ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > นายกฯยันไม่รับรถเมล์ NGV – ยอดเบิกจ่ายงบปี’ 60 ดีกว่าทุกปี แจงเงินคงคลังเป็นไปตามวัฏจักร

นายกฯยันไม่รับรถเมล์ NGV – ยอดเบิกจ่ายงบปี’ 60 ดีกว่าทุกปี แจงเงินคงคลังเป็นไปตามวัฏจักร

8 กุมภาพันธ์ 2017


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทีมาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ยืนยันตามสรุปกรมศุลฯ ไม่รับรถเมล์ NGV

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยกเลิกการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เนื่องจากมีปัญหาการสำแดงแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ ว่า ตนเคารพผลสรุปการตรวจสอบโดยกรมศุลกากรต่อกรณีที่มีการสำแดงเป็นเท็จ วันนี้ก็ไม่มีการให้รับ ซึ่งต่อไปต้องเป็นเรื่องของกระบวนการสอบสวน ต้องว่าไปตามหลักฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ส่วน ขสมก. จะทำโครงการจัดซื้อรถเมล์ขึ้นมาใหม่ก็ให้ดำเนินการมาในภายหลัง

“นี่คือปัญหาของประเทศของเรา ถ้าทุกคนบอกตรงกันว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ ก็ต้องมองทั้งในแง่ของการจับตาจากภายนอกและจากภาคีภาครัฐ อีกทั้งยังต้องไปดูด้วยว่าในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น จะแก้ไขเรื่องของผู้ให้และผู้รับผลประโยชน์ได้อย่างไร ตอนนี้ก็ไล่ปรับแก้ไปมากแล้ว แต่ปัญหานี้ยังมีอยู่ อีกทั้งปัญหาเรื่องการให้และเรียกรับผลประโยชน์ในบางเรื่องเกิดขึ้นพอกพูนทับซ้อนกันมาตั้งแต่อดีต เพราะฉะนั้นผมอาจจะยืนยันไม่ได้ว่า มันแก้ไขได้ 100% หรอก มันก็ดีขึ้น ดีขึ้น ไปเรื่อย ๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เตรียมบ่อบาดาล 1,000 บ่อ รับมือภัยแล้ง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมาตรการรับมือภัยแล้งว่า ภัยแล้งเป็นปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นทุกปี การดำเนินการจะใช้มาตรการเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา ต้องคิดหาวิธีที่จะบริหารจัดการน้ำให้พอใช้ หากเกิดปัญหาก็ต้องเริ่มจากการประหยัด หากยังไม่พอใช้อีกจะต้องมีการจัดสรรปันส่วน และคาดการณ์ไว้ว่าสถานการณ์ในปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้มีการจัดทำพื้นที่เก็บน้ำมากขึ้นพอสมควร สิ่งที่ต้องจัดการจึงอยู่ที่การทำระบบส่งน้ำ

“ก็ได้มอบนโยบายแก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการจัดทำบ่อบาดาลเพิ่มเติมจำนวนกว่า 1,000 บ่อ และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว วันนี้ก็ได้เสริมเข้าไปอีก โดยชี้ว่านี่เป็นปัญหาที่ต้องแก้อย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมหรือแล้งในพื้นที่ซ้ำซาก รวมถึงเรื่องการเพาะปลูกที่ต้องปรับตัว ปลูกให้ตรงตามพื้นที่แหล่งน้ำที่มีอยู่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เร่งแก้ไขสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีงบประมาณในการป้องกันอุทกภัยภาคใต้ว่า นอกจากการจัดสรรงบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และการฟื้นฟูพื้นที่ประทบอุทกภัย  มาตรการพักชำระหนี้ และให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ได้ดำเนินการไปยังได้มีการสำรวจเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาระบบจัดการน้ำส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนประจำปี 2560

“กรมทางหลวงชนบทได้ตรวจสอบพบว่ามีสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งหมด 111 แห่ง จึงได้มีการจ่ายงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อเร่งดำเนินการ โดยอย่างน้อยในปี 2560 นี้จะต้องไม่เกิดปัญหาหรือเกิดปัญหาให้น้อยที่สุด รวมถึงโครงการเร่งด่วนที่ทำให้เกิดความยั่งยืนอีกประมาณ 203 แห่ง บางส่วนก็มีงบประมาณในปี 2560 แล้ว แต่บางส่วนยังต้องทำแผนของบกลาง และบางส่วนต้องบรรจุในแผนงานงบประมาณปี 2561 โดยต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

“อย่างน้อยในปี 2560 มันต้องแก้ปัญหาได้บ้าง เพราะหากต้องแก้ทั้งหมด จะต้องรื้อทั้งบ้านคน แหล่งชุมชน โรงพยาบาล ถนนทั้งเส้น แล้วจะอยู่กันอย่างไร ต้องรอดำเนินการไปว่าจะทำอย่างไรจะป้องกันน้ำท่วมในสถานที่สำคัญได้บ้าง ไม่ใช่ว่าไปไหนไม่ได้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ชู “บ้านมิตรไมตรี” สถานที่ให้คนเร่ร่อน-ขอทานฝึกอาชีพ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องการจัดระเบียบสังคมว่า วันนี้รัฐบาลมุ่งเน้นเรื่องการดูแลผู้ไร้ที่พึ่ง ซึ่งอยู่ตามสถานที่สาธารณะ ปัจจุบันมีบ้านมิตรไมตรีสำหรับให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนดังกล่าวอยู่หลายที่ด้วยกัน สามารถนำคนไร้บ้าน ขอทาน มาฝึก เนื่องจากไม่อยากให้เกิดภาพไม่งดงามในพื้นที่ของประเทศไทย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการใช้งบประมาณจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับข้าราชการ โดยต้องให้สามารถมีที่พักให้เขาเช่าในราคาที่เขาเบิกได้ อย่างเช่น ได้รับค่าที่พักมา 2,000 บาทต่อเดือน แต่ที่พักไม่มีราคา 2,000 บาทต่อเดือน ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เล็งตรวจมาตรฐานครู ตัดคะแนนลาไปทำวุฒิ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการปฏิรูปการศึกษาว่า ตนได้ย้ำเสมอในการประชุมทุกครั้ง การปฏิรูปการศึกษานั้นสัมพันธ์ทั้งผู้ปกครอง ครู และเด็ก รวมถึงสังคม ต้องพัฒนาครู การออกข้อสอบ ซึ่งวันนี้ก็เริ่มมีการใช้ข้อสอบแบบอัตนัย และปรนัยด้วย เพื่อจะได้ตรวจสอบว่าอ่านออกและเขียนได้

“การนำ  e-Learning ให้เด็กนักเรียนเข้ามาทดสอบในระบบการเรียนการสอนหรือข้อสอบในโทรศัพท์ได้ ต้องเข้าไปดูว่าพร้อมหรือไม่อย่างไร และในเรื่องกีฬาจะสามารถแยกออกมาเป็นมหาวิทยาลัยกีฬาได้อย่างไร วันนี้ก็ได้มีการดำเนินการไปแล้ว ส่วนเรื่องการประเมินครู ต้องประเมินว่าครูดีกับนักเรียน อยู่โรงเรียนมากแค่ไหน ไม่ใช่ลาไปทำวุฒิอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนใหญ่หรือเล็กก็ตาม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติครม.

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ขวาสุด) พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กลาง) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวาสุด) พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กลาง) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ประกันสังคมจ่ายทดแทนลูกจ้างเจ็บป่วยในหน้าที่ไม่จำกัด

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ขยายอัตราค่ารักษาพยาบาล กรณีเข้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐให้กับลูกจ้างกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2559

เมื่อลูกจ้างเจ็บป่วยจากการทำงาน ปัจจุบันกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม จะดูแลค่ารักษาพยาบาลในกรณีดังกล่าวในวงเงิน 50,000 บาท ส่วนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรุนแรงหรือเรื้อรังจะจ่ายสูงสุดไม่เกิน 1 ล้าน ทั้งนี้ได้ปรับขยายอัตราค่ารักษาพยาบาลให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐแบบไม่จำกัดจำนวนเงินจนสิ้นสุดการรักษา ส่วนกรณีที่ลูกจ้างมีความจำเป็นหรือมีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้ย้ายเข้ารับการรักษาพยาบาลของรัฐนั้น ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา

“การปรับเพิ่มวงเงินดังกล่าวไม่ได้มีผลให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเพิ่มแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น” นายณัฐพร กล่าว

ธ.ก.ส. พักชำระหนี้ – ลดดอกเบี้ย ช่วยลูกค้าน้ำท่วมภาคใต้

นายณัฐพร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการดำเนินงานโครงการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2559/2560 เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินและลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรที่เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีเงินกู้เดิมกับ ธ.ก.ส. และได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ประมาณ 212,850 ราย

โดยได้ขยายเวลาชำระคืนต้นเงินกู้ที่เกษตรกรมีอยู่กับ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ออกไปเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2560 ตามกำหนดชำระเดิม

สำหรับการลดอัตราดอกเบี้ย แยกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่เกษตรไม่เป็นหนี้ NPLs ธ.ก.ส. งดคิดดอกเบี้ยจากเกษตรกรเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2561 ในวงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. 5% ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ส่วนกรณีที่เกษตรกรเป็นหนี้ NPLs ธ.ก.ส. จะงดคิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปีเช่นเดียวกัน ในวงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย โดย ธ.ก.ส. รับภาระดอกเบี้ยทั้งหมดแทนเกษตรกร

“ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ ธ.ก.ส. ในอัตรา 5% ต่อปี เป็นเงินปีละ 1,965.50 ล้านบาท รวมระยะเวลา 2 ปี เป็นเงิน 3,931 ล้านบาท” นายณัฐพร กล่าว

3 แบงก์รัฐจัด 3 หมื่นล้าน ช่วยเกษตรกรใต้

นายณัฐพร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2560 เพิ่มเติม ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินรวมสินเชื่อรวม 31,500 ล้านบาท

  • ธ.ก.ส. จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินให้กับลูกค้าเก่าและใหม่ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 200,000 ราย โดยให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรกไม่คิดดอกเบี้ย จากนั้นคิดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ต่อปี (ประมาณ 7% ต่อปี) ซึ่งโครงการนี้ ธ.ก.ส. จะไม่ขอรับการชดเชยภาระดอกเบี้ยและต้นทุนเงินจากรัฐ และโครงการเป็นการออกสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการผลิตให้เกษตรกรที่ประสบภัย วงเงิน 10,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 50,000 ราย ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 10 ปี โดยปีที่ 1-4 คิดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ลบ 2 ต่อปี ซึ่งเกษตรกรจะจ่าย 2% ส่วนรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรแทนให้ 3% ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป ซึ่งจะขอการชดเชยจากรัฐบาลในงวเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท
  • ธนาคารออมสิน จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก ส่วนปีที่ 2-5 คิดดอกเบี้ยเดือนละ 1% ใช้บุคคลหรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน ก็ได้ และโครงการเป็นสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเอสเอ็มอีที่ประสบภัย วงเงินรวม 2,500 ล้านบาท โดยผู้กู้ต้องเป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจเดิม เป็นสินเชื่อระยะยาว ไม่มีภาระหนี้ค้างชำระในวันที่ขอกู้เงิน โดยจะให้สินเชื่อ 10% ของวงเงินกู้สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจเดิมทุกประเภท สูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี ซึ่งทั้ง 2 โครงการของธนาคารออมสินจะไม่ขอรับการชดเชยภาระดอกเบี้ยและต้นทุนเงินจากรัฐ
  • ธพว. จำนวน1 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอีจากอุทกภัย วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายเป็นเอสเอ็มอีที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม กำหนดให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืม 7 ปี โดยในปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ย 3% ต่อปี ปีที่ 4-7 คิดดอกเบี้ยตามที่ ธพว. กำหนด โดยขอรับการชดเชยจากรัฐบาล 3% ต่อปีในช่วง 3 ปีแรก ซึ่งโครงการนี้จะมีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ ครม. เห็นชอบ หรือจนกว่าเต็มวงเงิน ส่วนการค้ำประกันให้เป็นไปตามที่ ธพว. กำหนด หรือให้ บสย. ค้ำประกันได้ และจะมีการขอเงินชดเชยจากรัฐบาลไม่เกิน 825 ล้านบาท
ศูนย์ซ่อมเครื่องบินการบินไทย อู่ตะเภา

แผนยาว 15 ปี ปั้นไทยฮับอุตสาหกรรมการบินอาเซียน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน โดยกระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงและอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (2560 -2575) ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นนิคมอุสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน ใน 3 กิจกรรม ได้แก่

การซ่อมบำรุง ในระยะแรก (2560-2564) จัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 2 (2565-2569) จัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงฯ เพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อการซ่อมบำรุงภายในประเทศ และในระยะที่ 3 (2570-2575) จัดตั้ง Aeropolis เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินของภูมิภาค

ส่วนด้านการผลิตชิ้นส่วนอวกาศ ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะเช่นกัน โดยในระยะแรกมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและประเภทของการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอากาศยาน ในระยะที่ 2 จะดำเนินการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม (cluster) ให้ครบทุกประเภทอุตสาหกรรมอากาศยานตามแผนธุรกิจ และในระยะที่ 3 จะเป็นการยกระดับความสามารถในการผลิตอุตสาหกรรมอากาศยาน เข้าสู่ Tier 2 (Design & Build)

และการพัฒนาบุคลากร ในระยะแรก จะดำเนินการสร้างบุคลากร/ปรับปรุงหลักสูตร ผลิตช่างและวิศวกรอากาศยาน ระยะที่ 2 สร้างช่างเทคนิคและวิศวกรอากาศยานให้เพียงพอต่อความต้องการ และระยะที่ 3 เป็นการปรับตัวเข้าสู่ Research Institutions

“เนื่องจากสภาพอุตาหกรรมอากาศยานในช่วง 20 ปี คือระหว่างปี 2556-2575 ตลาดได้เคลื่อนย้ายจากทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปมาอยู่ในโซนเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะจีน เนื่องด้วยมีกำลังซื้อที่มากขึ้น ประกอบกับการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการส่งมอบอากาศยานใหม่ในภูมิภาคเอเชียกว่า 35,000 ลำ โดยส่วนแบ่งตลาดในปี 2556 ของภูมิภาคเอเชียที่เคยอยู่ที่ 26% จะขยับเป็น 35% ในปี 2575 ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานในครั้งนี้จะส่งผลให้ไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี สามารถประหยัดงบประมาณได้ 6,500 ล้านบาทต่อปี และจะมีการจ้างงานเพิ่มอีกประมาณ 7,600 ตำแหน่ง” นายกอบศักดิ์กล่าว

ข้อมูล และที่มาภาพ : ทีมโฆษกด้านเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล
ข้อมูล และที่มาภาพ : ทีมโฆษกด้านเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล

ยอดเบิกจ่ายงบปี’60 ดีกว่าทุกปี

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2560 โดยมีการเบิกจ่ายแล้ว 1,105,870 ล้านบาท คิดเป็น 40.46% ของงบประมาณทั้งหมด สูงกว่าเป้าหมาย 3.69% เป็นผลพวงจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย และมาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐ เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสว่ารัฐบาลเบิกจ่ายช้า ปัจจุบันได้ดำเนินการเร็วขึ้นแล้ว

ในส่วนของรายจ่ายประจำมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 995,003 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 6.03% สำหรับรายจ่ายด้านการลงทุน ส่วนที่ไม่รวมงบกลางฯ มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 110,876 ล้านบาท คิดเป็น 23.88% แม้จะยังเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้า แต่ถือเป็นการเบิกจ่ายที่ดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา เพราะหากเทียบกับการเบิกจ่ายในปี 2558 ส่วนนี้มีการเบิกจ่ายได้เพียง 15.6% เท่านั้น ปี 2559 เบิกจ่ายได้ 19.2%

“หากดูเรื่องการก่อหนี้ปัจจุบันสามารถก่อหนี้ได้แล้ว 55.33% ซึ่งในอดีตสามารถก่อหนี้ได้ประมาณ 20% เท่านั้น ทั้งนี้ การก่อหนี้ได้มากมีนัยสำคัญ เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าผู้รับเหมาได้รับทำสัญญาแล้ว สามารถเตรียมการดำเนินการก่อสร้างได้ เงินจะเริ่มหมุนในระบบเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายลงความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 จะเป็นปีทองของการก่อสร้าง

นอกจากนั้น ยังมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันก่อหนี้ได้ประมาณ 55.52% ส่วนที่เป็นรายจ่ายลงทุนไม่เกิน 2 ล้านบาท สามารถก่อหนี้ได้ประมาณ 70% สะท้อนถึงการทำงานของภาครัฐที่ตั้งใจไว้แต่แรกที่จะกระตุ้นการลงทุนทั้งการลงทุนรายเล็ก และการลงทุนใหญ่” นายกอบศักดิ์ กล่าว

แจง”เงินคงคลัง”เป็นไปตามวัฏจักร

นายกอบศักดิ์ได้ชี้แจงถึงกรณีคำถามเรื่องเงินคงคลังที่ลดลงต่ำกว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยระบุว่า การลดต่ำลงดังกล่าวเป็นไปตามวัฏจักรของเงินคงคลัง ซึ่งปกติในช่วงต้นปีงบประมาณ คือ ต้นเดือนตุลาคม เงินคงคลังจะอยู่ในระดับที่สูงที่สุดของทุกปีเพื่อให้เตรียมการใช้จ่ายตลอดปี และหลังจากนั้นจะมีการปรับขึ้นลงตามภาษีและการเบิกจ่ายของภาครัฐที่เกิดขึ้น

โดยรัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะเป็นช่วงที่มีเงินภาษีเข้ามามาก เนื่องจากเป็นรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล หลังจากนั้นจะปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงมิถุนายน-กันยายน เพื่อเตรียมไว้สำรับการใช้จ่ายในปีงบประมาณถัดไป

“และจากที่ในปี 2560 มีการเบิกจ่ายของงบประมาณได้สูงกว่าที่ผ่านมา จึงทำให้รัฐบาลในช่วง 4 เดือนแรกได้ใช้จ่ายเพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลรู้ว่าช่วงต้นปีต้องทำให้เศรษฐกิจไปให้ได้ก่อนจึงเร่งใช้จ่ายในเงินลงทุนโครงการต่างๆ และพยายยามก่อหนี้ไว้เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสที่บอกว่ารัฐบาลท่อตัน ได้เงินมาก็ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ แต่ตอนนี้รัฐบาลได้พยายามกระทุ้งท่อเพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้ ยืนยันว่ารัฐบาลได้เตรียมการใช้จ่ายไว้อย่างดีแล้ว ว่าต้องเตรียมเงินไว้เท่าไรจึงเพียงพอต่อการใช้จ่าย” นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการเปลี่ยนนโยบาย โดยเห็นว่าการถือเงินสดไว้มากๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ จึงควรมีเงินสดที่ถือไว้หรือมีไว้ในบัญชีกระแสรายวันเท่าที่จำเป็นเท่านั้น กระทรวงการคลังจึงได้หาแนวทางบริหารเงินสดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งการที่เงินคงคลังลดต่ำลงกว่าที่เป็นมาเล็กน้อยเนื่องจากดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการมากกว่า

“อาจมีความสับสนระหว่างเงินคงคลังและเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเงินที่เป็นคลังหลวงของไทยแท้จริงคือเงินสำรองระหว่างประเทศ ที่เก็บไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปัจจุบันมีสำรองประมาณ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท เป็นเงินที่เก็บไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ส่วนเงินคงคลัง ที่กระทรวงการคลังดูแล เงินนี้ไม่ได้เป็นทรัพย์สินสะสมระยะยาว แต่เป็นบัญชีใช้จ่าย เสมือนเงินกระแสรายวัน เมื่อมีไว้ใช้จ่ายก็ไม่จำเป็นต้องมีมากก็ได้ มีเท่าที่จำเป็น ต่อให้เงินในกระเป๋านี้หายไปก็สามารถกด ATM ได้” นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายณัฐพร กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นของเงินคงคลังที่เหลือประมาณ 7 หมื่นล้าน แต่โดยเฉลี่ยแล้วรัฐบาลขาดทุนประมาณ 1 แสนล้านต่อเดือน จะทำให้รัฐบาลกระเป๋าฉีกหรือไม่นั้น กรณีเงินสดไม่เพียงพอ รัฐบาลสามารถระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรได้ในระยะเวลา 2 วัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องเก็บเงินคงคลังไว้มากเหมือนสมัยก่อนที่ระบบต่างๆ ยังไม่เชื่อมโยงและรวดเร็ว

รบ.ตั้งคำถามจรรยาบรรณสื่อ

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวว่า จากกรณีกระแสข่าวเงินคงคลังที่เกิดขึ้น สื่อมวลชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า “เงินคงคลัง” คืออะไร  มีวิธีการใช้จ่ายอย่างไร และมีที่มาจากไหน จึงไม่มีการนำเสนอข้อมูลที่จะทำให้เกิดความเสียหาย แต่มีเพียงเฉพาะสื่อมวลชนบางส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อยที่อาจจะมีนัยทางการเมืองได้มีการนำประเด็นดังกล่าวไปพาดหัวข่าวนำเสนอข้อมูลในทิศทางที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ และความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ

“กรณีเช่นนี้องค์กรด้านสื่อมวลชนจะมีวิธีการที่จะดูแลและบริหารจัดการสื่อมวลชนกันเองอย่างไร ทั้งนี้ หากองค์กรด้านสื่อมวลชนหรือสภาวิชาชีพของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ สามารถดูแลกันได้ เชื่อมั่นว่าสังคมจะเกิดความรู้สึกยินดีที่ทุกฝ่ายมีส่วนช่วยในการที่จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้า โดยไม่มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกันว่าใครจะกำกับดูแลใคร” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ต่อเวลาเว้นค่าวีซ่า ถึง 31 ส.ค. นี้

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการขยายเวลามาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (วีซ่า) ที่สถานทูตหรือสถานกงสุลไทย จากเดิม 19 ประเทศ เป็น 21 ประเทศ เพิ่มปาปัวนิวกินีและหมู่เกาะฟิจิเข้ามา และขยายเวลาเพิ่มเติมอีก 6 เดือน ตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 สิงหาคม 2560 และปรับค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองใช้ได้ครั้งเดียว เป็นจำนวน 1,000 บาทต่อคน เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวทำให้สูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียม ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 – 15 มกราคม 2560 เป็นเงินประมาณ 1,061 ล้านบาท แต่สัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 12.4% ทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 6,446 ล้านบาท

“มีข้อเสนอในที่ประชุมว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงการต่างประเทศต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่า นายกรัฐมนตรีจึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงวิธีการนำรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นไปชดเชยในส่วนดังกล่าว” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

5 ธ.ค. วันคล้ายวันเฉลิมฯ ร.9-วันชาติ-วันพ่อ – สถาปนาสมเด็จพระฆังราชองค์ใหม่

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการกำหนดวันสำคัญของไทย ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นวันชาติ และเป็นวันพ่อแห่งชาติ

นอกจากนี้ ได้มีแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยมีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องได้รับสนองและดำเนินการเพื่อให้พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระฆังราชองค์ใหม่ไปโดยเรียบร้อยตามพระราชประเพณีต่อไป

ข้อตกลงจ้างงาน ไทย-ลาว

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบข้อตกลงด้านการจ้างแรงงานระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการขยายเวลาสัญญาการจ้างงานจาก 2 ปี ออกไปอีก 2 ปี ซึ่งเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้ว แรงงานต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นเวลา 30 วัน จึงจะสามารถเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อีกครั้ง โดยการพักอาศัยในประเทศไทยต้องเป็นไปตามกฎหมาย และหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างประเทศ ต้องเจรจากันอย่างสมานฉันท์

“เนื่องจากปัญหาแรงงานที่ผ่านมา เมื่อเขาเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะได้รับใบอนุญาตการทำงานชั่วคราวก่อน จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งมีความล่าช้าจากทางประเทศต้นทาง การดำเนินการตามข้อตกลงนี้จะช่วยให้กระบวนการดังกล่าวมีความรวดเร็วขึ้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

แนวทางดูดผู้มีความสามารถ เป็น “พนักงานราชการ”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามาเป็นพนักงานราชการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) เสนอ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจ้างพนักงานราชการที่เกษียณอายุแล้ว แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้ามาทำงานเป็นที่ปรึกษา โดยจะขยายขอบเขตกลุ่มเป้าหมายออกไปยังผู้ที่ได้รับรางวัลการประกวดจากองค์กรสถาบันที่ได้รับการยอมรับ ผู้มีคุณวุฒิพิเศษที่ขาดแคลนจำเป็นต่อตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้สำเร็จการศึกษาสถาบันชั้นนำในและต่างประเทศ

“จากที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะลดปริมาณข้าราชการให้เหมาะสมตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น การจ้างงานในรูปแบบดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเสริมในส่วนของกำลังพลที่ขาดในช่วงการปรับลดได้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว