ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติ “มองหาอนาคต…ยุค 4.0” กับความท้าทายในการหาโอกาส – รู้เท่าทัน ความไม่แน่นอน ความไม่แน่ใจ

ผู้ว่าแบงก์ชาติ “มองหาอนาคต…ยุค 4.0” กับความท้าทายในการหาโอกาส – รู้เท่าทัน ความไม่แน่นอน ความไม่แน่ใจ

16 กุมภาพันธ์ 2017


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : สภาธุรกิจไทย-จีน
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : สภาธุรกิจไทย-จีน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาหัวข้อ “เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายยุค 4.0” ในงานสัมมนา “มองหาอนาคต…ยุค 4.0” จัดโดยสภาธุรกิจไทย-จีน

โดยกล่าวว่า “หัวข้อของงานเสวนา “มองหาอนาคต…ยุค 4.0” มีนัยหลายๆ อย่างแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า มองหา อนาคต หรือยุค 4.0 มีนัยแห่งความไม่แน่นอน ความไม่แน่ใจ ไปพร้อมๆ กับเป็นนัยที่แสดงถึงโอกาสที่จะต่างไปจากเดิม ถ้าเราสามารถหาโอกาสเหล่านั้นได้พบ และเข้าใจอนาคตในโลกยุค 4.0 ได้อย่างเท่าทัน”

ในวันนี้ ผมจะขอเสนอมุมมองในบริบทเศรษฐกิจการเงิน เพื่อให้เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เท่าทันต่อสถานการณ์ และวางแผนการดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

สภาวะสามต่ำสองสูง

ผมขอเริ่มต้นด้วยการทบทวนสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินที่สำคัญ ก่อนที่จะชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ และนำเสนอมุมมองต่อการปรับตัว เพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น

เศรษฐกิจการเงินโลกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ในสภาวะที่ผมมักเรียกว่าเป็นสภาวะสามต่ำสองสูง คือเราได้เห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำ แม้ปัจจัยสามต่ำจะเริ่มปรับสูงขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีตได้ ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนสูง และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมากระจุกตัวสูง สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ซึ่งทั้งสองสูงนี้ มีทิศทางที่จะปรับสูงขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้

สำหรับปัจจัยสามต่ำนั้น ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ตามการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐในหลายประเทศ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังเปราะบางและต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่จะมีต่อเนื่อง เงินเฟ้ออาจปรับสูงขึ้นบ้าง หลังผลของฐานราคาน้ำมันที่เคยเป็นฐานสูงเริ่มหมดลง และเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มขยายตัวดีขึ้น สภาวะตลาดแรงงานเริ่มปรับดีขึ้น แต่เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมในโลกยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่สูง ทำให้เงินเฟ้อจะยังคงไม่ปรับสูงขึ้นเร็วนัก

สำหรับปัจจัยต่ำที่สาม คือ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนั้นเป็นผลมาจากสภาพคล่องในตลาดการเงินทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงเพราะการลงทุนของภาคเอกชนโดยรวมค่อนข้างต่ำ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนมากของธนาคารกลางในหลายประเทศอุตสาหกรรมหลัก แต่เราเริ่มเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับสูงขึ้น รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่จะทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จะทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเริ่มปรับเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในอดีต ส่งผลให้นักลงทุนเร่งแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือที่เรียกว่า search for yield ในสภาวะเช่นนี้นักลงทุนมักประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในหลายประเทศ เกิดธนาคารเงาหรือ shadow banking และอาจสะสมให้เกิดความเปราะบาง สร้างปัญหาเสถียรภาพการเงินได้

สำหรับด้านสองสูงนั้น การที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และเรากำลังก้าวเข้าสู่ “โลกยุคใหม่” ที่ความสัมพันธ์และปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศอุตสาหกรรมหลัก สามารถส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนได้อย่างรุนแรงและคาดเดาได้ยาก ตลาดทุนตลาดเงินโลกจึงผันผวนสูง และมีแนวโน้มที่จะผันผวนสูงขึ้นได้อีกในบางช่วงเวลา

ลักษณะสูงตัวที่สอง คือ การกระจุกตัวสูงของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากสภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึง ตัวเลขล่าสุดขององค์กร Oxfam สะท้อนว่า ในปี 2016 ทรัพย์สินของคนเพียง 8 คน มีมูลค่าเท่ากับทรัพย์สินของประชากร 3.6 พันล้านคน หรือประชากรครึ่งหนึ่งของโลกรวมกัน ถือเป็นการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่คน 62 คนถือครองความมั่งคั่งของโลกในสัดส่วนดังกล่าว ตัวเลขนี้ตอกย้ำว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไม่ได้รับการแก้ไข และกลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียม

สำหรับประเทศไทย กล่าวได้ว่าเรากำลังเผชิญกับสภาวะสามต่ำสองสูงเช่นกัน แต่อาจรุนแรงน้อยกว่าเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการขยายตัวก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำต่อเนื่องจนติดลบก็เริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยยังเป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่องและใช้เวลา เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับความผันผวนต่อเนื่อง โดยเฉพาะความผันผวนที่มาจากปัจจัยภายนอกประเทศ

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีกันชนด้านต่างประเทศที่ค่อนข้างดี เช่น ในปีที่แล้วการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 10 ของ GDP เงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และสูงกว่าหนี้ต่างประเทศถึง 3.2 เท่า กันชนเหล่านี้จะช่วยรับมือกับความผันผวนจากปัจจัยภายนอกได้ในระดับหนึ่ง

ปรากฏการณ์สามต่ำสองสูงนี้ จะอยู่กับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ถ้าเรามองให้ไกลออกไปข้างหน้า เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นขนานไปด้วย การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด หรือการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุค 4.0 ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญของงานในวันนี้

พลังของเทคโนโลยีกับระบบเศรษฐกิจแห่งการใช้ร่วมกัน:sharing economy

 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : สภาธุรกิจไทย-จีน
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : สภาธุรกิจไทย-จีน

เทคโนโลยีสมัยใหม่ในวันนี้ มีบทบาทต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจของเรามากขึ้น นวัตกรรมใหม่ๆ ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราตั้งแต่วิธีการสื่อสาร วิธีสั่งซื้อสินค้า วิธีเรียกรถโดยสารสาธารณะ การรักษาพยาบาล หรือการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคนในกระบวนการผลิตอย่างกว้างขวาง พลังของเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแห่งการใช้ร่วมกัน หรือ sharing economy ซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดของการใช้ทรัพยากรร่วมกันโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของ เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในวันนี้ Uber เป็นบริษัทรถโดยสารสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของรถยนต์ หรือ Airbnb เป็นเครือข่ายการจองห้องพักที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่ต้องลงทุนสร้างห้องพักเอง หรือ cloud computing เป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลบนระบบจัดเก็บข้อมูลกลางที่แต่ละบริษัทไม่ต้องลงทุนสร้างและดูแลระบบฐานข้อมูลของตัวเอง

นอกจากนี้ พลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้บริการข้ามพรมแดนสะดวกขึ้น ขยายตัวได้เร็ว เห็นได้ชัดเจนจาก ธุรกิจ e-Commerce ที่เติบโตอย่างรวดเร็วหรือ ธุรกิจการชำระเงิน ที่ระบบการชำระเงินของประเทศหนึ่งก้าวเข้าไปให้บริการในอีกประเทศได้โดยง่าย การค้าบริการข้ามพรมแดนจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เราเคยเชื่อกันว่าธุรกิจบริการเป็นธุรกิจภายในประเทศเท่านั้น พลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้เรามีข้อมูลรายธุรกรรมเป็นรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ของทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของเรา ข้อมูลในระบบดิจิทัลจะเป็นพลังมหาศาลที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การบริหารความเสี่ยง หรือการวางแผนสำหรับอนาคต ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้จะทำให้การดำเนินธุรกิจต้องปรับรูปแบบเพื่อให้แข่งขันได้ ไม่ตกขบวนรถไฟ 4.0 และใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย

เทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงเหล่านี้ จะเป็นโอกาสให้คนจำนวนมากยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพใหม่ๆ สร้างวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ๆ และเพิ่มรายได้ แต่ในทางกลับกัน เทคโนโลยีก็สร้างความท้าทายและทำให้การจ้างงานในธุรกิจและอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมลดลง ตลอดจนจะส่งผลให้ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมนุษย์ในหลายอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด หรือการก้าวเข้าสู่โลกยุค 4.0 นี้จะมีผลต่อสภาวะสามต่ำสองสูง ที่ผมกล่าวถึงไปแล้วด้วย

ประการแรก โลกยุค 4.0 จะเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ดี เทคโนโลยีอาจช่วยให้การพัฒนาประเทศข้ามขั้นได้จากเศรษฐกิจการเกษตรไปสู่เศรษฐกิจการบริการสมัยใหม่ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก่อนตามขั้นตอนแบบเดิมๆ แต่ในบางประเทศที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ศักยภาพของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง และอาจเกิดสภาวะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำต่อเนื่องในระยะยาว

ประการที่สอง อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับต่ำมากขึ้น เพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีจะทำให้ราคาสินค้าและบริการหลายประเภทปรับลดลง ในวันนี้ เราสามารถใช้บริการหลายอย่างที่ในอดีตเคยมีราคาสูงได้ฟรี ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศ video conference หรือบริการด้านบันเทิง ข่าวสาร ข้อมูล ขณะที่สินค้าหลายอย่างมีราคาเท่าเดิมแต่คุณภาพดีขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือสื่อสารหรือคอมพิวเตอร์ พัฒนาการของเทคโนโลยีจะเอื้อให้หลายอุตสาหกรรมผลิตสินค้าเทคโนโลยีได้มากขึ้นโดยใช้ปัจจัยการผลิตที่น้อยลง และเทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง เช่น automation การใช้หุ่นยนต์ หรือการพิมพ์สามมิติ จะช่วยลดต้นทุนค่าแรงที่สูงได้อีกด้วย

ประการที่สาม อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับต่ำ เพราะการลงทุนในระยะข้างหน้านี้จะอยู่ในสภาวะที่ชะลอลง เนื่องจากธุรกิจไม่แน่ใจในผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะต้องเผชิญกับการแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งในเวลานี้ อาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ ขนาดของโครงการลงทุนโดยรวมมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายประเทศเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้การลงทุนสูงไปสู่ภาคการบริการสมัยใหม่ที่ใช้ทุนน้อยกว่า ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในอดีต

ประการที่สี่ ความผันผวนจะปรับสูงขึ้น จากตลาดเงินตลาดทุนโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่ เหตุการณ์ในซีกโลกหนึ่งจะกระทบกับตลาดเงินตลาดทุนในอีกซีกโลกหนึ่งได้เร็วเพียงวินาที การใช้โปรแกรมหรือเครื่องยนต์อัตโนมัติซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดเงินตลาดทุน เช่น algorithmic trading จะแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ จะเกิดสถานการณ์ราคาหุ้นหรือราคาสินทรัพย์ดิ่งลงเร็ว หรือที่เรียกว่า flash crash ถี่ขึ้นในหลายตลาดสำคัญของโลก และแพร่กระจายไปสู่ตลาดอื่นได้เร็วมากขึ้นได้

ประการสุดท้าย ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มจะสูงขึ้น เพราะช่องว่างทางเทคโนโลยีจะถ่างขึ้น จากการที่คนที่มีทุนมากกว่าก็มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ง่ายกว่าคนอื่น เร็วกว่าคนอื่น ในหลายประเทศที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงแรงงานไร้ฝีมือขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากพัฒนาการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ คนกลุ่มใดที่ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่ทันหรือไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีแนวโน้มที่จะถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลัง ความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้นในหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรม เพราะพัฒนาการทางเทคโนโลยีก้าวไปสู่ทุกรูปแบบการทำธุรกิจ และวิถีชีวิตของคน ไม่ว่าจะอยู่ในภาค การเกษตร การศึกษา การก่อสร้าง พาณิชยกรรม บริการทางการเงิน สุขอนามัย ตลอดจนแม้กระทั่ง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทันท่วงที แต่ถ้าเราสามารถดูแลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และคนส่วนใหญ่ของประเทศประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้แล้ว เราจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและศักยภาพของคนกลุ่มใหญ่ของประเทศได้มากทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : สภาธุรกิจไทย-จีน
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : สภาธุรกิจไทย-จีน

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดเข้าสู่ยุคดิจิทัลซึ่งเป็นหัวใจของยุค 4.0 แล้ว ในอนาคตข้างหน้าผมคิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญอีกหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน ในวันนี้ ผมขอยกตัวอย่างเพียง 3 เรื่องที่สำคัญกับเศรษฐกิจไทย

เรื่องที่หนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะจำนวนคนเกิดน้อยลงมาก และเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ทำให้คนมีอายุยืนขึ้น สังคมผู้สูงอายุจะเป็นความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะจะส่งผลต่อโครงสร้างตลาดแรงงาน ทำให้มีจำนวนคนในวัยทำงานลดลง ขณะที่ผลิตภาพของแรงงานสูงอายุจะเสื่อมถอยลงเมื่อเทียบกับแรงงานวัยหนุ่มสาว โครงสร้างการบริโภคการออมก็จะเปลี่ยนแปลง ภาระด้านการคลังและรายจ่ายด้านสวัสดิการจะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญ สังคมผู้สูงอายุจะทำให้บริบททางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปด้วย เนื่องจากฐานเสียงของผู้สูงอายุจะมีน้ำหนักมากขึ้น และผู้สูงอายุจะเน้นเรื่องการรักษาสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของตนเองเป็นหลัก คำนึงถึงอนาคตของคนรุ่นต่อไปน้อยลง การดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมจะทำได้ยากขึ้น วันนี้เราเริ่มเห็นตัวอย่างในหลายประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและติดกับดักทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง

การเปลี่ยนแปลงที่สอง คือ การเติบโตของประชากรชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจซื้อและมีอัตราการขยายตัวของการบริโภคสูง จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยเราโชคดีที่แม้ว่าเราจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่เราอยู่ในภูมิภาคที่ชนชั้นกลางจะขยายตัวเร็ว ทั้งในจีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา World Economic Forum ได้ประมาณการไว้ว่าประชากรชนชั้นกลางในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเกือบ 1.8 พันล้านคนในปี 2020 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าในช่วงระยะเวลา 10 ปี การขยายตัวของจำนวนชนชั้นกลางจะเร่งกระบวนการเกิดขึ้นของเมือง (urbanization) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ประกอบกับการเปลี่ยนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่จากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคบริการ จะสร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและโอกาสทางเศรษฐกิจได้อีกมาก

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างตัวที่สาม คือ ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองมีความเชื่อมโยงกันและมีอิทธิพลซึ่งกันและกันรุนแรงขึ้น โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาของเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนาเทคโนโลยีของโลกเท่าที่ควร จนเกิดกระแสการต่อต้านสถาบันทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบดั้งเดิม (anti-establishment) ซึ่งสอดคล้องกับรายงาน The Global Risk Report ล่าสุด ที่พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เพียงต้องการเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ต้องการให้เห็นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้อานิสงส์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถกระจายตัวทั่วถึงได้มากขึ้นด้วย

การที่คนส่วนใหญ่ในโลกรู้สึกว่าการกระจายผลประโยชน์ไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรมได้ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วทางความคิดกันมากขึ้น ประชาชนหลายกลุ่มไม่แน่ใจในอนาคตของตนเอง ไม่เห็นโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง เกิดการเปลี่ยนความคิดทางการเมืองที่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่พลิกความคาดหมายในหลายประเทศ ทั้งการชนะการเลือกตั้งของประธานาธิบดี Trump ผลการออกเสียงสนับสนุนกรณี Brexit หรือการที่นักการเมืองที่มีแนวคิดประชานิยมและชาตินิยมในยุโรปหลายประเทศได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มถดถอยไปเป็นลักษณะที่เน้นเศรษฐกิจในประเทศ และกีดกันการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ หรือที่เรียกกันว่า anti-globalization

ที่ต้องจับตามองใกล้ชิด ก็คือนโยบายการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะจากประเทศจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อโครงสร้างการค้าโลก ห่วงโซ่การผลิต และความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ อาจจะสร้างผลกระทบต่อประเทศเล็กที่มีเศรษฐกิจเปิด เช่น ไทย และเพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนสูงขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางมากขึ้น

ปรับตัวอย่างไรในยุค 4.0

โจทย์สำคัญของเรา คือ เราจะเตรียมพร้อมอย่างไร กับความท้าทายของเศรษฐกิจโลก ในยุค 4.0 ที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกหลายๆ ด้าน ผมคิดว่ามีอย่างน้อยห้าเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ

เรื่องแรก คือ ต้องปรับภูมิทัศน์หรือ landscape ของระบบเศรษฐกิจไทย ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะการปรับกรอบกฎเกณฑ์ กฎหมาย กฎกติกาให้ทันสมัยสอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจและวิถีชีวิตสมัยใหม่ เอื้อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสนับสนุนการโอนย้ายทรัพยากรระหว่างภาคเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้รวดเร็ว เราขาดกฎหมายหลายเรื่องที่จำเป็นสำหรับโลก 4.0 เช่น กฎหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจแบบใช้ร่วมกันหรือ sharing economy กฎหมายที่กำกับดูแลบริการข้ามพรมแดนผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องมีความสมดุลระหว่างการรักษาสิทธิส่วนบุคคลกับการใช้ประโยชน์ข้อมูลรายธุรกรรมเพื่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมจะสามารถใช้ประโยชน์ได้จากรอยเท้าดิจิทัล ที่สำคัญจะต้องยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบหลายเรื่องที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวเข้าสู่โลกยุค 4.0

เรื่องที่สอง คือ ต้องพัฒนาคนไทยให้มีผลิตภาพสูง มีความสามารถในการปรับตัว สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต การที่เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่ช้า แปลว่าคนไทยในวัยทำงานหนึ่งคน ต้องสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น คนไทยต้องยกระดับผลิตภาพของตัวเองให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้มูลค่าสูงขึ้น การพัฒนาศักยภาพของคนไทยต้องทำในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน จนถึงสถานที่ทำงาน ที่สำคัญ ต้องปลูกฝังให้คนไทยเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ เปิดใจและพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดชีวิต

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : สภาธุรกิจไทย-จีน
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : สภาธุรกิจไทย-จีน

เรื่องที่สาม คือ ต้องเร่งดำเนินนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค หรือ regionalization ท่ามกลางกระแสกีดกันการค้าของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้น การขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะทำให้เอเชียเป็นเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจโลกและจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกในปี 2008 เป็นต้นมา การส่งออกของไทยไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนและจีนขยายตัวได้สูงกว่าการส่งออกไทยโดยรวมเกือบสองเท่า ทำให้การค้าระหว่างกันในภูมิภาคสามารถชดเชยการส่งออกไปประเทศอุตสาหกรรมหลักที่เศรษฐกิจมีความผันผวนสูงและไม่แน่นอนสูงได้ ปัจจัยสำคัญ คือ การขยายตัวของชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่องจะช่วยสร้างอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการในภูมิภาค รวมทั้งการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนจะทำให้เศรษฐกิจของจีนเข้มแข็งมากขึ้นในระยะยาว นโยบายของรัฐบาลจีนจะก่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการเงินใหม่ๆ ในภูมิภาค ตามยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ที่นอกจากจะเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคให้เข้าร่วมในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค (Regional Value Chain) จะเกิดการเชื่อมโยงมากขึ้น และยังจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงทางเทคโนโลยีและภาคบริการอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริการ e-Commerce บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือบริการโทรคมนาคม

เรื่องที่สี่ คือ ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเปราะบางที่จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต เศรษฐกิจโลกจะมีความไม่แน่นอนสูงและผันผวนสูง ภาคธุรกิจจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง ต้องเข้าใจลักษณะความเสี่ยงสมัยใหม่ สามารถจัดการความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และจัดโครงสร้างทางการเงินได้อย่างเหมาะสม เช่น ดูแลไม่ใช้การกู้เงินระยะสั้นสำหรับลงทุนในโครงการระยะยาวมากเกินควร (maturity mismatch) ไม่ใช้เงินสกุลต่างกันระหว่างหนี้สินและทรัพย์สินโดยไม่ปิดความเสี่ยง (currency mismatch) และต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยไม่ชะล่าใจว่าจะมีใครมาคอยดูแลความเสี่ยงเรื่องค่าเงินให้ หรือเก็งว่าค่าเงินจะเปลี่ยนแปลงได้ในทิศทางเดียวเมื่อความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ เราต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงประชาชนระดับฐานราก ซึ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมาก ความเข้มแข็งของคนกลุ่มนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดนโยบายประชานิยมหรือกระแสชาตินิยม ที่หวังผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่ต้องแลกมาด้วยความเปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในระยะยาว

เรื่องสุดท้าย คือ ต้องรักษาพลวัต (dynamism) ของการปรับตัวให้เกิดขึ้นต่อเนื่องในโลกยุค 4.0 เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็ว โดยเฉพาะจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และลงทุนให้เท่าทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่เสมอ การลงทุนไม่ควรคิดเพียงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นที่ต้องลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพสำหรับอนาคต ต้องเน้นการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา และที่สำคัญ ต้องมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและทัศนคติที่สอดรับกับเทคโนโลยี และมีบุคลากรที่หลากหลายเพื่อสอดคล้องกับสังคมที่จะซับซ้อนมากขึ้น

ถ้าเรานิ่งเฉยแล้ว โลกยุค 4.0 จะทำให้สภาวะสามต่ำสองสูงส่งผลกระทบกับเราทุกคนรุนแรงขึ้น สร้างสภาวะที่ไม่พึงปรารถนาให้กับสังคมไทย เราต้องตระหนักว่า โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุค 4.0 ไม่มีทางที่เราจะสวนกระแสได้ การเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบกับพวกเราทุกคน ทุกคนจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปรับตัวอย่างเท่าทัน ภาครัฐมีบทบาทได้เพียงแค่สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการปรับตัว สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และอาจจะดูแลเยียวยาคนบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ความท้าทายที่จะมากับโลกยุค 4.0 เป็นความท้าทายสำหรับเราทุกคน และก็เป็นโอกาสในอนาคตสำหรับพวกเราทุกคนด้วยเช่นกัน