ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ก้าวพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” แบบอย่างความสำเร็จของเกาหลีใต้

ก้าวพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” แบบอย่างความสำเร็จของเกาหลีใต้

2 มีนาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ :  bbc.com
ที่มาภาพ : bbc.com

ประเทศรายได้ปานกลาง คือ ประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ครึ่งทางของการก้าวไปสู่ประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เส้นแบ่งที่จะใช้วัดการก้าวพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง คือ ประเทศที่มีรายได้ต่อคนของประชากรอยู่ที่ 23,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยวัดจาก PPP (purchasing power parity) IMF ระบุว่า ประเทศหลังสุดที่สามารถก้าวพ้นเส้นแบ่งดังกล่าวคือโปรตุเกส ซึ่งในปี 2008 สามารถก้าวจากประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง ไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

ในเอกสารชื่อ Making the Transition: From Middle-Income to Advanced Economies (2011) ของ Carnegie Endowment for International Peace ได้แบ่งประเทศรายได้ปานกลางเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ โปแลนด์ ฮังการี เอสโตเนีย และลิทัวเนีย ที่พัฒนามาใกล้เส้นแบ่ง 23,000 ดอลลาร์ และจะสามารถก้าวพ้นได้ใน 4-5 ปีข้างหน้า กลุ่มที่ 2 ได้แก่ มาเลเซีย ไทย บัลกาเรีย และหลายประเทศในลาตินอเมริกา ที่ยังไม่อยู่ใกล้เส้นแบ่งนี้ จึงต้องเพิ่มความพยายามมากขึ้นในเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากรายได้ต่อคนของประชากรเพิ่มขึ้นได้ปีละ 5% มาเลเซียจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในเวลา 10 ปี (2011-2021) ส่วนไทยจะใช้เวลา 20 ปี (2011-2031)

ความเสี่ยงที่ทำให้ไม่พ้นจากกับดัก

1

การพัฒนาที่ก้าวจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่กระบวนการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นเอง เอกสารของธนาคารโลกชื่อ An East Asian Renaissance (2007) กล่าวว่า การพัฒนาของบางประเทศที่ดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง กลับตกหล่นเข้ามาอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” ทั้งนี้เพราะไม่สามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยมีอัตราสูงในอดีตให้สามารถคงอยู่ต่อไปในอนาคต ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากยังคงมีฐานะทางเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างประเทศรายได้ต่ำกับประเทศรายได้ปานกลาง

An East Asian Renaissance กล่าวว่า แนวคิดการเติบโตทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประเทศรายได้ปานกลางในเอเชีย 3 ประการ คือ ประการแรก เศรษฐกิจจะมีการกระจายการผลิต (diversification) ทำให้การผลิตและการจ้างงานมีลักษณะเฉพาะด้านมากขึ้น แต่กระบวนการนี้เกิดขึ้นช้า ประการที่ 2 การลงทุนจะลดความสำคัญลง และนวัตกรรมการผลิตจะกลายเป็นตัวเร่งทางเศรษฐกิจ และประการที่ 3 ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนจากการสร้างทักษะให้กับแรงงานมาเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานสำหรับผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตใหม่ๆ

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมาสู่การผลิตสินค้าเฉพาะด้านมากขึ้น หากไม่สามารถผลิตสินค้านั้นได้ในปริมาณที่มาก จะทำให้ประเทศในเอเชียต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในอัตราที่สูงแบบเดียวกับที่เคยทำได้ในอดีต กลยุทธ์การพัฒนาที่อาศัยแต่ปัจจัยการผลิตแบบดั้งเดิมก็เริ่มไม่ได้ผล ประเทศในลาตินอเมริกาและในตะวันออกกลางเป็นตัวอย่างของประเทศรายได้ปานกลางที่พัฒนาโดยอาศัยกลยุทธ์ดังกล่าว ซึ่งในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางนี้ได้

แต่สำหรับประเทศในเอเชีย การผลิตสินค้าเฉพาะอย่างได้ในปริมาณมาก เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีการผลิตในปริมาณมาก หลายประเทศในเอเชียที่มีฐานะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของสินค้าเหล่านี้จึงได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่มีลักษณะการผลิตในเชิงปริมาณดังกล่าว เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าไฮเทครายใหญ่ของโลก ในเวลาเดียวกัน คนเกาหลีใต้ก็มีการเชื่อมโยงแบบไฮเทคกับโลกมากที่สุด เกาหลีใต้จึงใช้กลยุทธ์การพัฒนาโดยเน้นหนักกับเทคโนโลยี เพื่อจะทำให้ตัวเองก้าวจากประเทศรายได้ปานกลางมาเป็นประเทศรายได้สูงภายในระยะเวลาเพียงแค่ 10 ปี หรือชั่วระยะเวลาคนรุ่นเดียว

Middle-Income Trap ที่มาภาพ : chinadaily
Middle-Income Trap ที่มาภาพ : chinadaily

แต่ประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลางส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลง สาเหตุสำคัญคือ เศรษฐกิจไม่สามารถสร้างการผลิตที่หลากหลายและการผลิตเฉพาะด้าน ทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถหลุดพ้นจากการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานมากแต่ใช้เทคโนโลยีต่ำ สำหรับประเทศที่รายได้ต่อหัวของประชากรต่ำ ระหว่าง 100-5,000 ดอลลาร์ การพัฒนาจะอาศัยความได้เปรียบจากค่าแรงถูก เมื่อแรงงานฝีมือต่ำค่อยๆ หมดสิ้นไป ประเทศรายได้ปานกลางจะต้องยกระดับไปผลิตสินค้าที่ใช้ “ทุนด้านจักรกลและทุนมนุษย์” มากขึ้น แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ประเทศเหล่านี้จะต้องลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์และด้านนวัตกรรม

เอกสาร Making the Transition กล่าวว่า ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา มีประเทศรายได้ปานกลางไม่กี่ประเทศที่สามารถพัฒนาหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” คือ จากรายได้ต่อคนที่วัดจาก PPP ที่ 15,000 ดอลลาร์ เป็น 23,000 ดอลลาร์ ฟินแลนด์ใช้เวลา 16 ปี ช่วง 1972-1988 เกาหลีใต้ใช้เวลา 10 ปี จาก 1994-2004 ไอร์แลนด์ใช้เวลา 8 ปี ช่วง 1987-1995 สเปนใช้เวลา 23 ปี จาก 1973-1996 และโปรตุเกสใช้เวลา 19 ปี จาก 1988-2007

ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอนในปัจจุบัน ประเทศรายได้ปานกลางจึงต้องศึกษาบทเรียนจากบางประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในการก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะกรณีของเกาหลีใต้ ที่สามารถทำได้สำเร็จภายในระยะเวลา 10 ปี

เกาหลีใต้กับความมหัศจรรย์

นอกจากการผลิตอุตสาหกรรม เกาหลีใต้ยังส่งออกสินค้าวัฒนธรรม ที่มาภาพ : https://c.min.ms/a/0/96/i87bbvvpbk.jpeg
นอกจากการผลิตอุตสาหกรรม เกาหลีใต้ยังส่งออกสินค้าวัฒนธรรม ที่มาภาพ : https://c.min.ms/a/0/96/i87bbvvpbk.jpeg

นักวิเคราะห์มองการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในระยะที่ผ่านมาว่า เหมือนขบวนรถไฟความเร็วสูงที่คนขับควบคุมความเร็วไม่อยู่ นอกจากนี้ ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่ส่งออกสิ่งที่เรียกว่า soft power คือการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมในรูปดนตรี เครื่องสำอาง และภาพยนตร์ ทั้งๆ ที่หลังจากสงครามเกาหลี 1950-1953 เกาหลีใต้มีรายได้ต่อคนพอๆ กับเอธิโอเปีย ปี 1970 เกาหลีใต้กับไทย มีรายได้ต่อหัวพอๆ กัน คือ ราวๆ 180 ดอลลาร์ แต่ในปี 2015 เกาหลีใต้มีรายได้ต่อคนที่ 27,222 ดอลลาร์ ส่วนไทยอยู่ที่ 5,816 ดอลลาร์

ในหนังสือชื่อ The Fix ผู้เขียนคือ Jonathan Tepperman กล่าวว่า ภายหลังจากสงครามเกาหลี ประชากรของกรุงโซลที่เคยมีอยู่ 1.5 ล้านคน เหลือแค่ 2 แสนคน บ้านเรือนของคนในคาบสมุทรเกาหลีถูกทำลายไปครึ่งหนึ่ง โรงงาน 900 แห่ง 50% ของรถบรรทุกและรถไฟทั้งหมด ถูกทำลาย แต่หลายสิบปีหลังจากนั้น เกาหลีใต้สามารถก้าวจากประเทศที่ในปี 1961 ยากจนกว่าโบลิเวียหรืออิรัก กลายมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 13 ของโลก เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวว่า ในปี 2030 สตรีเกาหลีใต้จะมีอายุยืนถึง 90 ปี

ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เป็นนักวิ่งเร็วระยะสั้น แต่เกาหลีใต้เป็นนักวิ่งเร็วแบบมาราธอน ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโตในอัตราสูงแบบไม่หยุด เศรษฐกิจติดลบแค่ 2 ปี คือ 1980 เพราะโลกประสบวิกฤติน้ำมัน และ 1998 เพราะวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ความสำเร็จของเกาหลีใต้เป็นแบบอย่างที่หลายประเทศควรจะศึกษา เพราะเป็นความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดจากเวทมนตร์ใดๆ หรือมีเส้นทางการพัฒนาที่ราบรื่นมาตลอด

แต่ความโดดเด่นของเกาหลีใต้อยู่ที่การจัดการเพื่อเอาชนะวิกฤติต่างๆ นำวิกฤติที่ตัวเองเผชิญอยู่มาปฏิรูปตัวเองเพื่อโอกาสในอนาคต การปฏิรูปนี้ ในภาวะปกติจะทำไม่ได้เลย หนังสือ The Fix กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของเกาหลีใต้อยู่ที่ว่า แต่ละครั้งที่เกิดวิกฤติ เกาหลีใต้จะเรียนรู้สิ่งนี้ แก้ไขความผิดพลาด แล้วก็พร้อมที่จะเติบโตขึ้นมาใหม่ที่ดีกว่าเดิมอีก

ในบรรดาประเทศต่างๆ ในเอเชีย เกาหลีใต้เป็นประเทศเดียวที่สามารถเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ในเวลารวดเร็วที่สุด เอกสาร Making the Transit กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกิดขึ้นใน 3 ระยะ ระยะที่ 1 เริ่มจากปี 1962-1997 ที่เกาหลีใต้ใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตที่สอดคล้องกับการส่งออก ระยะที่ 2 ช่วง 1997-1998 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ หนี้สินต่างประเทศระยะสั้นของเอกชนสูงกว่าทุนสำรองของประเทศ อุตสาหกรรมลงทุนมากเกินไปจนกำลังการผลิตล้นเกิน ทำให้เศรษฐกิจติดลบในปี 1998 และคนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 6.8%

2

ระยะที่ 3 เป็นช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วนับจากปี 1999 เป็นต้นมา ในปี 1999 เศรษฐกิจโตถึง 10.7% ปี 2000 การส่งออกเพิ่มถึง 18.2% ช่วง 1998-2008 เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละกว่า 5% การฟื้นตัวที่รวดเร็วมาจากการส่งออกที่เติบโตสูง การลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามา และการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทั้งในภาคเอกชน ธนาคาร แรงงาน และภาครัฐ

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1998 อนาคตเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เต็มไปด้วยความมืดมน เกาหลีใต้จะอยู่รอดและแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างไรในเมื่อเป็นประเทศที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจีนที่มีค่าแรงต่ำกับญี่ปุ่นที่เป็นประเทศไฮเทค แต่เกาหลีใต้ก็สามารถพัฒนาความสามารถในการแข่งขันที่ยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ระยะดังกล่าว

การพัฒนาช่วง 3 ระยะของเกาหลีใต้อาจแบ่งได้อีกแบบหนึ่ง คือ ช่วงการพัฒนาในสมัยเผด็จการทหาร ช่วงการสร้างประชาธิปไตย และช่วงการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ปัจจุบัน เกาหลีใต้มีเศรษฐกิจที่ตั้งบนพื้นฐานของนวัตกรรมและความรู้ สังคมที่จะมีนวัตกรรมและการสร้างความรู้ คนในสังคมต้องสามารถคิดได้อย่างอิสระและแข่งขันกันอย่างเสรี

เกาหลีใต้พิสูจน์ว่าเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและรุ่งเรืองต้องการระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมยึดหลักนิติธรรม ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระ และมีคอร์รัปชันน้อย หรือกลไกรัฐมีประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหานี้