ข่าวประชาสัมพันธ์

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลงและประกาศความร่วมมือ ในการกำหนดจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้แนวคิดจรรยาบรรณธนาคารพาณิชย์ พัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนว่าการปรับปรุงจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ให้ทันสมัยและเท่าทันกับความคาดหวังของสังคม โดยตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1 หลักความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา 2 หลักความเป็นธรรม และ 3 หลักการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรับผิดชอบ ทั้งสามหลักการ จะสร้างความเชื่อมั่น และความไว้วางใจหรือ Trust ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธนาคารพาณิชย์ ความไว้วางใจจะต้องเริ่มจากพฤติกรรมของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องแสดงให้เห็นในทุกระดับ ตั้งแต่ คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตลอดจนวิธีการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ความท้าทายต่อจากนี้ไป คือ จะต้องเร่งทำหลักการในจรรยาบรรณให้เกิดผลได้จริงในทางปฏิบัติ ให้ประชาชนผู้ใช้บริการสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลง
ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2558 สมาคมธนาคารไทยได้ร่วมกันกำหนดทิศทางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของอุตสาหกรรมธนาคารโดยครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างระบบชำระเงินและธนาคารดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน National E-payment การสร้างสังคมทางการเงิน ด้วยการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้วยจรรยาบรรณธนาคาร (Banking Industry Code of Conduct) และส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การสนับสนุนการทำธุรกรรมการเงินในภูมิภาคให้สะดวกต่อการทำธุรกิจ การเข้าถึงบริการทางการเงินทุกภาคส่วน การผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบธนาคารที่มีประสิทธิภาพสูงในระยะยาว และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการลงนามในวันนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งในการบรรลุแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะ CEO Sponsor แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีสมาคมธนาคารไทย ด้าน Banking Industry Code of Conduct เปิดเผยว่า การจัดทำจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ ในการประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณและยกระดับความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าจะได้รับการบริการที่มีความยุติธรรม ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องก่อนการตัดสินใจใช้บริการ
อนึ่ง จรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ฉบับแรกได้จัดทำตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่มีการกำหนดจรรยาบรรณของตัวเองและแม้จะมีเนื้อหาแตกต่างกัน แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ขอบเขตและสอดคล้องกับจรรยาบรรณฉบับดังกล่าว สำหรับการจัดทำจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ฉบับใหม่ คณะทำงานได้ศึกษาจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ ตลอดจนจรรยาบรรณของอุตสาหกรรมอื่นๆ และนำมาเพิ่มเติมในจรรยาบรรณฉบับเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล รวมถึงสถานการณ์และภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยประกอบด้วย 9 หลักการ ได้แก่ 1 จรรยาบรรณด้านการประกอบธุรกิจ 2 บทบาทของกรรมการและผู้บริหาร 3 มาตรฐานการให้บริการ 4 พนักงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 5 ความรับผิดชอบต่อลูกค้า6 ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ 7 การจัดการข้อมูล 8 การกำกับดูแลโดยรวม 9 การแข่งขันทางการค้าและการระงับข้อพิพาท ซึ่งแต่ละธนาคารจะนำจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ฉบับนี้ไปกำหนดเป็นมาตรฐานในการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการสื่อสาร และอบรมให้พนักงานเข้าใจและปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
จรรยาบรรณธุรกิจของธนาคารพาณิชย์
1. จรรยาบรรณด้านการประกอบธุรกิจ
ธนาคารพึงดูแลให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงนโยบายการต่อต้านและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น นโยบายด้าน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พนักงานของธนาคารจะต้องปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ และความระมัดระวังรอบคอบ2. บทบาทของกรรมการและผู้บริหาร
กรรมการและผู้บริหารของธนาคารพึงมีจิตสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้กรอบคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลทุกระดับในองค์กร3. มาตรฐานการให้บริการ
ธนาคารต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย โดยจัดให้มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบการจัดการและบริหารควบคุมภายในที่รอบคอบ รวมทั้งมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับธุรกิจ4. พนักงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ธนาคารควรจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานทุกคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จัดให้สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและปลอดภัย ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเป็นธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริม สนับสนุนให้พนักงานได้รับโอกาสการพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม5. ความรับผิดชอบต่อลูกค้า
ธนาคารควรให้ความสำคัญและปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างมีความรับผิดชอบ โดยจัดให้มีการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของลูกค้า จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์จะต้องสื่อสารอย่างโปร่งใสด้วยข้อความที่ชัดเจนไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ปกป้องรักษาข้อมูลลูกค้าเป็นความลับ จัดให้มีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน และจัดการประเด็นต่างๆที่ลูกค้าร้องเรียนอย่างชัดเจนและเหมาะสมอีกทั้งมีการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างยั่งยืน6. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ธนาคารพึงจัดให้มีมาตรการเพื่อบริหารจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในเรื่องของ
การป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ มีการกำหนดกระบวนการการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและรายการที่เกี่ยวโยงกันที่ไม่ให้เกิดการถ่ายเทผลประโยชน์โดยมิชอบ และ
มีการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการรับและให้ของขวัญ การรับรองและผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อไม่มีการรับหรือให้สินบน
ทั้งกับลูกค้า หน่วยงานของรัฐ เอกชน7. การจัดการข้อมูล
ธนาคารควรมีการจัดการข้อมูลต่างๆให้เหมาะสม มีการปกป้อง จัดเก็บ ดูแลข้อมูลของลูกค้า รวมถึงข้อมูลของธนาคารเอง นอกจากนี้ การสื่อสาร แถลงการณ์ หรือการให้ข้อมูลใดๆที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร ธุรกิจของธนาคารและลูกค้า ต้องมีความถูกต้องเหมาะสม8. การกำกับดูแลโดยรวม
ธนาคารต้องดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง นโยบายและระเบียบปฏิบัติของธนาคาร รวมถึงหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องจัดให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ จัดให้มีหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลที่เป็นอิสระจากการบริหาร จัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ มีการดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ พร้อมทั้งจัดให้มีช่องทางต่างๆในการแจ้งเบาะแส หรือรายงานข้อสงสัย9. การแข่งขันทางการค้าและการระงับข้อพิพาท
เพื่อให้ระบบการดำเนินธุรกิจของธนาคารดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ธนาคารพึงดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีและแข่งขันอย่างเป็นธรรม เสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้ลูกค้าอย่างเสรี ไม่กล่าวโจมตีคู่แข่ง หรือกระทำการใดๆอันเป็นการผูกขาด ทั้งนี้ หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ธนาคารพึงจัดให้มีกระบวนการที่เหมาะสมในการระงับหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาท