ThaiPublica > คอลัมน์ > 4 เกร็ดความรักจากมุมมองเศรษฐศาสตร์

4 เกร็ดความรักจากมุมมองเศรษฐศาสตร์

15 กุมภาพันธ์ 2017


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ : settakid.com
ที่มาภาพ : settakid.com

แม้ความรักจะเป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหาแต่ก็เป็นอะไรที่หลายคนกลัว เพราะมันเต็มไปด้วยคำถามที่อาจไม่มีคำตอบ

ควรจะมีแฟนเมื่อไหร่…คนในฝันของเราอยู่ที่ไหนกัน…เค้าไกลเกินเอื้อมหรือเปล่า…ทำไมสวย/หล่อแล้วเลือกได้…ทำไมเขาดีแค่ตอนจีบ…ทำไมรักหมดใจก็ยังไม่พอ…

คำถามเหล่านี้ต่อให้เป็นเทพแห่งความรักก็คงตอบได้ไม่หมด

แต่ที่ตลกที่สุดคือ นับวันผมยิ่งเห็นว่าสาขาวิชาที่ถูกมองว่า “ไม่โรแมนติก” ที่สุดบางทีกลับสามารถช่วยให้คำตอบและวางกรอบความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมหาคู่ของมนุษย์ได้อย่างไม่เลวเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เริ่มมีการศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์หาคู่มากขึ้นในระยะหลัง

เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ผมขอเสนอ 4 เกร็ดความรักจากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์หรืออย่างน้อยก็เป็นอาหารสมองที่น่าสนใจให้กับผู้อ่านครับ

1. หาแฟนคล้ายหางานมากกว่าที่คุณคิด

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/interview-job-icon-job-interview-1018333/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/interview-job-icon-job-interview-1018333/

ตลาดหาคู่นั้นมีส่วนคล้ายกับตลาดแรงงานมากแต่กลับแตกต่างกับตลาดสินค้าอื่นๆ เช่น ตลาดนัดหรือตลาดหุ้นอย่างโดยสิ้นเชิง

เวลาเราซื้อหุ้น เราเลือกหุ้นตัวที่เราชอบ ตัวที่ราคาคุ้มกับหยาดเหงื่อของเราและกับสิ่งดีๆ ที่จะให้กับเราในอนาคต แต่หุ้นไม่เคยมีโอกาสได้เลือกเรา

กลับกัน เวลาคนสมัยใหม่ (ผู้ไม่ถูกคลุมถุงชน) จะเป็นคู่รักกัน เราเลือกเขายังไม่พอ เขาต้องเลือกเรากลับด้วย (เผลอๆ พ่อแม่เขาด้วย) ถึงจะจับคู่ได้ไงครับ

ลักษณะแบบนี้นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่าการจับคู่ใน “ตลาดสองด้าน” (two-sided matching market) ที่ผู้คนต่างเข้ามาเสาะหาคู่ที่ตัวเองชอบที่สุดจากตัวเลือกอื่นๆ ทั้งหมดในตลาด ซึ่งอาจเป็นแค่ห้องเรียนเล็กๆ สมัย ม.3 (puppy love) หรือเป็นเว็บบอร์ดหางานขนาดใหญ่

เราทุกคนต่างมีความพึงพอใจ (นักเศรษฐศาสตร์เรียก preference หรือภาษาคนเรียกว่า “สเปก”) ว่าเราต้องการให้คนรักของเรามีคุณสมบัติแบบไหนกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น หน้าตา ความคิด นิสัยใจคอ หรือฐานะอาชีพ หลักการไม่ต่างกับเวลาที่บริษัทคัดเลือกพนักงานโดยดูจากประสบการณ์บนซีวีหรือการศึกษาของผู้สมัครงาน ส่วนผู้สมัครงานเองก็ทำการศึกษาว่าบริษัทมีชื่อเสียงดีไหม ชั่วโมงโหดหรือไม่ เนื้องานเป็นอย่างไร และเนื่องจากการจับคู่ทั้งสองแบบมีความไม่แน่นอนสูง (เขาจะดีหรือเก่งอย่างที่บอกจริงหรือไม่) จึงมักมีช่วงที่ผู้เล่นทั้งสองฝั่งจะมาพบกันเพื่อตรวจสอบและอัปเดต “ความเชื่อ” ในข้อมูลเกี่ยวกับอีกฝั่ง นั่นก็คือการสอบสัมภาษณ์เวลาเราหางาน หรือการออกเดท/คบหาดูใจเวลาหาแฟน การตรวจสเปกอย่างเอาเป็นเอาตายจึงทำให้เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ที่มีคุณสมบัติที่เป็นที่นิยมและขาดแคลนมากกว่าจะมีความได้เปรียบในการต่อรอง ไม่ว่าจะในการหางานหรือการหาคู่

ไม่แปลกที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ ว่า คนสวยคนหล่อมัก “เลือกได้” และบางทีคนที่เราอยากจับคู่ด้วยอาจให้ความสำคัญกับคุณสมบัติบางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ง่ายๆ ที่ถึงแม้เราจะทดแทนด้วยสิ่งอื่นๆ ก็ยังไม่พอ เช่น หน้าตาหรือครอบครัวของเรา เพราะเหตุนี้ เราจึงไม่ควรทำร้ายตัวเองจนเกินไปครับ

การที่จะเกิดการจับคู่ได้ สเปกทั้งหมดไม่เพียงแต่ต้องลงรอยกันพอสมควรแต่ก็ต้องถูกเปรียบเทียบกับตัวเลือกอื่นในตลาดด้วย ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นไปได้ว่าคน 2 คนที่เท่าเทียมกันทุกอย่างแต่ดันไปพบคนพิเศษในคนละตลาดกัน คนหนึ่งอาจได้ลงเอยแบบสบายๆ แต่อีกคนอาจถูกทอดทิ้งแบบไม่แยแสไม่ว่าเขาจะทุ่มเทอะไรมากแค่ไหน เพียงเพราะว่าพวกเขา 2 คนนี้อยู่ในตลาดที่มีโครงสร้างและตัวเลือกอื่นๆ ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ตลาดที่คุณกำลังหาคู่อยู่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กับคุณสมบัติของคุณเองนะครับ

2. การเป็นโสดไปก่อนบางทีก็เป็น strategy ที่ดีกว่า

ที่มาภาพ : https://www.flickr.com/photos/monkie1231/8052244808
ที่มาภาพ : https://www.flickr.com/photos/monkie1231/8052244808

นักเศรษฐศาสตร์แรงงานมักมองว่าการตัดสินใจเลือกงานจะขึ้นอยู่กับว่าค่าจ้างที่บริษัทให้นั้นสูงกว่าค่าจ้างที่หวัง (reservation wage) หรือไม่ ถ้าไม่ถึงก็ควรรอข้อเสนอที่ดีกว่าต่อไป คล้ายกับเวลาเรามีเพื่อนที่ช่างเลือก ใครจะดีแค่ไหนก็ยังไม่พอ แล้วก็เลือกที่จะเป็นโสดต่อไป

ฉะนั้น การเป็นโสดในสายตานักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้แปลว่าไม่มีใครต้องการเขาเสมอไป อาจจะเป็นเรื่องจริงที่โดยเฉลี่ยแล้วผู้ชายจะชอบผู้หญิงอายุน้อยกว่า (อาจจะด้วยเหตุผลทางชีววิทยา) แต่จากข้อมูลแค่นั้นก็สรุปห้วนๆ ไม่ได้เสียทีเดียวว่าผู้หญิงอายุมากนั้น “ขึ้นคาน” เพียงเพราะว่าผู้ชายไม่ชอบผู้หญิงอายุมาก เนื่องจากตลาดหาคู่เป็นตลาดที่มีสองด้าน ความพึงพอใจของฝ่ายหญิงจึงสำคัญไม่แพ้กัน อาจเป็นเพราะไม่มีใครถูกใจเขาพอหรือยังสู้การอยู่คนเดียวไม่ได้ก็เป็นได้ ยิ่งคนที่มีซัพพอร์ตจากครอบครัว งานอดิเรก สัตว์เลี้ยง หรือเพื่อนฝูงมากๆ การเป็นโสดอาจเป็นตัวเลือกที่ไม่ได้แย่ขนาดนั้น คล้ายกับเวลาคนตกงานสามารถเคลมเงินชดเชยการว่างงานก้อนมหึมาได้อยู่เสมอ เขาก็จะไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนหางานเท่ากับในกรณีที่ตัวใครตัวมัน

นักเศรษฐศาสตร์โนเบลในปี 2010 มองว่าหากเรายังไม่พบคนที่ชอบจริงๆ ควรรอและไม่ย่อท้อในการค้นหาคนคนนั้นต่อไป มันดีกว่าเสียเวลาไปกับการจับคู่ที่ไม่ยืนยง (unstable match) และปิดโอกาสตัวเองในตลาดหาคู่ ผมเองก็มองว่าเราเอาเวลาไปพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นก่อนเข้าตลาดครั้งต่อไปยังดีเสียกว่า

แต่จุดนี้ก็ต้องระวังสำหรับคนที่อยากมีคู่แต่ตั้งความหวังไว้สูงมาก (ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร) ยิ่งรอนานเท่าไหร่ก็ยิ่งอาจทำให้คนที่สนใจจะมาจับคู่กับเรามีจำนวนน้อยลงได้เหมือนกัน เพราะนอกจากตลาดจะเล็กลงตามอายุแล้ว อีกฝั่งอาจมองไม่เห็นว่าเรากำลังหวังสูง แต่กลับสรุปเอาเองว่าเรา “ไม่ค่อยเป็นที่น่าสนใจ” จึงยังโสดอยู่ถึงทุกวันนี้ ไม่ต่างกับเวลาที่ซีวีเราเริ่มด่างพร้อยในสายตาบริษัทเมื่อคนเราตกงานมาเป็นเวลานาน จุดนี้น่าสนใจและอาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงเห็นคนที่อายุมากๆ เมื่อคบกันแล้วเดี๋ยวเดียวก็แต่งงานมีลูกเลย ในขณะที่พวกที่คบกันมาตั้งแต่ประถมคบไปเป็นสิบปีแต่เลิกกันดื้อๆ ก็มี อาจเป็นเพราะเขาเหล่านี้เวลาเริ่มน้อยลงจนต้องยอมลดความหวังหรือไม่ก็รู้สึกว่าต้องเพิ่มความพยายามในการค้นหาคู่ชีวิต (search effort) ในช่วงโค้งสุดท้ายก็เป็นได้

3. สัญญาณรักสำคัญไฉน

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/rose-roses-flowers-red-valentine-374318/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/rose-roses-flowers-red-valentine-374318/

ในเมื่อบางทีการแข่งขันมันสูงในตลาดหาคู่ ก็ไม่แปลกที่เราอาจได้เห็น “ด้านมืด” ของความรักที่มักมาในคราบการโกหกหลอกลวงหลังจากเข้าสู่ช่วง “หมดโปร” หรือ การบอกรักแบบไม่มีความหมาย ทำนองว่า “เอะอะก็ว่ารัก เอะอะก็คิดถึง”

ปัญหาคนหลอกลวง ไม่ว่าจะระดับร้ายแรงขนาดสาบานว่าจะรักตลอดไปแต่กลับไปมีชู้ หรือเล็กน้อยแบบเวลาเลือกฟิลเตอร์รูปโปรไฟล์ ต่างสร้างปัญหาในตลาดหาคู่ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นการทำให้ผู้อื่นเสียเวลาหรือเป็นการสร้างความไม่แน่นอน

เว็บไซต์หาคู่ออนไลน์เกาหลีแห่งหนึ่งเคยขอให้ทีมนักเศรษฐศาสตร์ช่วยแก้ปัญหา “ตลาดติดขัด” ที่เต็มไปด้วยสัญญาณรักลมๆ แล้งๆ (ทำนองว่าบอกทุกคนว่ารักมากหรือชวนทุกคนไปกินข้าวดูหนังแต่กลับไม่ไปจริง) เพราะว่าการบอกรักออนไลน์หรือส่งซิกเดี๋ยวนี้มันง่ายกว่าปลอกกล้วยเสียอีก (ถ้าเทียบกับการระดมความกล้าบอกรักต่อหน้าเขาแบบสมัยก่อน) ทีมนักเศรษฐศาสตร์เขาจึงลองเสนอให้กำหนดให้ผู้ใช้งานแต่ละคนมี “กุหลาบเวอร์ชวล” พิเศษคนละแค่สองดอกเพื่อส่งให้ผู้ใช้งานที่ถูกใจที่สุดเท่านั้น ปรากฏว่าวิธีนี้ทำให้ตลาดทำงานได้คล่องขึ้นจริงๆ เพราะว่าการเพิ่มต้นทุนของสัญญาณรักในโลกที่อะไรๆ ก็ง่ายไปหมดเริ่มทำให้สัญญาณเหล่านี้มีค่าขึ้น เวลาเราได้รับกุหลาบนี้เราจะทราบทันทีว่าผู้ส่ง “สูญเสีย” อะไรที่มีค่าต่อเขามาก เพราะการที่เขาเลือกจะส่งมาให้เราทำให้เขาไม่สามารถส่งไปให้กับคนอื่นได้ แสดงว่าเขาต้องสนใจเรามากพอสมควร ไม่ใช่แค่หวังหว่านแห

เห็นแบบนี้แล้วจึงอดคิดไม่ได้ถึงเรื่องราวสนุกๆ เกี่ยวกับสิ่งที่คนเราทุ่มเทให้กันและกันก่อนเริ่มคบหากัน (ยอมเดินเปียกฝนไปส่งด้วย ลงมือทำขนมให้เป็นของขวัญทั้งๆ ที่ก็ทำไม่ค่อยจะเป็น หรือทุ่มทุนค่าขนมทั้งเดือนซื้อตุ๊กตาตัวที่ใหญ่ที่สุดในร้านที่จริงๆ แล้วเขาอาจไม่ได้อยากได้) ทั้งๆ ที่พอลองนึกดูแล้วมันมีวิธีที่ “ต้นทุนถูกกว่า” (เช่น ให้แค่ลูกอมฮาร์ทบีท)

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีแก้ปัญหา “สัญญาณไร้ค่า” ที่คล้ายกับเวลาที่ใบปริญญาหรือใบประกาศนียบัตรทำหน้าที่ช่วยสื่อถึงคุณภาพของคนๆ หนึ่งว่าเป็นแรงงานที่มีความสามารถไม่ธรรมดา เนื่องจากการได้กระดาษแผ่นนั้นมาเป็นอะไรที่มีต้นทุนสูง ใช้เวลานานยังไม่พอแถมยังต้องผ่านการคัดเลือกและการทดสอบมากมายอีกด้วย

และบางทีสัญญาณรักที่คุณนึกว่ามีค่ามากๆ อาจไม่ได้มีค่าเท่าที่ควรด้วยเหตุผลภายนอก เช่น ดอกไม้ช่อโตในวันวาเลนไทน์ เพราะบังเอิญว่าสังคมเรามี social norm (บรรทัดฐานทางสังคม) ที่จะมีการแลกเปลี่ยนดอกไม้ ชอกโกแลต หรือของขวัญกันในวันนี้ คนรักของคุณจึงอาจสร้างความคาดหวังไว้เรียบร้อยแล้วว่าตนควรจะได้รับของขวัญหรือการกระทำดีๆ ผลลัพธ์ของการให้ในวันพิเศษจึงไม่ค่อยพิเศษเท่าที่ควร และอาจพิเศษน้อยกว่าให้ในวันธรรมดาๆ เสียอีก (แต่กระนั้นก็ตาม ผมไม่แนะนำให้คุณเลิกธรรมเนียมนี้และอ้างเหตุผลนี้ในชีวิตจริงเนื่องจากคุณอาจถูกลงทัณฑ์อย่างรุนแรงได้)

แต่การเพิ่มต้นทุนของสัญญาณก็ไม่ใช่วิธีเดียวที่มนุษย์เราคิดค้นขึ้นมาแก้ปัญหาจำพวกนี้ คุณสมบัติบางประเภท เช่น ประวัติอาชญากรรม เดี๋ยวนี้เว็บไซต์หาคู่ออนไลน์สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่แรกแล้ว ส่วนปัญหาความไม่แน่นอนของคุณสมบัติอื่นๆ ที่ตรวจสอบไม่ได้ง่ายๆ เช่น ความจริงใจหรือความมั่นคงในหน้าที่การงานซึ่งอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลานั้นมนุษยชาติก็ได้หาวิธีบรรเทาความเสียหายหากต้องเลิกราด้วยนวัตกรรมทางกฎหมายไว้แล้ว (ทั้งทางการและไม่ทางการ) เช่น การเซ็นสัญญาก่อนแต่ง และ ธรรมเนียมสินสอดทองหมั้น

4. ลด “ต้นทุนอกหัก” เพื่อให้คุณ “เล่นของสูง”

ที่มาภาพ :  https://static1.squarespace.com/static/55ed796ce4b019cad20cbdaa/t /57194eb6f850828c394e243c/1461276768131/
ที่มาภาพ : https://static1.squarespace.com/static/55ed796ce4b019cad20cbdaa/t
/57194eb6f850828c394e243c/1461276768131/

ผมคิดว่าวง Big Ass พูดถูกมากๆ ว่าถึงแม้ว่า “ รู้ว่าเสี่ยง แต่​คงต้องขอลอง”

กี่ครั้งแล้วที่คนเราล้มเลิกความคิดที่จะติดต่อหรือทำความรู้จักกับคนที่เราคิดว่า “สูงเกินเอื้อม” เพราะกลัวทนคำปฏิเสธไม่ไหว

นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของพฤติกรรมกลยุทธ์ (strategic behavior) ที่นักเศรษฐศาสตร์แรงงานมักทดสอบในข้อมูลตลาดแรงงานเนื่องจากสิ่งนี้สร้างปัญหาร้ายแรงได้ 2 ทาง

หนึ่ง คือ สำหรับคนที่กลัวเจ็บ เขาจะหันไปเลือกตัวเลือกอื่นทั้งที่จริงๆ แล้วก็รู้ดีอยู่ว่ามันไม่ได้ดีที่สุดต่อตัวเขาเอง พูดง่ายๆ ก็คือ หวังต่ำไป น่าเสียดาย

สอง คือ คนที่หลายคนมองว่าสูงเกินเอื้อม อาจโชคร้ายโดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิด กลับไม่ได้จับคู่กับตัวเลือกที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของตน เนื่องจากคนเหล่านั้น “ปอดแหก” กันไปเสียก่อน

งานวิจัยโดย Günter J. Hitsch กับ Ali Hortaçsu และ Dan Ariely พบว่า ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์นั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ใช้งานพยายามป้องกันตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่หน้าตาดีระดับต่ำๆ ก็ยังคงส่งสัญญาณว่า “สนใจ” ให้กับคนที่หน้าตาดีมากๆ แบบไม่ลดละเมื่อเทียบกับการส่งสัญญาณของคนที่หน้าตาดีระดับสูงกว่าเขา ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าการหาคู่ออนไลน์มีต้นทุนอกหักที่ต่ำกว่าการหาคู่ออฟไลน์ คนไม่ค่อยคิดมากในการส่งสัญญาณด้วยมือถือ ซึ่งในทางกลับกัน เราอาจต้องคิดหนักมากเมื่อต้องตัดสินใจส่งสัญญาณในบาร์ หรือต้องชวนคนที่ชอบให้นั่งติดกันตอนไปทัศนศึกษาสมัยเด็กๆ จุดนี้ถือเป็นข้อดีของการหาคู่ออนไลน์ เนื่องจากช่วยลดโอกาสที่จะมีคู่บุพเพสันนิวาสที่ดันดวงกุด ไม่ได้พบกันเพียงเพราะว่ามีใครคนนึงเขินอายกลัวเจ็บเกินไปครับ

สรุป

จากมุมมองเศรษฐศาสตร์แล้ว (ซึ่งอธิบายพฤติกรรมการหาคู่/แสดงความรักได้แค่บางส่วน) เราควรเข้าใจว่า

    1. ตลาดหาคู่เป็นตลาดสองทางและมีการแข่งขันด้วยคุณสมบัติตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การเป็นโสดเพื่อพัฒนาคุณสมบัติตนเองหรือเพื่อรอโอกาสที่ดีกว่า ไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนคิด

    2. โครงสร้างตลาดมีส่วนสำคัญในการจับคู่ หากเลือกได้ควรเลือกให้คุณได้เปรียบคู่แข่งเสมอ

    3. ควรคำนึงถึงคุณค่าและคุณภาพของสัญญาณรัก และ

    4. พยายามลดต้นทุนอกหักให้ได้เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้จับคู่กับคนที่คุณชอบที่สุด

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดที่กล่าวไปข้างบนนั้นไม่ใช่ความรักต่ออีกคนเลยสักนิด
เป็นแค่ความรักต่อตัวเองทั้งสิ้น

บางคนอาจคิดว่า เวลาคบกันใหม่ๆ ความหวานชื่นช่วงแรกที่หวานที่สุดนั้นคือความรัก แต่ผู้เขียนคิดว่าในช่วงนั้นความรักที่แท้จริงยังไม่ได้มีโอกาสผลิบานเลยด้วยซ้ำ เป็นแค่เกมการค้นหากันระหว่างสองคู่ค้าในตลาดหาคู่เท่านั้น พูดง่ายๆ คือ เป็นแค่เกมทางชีววิทยา

กรอบความคิดเหล่านี้อาจพาคุณไปหาคู่ครองในฝันที่คุณวาดภาพเอาไว้ได้จริงในวันที่คุณทั้งสองเซ็นสัญญารักร่วมกัน แต่มันไม่การันตีว่าสัญญาของคุณจะถูกต่อออกไปยาวจนชั่วชีวิตหรือจะมีความสุขอย่างที่ใฝ่ฝันเอาไว้ตั้งแต่ต้น

สิ่งที่จะทำให้ชีวิตคู่มีความสุข มีรสชาติ และไม่เสียดายชาติเกิด จะมาจากการหมั่นดูแลคนที่เขายอมมาจับคู่กับคุณทั้งๆ ที่เขาเองก็มีตัวเลือกอื่นๆ มากมาย (รวมถึงอยู่คนเดียว) และจะมาจากการกระทำต่อๆ ไปของคุณให้เขาไม่ผิดหวังจากวันแรกพบต่างหากครับ

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบอ่านง่ายๆ ได้ที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com

อ้างอิง
Hitsch, Günter J., Ali Hortaçsu, and Dan Ariely. “Matching and sorting in online
dating.” The American Economic Review 100, no. 1 (2010): 130-163.
Nobelprize.org. “The Prize in Economic Sciences 2010 – Illustrated
Information”.
Nobel Media AB 2014. Web. 14 Feb 2017.
Oyer, Paul. Everything I ever needed to know about economics I learned from
online dating. Harvard business review Press, 2014.