ThaiPublica > เกาะกระแส > อเมริกามีระบบประกันสุขภาพแบบไหน? เยอรมัน อังกฤษ แคนาดา หรือ อินเดีย

อเมริกามีระบบประกันสุขภาพแบบไหน? เยอรมัน อังกฤษ แคนาดา หรือ อินเดีย

5 มีนาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

โอบามาลงนามกฎหมาย Affordable Care Act มีเด็กอายุ 11 ปี ยืนอยู่ข้างๆ มารดาของเด็นคนนี้เสียชีวิต เพราะไม่มีประกันสุขภาพ ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons

ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมร่วมของสภาคอนเกรส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกร้องให้รัฐสภายกเลิกระบบประกันสุขภาพของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า โอบามาแคร์ (Obamacare) ที่มีชื่อเป็นทางการว่า รัฐบัญญัติดูแลสุขภาพที่คนส่วนใหญ่รับภาระได้ (Affordable Care Act) และเรียกร้องให้รัฐสภาออกกฎหมายประกันสุขภาพใหม่ เพื่อมาแทนกฎหมายเดิม

อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ลงนามในกฎหมายฉบับนี้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2010 กฎหมายที่ถือกันว่า เป็นการรื้อระบบประกันสุขภาพครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ เมื่อนับจากทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ในพิธีลงนามกฎหมายฉบับนี้ มีเด็กอายุ 11 ขวบคนหนึ่งชื่อ Marcelas Owens จากเมืองซีแอตเติ้ล ยืนอยู่ข้างๆโอบามา เด็กคนนี้กลายเป็นสัญลักษณ์การปฏิรูประบบประกันสุขภาพของสหรัฐฯ เพราะมารดาของเขาเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีประกันสุขภาพ โอบามาเองกล่าวว่า หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ คนทุกคนควรจะมีความมั่นคงพื้นฐานบางอย่างในเรื่องสุขภาพ

โอบามาแคร์

ในระยะหลายๆสิบปีที่ผ่านมา การแพทย์สมัยใหม่มีประสิทธิผลในการรักษาโรคต่างๆมากขึ้น ทำให้สามารถช่วยรักษาชีวิตของคนป่วย แต่ในเวลาเดียวกัน คนอเมริกันก็มีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งสร้างภาระด้านการเงินต่อบริษัทธุรกิจ และกับรัฐบาลสหรัฐฯ คนทั่วไปเองก็ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ และการมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองสามารถมีเงินค่ารักษาพยาบาล แต่คนอเมริกันจำนวนมากก็ต้องล้มละลาย เพราะค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับเรื่องนี้ Harvard Medical Schoolเคยศึกษาและพบว่า ปีหนึ่งมีคนอเมริกัน 700,000 คนที่ล้มละลาย เพราะค่ารักษาพยาบาลที่แพง ขณะที่ในอังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น หรือแคนาดา ไม่มีแม้แต่คนเดียว

ก่อนปี 2010 เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนว่า คนอเมริกันในวัยทำงานและบุตร จะได้รับการคุ้มครองในเรื่องการประกันสุขภาพ บริษัทธุรกิจต้องการพนักงานที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ก็ต้องต่อสู้กับภาระที่ค่าประกันสุขภาพสำหรับพนักงานเพิ่มสูงขึ้น จนอาจเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่รัฐบาลให้หลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนทุนคน บริษัทธุรกิจขนาดเล็กเองก็ไม่สามารถจ่ายค่าประกันสุขภาพให้แก่ลูกจ้าง ส่วนบริษัทรับประกันสุขภาพ กลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ สามารถปฏิเสธไม่รับประกันสุขภาพกับคนที่มีโรคร้ายแรง เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายแพง หรือบริษัทประกันก็ใช้วิธีขึ้นค่าประกันสุขภาพให้สูง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องทำประกันกับคนมีอาชีพที่เสี่ยงสูงด้านสุขภาพ

ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ มีสวัสดิการเรื่องหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่สหรัฐฯกลับเป็นประเทศที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนในเรื่องนี้ ทุกครั้งที่มีความพยายามจะสร้างหลักประกันด้านสุขภาพแก่คนอเมริกันทุกคน ก็จะถูกต่อต้านทางการเมือง ว่าเป็นวิธีการแบบ “สังคมนิยม” ทำให้ “รัฐบาลใหญ่โตขึ้น” หรือขัดกับหลัก “เศรษฐกิจเสรีนิยม” เป็นต้น

ระบบประกันสุขภาพของสหรัฐฯ จึงเป็นการผสมผสานกัน บางส่วนเป็นโครงการสวัสดิการของรัฐ และบางส่วนเป็นการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน แต่ความก้าวหน้าในเรื่องการปฏิรูประบบประกันสุขภาพมีขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 เมื่อเกิดโครงการที่เรียกว่า Medicare เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแก่คนสูงอายุ และโครงการ Medicaid เพื่อดูแลการรักษาพยาบาลแก่คนที่ยากจนมาก

โอบามาแคร์เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของระบบประกันสุขภาพสหรัฐฯ ที่มาภาพ : https://specials-images.forbesimg.com/imageserve/630310548/960×0.jpg?fit=scale

ระบบประกันสุขภาพโอบามาแคร์ มีเป้าหมายสำคัญ คือขยายการคุ้มครองการประกันสุขภาพแก่คนอเมริกันราวๆ 15% ของประชากรทั้งหมด คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการประกันสุขภาพจากนายจ้าง หรือไม่ได้รับการคุ้มครองจากโครงการ Medicare สำหรับคนสูงอายุ หรือโครงการ Medicaid สำหรับคนยากจน โอบามาแคร์มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ

    ประการแรก คนอเมริกัน 32 ล้านคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ กฎหมาย Affordable Car Act ให้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงโครงการ Medicaid รวมทั้งช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็ก และคนทั่วไปสามารถซื้อประกันสุขภาพในราคาที่ไม่แพง

    ประการที่ 2 คนสูงอายุตามโครงการ Medicare สามารถตรวจสุขภาพฟรี และค่ายาจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐ

    และประการที่ 3 คนอเมริกัน 176 ล้านคน ที่มีประกันสุขภาพโดยบริษัทที่ทำงานอยู่ บริษัทประกันไม่มีสิทธิปฏิเสธการรับประกันคนที่มีปัญหาสุขภาพ การประกันสุขภาพของพนักงาน จะครอบคลุมถึงบุตรของพนักงาน ไปจนถึงอายุ 26 ปี เพราะเหตุนี้ New York Times จึงกล่าวว่า โอบามาแคร์เป็นการโจมตีครั้งใหญ่ของรัฐบาลกลาง ต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

แต่พรรครีพับลิกันมองว่า โอบามาแคร์เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทเอกชน ที่ทำธุรกิจประกันสุขภาพ จึงเป็นโครงการที่ “ทำลายการจ้างงาน” กฎหมายบังคับให้คนอเมริกันต้องซื้อประกันสุขภาพ จึงเป็นการเข้าไปก้าวก่ายงานของธุรกิจเอกชน และเรื่องส่วนตัวของคนอเมริกัน นอกจากนี้ ยังไปยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลสูงสหรัฐฯ แต่ในปี 2012 ศาลสูงตัดสินว่า โครงการโอบามาแคร์ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนที่กฎหมายระบุว่า มลรัฐจะต้องขยายจำนวนคนที่มีคุณสมบัติให้มากขึ้น ตามโครงการ Medicaid ของคนที่ยากจน ศาลสูงก็กล่าวว่า มลรัฐสามารถเลือกว่า จะขยายหรือไม่ขยายโครงการ Medicaid ก็ได้ ทำให้คนที่ไม่มีคุณสมบัติตามโครงการ Medicaid ต้องไปซื้อประกันสุขภาพแทน

โมเดลการประกันสุขภาพ

สหรัฐฯเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ในอนาคตข้างหน้า ก็ยิ่งจะมั่งคั่งมากขึ้นไปอีก แต่กลับไม่มีโมเดลประกันสุขภาพที่เป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ เบอร์นี แซนเดอร์ ที่เคยลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดี กล่าวว่า สหรัฐฯเป็นประเทศอุตสาหกรรมชาติเดียว ที่ไม่ได้มองว่า การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิของประชาชน แต่เวลาเดียวกัน สหรัฐฯก็มีค่าจ่ายด้านรักษาพยาบาลเฉลี่ยต่อคนสูงถึง 7,290 ดอลลาร์ ขณะที่แคนาดามีค่าใช้จ่ายต่อคนที่ 3,895 ดอลลาร์ อังกฤษที่ 3,000 ดอลลาร์ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะระบบประกันสุขภาพของสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจเอกชน ที่แสวงหากำไรจากการประกันสุขภาพของคนอเมริกัน

ระบบประกันสุขภาพของแต่ละประเทศ จะสะท้อนประวัติศาสตร์ ค่านิยม ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศนั้นๆ ระบบประกันสุขภาพของแคนาดามีชื่อเสียงมากในเรื่องที่ คนไข้ต้องเข้าคิวเป็นเวลานาน เพื่อรอรับบริการด้านแพทย์ แต่คนแคนาดาก็พอใจที่คนทุกคนจะเข้าคิว มากกว่าที่คนบางคนได้รับการรักษาที่รวดเร็ว โดยที่คนอีกส่วนไม่มีโอกาสดังกล่าว ส่วนระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ ยึดหลักการที่เหนียวแน่นมาแต่แรกว่า “ไม่เสียเงินใดๆ ณ จุดบริการ”

ในหนังสือชื่อ The Healing of America ผู้เขียนคือ T. R. Reid อดีตนักข่าวของ Washington Post กล่าวว่า โมเดลการบริการสาธารณสุขของประเทศต่างๆในโลกนี้ มีอยู่ 4 แบบ ดังนี้

1.Bismarck Model

เยอรมันเป็นประเทศบุกเบิกระบบประกันสุขภาพ เรียกว่า Bismarck Model ที่มาภาพ : http://www.bmi-system.com/wp-content/uploads/2016/01/Compliance-and-Transparency-post.jpg

ระบบประกันสุขภาพ Bismarck Model ตั้งชื่อตาม Otto von Bismarck อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่เป็นคนสร้างระบบรัฐสวัสดิการขึ้นมา หลังจากการรวมประเทศของเยอรมนีในศตวรรษที่ 19 ประเทศที่ใช้ Bismarck Model ในการประกันสุขภาพ คือ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์ ในระบบนี้ การบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องการดำเนินงานโดยเอกชน แต่ผ่านระบบการประกันสุขภาพ ที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันรับผิดชอบจ่ายค่าธรรมเนียมการประกันสุขภาพ ระบบประกันสุขภาพตาม Bismarck Model มีลักษณะเป็นการดำเนินงานที่ไม่แสวงหากำไร สถานบริการทางแพทย์เป็นของเอกชน โรงพยาบาลจำนวนมากก็เป็นของเอกชน แต่รัฐมีระเบียบควบคุมอย่างเข้มงวดในเรื่องค่าบริการ ทำให้โมเดลนี้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุข

2.Beveridge Model

ระบบประกันสุขภาพแบบ Beveridge Model ตั้งชื่อตามนักปฏิรูปสังคมชื่อ William Beveridge ของอังกฤษ ที่เป็นคนผลักดันระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service) ของอังกฤษขึ้นมา การบริการสาธารณสุขเป็นการดำเนินการโดยรัฐ ค่าใช้จ่ายมาจากภาษีอากร จึงไม่มีใบเสร็จค่าบริการใดๆกับคนไข้ คำขวัญของระบบของอังกฤษจึงมีอยู่ว่า “ไม่มีใบเสร็จใด ณ จุดบริการ” การรักษาพยาบาลเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง แบบเดียวกับที่ รัฐให้บริการเรื่องรถดับเพลิง

ประเทศที่ใช้โมเดลนี้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นของรัฐ บุคลากรด้านการแพทย์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หากเป็นสถานบริการของเอกชน ก็ส่งใบเสร็จไปเก็บเงินจากรัฐ ระบบนี้จะมีค่าดำเนินการต่อหัวต่ำ เพราะรัฐบาลเป็นคนจ่าย ทำให้สามารถควบคุมค่าบริการ ประเทศที่ใช้ระบบนี้คือ อังกฤษ อิตาลี สเปน และประเทศสแกนดิเนเวีย รวมถึงฮ่องกง ที่ยังคงใช้ระบบนี้ แม้ว่าอังกฤษจะโอนไปให้จีนแล้วในปี 1997 เวลาที่นักการเมืองอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯคัดค้านการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ ว่าจะทำให้ ระบบบริการสาธารณสุขดำเนินไปในแบบสังคมนิยม (socialize) คนพวกนี้ก็หมายถึงระบบบริการสุขภาพแบบ Beveridge Model นี้แหละ

3.โมเดลการประกันสุขภาพแห่งชาติ

ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance) คือ ระบบผสมระหว่าง Bismarck Model กับ Beveridge Model ผู้ให้บริการทางการแพทย์มาจากภาคเอกชน แต่คนที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเป็นบริษัทประกันสุขภาพของรัฐ ที่ประชาชนทุนคนจะต้องจ่ายเงินเงินสมทบเป็นค่าประกันสุขภาพ ระบบนี้ค่อนข้างดำเนินงานด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง เพราะไม่ได้แสวงหากำไร ไม่ต้องไปโฆษณาสรรพคุณต่างๆ การบริหารงานก็ไม่ซับซ้อน เพราะรัฐเป็นคนซื้อบริการรายใหญ่รายเดียว จึงมีอำนาจต่อรองกับสถานบริการเอกชน ประเทศที่ใช้ระบบนี้คือ แคนาดา รวมทั้งประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อย่างเช่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้

4.โมเดลใครป่วยคนนั้นจ่าย

ประเทศที่ยากจนในโลก รัฐไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลแก่คนจำนวนมาก ทำให้ไม่มีระบบประกันสุขภาพแก่ประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่จะแบกรับค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเอง คนที่มีฐานะจะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ คนส่วนใหญ่ในชนบทอาจไม่เคยได้พบแพทย์เลยในชีวิต หรืออาจรักษากับหมอในหมู่บ้าน อาศัยการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพรในท้องถิ่น ที่อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลในการรักษาโรค

อินเดียเป็นประเทศที่มีโมเดลประกันสุขภาพ ใครป่วยคนนั้นจ่าย ที่มาภาพ : http://www.thehansindia.com/assets/6462_Rural_India.jpg

ประชาชนในประเทศที่ยากจน จึงมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาพยาบาลที่ใช้เงินของตัวเองในสัดส่วนที่สูงมาก เพราะไม่มีการสนับสนุนจากรัฐ หรือจากการประกันสุขภาพใดๆ ในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คนเขมรออกเงินค่ารักษาพยาบาลเองถึง 91% ของยอดค่าใช้จ่าย คนอินเดีย 85% และคนอียิปต์ 73% ขณะที่คนอังกฤษเสียเงินแค่ 3% ในสหรัฐฯ ก่อนจะมีกฎหมายโอบามาแคร์ คนอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพ ต้องออกเงินเองในสัดส่วน 17% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง ในบรรดาประเทศที่มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ระบบประกันสุขภาพ 4 โมเดลดังกล่าว ช่วยให้คนทั้งหลายสามารถมองเห็นง่ายขึ้นว่า ประเทศตัวเองใช้ระบบประกันสุขภาพแบบไหน หนังสือ The Healing of America กล่าวว่า ในกรณีของสหรัฐฯ คนทำงานที่อายุต่ำกว่า 65 ปี จะมีหลักประกันสุขภาพแบบระบบเยอรมัน ส่วนเจ้าหน้าที่ทางทหารและทหารผ่านศึก จะมีหลักประกันสุขภาพแบบระบบอังกฤษ สำหรับคนอเมริกันอายุมากกว่า 65 ปี จะมีการดูแลสุขภาพคล้ายๆกับระบบแคนาดา คือครอบคลุมคนสูงอายุแทบทั้งหมด และก่อนที่จะมีกฎหมายโอบามาแคร์ คนอเมริกัน 32 ล้านคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ จะอาศัยการบริการสุขภาพแบบระบบอินเดียหรือเขมร ที่แปลว่า ใครป่วยคนนั้นจ่าย

การประกันสุขภาพของสหรัฐฯ ไม่เหมือนประเทศไหนในโลก เพราะสหรัฐฯใช้หลายระบบกับกลุ่มคนหลายประเภท ทำให้ระบบประกันสุขภาพมีลักษณะกระจัดกระจาย และซ้ำซ้อน ในขณะที่ ประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ใช้ระบบเดียวที่ครอบคลุมคนทุกคน จึงเป็นระบบที่ง่ายกว่า มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า และเป็นธรรมมากกว่า