ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “วิรไท สันติประภพ”กับนิยาม Thailand 4.0 คืออะไร – ไทยอยู่ตรงไหน จะสร้าง”คนที่ครบคน” รับโลกใหม่อย่างไร

“วิรไท สันติประภพ”กับนิยาม Thailand 4.0 คืออะไร – ไทยอยู่ตรงไหน จะสร้าง”คนที่ครบคน” รับโลกใหม่อย่างไร

8 กุมภาพันธ์ 2017


เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถา เรื่อง ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ยุค 4.0 ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 15 ของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถา เรื่อง ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ยุค 4.0 ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 15 ของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถา เรื่อง ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ยุค 4.0 ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 15 ของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

“ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ให้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในโอกาสที่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ก้าวเข้าสู่ปีที่ 15”

ถ้าเราเทียบวัย 15 ปีของโพสต์ทูเดย์ ก็เสมือน “วัยรุ่น” ซึ่งเป็นวัยที่กล้าคิด กล้าพูด สะท้อนจากการนำเสนอข่าวในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นตัวของตัวเอง จึงทำให้โดนใจและก็ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้อ่านที่หลากหลาย

“Thailand 4.0” คืออะไร

วันนี้นับเป็นโอกาสดีที่มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาจากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ ราชการ ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องที่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก “Thailand 4.0” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล สำหรับผมจะขอร่วมเสนอมุมมอง “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ยุค 4.0” โดยจะแบ่งประเด็นที่จะพูดเป็น 3 ส่วน

ในส่วนแรก จะพูดถึงโลกในยุค 4.0 ที่เรากำลังเผชิญ แนวคิดเรื่อง 4.0 ไม่ใช่เป็นแนวคิดสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

ในส่วนที่สอง จะพูดถึงความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นที่อาจจะทำให้เราได้รับผลกระทบจากโลก 4.0 หรือทำให้เราไม่สามารถสร้างประโยชน์จากโอกาสที่จะมาพร้อมกับโลก 4.0 ได้อย่างเต็มที่ และในส่วนสุดท้าย จะพูดถึงความสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยเพื่อเข้าสู่โลกในยุค 4.0

ที่ผ่านมาหลายท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า “Thailand 4.0” คืออะไร หรือ “ยุค 4.0” ที่เราพูดกันมีที่มาจากไหน ผมคิดว่า “โลกยุค 4.0” ที่เราพูดกันคือ “4th Industrial Revolution” หรือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นทั้งโลก และเราเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ Professor Klaus Schwab ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานของ World Economic Forum ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เรากำลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดจะเปลี่ยนวิถีชีวิต รูปแบบการทำงาน ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนความสัมพันธ์ของคนในสังคม”

ไม่ว่าจะมองไปทางไหน จะเห็นว่ารอบโลกที่เราอยู่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ถ้าท่านลองจินตนาการดู มองย้อนหลังไปเมื่อสิบปีที่แล้ว เราจะเชื่อหรือไม่ว่า ในวันนี้ 10 ปีผ่านมา

  • เราจะสามารถโทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศได้โดยไม่เสียเงิน และก็สามารถประชุมทั่วโลกแบบเห็นหน้ากันได้โดยไม่เสียเงินเช่นกัน ในวันนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราแทบไม่เชื่อว่า
  • เราจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงในแต่ละวันกับ smartphone ที่เราสามารถทำงานได้หลายอย่างพร้อมกันได้ เช่นเดียวกับคงไม่เชื่อว่า
  • เราจะเห็นหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ทำให้แผลเล็ก ลดผลข้างเคียง และผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอย่างรวดเร็ว เราคงไม่คิดว่า
  • บริษัทที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงแรมเลย เช่น Airbnb จะกลายเป็นผู้ให้บริการจองห้องพักที่มีจำนวนห้องพักในเครือข่ายมากที่สุดในโลก

เมื่อสักครู่เราคงได้ยินท่านรมว.(ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)พูดถึงหลายคำ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราไม่ได้ยินคำว่า Social media, Sharing economy, AI, Internet of Things, Cloud computing, FinTech, PropTech หรือ AgriTech ที่กำลังจะกลายเป็นรากฐานสำคัญสำหรับอนาคต และเชื่อว่าเราจะได้ยินคำเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตข้างหน้า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดนี้ ในด้านหนึ่งจะสร้างโอกาสในการทำงาน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเราทุกคนให้ดีขึ้น แต่อีกด้านจะมีนัยต่อวิธีการทำงานและทำให้ตำแหน่งงานจำนวนไม่น้อยต้องหายไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องปรับตัวอย่างเท่าทันทั้งในวันนี้และในอนาคต

thaipublica_5427

หลายท่านในห้องนี้อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์ ท่านคงเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ และก็ต้องพยายามปรับตัว ในความเข้าใจของผมนั้น ผมเข้าใจว่า เมื่อ 10 กว่าปีก่อนยอดขายหนังสือพิมพ์ในไทยเคยขายได้วันละ 2.2 ล้านฉบับ ปัจจุบันลดลงเหลือแค่ 1.2 ล้านฉบับต่อวัน ไม่ใช่เพราะคนไม่อ่านข่าวแต่เพราะเปลี่ยนไปอ่านข่าว Online มากขึ้น ถ้าหากนับเฉพาะเว็บไซต์ข่าว 10 อันดับแรกมีคนอ่านถึง 4.5 ล้านคนต่อวัน

นอกจากนี้ นิตยสารที่เราเคยเห็นวางกันเต็มแผงหนังสือ ปัจจุบันจำนวนไม่น้อยก็ทยอยปิดตัวไปหลายฉบับ แม้แต่นิตยสารในระดับตำนานหลายเล่มที่คนรุ่นผมเติบโตมาด้วยกันก็ยังต้องประกาศปิดตัว หรือแม้แต่ TV Digital ที่เคยเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทยเพียงไม่ถึง 3 ปี แค่นั้นเอง วันนี้รูปแบบธุรกิจของ TV Digital ก็อาจจะตกรุ่นได้อย่างรวดเร็ว ความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจหรือยอดขายที่ลดลงเรื่อยๆ จากพัฒนาการทางเทคโนโลยีทำให้เกิดผลต่อเนื่องหลายอย่าง อย่างแรก คือ เรื่องของการจ้างงาน หลายคนต้องปรับตัวไปทำงานรูปแบบใหม่หรืออาชีพใหม่เพื่อความอยู่รอด

สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2556-2559 แรงงานในธุรกิจสิ่งพิมพ์ลดลงมากกว่าร้อยละ 40 เมื่อไม่นานนี้มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งของ World Economic Forum ประเมินว่าในอนาคตข้างหน้าของคนรุ่นใหม่ จะไม่มีใครที่จะสามารถทำงานอาชีพเดียวได้จนเกษียณ ในชีวิตการทำงานของแต่ละคนจะทำงาน 7 อย่าง และ 5 ใน 7 อย่างยังไม่รู้ว่าจะเป็นงานประเภทอะไร

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อมองไปข้างหน้า เราจะยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และเร็วขึ้นเหมือนอย่างที่ท่าน รมว. พูดถึงเมื่อสักครู่ นักเศรษฐศาสตร์บางท่านเปรียบเทียบว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีอัตราเร่งแบบ exponential หรือก้าวกระโดด ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะ linear หรือเป็นเส้นตรงเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ โลกที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น เชื่อมโยงกันทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม อย่างไร้พรมแดน ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิดห่วงโซ่การผลิตรูปแบบใหม่ๆ ที่กระบวนการผลิตกระจายอยู่ทั่วโลก มีคน บริษัท และประเทศที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก กว่าที่จะผลิตสินค้าขั้นปลายได้หนึ่งชิ้น หรือเทคโนโลยีทางการเงินที่ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนซับซ้อนขึ้น เหตุการณ์ในซีกโลกหนึ่งสามารถกระทบกับราคาหุ้นในอีกซีกโลกหนึ่งด้วยเวลาเพียงเสี้ยววินาที

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของท่านประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศนโยบาย “อเมริกามาก่อน” ก็ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในหลายมิติ หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดการกีดกันทางการค้าและไม่มีใครคาดเดาได้ถูกว่าจะเกิดผลที่แท้จริงอย่างไร ธุรกิจอเมริกาจะได้หรือจะเสีย เพราะว่าในปัจจุบัน ธุรกิจอเมริกาก็ต้องอาศัยห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนและกระจายอยู่ทั่วโลก งานที่ท่านประธานาธิบดีทรัมป์คาดว่าจะย้ายกลับไปสหรัฐอเมริกาก็อาจจะไม่ได้นำมาสู่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นแต่ใช้หุ่นยนต์แทนที่จะจ้างคนอเมริกันทำงาน แต่นโยบายเช่นนี้จะทำให้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้นในหลายภูมิภาค และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวนสูง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเปราะบางมากขึ้น

ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกไปสู่ยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและศักยภาพชีวิตของพวกเรา รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ นั้น จะเกิดขึ้นพร้อมกับโลกที่มีความผันผวนสูง มีความไม่แน่นอนสูง มีความซับซ้อนสูง และยากที่จะคาดเดา ลักษณะเช่นนี้เป็น “สภาวะของโลก” ที่พวกเราทุกคนล้วนเป็น “เพื่อนร่วมเดินทาง” ที่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ไปพร้อมๆ กันอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สำรวจประเทศไทยอยู่ตรงไหน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ในส่วนถัดไป ผมจะขอใช้เวลาสักเล็กน้อยทบทวนสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พร้อมกับความท้าทายที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้เราเท่าทัน ไม่ตกขบวนรถไฟ 4.0 และสามารถเดินทางไปถึงสถานีเป้าหมายได้อย่างมั่นใจด้วย

ท่ามกลางบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4.0 ผนวกกับสภาวะตลาดการเงินตลาดทุนโลกที่ผันผวน รวมทั้งมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลายอย่างเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง และคาดว่าในปีนี้จะสามารถเติบโตได้ในระดับที่ใกล้เคียงกัน สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยสามารถทนทานและรองรับความผันผวนได้ดีในระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งคงเป็นว่าเพราะหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ภาครัฐและภาคเอกชนดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง ทำให้เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ทั้งในมิติด้านเงินเฟ้อและด้านต่างประเทศ อยู่ในเกณฑ์ที่ดี อัตราการว่างงานต่ำ ระดับหนี้ของภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้ ลักษณะเหล่านี้เป็นกันชนสำคัญที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา

แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังมีปัญหาโครงสร้างอีกหลายเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านรายได้และโอกาส ปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือปัญหาที่จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจในยุค 4.0 ในวันนี้ผมจะขอพูดถึง 3 ปัญหาสำคัญ

ปัญหาที่ 1 ปัญหาคุณภาพของแรงงานไทย ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องในหลายมิติ

มิติแรก คุณภาพการศึกษาของประเทศที่ไหลลงเรื่อยๆ จากข้อมูลปี 2559 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือที่เรามักเรียกสั้นๆ ว่า OECD ชี้ว่าความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปี ในเรื่องวิทยาศาสตร์และทัศนคติต่อวิทยาศาสตร์ ทักษะการอ่าน และคณิตศาสตร์ พบว่าความสามารถของเด็กไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากในทุกมิติที่ทดสอบ และในภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 54 จาก 72 ประเทศ

ในมิติที่สอง เราพบว่าในด้านแรงงานธุรกิจเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะความชำนาญที่ตรงกับความต้องการหรือที่เราเรียกว่า skill mismatch กล่าวคือ ตลาดแรงงานต้องการแรงงานที่มีทักษะและประสบการณ์ด้านวิชาชีพหรือ vocational skills หรืออาชีวะ แต่ผลผลิตแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นบัณฑิตที่จบการศึกษาในระดับปริญญาในสาขาวิชาที่ไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ และที่สำคัญ คุณภาพก็ไม่ได้มาตรฐานที่ตลาดแรงงานคาดหวัง

ในมิติที่สาม ที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน คนไทยหรือแรงงานไทยขาดการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีคนเคยกล่าวว่า “บัณฑิตไทยส่วนใหญ่มีความรู้มากที่สุดในวันที่จบการศึกษา” เพราะหลังจากนั้นความรู้จะลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ เพราะคนไทยไม่ชอบที่จะติดตามความรู้หรือความก้าวหน้าของโลกเท่าไรนัก หรือขาดทักษะที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งที่ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือการยกระดับศักยภาพของตัวเองต่อเนื่องเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการทำงาน โดยเฉพาะในโลกยุค 4.0

ปัญหากลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย

ถ้าเราดูกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ กฎหมายและกฎเกณฑ์ของภาครัฐส่วนใหญ่ยังเขียนขึ้นใน mode analog ตามบริบทสังคมแบบดั้งเดิมมากกว่า digital ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างองค์รวม การปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายครั้งสำคัญของไทยเกิดขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อนในยุคล่าอาณานิคม หลังจากนั้นผมก็นึกไม่ออกว่าเราปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายครั้งใหญ่เมื่อไหร่ ปัจจุบันเรามีกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ธุรกิจไทยและคนไทยต้องปฏิบัติตามนับแสนฉบับ มีใบอนุญาตมากกว่า 3,500 ประเภท ซึ่งกฎหมาย กฎเกณฑ์ และใบอนุญาตส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย กฎระเบียบที่ล้าหลังจำนวนมากมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ก็ยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่มีประสิทธิผล เกิดปัญหาคอร์รัปชันเต็มไปหมด

ถ้ามองไปทั่วโลก เราจะเห็นโลกดิจิทัล โลกที่ต้องตั้งอยู่บนฐานของนวัตกรรมและการแข่งขันที่ต้องตั้งอยู่บนฐานของคุณภาพและความรวดเร็ว หลายประเทศโดยเฉพาะเพื่อนบ้านของเราในเอเชียได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายอย่างจริงจังเพื่อเตรียมการรองรับโลกยุค 4.0

ปัญหาโครงสร้างกลุ่มที่ 3 คือ ความสามารถในการสร้างและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ใหม่ของธุรกิจไทยซึ่งยังค่อนข้างต่ำ และพบว่าความสามารถในการใช้และสร้างองค์ความรู้ยังกระจุกตัวอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่ โดยรวมแล้ว งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ที่สำคัญ ธุรกิจ SMEs และภาคการเกษตรที่คนไทยจำนวนมากอยู่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนาอย่างเต็มที่ ผลคือ SMEs ต้องผลิตสินค้าที่มีการแข่งขันสูง อัตราผลกำไรต่ำ และทำให้กันชนของ SMEs บางลง ขณะที่ภาคเกษตรก็ยังมักทำการเกษตรแบบเดิม พืชหลายชนิดมีผลผลิตต่อไร่อยู่ในระดับต่ำมากและก็ต้องเผชิญกับตลาดแรงงานในภาคการเกษตรที่ตึงตัวขึ้น รวมทั้งต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น

หัวใจ 4.0 ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พร้อม

thaipublica_5268_วิรไท สันติประภพ

ปัญหาข้างต้นเป็นตัวอย่างปัญหาสำคัญที่จะเหนี่ยวรั้งศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่ยุค 4.0 ให้ราบรื่นและเกิดประโยชน์สูงสุด “หัวใจ” สำคัญคือต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อม ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ผมจะขอขยายความในส่วนสุดท้ายของสิ่งที่ผมจะพูดในวันนี้

ถ้าระบบเศรษฐกิจเปรียบเสมือนกับร่างกายของมนุษย์ เศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันที่ดี กลไกภายในต้องไม่หย่อนยาน และทำงานประสานกันได้ดี อาจจะเปรียบเทียบง่ายๆ ว่ารัฐบาลเป็นเหมือน “สมอง” ที่คอยคิดนโยบายและส่งสัญญาณสั่งการให้อวัยวะส่วนต่างๆ ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะเดินไปในทิศไหนอย่างไร

หน่วยงานภาครัฐ เป็น “โครงกระดูก” ที่คอยพยุงให้ร่างกายตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ระบบการเงินเป็นเสมือน “เส้นเลือด” คอยสูบฉีดสภาพคล่องหมุนเวียนเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ภาคธุรกิจเป็น “กล้ามเนื้อ” ที่คอยขับเคลื่อนให้เดินไปข้างหน้าได้เร็ว สามารถรับแรงปะทะต่างๆ ได้และมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวตามสภาวะต่างๆ ได้ดี และที่สำคัญก็คือภาคประชาชน เป็น “เซลล์” ที่คอยปรับตัวตามสัญญาณที่ระบบต่างๆ ส่งมาถึง 66 ล้านเซลล์คนไทยที่แฝงตัวอยู่ตามอวัยวะต่างๆ และประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างกาย

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอาจเทียบได้กับคนวัยกลางคน ที่เริ่มเดินช้าลง มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังหลายอย่าง วิ่งไม่ทันเพื่อนบ้าน ระบบราชการที่แต่เดิมเคยเป็นโครงกระดูกตั้งตรงมั่นคงกลับสึกหรอ กระดูกหลายชิ้นมีอาการของโรคกระดูกพรุน และบางชิ้นก็เคยถูกสมองสั่งย้ายกระดูกไปมา ส่งผลให้ระบบราชการอ่อนแอ ไม่อาจรองรับความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมากล้ามเนื้อทั้งมัดใหญ่และมัดเล็กซึ่งหมายถึงภาคธุรกิจของไทยเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยก้าวเดินไปข้างหน้ามาโดยต่อเนื่อง แต่เราคงจะหวังให้กล้ามเนื้อเป็นผู้รับภาระหนักอยู่เพียงกลุ่มเดียวคงไม่ได้ เพราะสักวันหนึ่งกล้ามเนื้อก็อาจจะฉีกขาดอ่อนแรงลงได้เช่นกัน

ดังนั้น “ในการเตรียมพร้อมปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ทุกระบบทุกอวัยวะของชีวิตจะต้องได้รับการปรับปรุง” มิฉะนั้น เราก็จะเป็นสภาพเหมือนเอา “คนวัยกลางคนที่มีปัญหาสุขภาพไปวิ่งบนสายพาน 4.0 ที่หมุนเร็วขึ้น”

ในส่วนของรัฐบาลหรือสมอง เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาด้วยวิสัยทัศน์ระยะยาว เช่น แนวคิด Thailand 4.0 เราคงต้องไม่มุ่งเน้นเพียงแค่ให้เศรษฐกิจเติบโตได้สูงในช่วงสั้นๆ แต่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง “ผลิตภาพ” เรื่องของ “คุณภาพ” และ “ความยั่งยืน” จะต้องเป็นมิติหลักของทุกนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ

กระจายโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยี่ – 3 เรื่องที่รัฐต้องทำ

แนวทางหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดข้างต้นก็คือ “การกระจายโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ต่อเนื่อง และจริงจัง” โดยเฉพาะกับ “คนส่วนใหญ่ของประเทศ” เราจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร ในกลุ่ม SMEs เราต้องเร่งใช้เทคโนโลยีในด้านการศึกษาและการดูแลสุขภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสของชีวิตและลดต้นทุนการดำเนินชีวิตของคนไทย หากทำได้สำเร็จ ไม่เพียงแต่จะทำให้ฐานของเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งและพร้อมต่อยอดในการพัฒนา แต่ยังจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อีกด้วย

ในส่วนของการศึกษา ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมคนไทยให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะความเปลี่ยนแปลงจะเป็น “โลกปกติใหม่” หรือ New Normal ของโลกยุค 4.0 ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านวิชาชีพ มีความสามารถด้านภาษา ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การอ่านเขียน และการคิดวิเคราะห์อย่างมีตรรกะ เพื่อที่คนไทยจะอยู่ในยุค 4.0 ได้อย่างเท่าทัน มีภูมิคุ้มกันและสามารถเป็นกำลังสำคัญของประเทศในยุคต่อไปด้วย

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ หรือโครงกระดูกของร่างกายคนไทยนั้น หน่วยงานภาครัฐในฐานะเป็นผู้วางกฎเกณฑ์กติกาและผู้นำนโยบายของรัฐบาลไปขับเคลื่อนให้เกิดผลจริง จะมีความสำคัญเป็นพิเศษในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ผมคิดว่า มีอย่างน้อย 3 เรื่องที่เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ

เรื่องแรก คือ การปรับกรอบกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกาของบ้านเมืองให้ทันสมัย ให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง เอื้อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถปรับตัวได้เร็ว เอื้อให้การโอนย้ายทรัพยากรระหว่างภาคเศรษฐกิจเป็นไปได้โดยง่าย โดยมีหลักกฎหมายสำคัญต่อการก้าวสู่ยุค 4.0 หลายเรื่องที่จะต่างไปจากกรอบกฎหมายเดิมที่เราคุ้นชิน เช่น กฎหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจแบบแบ่งปันหรือที่เราเรียกกันว่า sharing economy กฎหมายที่กำกับดูแลบริการข้ามพรมแดนผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เมื่อ technology มีความก้าวหน้ามากขึ้น พรมแดนข้ามประเทศก็มีความสำคัญน้อยลง กฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องมีความสมดุลระหว่างการรักษาสิทธิส่วนบุคคลกับการใช้ประโยชน์ข้อมูลรายธุรกรรมเพื่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ประโยชน์ของ digital economy จะมาจาก digital footprint แต่ในปัจจุบันเรายังไม่สามารถใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากกรอบกฎหมายที่จำกัด

เรื่องที่สอง หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องปรับบทบาทและการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าเรื่องใดที่ภาคเอกชนทำได้แล้ว ภาครัฐไม่ควรทำแข่ง ควรให้ความสำคัญกับเรื่องที่เอกชนยังทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี ภาครัฐควรมีบทบาทเล็กลงเมื่อเทียบกับขนาดรายได้ของประเทศ บทบาทของหน่วยงานภาครัฐควรจะเน้นการเป็น “ผู้สนับสนุน” ภาคธุรกิจ และปล่อยให้กลไกตลาดกำกับดูแลจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างงานปฏิรูปสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นคือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นผู้ครอบครองสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ถ้าการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจขาดประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจและต้นทุนการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนสูงขึ้น และที่สำคัญจะส่งผลกีดกันไม่ให้คู่แข่งเอกชนที่มีประสิทธิภาพเข้ามาแข่งขันได้ด้วย

และประการสุดท้ายที่เกี่ยวกับภาครัฐ คือ การทำงานของภาครัฐต้องโปร่งใสมากขึ้น ในโลกที่จะซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ “การเปิดเผยข้อมูล” ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและช่วยตรวจสอบได้ถือเป็นกลไกการตรวจสอบที่ดีที่สุด ซึ่งนอกจากจะนำมาซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนแล้ว ยังเป็นเกราะที่จะช่วยป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกแทรกแซงด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรมด้วย ในเรื่องนี้ สื่อมวลชนก็จะเป็นอีกพลังสำคัญที่จะเป็นกลไกช่วยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และสะท้อนถึงประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างดี ในส่วนของระบบการเงิน หรือเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกาย ที่ผ่านมาเสถียรภาพความมั่นคงของระบบการเงินถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย มองไปข้างหน้า ที่บริบทของโลกมีแนวโน้มผันผวนและไม่แน่นอนมากขึ้น การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินจะยังเป็นเรื่องสำคัญที่เราจำเป็นต้องดำรงรักษาไว้ให้ดีควบคู่ไปการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค

ในยุค 4.0 นี้เราจำเป็นต้องสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนอย่างทั่วถึงในราคาถูกและเป็นธรรมมากขึ้น ปัจจุบัน การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการเงินเพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกยุค 4.0 มีหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริม digitization ให้เกิดขึ้นในระบบการเงินของไทย โครงการ e-Payment ที่จะช่วยลดต้นทุนการชำระเงินและโอนเงินของประชาชน โครงการ PromptPay เพิ่งได้เริ่มต้นใช้อย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดเส้นใหม่ของระบบการชำระเงินไทย ที่ทุกภาคส่วนสามารถใช้ร่วมกันได้ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไป โครงการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการเงินของประเทศ เพิ่มความสะดวกและลดต้นทุนให้กับทุกคน ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ ส่งเสริมธุรกิจ SMEs และก็ e-Commerce

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผลักดันกฎหมายระบบการชำระเงินใหม่ ที่จะช่วยให้การกำกับดูแลเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่เกิดขึ้นกับระบบการชำระเงินที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริม FinTech ที่จะสร้างนวัตกรรมการเงินประเภทใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างความรู้ให้แก่ประชาชนให้เท่าทันกับความเสี่ยงที่จะมาในรูปแบบใหม่ๆ ด้วย โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงทางด้าน cyber security และความเสี่ยงที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน

ภาคธุรกิจ-ภาคประชาชนต้องทำอะไร

thaipublica_5422

ในส่วนของภาคธุรกิจ ซึ่งเปรียบเสมือนกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศอยู่มาก เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว ภาคธุรกิจก็จำเป็นที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยใน 3 เรื่องสำคัญ

เรื่องแรก คือ พัฒนา “ผลิตภาพ” หรือ productivity จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ การลงทุนไม่ควรคิดเพียงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อเป็นฐานของการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา เพื่อยกระดับศักยภาพ และที่สำคัญ เป็นการสร้างกันชนให้กับกิจการ ซึ่งจะสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอดของกิจการในระยะยาว

ภาคธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมี “ความสามารถในการบริหารจัดการความผันผวนต่างๆ” ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นจากที่อยู่ในระดับต่ำมานาน

ที่สำคัญ ภาคธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะทางเทคโนโลยี” มีทัศนคติเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีบุคลากรที่หลากหลายเพื่อสอดคล้องกับสังคมที่จะซับซ้อนมากขึ้น

ในส่วนของภาคประชาชน ที่เป็นเสมือนเซลล์กระจายอยู่ทั่วทั้งร่างกาย เรื่องสำคัญคือ เราต้องสร้าง “ทักษะและวินัยที่จะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต” เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการอยู่รอดในโลกยุค 4.0 ความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตเป็น “ทุนชีวิต” ที่จะช่วยให้เรายกระดับศักยภาพของตัวเองให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของสังคมไทย การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้ทุกคนจะมีภาระต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่เคยพระราชทานไว้ว่า “นอกจากวิชาความรู้ ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัยและสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้”

“คนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้”

สำหรับยุคของโลก 4.0 คงจะไม่เป็นเพียงแค่ “คนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้” ทักษะเหล่านั้นจะทำให้รับมือกับโลกยุค 4.0 ได้ การที่เราจะประสบความสำเร็จในอีก 10-15 ปีข้างหน้า คนไทยจะต้องปรับตัวและเพิ่มทักษะในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. ทักษะในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในยุคดิจิทัล การค้นหาและเรียนรู้จากข้อมูลรอบตัวเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก เพราะเทคโนโลยีช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วและไร้พรมแดน แต่เทคโนโลยีก็ทำให้เกิด “ข่าวและข้อมูลที่เป็นเท็จ” แพร่กระจายอย่างรวดเร็วเช่นกัน และสร้างความเข้าใจผิดในวงกว้างได้ง่าย มีงานศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นำข้อมูลจากการสำรวจของ Pew Research Center มาวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น พบว่าการแพร่กระจายของข่าวปลอมเป็นผลจาก (1) การขาดการประเมินข่าวก่อนส่ง (2) เมื่อข่าวสารนั้นตรงกับอคติที่เรามี (confirmation bias) เราจึงปักใจเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น ในโลกยุค 4.0 การเรียนรู้และการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (verify) และความสามารถในการแยกแยะว่าเป็นจริงหรือเท็จเป็นทักษะที่สำคัญ

2. คนไทยต้องมีทักษะด้านภาษาและการสื่อสารสำหรับเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน และเป็นการขยายมุมมองให้ก้าวทันต่อโลก และเพิ่มโอกาสในการทำงานให้หลากหลายมากขึ้น

3. คนไทยในยุค 4.0 จำเป็นต้องมี “ทัศนคติต่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง” ที่สำคัญคือ การรู้จักพอประมาณ รู้เหตุรู้ผล และรู้วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ทัศนคติของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องจะช่วยให้แก้ปัญหาและสร้างความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็น การรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักใช้ประโยชน์จากความแตกต่างและความหลากหลายทางความคิด รวมถึงการมีคุณธรรมที่จะช่วยสร้างความผาสุก ความร่มเย็นในชีวิต ในยุคที่เราต้องเผชิญกับความผันผวน ความไม่แน่นอน และสิ่งเร้าจากภายนอกที่เข้ามาถึงเราได้จากทุกทิศทาง

เรื่องสุดท้ายที่สำคัญมากของคนไทยคือ

4. คนไทยต้องรู้จักการทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ความรู้ต่างๆ จะด้อยค่าลงมากหากประชาชนไม่ได้ทำหน้าที่พลเมือง เราจำเป็นต้องตระหนักว่า เราเป็นเจ้าของประเทศคนหนึ่ง เราจึงมีหน้าที่ของการเป็นพลเมือง การ “นิ่งดูดาย” หรือคิดว่า “ธุระไม่ใช่” แล้วปล่อยให้ปัญหาต่างๆ ใหญ่โตขึ้น สุดท้าย ปัญหาเหล่านั้นก็จะส่งผลกระทบถึงเราในท้ายที่สุด การทำหน้าที่พลเมืองอย่างหนึ่งก็คือ การพร้อมเข้าแก้ปัญหาตามศักยภาพและในทุกโอกาสที่มี ถ้าทุกคนคิดได้เช่นนี้ พลังเล็กน้อยที่ทุกคนร่วมกันจะสะสมเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้ เทคโนโลยีและการสื่อสารในโลกยุค 4.0 จะช่วยทำให้เราทำหน้าที่พลเมืองได้ง่ายขึ้นและมีพลังมากขึ้นอย่างที่เราอาจจะคิดไม่ถึงอีกด้วย

thaipublica_5412_วิรไท สันติประภพ

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอสรุปว่า การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกยุค 4.0 เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เราถอยกลับไม่ได้ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในทุกด้านให้พร้อมรับความท้าทายใหม่นี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

ร่างกายที่แข็งแรง จะต้องประกอบด้วยอวัยวะที่สมบูรณ์ตั้งแต่ระดับเซลล์ กล้ามเนื้อ หลอดเลือด โครงกระดูก จนถึงสมอง เศรษฐกิจไทยในยุค 4.0 ก็เช่นเดียวกัน ต้องมีความทนทาน มีภูมิคุ้มกัน สามารถรองรับความผันผวนที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ต้องมีกรอบกฎเกณฑ์กติกาที่จะเอื้อและส่งเสริมให้ผู้มีส่วนร่วมสามารถปรับตัวได้เร็วในทุกระดับ ต้องมีการกำกับดูแลโดยระบบตลาด ที่สร้างพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ต้องมีผลิตภาพที่สูงขึ้นบนฐานของเทคโนโลยี การสร้างองค์ความรู้ และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในทุกระดับของสังคม

และที่สำคัญ คนไทยต้องมีทักษะและวินัยที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิตและมีโอกาสที่จะสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอวัยวะของระบบเศรษฐกิจไทยต้องเปลี่ยนแปลง ปรับตัว เพื่อรองรับการเข้าสู่โลกยุค 4.0 ถ้าเราจะยังคงเป็นคนวัยกลางคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง เรามีแต่จะยิ่งเหนื่อยขึ้น และอ่อนแรงมากขึ้น เมื่อเราต้องวิ่งบนสายพานที่เราวิ่งหมุนด้วยความเร็ว 4.0