ThaiPublica > คอลัมน์ > โดนัลด์ ทรัมป์ กับ “Made in America” ภารกิจฟื้นฟูอุตสาหกรรมดั่งเดิม 2.0

โดนัลด์ ทรัมป์ กับ “Made in America” ภารกิจฟื้นฟูอุตสาหกรรมดั่งเดิม 2.0

11 กุมภาพันธ์ 2017


ปรีดี บุญซื่อ

charlie chaplin ที่มาภาพ : https://i.gse.io/gse_media/116/9/1476815634-Charlie_Chaplin_ModernTimes_tickets.jpg?p=1&c=1&q=40&h=346&w=608
charlie chaplin ที่มาภาพ : https://i.gse.io/gse_media/116/9/1476815634-Charlie_Chaplin_ModernTimes_tickets.jpg?p=1&c=1&q=40&h=346&w=608

หลังจากชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อพฤศจิกายนที่แล้ว ในเดือนธันวาคม 2016 โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้คะแนนเสียงจากการสร้างภาพลักษณ์ เมื่อเขาสามารถชักจูงไม่ให้บริษัท Carrier Corporation ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ ย้ายฐานการผลิตไปยังเม็กซิโก ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 บริษัทนี้ได้ประกาศปิดโรงงานในเมืองอินเดียนาโพลิส ส่งผลให้มีการเลิกจ้างคนงาน 1,400 คน และอีก 700 คน ที่โรงงานอีกแห่งหนึ่งในรัฐอินเดียนา

ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ยกกรณีการปิดโรงงานของ Carrier มาเป็นประเด็นโจมตีเรื่องโลกาภิวัตน์ ข้อตกลงการค้าเสรี การย้ายโรงงานไปเม็กซิโก และประกาศว่าตัวเองจะฟื้นฟูการผลิตทางอุตสาหกรรมขึ้นมา และทำให้ “อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง” ในที่สุด Carrier ก็ตกลงยินยอมที่จะให้โรงงานยังคงเปิดดำเนินงานอย่างเดิม รัฐอินเดียนาจะให้การลดหย่อนภาษีแก่ Carrier เป็นเงิน 7 ล้านดอลลาร์ มีรายงานข่าวว่า เพื่อให้เรื่องนี้จบ ทรัมป์โทรศัพท์โดยตรงถึงนาย Greg Hayes ที่เป็น CEO ของ United Technologies บริษัทแม่ของ Carrier และถามตรงๆว่า “ถ้าผมแพ้เลือกตั้ง คุณจะรับสายหรือเปล่า”

ทรัมป์ไปเยือนโรงงาน Carrier ที่มาภาพ : http://fm.cnbc.com/applications/cnbc.com/resources/img/editorial/2016/12/01/104140942-GettyImages-627018722.530x298.jpg?v=1481225875
ทรัมป์ไปเยือนโรงงาน Carrier ที่มาภาพ : http://fm.cnbc.com/applications/cnbc.com/resources/img/editorial/2016/12/01/104140942-GettyImages-627018722.530×298.jpg?v=1481225875

เผชิญหน้ากับ “การตกต่ำ”

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประสบปัญหาภาวะตกต่ำของอุตสาหกรรมดั้งเดิม หรือ 2.0 เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก รถยนต์ สิ่งทอ เสื้อผ้า ฯลฯ ที่วงการเศรษฐกิจเรียกว่า deindustrialization การลดการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นลักษณะที่โดดเด่นมากอย่างหนึ่งของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เรื่องอุตสาหกรรมเป็นประเด็นที่ถกเถียงในสหรัฐฯ มาตลอด นับตั้งแต่สมัยการสร้างประเทศขึ้นมาจนมาถึงยุคโดนัลด์ ทรัมป์

ในอดีตเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว ประเด็นการถกเถียงอยู่ที่ว่า สหรัฐฯ จะเป็นประเทศเกษตรกรรมหรือจะเป็นประเทศมหาอำนาจที่อาศัยการผลิตทางอุตสาหกรรมมาทำให้สหรัฐฯ ก้าวล้ำหน้าอังกฤษซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในสมัยนั้น Alexander Hamilton รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในรัฐบาลประธานาธิบดี George Washington เขียนรายงานที่โด่งดังชื่อ Report on Manufactures สนับสนุนให้รัฐบาลกลางมีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบประเทศอื่นๆ

แต่ในปัจจุบัน ประเด็นที่ถกเถียงในสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องที่ว่า จะเลือกเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม แต่อยู่ที่ว่า สหรัฐฯ จะรุ่งเรืองได้หรือไม่ หากว่าเศรษฐกิจอาศัยธุรกิจภาคบริการอย่างเดียว ประเด็นจะแตกกว้างออกไปได้อีกในหลายๆ เรื่อง เช่น จะสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรมอย่างไร จะสนับสนุนการอพยพของแรงงานมีฝีมือมาสหรัฐฯ หรือไม่ Hamilton ก็เคยพูดถึงปัญหาเหล่านี้เมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว

แต่ในสมัยนั้น สิ่งที่ Hamilton ยังมองไม่เห็นคือ เรื่องประสิทธิภาพของการผลิตทางอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ทำให้การผลิตใช้แรงงานน้อยลง แต่สามารถผลิตสินค้าสนองความต้องการให้กับคนจำนวนมาก และโลกในภาวะปัจจุบันที่สินค้า เงินทุน และธุรกิจบริการ สามารถเคลื่อนย้ายได้ทั่วโลก อย่างอิสระมากขึ้น และด้วยต้นทุนที่ถูก จุดนี้เองคือสถานการณ์ที่สหรัฐฯ เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ มีแนวคิดอยู่ 2 อย่างที่อธิบายภาวะตกต่ำของการผลิตด้านอุตสาหกรรม แนวคิดหนึ่งมองเห็นว่า การตกต่ำของภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น นโยบายรัฐที่ไปช่วยเหลืออุ้มชูอุตสาหกรรมที่ตกต่ำคือการไปปกป้องสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือไม่ก็หวังผลทางการเมือง อีกแนวคิดหนึ่งมองการตกต่ำของภาคอุตสาหกรรม ว่ามีสาเหตุจากโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่ประกอบด้วย 2 กระบวนการ คือ การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่มาแข่งกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ กับการส่งออกการจ้างงานไปยังต่างประเทศ

ผลิตภาพของอุตสาหกรรมสมัยใหม่

หนังสือดังปี 2016 ที่สะท้อนความสิ้นหวังของคนผิวขาว เพราะโรงงานในชุมชนถูกปิด ช่วยอธิบายว่า ทำไมทรัมป์ได้รับเลือกจากคนผิวขาว 58%
หนังสือดังปี 2016 ที่สะท้อนความสิ้นหวังของคนผิวขาว เพราะโรงงานในชุมชนถูกปิด ช่วยอธิบายว่า ทำไมทรัมป์ได้รับเลือกจากคนผิวขาว 58%

ทุกวันนี้ ผลิตภาพ (productivity) การผลิตภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ทำให้แรงงานภาคเกษตรที่มีแค่ 2% ของแรงงานสหรัฐฯ ทั้งหมดสามารถเลี้ยงคนอเมริกันทั้งประเทศ การผลิตด้านอุตสาหกรรมก็มีสภาพแบบเดียวกัน คือสินค้าถูกผลิตออกมามากจากคนงานจำนวนที่น้อยลง ปี 1980 แรงงานสหรัฐฯ 22% ทำงานภาคอุตสาหกรรม ในปี 2011 เหลือแค่ 10% เวลาเดียวกัน มูลค่าการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มจาก 803 พันล้านดอลลาร์ เป็น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์

ถ้าหากว่าผลิตภาพการผลิตทางอุตสาหกรรมเป็นเหตุให้มีการจ้างงานน้อยลง ก็ไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้การจ้างงานลดน้อยลง เช่น โลกาภิวัตน์ เอาต์ซอร์ส การที่จีนกดค่าเงินหยวน หรือโรงงานในต่างประเทศกดขี่แรงงาน เป็นต้น เพราะการลงทุนในเครื่องจักรใหม่ๆ การใช้แรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมก็เป็นสาเหตุพอเพียงแล้วที่จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการผลิตด้านอุตสาหกรรม นาย Lawrence Summers อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็กล่าวว่า แม้แต่ในจีนเอง การจ้างงานทางอุตสาหกรรมก็ลดลง เพราะเทคโนโลยีทำให้การผลิตทางอุตสาหกรรมมีผลิตภาพสูงขึ้น

แม้ว่าผลิตภาพของการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นจะทำให้การจ้างงานลดน้อยลง แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ลดความสำคัญลงแต่อย่างใด แตกต่างจากภาคเกษตรกรรม ที่ความสำคัญต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันลดน้อยลงไปมาก เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วยังมีฐานะเป็นประเทศผู้บริโภค ในสหรัฐฯ ความต้องการสินค้ามีมากกว่าที่ผลิตเอง ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามาตลอด นอกจากนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ที่การผลิตด้านอุตสาหกรรมยังคงเข้มแข็ง เช่น ในเยอรมัน 20% ของแรงงานทำงานในภาคอุตสาหกรรม ในญี่ปุ่น สัดส่วน 17% และอิตาลี 19%

สาเหตุจากโลกาภิวัตน์หรือไม่?

โลกาภิวัตน์เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ประเทศไหนได้ประโยชน์ เป็นผู้ชนะ และประเทศไหนเสียประโยชน์ เป็นผู้แพ้ และประเด็นที่ว่า ในระยะ 30-40 ปีที่ผ่านมา การตกต่ำของการผลิตด้านอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ มีสาเหตุมาจากโลกาภิวัตน์มากน้อยเพียงไร

ในทางเศรษฐกิจ โลกาภิวัตน์หมายถึงกระบวนการที่รวมเศรษฐกิจที่หลากหลายของประเทศต่างๆ เข้าสู่ตลาดโลกเดียวกัน ในที่สุดแล้ว เมื่อเป็นตลาดเดียวกันของโลก ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของประเทศต่างๆ ก็จะต้องเหมือนๆ กันหรือแตกต่างกันไม่มาก เช่น ค่าจ้าง อัตราดอกเบี้ย หรือราคาสินค้า อย่างเช่น ค่าจ้างขั้นต่ำในเบลเยียม ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ที่อยู่ในกลุ่ม EU มีอัตราใกล้เคียงกัน

แต่สำหรับโลกโดยรวม สภาพไม่ได้เป็นแบบนี้ กระบวนการไปสู่ตลาดโลกเดียวกันกลายเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจภายในของประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะต่อกลยุทธ์ของบริษัทธุรกิจที่ว่า จะสร้างนวัตกรรมอย่างไร จะตั้งโรงงานการผลิตในประเทศไหน การปฏิวัติของดิจิทัลเทคโนโลยีทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าสามารถแยกงานการผลิตสินค้าออกเป็นส่วนๆ แต่ละส่วนไปทำในสิ่งที่เป็นความชำนาญเฉพาะอย่าง หรือ core competency เช่น การออกแบบ iPhone ทำที่หน่วยงานภายในของ Apple ในสหรัฐฯ ส่วนการผลิต iPhone ดำเนินการโดยบริษัท Foxconn ของไต้หวัน โดยมีโรงงานการผลิตอยู่ในจีน

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโลกในระยะ 40 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ขับเคลื่อนกระแสโลกาภิวัตน์ การเปิดประเทศของจีนในปี 1979 การพังทลายของกลุ่มประเทศค่ายคอมมิวนิสต์ในยุโรป การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเวียดนามหรือเมียนมา ทำให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนงานที่มีทักษะแทบทุกระดับในประเทศต่างๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการผลิตสู่ตลาดโลก นิยตสาร Economist อ้างรายงานขององค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมของ UN หรือ UNIDO ว่า ในปี 1991 คนงานในประเทศกำลังพัฒนา 234 ล้านคน ทำงานภาคอุตสาหกรรม ในปี 2014 เพิ่มเป็น 304 ล้านคน ส่วนประเทศร่ำรวยมีคนงานอุตสาหกรรม 63 ล้านคน

ใครได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์

Make America Great Again ที่มาภาพ : http://i2.cdn.turner.com/money/dam/assets/151008102414-trump-hat-2-780x439.jpg
Make America Great Again ที่มาภาพ : http://i2.cdn.turner.com/money/dam/assets/151008102414-trump-hat-2-780×439.jpg

เมื่อมีการสำรวจความเห็นของคนอเมริกัน เรื่อง ผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ ผลที่ออกมากก็คละกันไป มีทั้งสนับสนุน คัดค้าน และเฉยๆ ทั้งนี้เพราะว่าคนเราเป็นทั้งผู้บริโภคและคนงานผู้ผลิต การเป็นผู้บริโภคทำให้รู้สึกว่า สินค้าที่ซื้อจาก Walmart หรือ Amazon มีราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ เสื้อผ้า หรือรองเท้า เพราะเป็นสินค้าที่ผลิตจากเอเชีย แต่ในฐานะเป็นลูกจ้าง ก็วิตกกังวลว่าตัวเองจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ เมื่องานถูกเอาต์ซอร์สไปต่างประเทศ

แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะระบุว่า โลกาภิวัตน์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ หายไปมาก เพราะการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากประเทศกำลังพัฒนาที่ค่าแรงต่ำมีมูลค่าน้อยกว่าที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีค่าแรงสูง แต่ความเข้าใจของคนทั่วๆ ไปอยู่ที่ว่า การค้าเสรีเปิดโอกาสให้สินค้าจากประเทศค่าแรงถูกไปตีตลาดประเทศที่ค่าแรงสูง ทำให้การผลิตด้านอุตสาหกรรมตกต่ำ

ส่วนการค้าระหว่างประเทศที่ค่าแรงสูงเหมือนกันไม่ได้สร้างปัญหานี้ เช่น การค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอังกฤษ แต่มาถึงสมัยของทรัมป์ เหตุการณ์กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ประเทศที่กลายเป็นเป้าการโจมตีล่าสุดของรัฐบาลทรัมป์ไม่ใช่จีนหรือญี่ปุ่น แต่กลับเป็นเยอรมัน นาย Peter Navarro ที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์กล่าวหาว่า เยอรมันใช้วิธีการกดค่าเงินยูโรให้ต่ำเพื่อให้ได้เปรียบเรื่องการส่งออกมาสหรัฐฯ เพราะเงินยูโรก็คือเงินมาร์กเยอรมันนั่นเอง แต่ก็บอกว่า เราต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นแบบเยอรมัน ที่ 20% ของแรงงานทำงานภาคอุตสาหกรรม

หมวกคำขวัญ Make America Great Again แต่ผลิตในจีน ที่มาภาพ : Twitter
หมวกคำขวัญ Make America Great Again แต่ผลิตในจีน ที่มาภาพ : Twitter

เมื่อจีนพัฒนาเศรษฐกิจจนกลายเป็นโรงงานโลก เหตุการณ์นี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความคิดที่ว่าโลกาภิวัฒน์ไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้การผลิตด้านอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ตกต่ำลง ในทศวรรษ 1990 โรงงานการผลิตทางใต้ของจีน ที่มีเจ้าของเป็นนักลงทุนจากไต้หวัน ฮ่องกง และชาติตะวันตก เริ่มเปิดดำเนินการผลิต ทำให้กำลังการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของจีนพุ่งขึ้นอย่างมาก

นับจากปี 2000 เป็นต้นมา สินค้าจีนหลั่งไหลเข้าไปขายในสหรัฐฯ เมื่อระบบภาษีศุลกากรและระบบโควตาลดต่ำลงหรือถูกยกเลิกไป เช่น ข้อตกลงสิ่งทอหมดอายุลงในปี 2005 ภายใน 1 ปีหลังจากนั้น จีนส่งออกสิ่งทอเสื้อผ้าไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 8.9 พันล้านดอลลาร์ เป็น 15.4 พันล้านดอลลาร์ ภายในปีเดียว ส่วนตัวเลขสัดส่วนการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ จากประเทศกำลังพัฒนาพุ่งขึ้นจาก 2.9 % ในปี 1991 เป็น 5.9% ปี 2000 และ 11.7% ปี 2007 ตัวเลขดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงว่า การจ้างงานด้านอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ หายไปมาก

เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ยังส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตของบริษัทอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดิมบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ จะมีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อย่างเช่นในปี 1949 บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เป็นเจ้าของกิจการต่อเนื่อง เช่น รถไฟบรรทุกสินค้า เหมืองแร่เหล็กและถ่านหิน เรือบรรทุกรถยนต์ และสวนยางพาราในบราซิล เป็นต้น ทุกวันนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีโครงสร้างแนวดิ่งแบบนี้แทบไม่เหลืออยู่อีกแล้ว บริษัท Hewlett-Packard, IBM, Levi Strauss, Apple, Boeing หรือ Nike ล้วนปรับโครงสร้าง หันไปเน้นหนักการผลิตในสิ่งที่เป็น “แก่นความสามารถ” (core competence) ที่ตัวเองชำนาญมากสุด ส่วนกิจกรรมที่เป็นการผลิตอื่นๆ ก็ขายทิ้งไป

นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมดั่งเดิมของสหรัฐฯ เป็นแนวคิดที่สวนทางกับความคิดของคนชั้นนำในสหรัฐฯ ที่เห็นว่า สหรัฐฯ ควรจะก้าวข้ามการผลิตด้านอุตสาหกรรม เพื่อไปสู่ “เศรษฐกิจความรู้” เช่น ซอฟต์แวร์หรือโซเชียลมีเดีย เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นนโยบายที่สวนทางกับสภาพที่เป็นจริงทางเศรษฐกิจของโลกในยุคปัจจุบัน ที่การผลิตทางอุตสาหกรรมเป็นแบบเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานข้ามพรมแดน หากทรัมป์ใช้มาตรการเก็บภาษีการนำเข้ามากขึ้น ก็จะทำให้การผลิตด้วยระบบเครือข่ายห่วงโซ่ข้ามพรมแดน เกิดการชะงักงันครั้งใหญ่