้นอีก 10% หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 คนทั้งองค์กร และสานต่อกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนให้กับชุมชนอีก 37 แห่งทั่วประเทศ

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)