ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “เบสท์ริน กรุ๊ป” อ่วมกว่า 2 พันล้าน – ขสมก. ไม่ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี เตรียมบอกเลิกสัญญา

“เบสท์ริน กรุ๊ป” อ่วมกว่า 2 พันล้าน – ขสมก. ไม่ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี เตรียมบอกเลิกสัญญา

4 กุมภาพันธ์ 2017


เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 เวลา 13.00 น. บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ส่งตัวแทนติดต่อศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ขอนำรถเมล์เอ็นจีวีล็อตที่ 2 จำนวน 291 คัน  ผ่านพิธีการศุลกากร

ปมร้อน สัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ที่ลงนามตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2559 แต่จนถึงปัจจุบัน ขสมก. ก็ยังไม่สามารถตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันได้ เนื่องจากบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าของบริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ถูกกรมศุลกากรตั้งข้อกล่าวหาสำแดงใบรับรองถิ่นสินค้าเป็นเท็จ (Form D) เพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี 100 คัน ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หากจะนำรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ออกจากด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง บริษัทซุปเปอร์ซาร่าต้องจ่ายภาษีและค่าปรับให้กรมศุลกากรคันละ 3.71 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 371 ล้านบาท ต่อมาบริษัทซุปเปอร์ซาร่าขอนำรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้จำนวน 1 คัน ออกจากด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยยอมจ่ายภาษีและค่าปรับ 3.71 ล้านบาท เหลือรถเมล์เอ็นจีวีลอตที่ถูกกรมศุลกากรตั้งข้อกล่าวหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จตกค้างที่ท่าเรือ 99 คัน

หลังจากบริษัทซุปเปอร์ซาร่าถูกกรมศุลกากร ดำเนินคดีสำแดงใบรับรองสินค้านำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี 100 คันเป็นเท็จ วันที่ 16 ธันวาคม 2559 ขสมก. ทำหนังสือถามอัยการสูงสุด 2 ประเด็น ดังนี้

1. กรณีบริษัทเบสท์รินฯ วางเงินประกันต่อกรมศุลกากร เพื่อนำรถเมล์ลอตนี้มาส่งมอบให้ ขสมก. โดยที่เรื่องยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า ขสมก. สามารถตรวจรับรถได้หรือไม่

2. ใน TOR กำหนดคุณลักษณะของรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ไว้กว้างๆ ว่าเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศทั้งคัน หรือเป็นรถที่ประกอบในประเทศไทย โดยอุปกรณ์และชิ้นส่วนต้องเป็นไปตามมาตรฐานของผู้ผลิตและกรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ในสัญญาข้อ 2.1 ระบุว่าเป็นรถเมล์ที่ผลิตในประเทศจีน แล้วนำมาประกอบในโรงงานประเทศมาเลเซีย ถือว่าข้อความมีความขัดแย้งกันเป็นสาระสำคัญของสัญญาหรือไม่ และ ขสมก. จะสามารถตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวได้หรือไม่

จากนั้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 บริษัทซุปเปอร์ซาร่า ปรับเปลี่ยนวิธีการนำรถเมล์เอ็นจีวีที่เหลืออีก 389 คัน ผ่านพิธีการศุลกากรในรูปแบบใหม่ ลอตนี้บริษัทซุปเปอร์ซาร่ายื่นใบขนสินค้าขาเข้า สำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นรถเมล์ที่ประกอบประเทศมาเลเซีย แต่เจ้าหน้าที่ศุลกากรตั้งข้อสังเกตเป็นรถเมล์ประกอบในประเทศจีน บริษัทซุปเปอร์ซาร่าจึงขอใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนภาษีตามมาตรา 10 วรรค 5 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยยอมจ่ายภาษีในอัตรา 40% ของมูลค่า

ก่อนตรวจปล่อยรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ออกจากด่านศุลกากรฯ เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำบันทึกหมายเหตุ (Remark) ลงในใบขนสินค้าขาเข้า ข้อความระบุว่า “ขอสงวนสิทธิการขอคืนอากรภายหลังการนำเข้า โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า มีปัญหาถิ่นกำเนิด เนื่องจากคณะกรรมการตรวจปล่อยรถยนต์ฯ ตรวจพบว่ารถยนต์ฯ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี” บริษัทซุปเปอร์ซาร่าจึงนำรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 389 คัน กับอีก 1 คัน ที่ชำระค่าภาษีพร้อมค่าปรับก่อนหน้านี้ รวมเป็น 390 คัน ทยอยจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และทำการทดสอบรถเมล์เอ็นจีวีร่วมกับ ขสมก. ตามที่กำหนดใน TOR

ยังไม่ทันได้ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ ปรากฏว่าอัยการสูงสุดทำหนังสือแจ้ง ขสมก. ขอให้ชะลอการตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ ไปจนกว่ากรมศุลกากรพิจารณาคดีเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าของรถเมล์เอ็นจีวีว่ามาจากประเทศใด

เช่นเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามถึงความคืบหน้ากรณีปัญหารถเมล์เอ็นจีวีว่า ตนได้รับทราบจากขสมก. แล้วว่าไม่สามารถตรวจรับได้ เนื่องจากอัยการได้ชะลอไม่ให้รับ ต้องมีการพิจารณากันในทางคดี คือเรื่องการผิดสัญญาว่ารถมีที่มาถูกต้องหรือไม่ และเรื่องการสำแดงเป็นเท็จหรือไม่ ไปว่ากันทางคดี

“รัฐบาลรับของร้อนไม่ได้อยู่แล้ว ประชาชนเดือดร้อนจะทำอย่างไร มาถามผม ก็ทำใหม่ไง มีอะไรอย่างอื่นไหมที่จะแก้ปัญหานี้ได้ คือต้องไม่เกิดเรื่องแบบนี้อีก เป็นเรื่องการป้องกันการทุจริต มาบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่มีผลงาน หลายเรื่องที่เข้ากระบวนการตรวจสอบ ไปดูอะไรแล้วมาบอกรัฐบาลล้มเหลวทั้งหมด มันไม่เป็นธรรมกับผม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ค่าใช้จ่ายรถเมล์เอ็นจีวี
ค่าใช้จ่ายรถเมล์เอ็นจีวี

ล่าสุด ขสมก. รายงานต่อนายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม ว่า ขสมก. สามารถบอกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันได้ภายในสัปดาห์หน้า เนื่องจากผู้นำเข้าส่งมอบรถเมล์ล่าช้า ตามสัญญาบริษัทเบสท์รินฯ ต้องส่งมอบรถเมล์ให้ ขสมก. ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2559 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว บริษัทเบสท์รินฯ ต้องจ่ายค่าปรับรายวันให้กับ ขสมก. 10% ของมูลค่าสัญญา คิดเป็นเงินประมาณ 8.3 ล้าน บาทต่อวัน (17,000 บาทต่อคันต่อวัน) โดย ขสมก. จะคิดค่าปรับไปจนกว่าครบวงเงินค้ำประกันที่บริษัทเบสท์รินฯ วางเป็นหลักประกันไว้ 330 ล้านบาท จากนั้นทาง ขสมก. จะทำจดหมายแจ้งเตือนอีกครั้งก่อนแจ้งบอกเลิกสัญญา

หลังจากที่มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี บริษัทเบสท์รินฯ นำเงินมาวางเป็นหลักประกันกับ ขสมก. แล้ว 330 ล้านบาท ส่วนบริษัทซุปเปอร์ซาร่าได้จ่ายเงินซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ให้โรงงานผู้ผลิต 1,447 ล้านบาท จ่ายค่าภาษีและค่าปรับให้กรมศุลกากร 597 ล้านบาท สรุป ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทเบสท์รินฯ จ่ายเงินไปแล้วทั้งสิ้น 2,374 ล้านบาท แต่ ขสมก. ยังไม่สามารถตรวจรับรถเมล์ได้ เพราะอยู่ระหว่างรอผลพิสูจน์จากกรมศุลกากรเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า ขณะที่ ขสมก. กำลังจะแจ้งบอกเลิกสัญญา เนื่องจากคู่สัญญาไม่สามารถนำรถเมล์มาส่งมอบให้ ขสมก. ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

เบสท์ริน-ซุปเปอร์ซาร่าเชื่อมโยงกันอย่างไร

ขณะนี้ปมรถเมล์เอ็นจีวีจึงเป็นกรณีพิพาทระหว่าง 1. ขสมก.กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ในฐานะคู่สัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน และ 2. บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ถูกกรมศุลกากร ตั้งข้อหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ

บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป และบริษัท ซุปเปอร์ซาร่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ทำไมบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ปไม่นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีเอง แต่ได้มอบหมายให้บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า เป็นผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี 489 คันแทน

ในทางนิตินัยทั้ง 2 บริษัทเป็นคนละนิติบุคคลกัน แต่ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้ง 2 บริษัท มีความเชื่อมโยงกันกล่าวคือ

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรารายงาน ความเชื่อมโยงของทั้งสองบริษัทว่าบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป เดิมชื่อ “บริษัท เดฟฟารีเทคโนโลยีแอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ไทยแลนด์ จำกัด” จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2546 ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ปัจจุบันประกอบธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถบรรทุก และยานยนต์หนักอื่นๆ และจำหน่ายรถบัสโดยสาร ส่งและการขายปลีกการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ที่ตั้งเลขที่ 60/111 หมู่ที่ 1 ถนนบางนา-ตราด กม.12.5 ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ปรากฏชื่อ นายหลิน เข่อนั่ว และนางประจิตรา แสงฤทธิ์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ,กรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วย

ต่อมานายหลิน เข่อนัว แจ้งเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลใหม่ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็น “นายเค่อนั่ว หลิน” และแจ้งย้ายที่อยู่ใหม่ เป็นเลขที่ 342/125 ถนนรามอินทรา แขวงท่าแร้ง กทม. ซึ่งเป็นที่อยู่เดียวกับ นางประจิตรา แสงฤทธิ์ วันที่ 18 ตุลาคม 2556 บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป แจ้งเปลี่ยนตัวกรรมการใหม่ นายเค่อนั่ว หลิน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเพียงคนเดียว หลังจากที่ นางประจิตรา แสงฤทธิ์ และ นายจินดาสร แสงฤทธิ์ แจ้งลาออก วันที่ 17 มิ.ย.2557 บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่งตั้งน.ส.ยิงชุน เชียว เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเพียงผู้เดียว แทนนายเค่อนั่ว หลิน ที่ลาออกไป และจากการตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ณ วันที่ 30 เมษายน 2559 ประกอบด้วย นายจินดาสร แสงฤทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 102,000 หุ้น นายเค่อนั่ว หลิน ถืออยู่ 66,000 หุ้น นายหวัง เจียง 20,000 หุ้น และ น.ส.ยิงชุน เชียว 12,000 หุ้น

ส่วนบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า เดิมชื่อ “บริษัท เบสท์ลินเอ็นจิ้นเซอร์วิส จำกัด” จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทวันที่ 23 มิถุนายน 2551 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 2 ล้านบาท ผู้ก่อตั้งบริษัท ซุปเปอร์ซาร่ามี 7ราย คือ นายหลิน เข่อนั่ว นายปณิศา หลิน นายหวัง เจียง นางประจิตรา แสงฤทธิ์ นายจินดาสร แสงฤทธิ์ นายหวัง เหยี่ยวผง และนายจาง หงเจ๋อ โดยมีนางประจิตรา แสงฤทธิ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม

ปี 2556 บริษัท เบสท์ลิน เอ็นจิ้นเวอร์วิส จำกัด แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท ปัจจุบันประกอบธุรกิจไฟฟ้า ก๊าซไอน้ำและระบบปรับอากาศ ตั้งอยู่เลขที่ 429/22 ถนนลาดพร้าว-วังหิน แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 นางประจิตรา วรนาวิน (นามสกุลเดิม แสงฤทธิ์) ลาออกจากกรรมการ แต่งตั้งนายจินดาสร แสงฤทธิ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียว ส่วนรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2559 ประกอบด้วย นายจินดาสร แสงฤทธิ์ ถือหุ้นใหญ่ 255,000 หุ้น นางประจิตรา วรนาวิน 222,000 หุ้น นายหวัง เหยี่ยวผง 25,000 หุ้น

จากตรวจสอบข้อมูลบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า พบว่าทั้ง 2 บริษัทมีนายจินดาสร แสงฤทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่