ThaiPublica > คนในข่าว > ตามหาความจริงชันสูตรพลิกศพคดี “ธวัชชัย อนุกูล” – น้องชายระบุ “ต่อสู้กับรัฐ เหมือนหิ่งห้อยต่อสู้กับดวงอาทิตย์”

ตามหาความจริงชันสูตรพลิกศพคดี “ธวัชชัย อนุกูล” – น้องชายระบุ “ต่อสู้กับรัฐ เหมือนหิ่งห้อยต่อสู้กับดวงอาทิตย์”

3 กุมภาพันธ์ 2017


thaipublica คดีธวัชชัย

“แต่ประเด็นสำคัญสำหรับผมคือ คดีนี้มันสะท้อนมาตรฐานหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน ที่มีคำถามเรื่องมาตรฐานการทำงาน ซึ่งผมรู้สึกไม่เชื่อมั่น”

กว่า 5 เดือนแล้วที่การเสียชีวิตของ “นายธวัชชัย อนุกูล” อดีตเจ้าหน้าที่ดินจังหวัดพังงา ผู้ต้องหาในคดีออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ยังคงเป็นปริศนาและมีเงื่อนงำหลายข้อ

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2559 ที่เกิดเหตุคือ ห้องควบคุมผู้ต้องหา ชั้น 6 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ หลังเกิดเหตุ ดีเอสไอตั้งโต๊ะแถลงว่าผู้ต้องหาผูกคอฆ่าตัวตาย และมอบให้ตำรวจดำเนินการส่งตรวจพิสูจน์ศพตามขั้นตอน

แต่ต่อมา สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ชันสูตรพลิกศพระบุว่า นายธวัชชัยเสียชีวิตจากเลือดออกในช่องท้อง ตับแตกจากถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก และขาดอากาศหายใจ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดการผูกคอตายถึงทำให้ตับแตกได้ นอกจากนี้ เมื่อขอตรวจสอบภาพจากกล้องวงปิด กลับพบว่าไม่สามารถบันทึกภาพไว้ได้ ดีเอสไอชี้แจงข้อนี้ว่า กล้องซีซีทีวีไม่ได้เสีย แต่ระบบเซิร์ฟเวอร์มีปัญหา

ในที่สุด กระทรวงยุติธรรมจึงตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” สาเหตุการเสียชีวิตนายธวัชชัยซ้ำสอง มีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นประธาน จนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 นายวิศิษฏ์แถลงว่า คณะกรรมการฯ มีมติเอกฉันท์ตรงกันถึงสาเหตุการตาย แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้ พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการนำส่งศาลเพื่อไต่สวนสาเหตุการตายแล้ว โดยศาลอาญาได้นัดไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตนายธวัชชัยครั้งแรกในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา “นายชัยณรงค์ อนุกูล” น้องชายนายธวัชชัย ซึ่งจนถึงขณะนี้เขาเชื่อว่าพี่ชายถูกทำให้เสียชีวิต ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรม ขอรับศพพี่ชายกลับไปบำเพ็ญกุศลตามพิธีกรรมทางศาสนา และขอไปต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป

“ชัยณรงค์” ให้สัมภาษณ์กับไทยพับลิก้าว่า “ผมมาขอรับศพคืนเพราะว่าไม่มีการติดต่อหรือประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเลยว่าจะให้ผมทำยังไง ก็เลยมาติดต่อขอศพคืน เพื่อจะนำไปฌาปนกิจ ซึ่งได้ความว่าเขาจะประสานให้เร็วๆ นี้”

เปิดข้อพิรุธหลัง “ธวัชชัย” เสียชีวิต

เขาเปิดใจถึงการเสียชีวิตของพี่ชายโดยเห็นว่า มีข้อพิรุธและเงื่อนงำหลายอย่าง ทั้งในด้านการเสียชีวิตและการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ เขาย้อนเหตุการณ์ว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ประมาณตี 3 ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์มือถือว่านายธวัชชัยป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และต่อมาได้เสียชีวิตลง

ผลการชันสูตรพลิกศพของสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ระบุสาเหตุการตายชัดเจนว่า เกิดจากเลือดออกในช่องท้อง ตับแตกจากการถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก ร่วมกับขาดอากาศหายใจจากการผูกคอ ซึ่งเป็นการตายผิดธรรมชาติ แต่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอระบุว่านายธวัชชัยใช้ถุงเท้าผูกคอตัวเองในห้องควบคุมของดีเอสไอ ซึ่งบาดแผลที่ลำคอผู้ตายมีลักษณะเหมือนรอยถูกลวดรัด มีลักษณะไม่เหมือนกับบาดแผลที่ใช้ถุงเท้ารัด

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลทุ่งสองห้องได้ดำเนินการขอภาพกล้องวงจรปิดจากดีเอสไอ แต่ทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไออ้างว่ากล้องวงจรปิดเสีย จึงไม่มีภาพในช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุในคดีนี้ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นกับหน่วยงานที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของรัฐ และที่อ้างว่าเซิร์ฟเวอร์เสีย ก็สงสัยว่าเสียจริงหรือไม่

หลังจากนั้นวันที่ 22 กันยายน 2559 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กระทรวงยุติธรรมตั้งขึ้นมีหนังสือถึงผม เรื่องขอความยินยอมในการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์และทำภาพสามมิติประกอบ และแบบให้ความยินยอมจำนวน 1 ชุด ให้ผมเซ็นรับเอกสาร แต่แบบให้ความยินยอมไม่มีสำเนาให้ผม และมีเนื้อหาไม่ตรงกับหนังสือขอความยินยอมในการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยเพิ่มประโยคว่า “และวิธีอื่นใดเพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริง”

ประโยคนี้ทำให้ผมไม่มั่นใจในการตรวจพิสูจน์ครั้งนี้ เนื่องจากได้รับแจ้งจากผู้ร่วมพิสูจน์ว่าได้มีการผ่าศพด้วย ทำให้ผมเห็นว่าเป็นการซ่อนและการกระทำอันไม่น่าเชื่อถือหรือไม่ มีการปิดบังสาระสำคัญในหนังสือนั้น ซึ่งตอนแรกในความเห็นของผมคิดว่า ขอเพียงทำสแกนคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับหนังสือนำส่ง จึงได้เซ็นไป

ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ผมได้รับหนังสือให้ไปรับฟังผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ห้องประชุมกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในวันที่ 5 ตุลาคม 2559 แต่ในตอนเช้าของวันนั้นมีการให้สัมภาษณ์โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงท่านหนึ่ง ความว่า คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าผู้ตายตายโดยการผูกคอตายก่อนแล้ว

“เมื่อผมไปถึงประมาณเก้าโมงครึ่ง มีคนพาผมไปพบ คณะกรรมการฯ 2 ท่าน ซึ่งคณะกรรมการท่านหนึ่งได้กล่าวก่อนเลยว่า ผู้ตายตายโดยการผูกคอตาย ผมก็ได้ถามถึงจุดที่น่าสงสัย เช่น การผูกคอตาย ปกติแรงดึงรั้งของน้ำหนักตัวผู้ตายน่าจะดึงรั้งให้จุดที่เป็นรอยควรจะอยู่สูงกว่ากล่องเสียงใช่หรือไม่”

คณะกรรมการฯ ท่านนั้นก็พยายามไม่ตอบคำถามนี้ โดยทำทีไปหยิบเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาทางการแพทย์มาให้ผมดู ซึ่งผมอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจนัก แล้วท่านก็แจ้งว่า มีการทำวิจัยมาแล้วว่าอาจเกิดขึ้นได้ ผมก็ถามต่อว่า คิดเป็นอัตราส่วนแล้วมีจำนวนมากน้อยแค่ไหนของการเสียชีวิตแบบนี้ ได้รับคำตอบว่าไม่เกินร้อยละ 20

ผมก็ถามต่อไปว่า ถือว่ามากหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าไม่มาก เมื่อถามไปอีกว่า เมื่อทำการสแกนกระดูกแล้ว เห็นการแตกหักของกระดูกกล่องเสียงหรือไม่ ได้รับคำตอบว่ามีการแตกหักของกล่องเสียง แล้วก็อธิบายเป็นภาษาแพทย์ให้ฟัง ซึ่งผมเห็นว่า กล่องเสียงนั้นอยู่เหนือรอยรัดคออย่างเห็นได้ชัด

แล้วเมื่อถามถึงว่าตับแตกได้อย่างไร ได้รับคำตอบว่า อาจเกิดจากการ impact จากการปั๊มหัวใจก็ได้ ผมก็ถามไปอีกว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้มากน้อยแค่ไหน ผมก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และพยายามโน้มน้าวให้ผมเชื่อว่าผู้ตายตายจากการผูกคอตาย ซึ่งผมได้พยายามสอบถามจากผู้รู้ ไม่ว่าเป็นแพทย์หรือพยาบาลก็ให้ความเห็นว่า การปั๊มหัวใจไม่สามารถทำให้ตับแตกได้ เพราะในช่องท้องมีกระบังลมกั้นอยู่ ซึ่งมีความหนามากพอที่จะป้องกันได้ หลังจากนั้นก็ถึงเวลาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน แต่เมื่อลงไปแถลงข่าวก็ไม่ได้แถลงอะไร เพียงแต่บอกว่าอยู่ในสำนวนการสอบสวนซึ่งเป็นความลับ

“จนถึง 16 มกราคม 2560 ผมเองยังไม่ได้ผลการตรวจสอบ เนื่องจากทางกระทรวงยุติธรรมแจ้งกับผมว่าติดเรื่องกฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เป็นเรื่องลับของทางราชการ ก็เลยเปิดเผยไม่ได้ มีคนให้ผมทำอุทธรณ์ แต่ผมเชื่อว่าอุทธรณ์ไปก็เท่านั้น ก็เลยไม่ได้ทำเรื่องอุทธรณ์ ฉะนั้น หลังจากนี้ก็ไปว่ากันในขั้นตอนของศาล” ชัยณรงค์กล่าว

นายชัยณรงค์ อนุกูล

คำถามถึงหน่วยงานรัฐ ทำไมต้องปิดบัง

ชัยณรงค์บอกว่า เขาเชื่อไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้วว่าพี่ชายถูกทำให้เสียชีวิต และค่อนข้างมั่นใจตำรวจที่ทำคดีนี้ว่าจะให้ความจริงได้ เพราะมีการทำงานที่รอบคอบ เป็นขั้นเป็นตอนพอสมควร อย่างไรก็ตาม ต้องรอฟังคำตัดสินจากศาล แต่ที่อดสงสัยไม่ได้คือ การไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในคดีนี้

“ผมก็ไม่ได้ติดอะไรนะ หลังจากนี้ก็ไปว่ากันในชั้นศาล แต่ติดตรงที่ว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการ ไม่ว่าจะเป็นดีเอสไอ ทางกระทรวงเอง หรือทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นมาพิสูจน์ ไม่ให้ความกระจ่าง อ้างแต่ว่าเป็นความลับของทางราชการ ผมก็เลยติดใจว่า ทำไมต้องปิดบังอะไรผมมากมาย ทั้งที่ผมเป็นผู้เสียหาย”

“แล้วคณะกรรมการบางคนก็เคยเจอผมเมื่อตอนเกิดเรื่องใหม่ๆ ก็พูดว่า ยังไม่ได้ผลจากนิติเวชของตำรวจอีกเหรอ เขาก็บ่นว่านิติเวชทำไมต้องปิดบังอะไรมากมาย แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ที่เขาเป็นกรรมการอยู่ด้วยกลับไม่ให้ผมเหมือนกัน แล้วก่อนหน้านั้นพูดออกมาทำไม”

“คณะกรรมการฯ ไม่ให้ผลการผ่าพิสูจน์ศพครั้งที่ 2 กับผม โดยให้เหตุผลว่าเป็นความลับทางราชการทั้งๆ ที่คนที่เคยพูดกับผมคนนั้นเป็นกรรมการด้วยทำไมขั้นแรกตำรวจนิติเวชไม่ให้ผม ก็ไปว่าเขาทำไมไม่ให้ ซึ่งสุดท้ายนิติเวชตำรวจก็ให้ผมดูแล้ว แต่ปรากฏว่าท่านเป็นกรรมการอยู่ ไม่ให้ผม แล้วทำไมเขาไม่พูดอะไรเลยว่าต้องเปิดเผยกับผม”

“หลังจากนั้นท่านก็เงียบไปเลย เรื่องนี้เขาจะไม่พูดเลย ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าบริสุทธิ์ใจจริงหรือเปล่า ในเมื่อพูดอีกอย่างหนึ่งแต่การปฏิบัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง ส่วนดีเอสไอเป็นหน่วยงานสืบราชการลับ ทำไมไม่แสดงฝีมือ นี่กว่า 4 เดือนแล้ว ทำไมไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงอะไรเลย นี่คือคำถามของผม”

“วันนี้ผมมองลบมากๆ กับหน่วยงานของรัฐ เพราะการตายตายในสถานที่ราชการ เป็นหน่วยงานที่เชื่อได้ว่าต้องมีมาตรฐาน แต่ปรากฏว่ากลับมีคำถามเรื่องมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รปภ. ซีซีทีวี ผมคิดว่ามันไม่ใช่ตลาดสดที่ซีซีทีวีจะเสียง่ายๆ มันเหมือนกับไม่มีมาตรฐาน”

ไม่มั่นใจผลตรวจพิสูจน์ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ชัยณรงค์กล่าวถึงข้อสังเกตเรื่องชันสูตรศพครั้งที่สองว่า “ผมคาดการณ์ว่าดีเอสไอมีเจตนาดีที่ต้องการพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ให้โปร่งใส และเพื่อความบริสุทธิ์ขององค์กรของเขาเอง แล้วผมก็เห็นว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ มันหลุดออกนอกกรอบยากมาก ผมก็เลยยอม แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ”

เขาตั้งสมมติฐานว่า การที่เขาไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐเพราะ 1. คือ ถ้าคนของเขา (ดีเอสไอ) ผิดจริง เขาก็อาจจะกลัวหรือกังวลอะไรบางอย่าง 2. คือ กลัวผมจะโวยวาย ถ้าทางคณะกรรมการฯ แจ้งออกมาว่าผูกคอตายเอง เพราะเนื่องจากคณะกรรมการฯ บางคนที่พยายามโน้มน้าวผมบอกผมเลยว่าเขาผูกคอตายเอง

“อย่างที่กล่าวข้างต้น ผมก็ถามว่า แล้วเรื่องตับแตกล่ะ เขาบอกว่าเกิดจากการปั๊มหัวใจ ผมก็ถามว่า ทางทฤษฎีแล้วการปั๊มหัวใจแล้วทำให้ตับแตกเกิดขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ในโลกนี้ เขาบอกว่าไม่เกิน 10% ผมก็บอกว่า 10% นี้ มันน้อยหรือมาก เขาก็ไม่ตอบผม”

“ส่วนรอยผูกคอ ร่องรอยอยู่ใต้ลูกกระเดือก แต่ลูกกระเดือกแตก การผูกคอ ร่องรอยจะอยู่ที่คาง ไม่อยู่ใต้ลูกกระเดือก ผมก็ถามว่าในกรณีอย่างนี้คุณเคยเจอมั้ย เขาก็บอกว่าเคยเจอ ผมถามว่ากี่เปอร์เซ็นต์ เขาก็บอกว่าไม่ถึง 20% แล้วผมก็ถามคำถามเดิมว่า ตามความเห็นมากหรือน้อย เมื่อไม่ถึง 20% คุณคิดว่ามากหรือน้อย ก็พยายามโน้มน้าวผม

“ผมก็เลยไม่เชื่อมั่นทางคณะกรรมการฯ เพราะคือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็เป็นไปในทางที่ค่อนข้างจะต่ำ เป็นไปแทบไม่ได้ ทั้งโลกนี้ แต่มาบอกผมว่า เหตุการณ์นี้พี่ชายผมฆ่าตัวตายเอง”

ต้องต่อสู้กับรัฐ เหมือนหิ่งห้อยต่อสู้กับดวงอาทิตย์

น้องชายธวัชชัยยังเล่าว่า กว่า 5 เดือนมานี้เขาพยายามต่อสู้เรื่องการเสียชีวิตของพี่ชายที่มีข้อน่าสงสัยให้ปรากฏความจริงตามกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนในฐานะประชาชนธรรมดาทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเป็นหนังสือเพื่อเป็นหลักฐาน แต่ก็ยอมรับว่าเหนื่อยและยากเอาการ เหมือนต้องไปต่อสู้กับรัฐ

“ก่อนหน้านี้ ผมยื่นหนังสือขอทราบผลพิสูจน์การเสียชีวิตถึงกระทรวงยุติธรรมมาแล้ว 4 ครั้ง ก็ได้รับคำตอบว่าเอกสารยังไม่เสร็จบ้าง จนมาถึงว่าเป็นความลับของทางราชการ เปิดเผยไม่ได้ สุดท้ายแล้ว ผลการตรวจพิสูจน์พี่ชายผม ทางกระทรวงไม่ได้บอก บอกแค่ว่าผลเสร็จแล้ว แต่ไม่บอกว่าผลเป็นอย่างไร ผมก็รู้เท่าสื่อรู้ เพราะเขาไม่เปิดเผย”

“ผมเอง เพื่อความถูกต้องผมก็ยอม อย่างเรื่องไปตรวจพิสูจน์ครั้งที่สองเพื่อความบริสุทธิ์ ผมไม่มีปัญหา แต่ผลออกมา ผมยังเชื่อนิติเวชตำรวจมากกว่า เพราะว่าการตรวจครั้งที่สองอาจจะมีผลคลาดเคลื่อน แต่ประเด็นคือ ผมให้ความร่วมมือตลอด แต่ผมแทบไม่ได้รับความร่วมมือเลย

“ผมรู้สึกว่าความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอุปสรรคใหญ่ในการต่อสู้ครั้งนี้ เขาไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ปิดบังซ่อนเร้น เราเป็นผู้เสียหาย เราควรได้รับรู้บ้างพอสมควร แต่กลายเป็นศูนย์ เขาให้ผมสัก 20% ก็ยังดี แต่นี่ให้มาศูนย์”

“ที่ผ่านมาผมต่อสู้คนเดียว ภรรยาผมยังบอกให้หยุดด้วยซ้ำไป เขาเป็นห่วงผม มันเป็นการต่อสู้ที่เหนื่อย แรกๆ ผมความดันขึ้น นอนไม่หลับ มันเหมือนเราต้องไปต่อสู้กับรัฐ มันเหมือนพระอาทิตย์กับหิ่งห้อย มันไม่ไหว แต่ก็ต้องสู้ เราหยุดไม่ได้ เพราะเราอยากให้ความจริงมันเปิดเผย โลกนี้ความจริงมันมีอยู่ แต่จะออกมามากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง”

“หลังจากนี้สาระสำคัญไปอยู่ที่ศาล ไปอยู่ที่การสอบสวนจากศาล ดูผลของศาล ศาลว่าอย่างไรก็ต้องยอมรับ ผมก็เคยศึกษาเรื่องกฎหมายมาพอสมควร ฉะนั้น ความมั่นใจของผมไปอยู่ทางศาลว่าจะได้รับความเป็นธรรม ผมเชื่ออย่างนั้น”

“แต่ประเด็นสำคัญสำหรับผมคือ คดีนี้มันสะท้อนมาตรฐานหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน ที่มีคำถามเรื่องมาตรฐานการทำงาน ซึ่งผมรู้สึกไม่เชื่อมั่น” ชัยณรงค์กล่าวทิ้งท้าย

คดีนี้ศาลอาญานัดไต่สวนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายธวัชชัย ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2560

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นายธวัชชัยตายแบบผิดธรรมชาติในระหว่างการถูกควบคุมเพราะเหตุใด ฆ่าตัวตายหรือถูกทำให้ตาย นอกจากนี้ ยังมีปมคดีการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบในจังหวัดพังงาและภูเก็ต ที่เบื้องหลังยังถูกซ่อนไว้

อ่านเพิ่มเติมขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพ

ลำดับเหตุการณ์คดี”ธวัชชัย อนุกูล”

29 สิงหาคม 2559 นายธวัชชัย อนุกูล ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจับกุมที่ จ.นนทบุรี ในข้อหาออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบในพื้นที่ภาคใต้ โดยถูกนำตัวมาควบคุมไว้ในห้องควบคุมผู้ต้องหาชั้น 6 ตึกดีเอสไอ ถนนแจ้งวัฒนะ

30 สิงหาคม 2559 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา นายชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายนายธวัชชัยได้รับแจ้งทางโทรศัพท์มือถือจากพนักงานสอบสวนดีเอสไอว่า นายธวัชชัยป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และต่อมาได้เสียชีวิตลง ขณะที่ดีเอสไอแถลงในช่วงสายว่า นายธวัชชัยผูกคอฆ่าตัวตายในห้องขังดีเอสไอ

31 สิงหาคม 2559 ผลการชันสูตรพลิกศพจากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า นายธวัชชัยเสียชีวิตจากการมีเลือดออกในช่องท้อง ตับแตก เนื่องจากถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก และขาดอากาศหายใจ

6 กันยายน 2559 นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการเสียชีวิตของนายธวัชชัย มีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นประธาน

21 กันยายน 2559 พ.ต.อ. มานะ เผาะช่วย ผู้กำกับการ สน.ทุ่งสองห้อง เผยผลสอบปากคำ ผบก. นิติเวชวิทยาและทีมแพทย์คดีนายธวัชชัย โดยระบุว่า “การตายของนายธวัชชัยอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ถูกผู้อื่นทำให้ตาย”

5 ตุลาคม 2559 นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ และผศ. ดร. นพ.อุดมศักดิ์ หุ่นวิจิตร หัวหน้าฝ่ายนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบการเสียชีวิตของนายธวัชชัย แถลงผลการตรวจสอบว่า คณะกรรมการฯ มีมติเอกฉันท์ตรงกันถึงสาเหตุการตาย แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

15 พฤศจิกายน 2559 นายชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายนายธวัชชัย ยื่นคำร้องต่อกระทรวงยุติธรรมเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่พี่ชายเสียชีวิต โดยขอให้เปิดเผยผลการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตนายธวัชชัย โดยระบุว่าเป็นสิทธิของคนในครอบครัวที่จะรู้ผลการสอบสวน เนื่องจากทราบว่าผลการตรวจสอบเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแจ้งผลที่ชัดเจน

16 มกราคม 2560 นายชัยณรงค์เดินทางไปที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม ยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอรับศพนายธวัชชัยกลับไปฌาปนกิจทางศาสนาที่วัดบางหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยจะไปขอทราบสาเหตุการตายในกระบวนการชั้นศาลต่อไป

รวบรวม: สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า