ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > TMB ชี้โลก “e-Commerce” ไทยเทรดกัน 2 ล้านล้านบาท คาด 6 ปีโตอีก 3 เท่า 6 ล้านล้านบาท – สรรพากรมึนตามเก็บภาษียาก

TMB ชี้โลก “e-Commerce” ไทยเทรดกัน 2 ล้านล้านบาท คาด 6 ปีโตอีก 3 เท่า 6 ล้านล้านบาท – สรรพากรมึนตามเก็บภาษียาก

8 กุมภาพันธ์ 2017


ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี จัดงานสัมมนา “พลิกธุรกิจ ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 2017” ในงานนี้ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ได้นำเสนอภาพและมุมมองกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล รวมไปถึงภาพตลาด e-Commerce ในปัจจุบันของไทย

ดร.เบญจรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาด e-Commerce รวมของไทยในปี 2558 มีขนาด 2.1 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นลักษณะธุรกิจกับธุรกิจ หรือ B2B 59% ของขนาดตลาดรวม รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจกับผู้บริโภค หรือ B2C 22% และสุดท้าย กลุ่มธุรกิจกับภาครัฐ หรือ B2G ที่ 19%  ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนมากที่สุดในประเภท B2B คือโรงแรมและท่องเที่ยว 28% จากขนาดตลาดทั้งหมด, ธุรกิจการผลิต 15% และธุรกิจไอทีและโทรคมนาคม 13% และการขนส่ง 3% ขณะที่ B2C ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว 17% ของธุรกิจ B2C ทั้งหมด รองลงมาคือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ 17%, เครื่องสำอาง 16%, สินค้าแฟชั่น 12%

digital economy1

digital economy2

digital economy3

ทั้งนี้ หากเทียบกับต่างประเทศ พบว่าตลาด e-Commerce รายย่อย (Retail e-Commerce) ในประเทศไทยยังค่อนข้างเล็ก โดยอยู่ที่ 340,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีธุรกิจ B2C เพียง 4% เทียบกับจีนที่มีขนาดตลาด e-Commerce ที่ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีธุรกิจ B2C 16% และสหรัฐอเมริกาที่ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีธุรกิจ B2C 8% ส่วนหนึ่งเกิดจากที่ประเทศไทยยังใช้เงินสดค่อนข้างสูงและไม่ลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยระหว่างปี 2553 ถึงปี 2558 ประเทศไทยมีธุรกรรมบนเงินสด 70% ของธุรกรรมทั้งหมดและมีธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพียง 30% อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่รัฐบาลผลักดันโครงการ National e-Payment คาดว่าธุรกรรมเงินสดจะลดเหลือ 47% ในปี 2568 และเป็นช่องทางในอนาคตของธุรกิจ

ขณะที่แนวโน้มในอนาคต ทีเอ็มบีคาดว่าตลาด e-Commerce ไทยจะเติบโตขึ้นอีก 3 เท่าภายใน 6 ปี จาก 2.1 ล้านล้านบาทเป็น 6 ล้านล้านบาท หรือเติบโตปีละ 19% โดยธุรกิจแบบ B2C จะเพิ่มขึ้นจาก 500,000 ล้านบาท เป็น 1.4 ล้านล้านบาท, ธุรกิจ B2B เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านล้านบาท เป็น 3.6 ล้านล้านบาท และธุรกิจแบบ B2G เพิ่มขึ้นจาก 0.4 ล้านล้านบาทเป็น 1.1 ล้านล้านบาท ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่

ด้านแหล่งข่าวจากกรมสรรพากรให้ความเห็นว่าปัจจุบันการซื้อขาย e-Commerce เป็นเรื่องที่ยากในการจัดเก็บภาษี เพราะสินค้าที่นำมาซื้อขายผ่าน e-Commerce ส่วนหนึ่งมาการนำเข้า ถ้ามูลค่าไม่เกิน 4 หมื่นบาท ไม่ต้องเสียภาษีกรมศุลกากร หากมูลค่าเกิน 4 หมื่นบาทเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการสุ่มตรวจเพื่อเก็บภาษี ดังนั้นการจัดเก็บไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกส่วนมาจากสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยผู้ประกอบการมีช่องทางในการจัดจำหน่ายทั้งหน้าร้านทั่วไปและขายในระบบออนไลน์ ในส่วนการซื้อขายออนไลน์ สรรพากรไม่รู้ว่ามีการส่งมอบสินค้าที่ไหน จ่ายเงินผ่านระบบอะไร และการสต็อกสินค้าอยู่ที่ไหน จึงทำให้สรรพากรไม่สามารถตรวจสอบเพื่อจัดเก็บภาษีได้ ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังรอระบบ National e-Payment หากระบบสมบูรณ์เมื่อไหร่ก็จะเชื่อมโยงระบบการชำระกับการจัดเก็บภาษีเข้าด้วยกันได้

digital economy4

digital economy

digital economy5