ThaiPublica > คอลัมน์ > วิชาเศรษฐศาสตร์สามารถช่วยให้ชีวิตคู่มีความสุขมากขึ้นได้ยังไง

วิชาเศรษฐศาสตร์สามารถช่วยให้ชีวิตคู่มีความสุขมากขึ้นได้ยังไง

3 กุมภาพันธ์ 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
https://www.wbs.ac.uk/about/person/nattavudh-powdthavee

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/7e/Esposas_de_Matrimonio_1.jpg/628px-Esposas_de_Matrimonio_1.jpg
ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/7e/Esposas_de_Matrimonio_1.jpg/628px-Esposas_de_Matrimonio_1.jpg

เมื่อประมาณห้าปีที่แล้วผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของ Paula Szuchman และ Jenny Anderson ที่มีชื่อว่า Spousonomics ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมาก หนังสือเล่มนี้นำทฤษฏีต่างๆ นานาจากวิชาเศรษฐศาสตร์มาใช้แนะนำเรื่องการมีชีวิตแต่งงานที่ยั่งยืนและมีความสุข วันนี้ผมก็เลยถือโอกาสนำบทเรียนสำคัญๆ จากหนังสือดังกล่าวมาเล่าให้คุณผู้อ่านที่ยังไม่เคยอ่านฟังกันนะครับ ซึ่งบทเรียนที่สำคัญมีดังนี้

1. เพราะคนเรามี endowment effect (การที่เรามักจะให้น้ำหนักในสิ่งที่เราเป็นเจ้าของมากเกินไป) ซึ่งมีที่มาจาก loss aversion (คือเราเกลียดการเสียมากกว่าการได้) เวลาที่เราโกรธกับแฟนเราก็เลยมักจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะเรามักจะให้น้ำหนักในเหตุผลที่เรามีมากกว่าเหตุผลที่แฟนของเรามี

คำแนะนำของ Paula และ Jenny ก็คือ เวลาที่เรากำลังโกรธอะไรแฟนของเราอยู่นั้น ให้เรารอ 24 ชั่วโมงก่อนแล้วค่อยกลับมาคิดใหม่ว่ายังอยากจะพูดอยู่ไหม ให้อารมณ์และทิฐิของเราเบาลงก่อน แล้วเราจะพบว่า 9 ครั้งใน 10 ครั้ง เรามักเลือกที่จะไม่พูดดีกว่า

2. เข้าใจ negative sloping demand curve (หรือคอนเซปต์ที่ว่า ยิ่งของที่เราอยากจะซื้อราคาแพง เรายิ่งไม่อยากจะซื้อ)

Paula และ Jenny ได้ยกตัวอย่างเรื่อง “sex” ระหว่างสามีภรรยาไว้ในตรงนี้ ส่วนใหญ่เรามักจะคิดว่า sex นั้นมีราคาของมัน (ถึงแม้ว่าจะแต่งงานกันแล้วก็ตาม) ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าการมี sex ในแต่ละทีนั้นเราจำเป็นต้องแลกมันกับ 15 นาทีของการเล่นโทรศัพท์ การดูหนัง เล่นเกม และกิจกรรมที่เราอยากจะทำอื่นๆ

แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น การมี sex มีความสัมพันธ์ที่สำคัญกับความสุขของคนทั้งสองคนในชีวิตแต่งงาน (อันนี้งานของ Andrew Oswald) ถ้าเราไม่ประเมิน cost ของการมี sex ต่ำจนเกินไป มันก็ถือว่าเรากำลังตัดสินใจอย่างไม่ make economic sense (สมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์)

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า อรรถประโยชน์จากการมี sex เพิ่มขึ้นมาหนึ่งครั้ง (the marginal utility of sex) ซึ่งรวมไปด้วยความสุข ความมีปฏิสัมพันธ์กัน ความสงบสุขในครอบครัว มีมูลค่ามากกว่าราคาของการมี sex เพิ่มขึ้นมาหนึ่งครั้ง (the marginal cost of sex) ซึ่งก็คือเวลา 15 นาทีที่เราต้องเสียไป มากมายก่ายกอง

3. เข้าใจความสุขฟองสบู่ในชีวิตแต่งงาน (marriage bubble) ความสุขในชีวิตแต่งงานที่เรามีก็คงจะคล้ายๆ กันกับ business cycle ที่มีทั้ง boom และ bust ขึ้นๆ ลงๆ

ในตลาดเศรษฐกิจนั้น เวลาที่ราคาของสินค้า (ไม่ว่าจะเป็น stock หรือบ้านก็ตาม) สูงขึ้นมากๆ แล้ว โอกาสที่จะ “แตก” เหมือนกับฟองสบู่นั้นก็จะสูง เพราะฉะนั้น แบงก์ชาติจึงต้องทำการจับตาดูและเข้าแทรกแซงก่อนที่ฟองสบู่จะพองตัวโตจนเกินไป

ชีวิตการแต่งงานก็เหมือนกัน ในวันที่เรามีความสุข อาจจะไม่ถึงกับสุขมากก็ได้ โอกาสที่เราจะเมินเฉยในสิ่งทีเราควรจะทำเพื่อรักษาชีวิตแต่งงานให้มีความสุขต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจจะลดลง พูดง่ายๆ ก็คือ ในขณะที่เรากำลังรู้สึกว่าเรามีความสุข ทุกอย่างคงที่หมด เรามักจะ take married life for granted (คือคิดว่ามันเป็นของตาย) ซึ่งก็อาจจะทำให้เรามองข้ามสัญญาณอันตรายหลายๆ อย่างในชีวิตการแต่งงานของเรา และอาจจะทำให้ชีวิตการแต่งงานของเราพังได้

เพราะฉะนั้น เราควรจะตรวจตราอย่างสม่ำเสมอว่าเรากำลังให้เวลาและพลังงานในการดูแลไม่ให้ชีวิตแต่งงานของเราเติบโตจนเกินไป จนทำให้เราไม่สนใจ ไม่แคร์หรือไม่สามารถรักษาสภาพได้ หรือแย่จนเกินไป พยายามทำให้การขึ้นลงต่างๆ นานาในชีวิตแต่งงานราบรื่นและไปกันได้นานๆ ดีกว่า

4. การใช้ game theory เข้าช่วยในการตัดสินใจร่วมกันในหลายๆ เรื่อง หลายๆ คนอาจจะเคยอ่าน Prisoners’ Dilemma กันแล้ว นั่นก็คือมีนักโทษอยู่สองคนที่ทำงานด้วยกัน ทั้งสองถูกจับเข้าห้องขังพร้อมๆ กันแต่อยู่กันคนละห้อง หลังจากนั้น นักโทษแต่ละคนก็จะถูกสอบสวนว่าทำผิดจริงหรือไม่

สมมติมีนักโทษ A กับ B ถ้า A ยอมสารภาพผิดแต่ B ไม่ยอม A ก็จะได้รับโทษที่เบา (ติดคุกสองปี) ส่วน B ก็จะได้รับโทษที่หนักมากเพราะไม่ยอมสารภาพผิด (ติดคุกสิบปี)

ถ้าทั้ง A และ B ยอมสารภาพผิดทั้งคู่ ทั้งสองก็จะติดคุกกันคนละ 5 ปี แต่ถ้า A และ B ไม่สารภาพผิดทั้งคู่ ทั้งสองคนไม่ต้องติดคุกเลย ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุดของทั้งสองคน

ปัญหาก็คือ ทั้ง A และ B รู้ว่าตนห้ามไม่ให้อีกฝ่ายไม่สารภาพไม่ได้ และถ้าตนไม่สารภาพแต่อีกคนสารภาพล่ะก็ ตนเองก็จะต้องติดคุกถึง 10 ปีด้วยกันซึ่งเป็นทางออกที่แย่ที่สุดทั้งหมด และเมื่อไม่มีสัจจะในหมู่โจร ทางออกที่ดีที่สุดของทั้ง A และ B ก็คือสารภาพและติดคุกกันคนละ 5 ปี

แต่ชีวิตแต่งงานไม่ใช่ชีวิตในห้องสอบสวนนะสิครับ คนสองคนในแต่ละคู่สามารถเจรจาเพื่อหาจุดที่ดีที่สุดของทั้งสองคนได้ (ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่จุดที่ดีที่สุดของคนใดคนหนึ่งก็ตาม) เพราะการไม่ยอมซึ่งกันและกัน การไม่สร้างการประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น สามารถทำให้ต่างฝ่ายต่างได้ผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดสำหรับทั้งสองคนได้ง่ายๆ

เพราะฉะนั้น ร่วมมือและหาทางประนีประนอมกันดีกว่านะครับ 🙂

อ่านเพิ่มเติม
Szuchman, P. and Anderson, J., 2011. Spousonomics: Using economics to master love, marriage, and dirty dishes. Random House.