ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเหลื่อมล้ำกับชีวิตที่มีความหมาย

ความเหลื่อมล้ำกับชีวิตที่มีความหมาย

16 กุมภาพันธ์ 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

Sir Anthony Atkinson นักเศรษฐศาสตร์ของอังกฤษที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Tony_Atkinson
Sir Anthony Atkinson นักเศรษฐศาสตร์ของอังกฤษที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Tony_Atkinson

ครั้งหนึ่งเมื่อสื่อต่างประเทศทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในทศวรรษ 60 ซึ่งบ้านเมืองของเรากำลังลุกเป็นไฟจากภัยคอมมิวนิสต์ว่า “ทรงต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อย่างไร” ทรงตอบอย่าง แยบยลว่า “ข้าพเจ้าต่อสู้กับความยากจน” ในช่วงเวลาหลังจากนั้นมีชายผู้หนึ่งในโลกตะวันตกได้กระทำคล้ายกันกับพระองค์โดยใช้วิชาการ และเมื่อต้นปีนี้เองเขาก็จากโลกนี้ไป

Sir Anthony Atkinson นักเศรษฐศาสตร์ของอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งผู้คนรอคอยการรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ของเขามายาวนานสิ้นชีวิตเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2017 ในวัย 72 ปี ด้วยโรคมะเร็ง ถึงเขารู้ว่ากำลังจะตายก็ไม่ลดงานลงหรือรู้สึกย่อท้อ แต่กลับเร่งงานชิ้นสำคัญคือการเป็นประธานคณะทำงานศึกษาความยากจนในระดับโลกของธนาคารโลก และเขียนหนังสือชื่อ “Inequality: What can be done?” ในเวลาเพียง 3 เดือน ตลอดชีวิตเขาผลิตหนังสือเฉลี่ยปีละ 1 เล่ม รวม 40 เล่ม

เพื่อนๆ และลูกศิษย์ของ Professor Atkinson กล่าวถึงเขาว่าเป็น “one of the all time greats” โดยมีชื่อเสียงประกอบในความเป็นสุภาพบุรุษ มีความรักมนุษย์โดยเฉพาะคนยากจนทั่วโลก มีความสัตย์ซื่อต่อหลักการ หลักคิดที่สำคัญของเขาในการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็คือ “เศรษฐศาสตร์เป็นไปเพื่อทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น”

ประสบการณ์สำคัญยิ่งในชีวิตที่ทำให้เขาเกิดอุดมการณ์ต่อสู้ความยากจนของมนุษยชาติก็คือการเป็นอาสาสมัครผู้ช่วยพยาบาลเป็นเวลา 6 เดือนในโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตยากจนของเมือง Hamburg ในสหพันธรัฐเยอรมันนี เขาต่อสู้ความยากจนด้วยวิชาการตลอดชีวิตอย่างไม่เคยท้อใจ และด้วยความสำนึกถึงความเป็นธรรมในสังคม

Sir Anthony เรียนจบจาก Cambridge ในปี 1966 เป็นอาจารย์หลายแห่งทั้ง Cambridge / University College London / The London School of Economics (LSE) / The University of Essex และ Oxford และเป็นบรรณาธิการวารสารวิชาการ The Journal of Public Economics

งานวิชาการเกือบทั้งหมดของเขาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระจายรายได้ ความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่งและรายได้และความยากจน ที่มีอยู่ทุกหนแห่งในโลก เขาต่อสู้อย่างหนักในทศวรรษ 80 และ 90 เมื่อเกิดทางโน้มของความไม่เท่าเทียมกันในโลกมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ หลักฐานที่สนับสนุนก็คือคำกล่าวกันในงานสัมมนาประจำปีของ World Economic Forum 2017 เมื่อเร็วๆ นี้ว่าในปัจจุบันทรัพย์สินของเศรษฐีรวยสุดในโลก 8 คนรวมกันมีมูลค่าเท่ากับทรัพย์สินของคนจนที่สุดครึ่งโลกหรือ 3,500 ล้านคนรวมกัน

Professor Anthony เชื่อว่า ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจน เขาไม่ไว้ใจกลไกตลาดที่ทำงานในลักษณะที่ทำให้คนรวยรวยยิ่งขึ้น และคนจนจนลง เขาเชื่อมั่นว่าบทบาทของภาครัฐที่เข้มแข็งคือคำตอบ

ผลงานที่สำคัญของเขาก็คือการเป็นผู้ริเริ่มปลุกเร้าคนทั่วโลกโดยเฉพาะลูกศิษย์ของเขาให้สนใจเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เขาสร้าง World Wealth and Income Database และการเฝ้าระวังความไม่เท่าเทียมกันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดัชนี Atkinson ของเขาเป็นตัววัดความไม่เท่าเทียมกันและต่อมาพัฒนาขึ้นมาจนเป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ

Professor Anthony ศึกษาข้อมูลของความไม่เท่าเทียมกันย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์โลกอย่างกว้างขวาง ตลอดจนวิเคราะห์สถานการณ์และสาเหตุเพื่อสร้างความเข้าใจของปัญหา และที่สำคัญยิ่งก็คือ การมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

ที่มาภาพ : http://www.investintrentino.it/var/ezflow_site/storage/images/media/images/trento-festival-of-economics-2015
ที่มาภาพ : http://www.investintrentino.it/var/ezflow_site/storage/images/media/images/trento-festival-of-economics-2015

“Lectures on Public Economics” เป็นผลงานสำคัญของเขาในปี 1980 โดยเขียนร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อก้องโลก Joseph E. Stiglitz ผู้ซึ่งมีแนวคิดคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำสามารถแก้ไขได้โดยใช้นโยบายภาครัฐที่ปราศจากการครอบงำจากคนรวย ซึ่งมักใช้อำนาจในการรักษาสถานะของตนเองเสมอ

ข้อเสนอแนะที่ก้าวหน้าและสุดโต่ง แต่กระตุ้นความคิดในโลกมากก็คือแนวคิดที่เรียกว่า Basic Income กล่าวคือ สังคมควรสร้างความมั่นคงทางสังคมให้แก่ทุกคนโดยให้เงินแก่ประชาชนทุกคนเมื่อมีอายุครบ 18 ปี โดยภาครัฐหรือองค์กรสาธารณะที่มีกำไรเป็นผู้จ่ายโดยเพิ่มให้เหนือรายได้ประจำ ทั้งนี้เพื่อลดความยากจน ระบบนี้โปร่งใสและง่ายในการดำเนินงาน ถูกกว่า และมีประสิทธิภาพกว่าระบบสวัสดิการต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายและซับซ้อนจนในที่สุดไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ความคิดนี้มีรากมาจากแนวคิดในศตวรรษที่ 18

แนวคิดหลักของ Sir Anthony ก็คือการเก็บภาษีจากคนรวยอย่างหนักเพื่อมาช่วยคนยากจน ทั้งนี้เนื่องจากความรวยเหล่านี้ก็มักมาจากการเอาเปรียบคนยากจน ดังนั้น การเอากลับคืนมาจึงเป็นความชอบธรรม รวมทั้งช่วยแก้ไขความยากจนและความเหลื่อมล้ำไปในเวลาเดียวกัน

ในสิ่งพิมพ์ชิ้นสุดท้ายของเขา “Monitoring Global Poverty (2016)” ซึ่งเป็นรายงานที่เขาเป็นประธานการศึกษาของธนาคารโลกได้ทิ้งคำถามที่ชัดเจนและแหลมคมเกี่ยวกับความยากจนของโลก อีกทั้งเป็นการวิเคราะห์ที่เข้มข้นโดยใช้ข้อมูลอย่างระมัดระวังจนเป็นที่กล่าวขวัญว่าเป็นรายงานที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง

Sir Anthony อุทิศทั้งชีวิตให้แก่การลืมตาอ้าปากของคนธรรมดาทั่วโลกที่ยากจน และเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งหากทิ้งไว้โดยไม่แก้ไขอย่างจริงจังแล้วอาจนำไปสู่ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ยากจะเยียวยาในอนาคต

อีกบทบาทที่สำคัญของเขาในฐานะผู้ริเริ่มการศึกษาวิจัยแนวนี้ก็คือการเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิชาการได้ศึกษาวิจัยและติดตามอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน ตลอดจนให้แนวทางในการกำหนดนโยบายที่มีการพิจารณาวิเคราะห์อย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ถูกทางและเกิดผลอย่างแท้จริง

การจากไปของ Sir Anthony Atkinson เป็นเรื่องธรรมดาของวงจรชีวิตที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็คือการเป็นตัวอย่างของชีวิตที่มีความหมายโดยทิ้งมรดกในเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษยชาติไว้ให้คนรุ่นหลังได้ขบคิดและสืบสานต่อไป

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 ก.พ. 2560