ThaiPublica > เกาะกระแส > สมาชิกไลฟ์พริวิเลจ รพ.กรุงเทพ ร้อง “สคบ.-ก.ล.ต.” ขอความเป็นธรรมและตรวจสอบธรรมาภิบาล หลังถูกตัดสิทธิ์รักษาตลอดชีพ ชี้การบอกเลิกสัญญาเข้าข่ายฉ้อโกง

สมาชิกไลฟ์พริวิเลจ รพ.กรุงเทพ ร้อง “สคบ.-ก.ล.ต.” ขอความเป็นธรรมและตรวจสอบธรรมาภิบาล หลังถูกตัดสิทธิ์รักษาตลอดชีพ ชี้การบอกเลิกสัญญาเข้าข่ายฉ้อโกง

13 กุมภาพันธ์ 2017


กลุ่มสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 กลุ่มสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ตรวจสอบธรรมาภิบาล กรณีโรงพยาบาลกรุงเทพ ในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) ยกเลิกสัญญาการรักษาพยาบาลตลอดชีพ (โครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ)

สำหรับโครงการ “ไลฟ์พริวิเลจคลับ” ของโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นแพคเกจรักษาสุขภาพ ให้สิทธิพิเศษสมาชิกรักษาพยาบาลตลอดชีวิต โดยเสียค่าใช้จ่าย 100 บาทต่อครั้ง ทั้งนี้ จ่ายค่าสมาชิกเป็นทองคำ 100% น้ำหนัก 200 บาท เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2544 และปิดรับในปี 2551 ซึ่งสมาชิกจ่ายด้วยเงินแทนทองคำได้ในราคาตลาด ณ ขณะนั้น ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 3 รุ่น ตามอัตราเงินที่จ่ายแทนทองคำ คือ 1 ล้านบาท 1.2 ล้านบาท และ 2 ล้านบาท ตามลำดับ ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 284 คน โดยบุคคลที่เป็นสมาชิกต้องเป็นลูกค้าของโรงพยาบาล และที่ได้รับเชิญจากผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของโรงพยาบาล และต้องผ่านการตรวจสุขภาพก่อน

ต่อเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากตัวแทนสมาชิกกลุ่มไลฟ์พริวิเลจคลับกล่าวว่า โครงการไลฟ์พริวิเลจคลับของโรงพยาบาลกรุงเทพออกมาในปี 2544 เป็นช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ธุรกิจส่วนใหญ่ประสบปัญหาสภาพคล่องและการหาแหล่งเงินทุน เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นและธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ได้เข้ามาควบคุมกิจการลูกหนี้ เช่น สั่งให้โรงพยาบาลลูกหนี้บางแห่งปิดไฟหลัง 6 โมงเย็นเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย เป็นต้น และในช่วงนั้นโรงพยาบาลกรุงเทพก็มีการปรับโครงสร้างหนี้เช่นกัน

“การระดมทุนตามแพคเกจนี้ เราไม่ทราบว่าโรงพยาบาลเอาเงินไปทำอะไร แต่ที่แน่ๆ มีสมาชิกหลายคนเล่าว่า ในตอนนั้นพนักงานขายบอกว่า โรงพยาบาลไม่มีเงิน กู้เงินในระบบไม่ได้ ขอให้ช่วย บางคนก็เล่าให้ฟังว่า แม่เขาซื้อ 6 สัญญาให้ลูกๆ เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพลูกๆ ไปตลอดชีวิต ซึ่งวิธีการขายไลฟ์พริวิเลจคลับ สมาชิกจ่ายเงินก้อนหนึ่งเป็นทองหนัก 200 บาท สิ่งที่สมาชิกได้รับคือการรักษาไม่ว่าเป็นผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน ค่าใช้จ่ายจะเป็นเท่าไหร่ก็ตาม สมาชิกเสีย 100 บาทต่อครั้ง เป็นแพคเกจดูแลสุขภาพตลอดชีวิต โดยเงื่อนไขตอนนั้นแค่ตรวจสุขภาพให้ผ่าน ซึ่งแพคเกจนี้ไม่ใช่ว่าใครจะซื้อได้ การเข้าเป็นสมาชิกคลับต้องมีคนเชิญ และคนเชิญจะได้รับค่าคอมมิสชั่นด้วย ตอนนั้นมีคุณหมอบางคนของโรงพยาบาลคำนวณค่าใช้จ่ายแล้วบอกว่า จากสถิติของโรงพยาบาล 3 ปี สุดท้ายก่อนตาย ค่ารักษาพยาบาลประมาณ 1.3 ล้านบาท ดังนั้น การจ่ายวันนี้ 1 ล้านบาทแล้วรักษาฟรีไปตลอดชีวิต ยังไงก็คุ้มและไม่เป็นภาระลูกหลาน” แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 โรงพยาบาลกรุงเทพได้แจ้งแก่ลูกค้าที่ใช้แพคเกจนี้ว่าจะต้องเลือกระหว่างการขึ้นราคาจาก 100 บาท ให้จ่าย 25% ของค่ารักษา ทางเลือกที่ 2 ถ้าไม่เลือก 1 จะได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย 5% และถ้าไม่ตอบกลับมาถือว่ายอมรับว่าจะรับเงินคืน

หลังจากนั้นวันที่ 27 ธันวาคม 2559 สมาชิกรวมตัวกันว่าจ้างทนายความทำหนังสือถึง บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ยืนยันว่าไม่ต้องการยกเลิกสมาชิก และต้องการให้ทางโรงพยาบาลรักษาสัญญาในโครงการไลฟ์พริวิเลจต่อไป

แหล่งข่าวจากสมาชิกกล่าวต่อว่า เหตุผลที่โรงพยาบาลขอปรับราคา เนื่องจากไลฟ์พริวิเลจคลับเป็นการให้บริการสมาชิกด้วยการดูแลสุขภาพ ผู้ตรวจสอบบัญชีแจ้งว่ามีมาตรฐานบัญชีเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยที่ต้องปฏิบัติตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด มีผลให้แพคเกจนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่าย เพราะต้องมีการตั้งเงินสำรอง

“สมาชิกงงๆ กับมาตรฐานบัญชีว่า มาตรฐานบัญชีที่โรงพยาบาลต้องปฏิบัตินี้เกี่ยวอะไรกับการปรับราคาสมาชิก สมาชิกหลายคนแม้ไม่เห็นด้วยก็ไม่รู้จะร้องเรียนใคร แต่จากการตรวจสอบกฎระเบียบของคลับ (ข้อ 15) สรุปได้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แต่มี 2 ข้อที่เป็นสาระสำคัญ คือ 1. เรื่องราคารักษาจ่าย 100 บาท/ครั้ง และข้อ 2. ระบุว่าโรงพยาบาลสงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่าง ยกเว้นเรื่องราคาค่ารักษาพยาบาล หากเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่อสมาชิกรุ่นต่อไปเท่านั้น ไม่มีผลกับสมาชิกที่สมัครไปแล้ว เมื่อมีข้อนี้ทำให้สมาชิกรวมตัวกันและพยายามติดต่อโรงพยาบาลเพื่อให้ชี้แจง ทางโรงพยาบาลให้เจ้าหน้าที่มาพูดคุยและอ้างว่าสำนักงาน ก.ล.ต. ให้โรงพยาบาลต้องตั้งสำรองแพคเกจไลฟ์พริวิเลจคลับประมาณ 7,000 บาท แต่ทางผู้บริหารต่อรองจนเหลือตัวเลขที่ต้องตั้งสำรองประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

BH3

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า “จากการสอบถาม เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้เล่าว่า ตอนแรกฝ่ายบัญชีเสนอให้เรียกเก็บ 50% ของค่ารักษาพยาบาล แต่คุณหมอปราเสริฐ (ปราสาททองโอสถ) พยายามต่อรองจนเหลือ 25% เราก็ถามว่าที่คุณบอกว่าแพคเกจนี้เข้าข่ายเป็นสัญญาประกันภัย ถ้าเก็บ 100 บาท หรือถ้าเก็บ 25% แล้วไม่ถือว่าเป็นสัญญาประกันอย่างนั้นหรือ แล้วถ้าเก็บ 25% โรงพยาบาลไม่ต้องตั้งสำรองหรืออย่างไร ซึ่งค่าใช้จ่าย 25% นี้น่าจะเป็นต้นทุนของโรงพยาบาล ถ้าสมาชิกร่วมจ่าย 25% เขาไม่ต้องตั้งสำรอง และตามมาตรฐานบัญชีที่ต้องตั้งสำรองเพราะการดูแลสมาชิกตลอดชีวิต มีค่าใช้จ่าย การบังคับให้ต้องตั้งสำรองจึงเป็นเรื่องปกติ แต่โรงพยาบาลไม่ต้องการบันทึกสำรองเงินก้อนนี้ จึงเสนอทางเลือกให้สมาชิกคือเก็บเงินสมาชิกเพื่อให้คอบเวอร์ต้นทุน หรือการคืนเงินสมาชิกพร้อมดอกเบี้ย 5%”

จดหมายยกเลิกสัญญา “เข้าข่ายฉ้อโกง”

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ในแง่มาตรฐานบัญชีนี้มีมาตั้งแต่ปี 2549 จะให้มีผลบังคับใช้ปี 2554 แต่ปี 2554 ก็มีการแก้ไข จนล่าสุดประกาศว่ามีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2559 ซึ่งจากการสอบถามผู้บริหารของโรงพยาบาลเล่าว่าเรื่องการตั้งสำรองมีมานานแล้ว แต่ยังไม่ต้องสำรองเพราะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ปี 2559 ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว จำเป็นต้องตั้งสำรอง

“ขณะที่ฝ่ายบัญชีให้ข้อมูลว่า เมื่อมีเรื่องภาระการตั้งสำรองเกิดขึ้น ผู้บริหารโรงพยาบาลจำเป็นต้องบริหารจัดการผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพราะการตั้งสำรองจะกระทบผู้ถือหุ้น แต่สมาชิกก็งงว่าโรงพยาบาลต้องตั้งสำรอง แต่มายกเลิกสัญญากับลูกค้า มันถูกเรื่องหรือไม่”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตอนแรกทางโรงพยาบาลไม่ยอมเรียกประชุมสมาชิก ไม่รับโทรศัพท์ บอกแต่ว่าอยากได้อะไรให้ตอบมา อยากต่อรองอะไรให้เขียนมา แต่สมาชิกรวบรวมรายชื่อประมาณ 50 กว่าคนเพื่อให้ผู้บริหารโรงพยาบาลจัดประชุม ในวันประชุมก็มีความวุ่นวาย เพราะสมาชิกบางคนป่วย มอบฉันทะให้ลูกเข้าประชุม แต่ก็ไม่ให้เข้าประชุม กรรมการโรงพยาบาลที่มาร่วมประชุมเป็นนักกฎหมาย ไม่ได้ชี้แจงอะไร ให้สมาชิกพูดมากกว่า

“ประกอบกับจดหมายยกเลิกแพคเกจที่ส่งมาให้สมาชิก ทนายของกลุ่มระบุว่าข้อความในจดหมายเข้าข่ายหลอกลวงให้คนสำคัญผิดว่าต้องเลิก แล้วสละสิทธิ์ที่ตนเองมีอยู่ ประเด็นนี้เข้าข่ายฉ้อโกง ซึ่งทนายกลุ่มได้แจ้งต่อผู้บริหารโรงพยาบาล และโรงพยาบาลก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ ก็บอกว่าจดหมายที่แจ้งขอให้สมาชิกพับทิ้งไป เพราะโรงพยาบาลเกรงว่าจะโดนฟ้องอาญา ทางสมาชิกที่ประชุมวันนั้นก็คิดว่าน่าจะจบ”

thaipublica-SMS BH

ต่อมาโรงพยาบาลได้แจ้งสมาชิกทางเอสเอ็มเอสว่าจะปิดโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับในวันที่ 20 มกราคม 2560 แต่สมาชิกยังสามารถรักษาต่อได้จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ทั้งๆ ที่การทำสัญญาซื้อแพคเกจนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้วในเงื่อนไขสัญญาทางโรงพยาบาลระบุว่าจะดูแลสมาชิกตลอดชีวิต

“สมาชิกก็ช็อก คนที่ไปหาหมอวันนั้นเจ้าหน้าที่บอกไม่เก็บเงิน เพราะในจดหมายชี้แจงว่าเขาเวลาสมาชิกปรับตัวว่าในช่วง 20 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2560 ให้สมาชิกรักษาฟรี ไม่เก็บเงิน แต่สมาชิกไม่กล้ารักษาฟรี ยังยืนที่จะจ่าย 100 บาท เพราะเกรงว่าโรงพยาบาลจะหาว่าสมาชิกยอมรับที่เขาเสนอมา” แหล่งข่าวกล่าว

ต่อมาทางทนายกลุ่มได้ส่งจดหมายแจ้งกลับไปว่าสมาชิกไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอันนี้ จะฟ้องร้อง หลังจากนั้นโรงพยาบาลมีจดหมายส่งตามหลังมาอ้างเหตุเดิมว่า มีมาตรฐานบัญชีและโรงพยาบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางทีมกฎหมายของโรงพยาบาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า “ไลฟ์พริวิเลจคลับ” เข้าข่ายธุรกิจประกันภัย ทางโรงพยาบาลไม่สามารถดำเนินต่อไปได้แล้ว เพราะโรงพยาบาลไม่มีใบอนุญาตทำธุรกิจประกัน

“ไลฟ์พริวิเลจคลับ เป็นโครงการที่โรงพยาบาลทำมา 15 ปี ไม่เคยมีปัญหา โรงพยาบาลก็มีนักกฎหมายมืออาชีพนั่งเป็นกรรมการอิสระอยู่ในบอร์ด บอกว่าว่าผิดกฎหมาย ต้องปิดเลย จดหมายวันที่ 20 มกราคม 2560 บอกว่าเพื่อบรรเทาความเสียหายจะจ่ายเงินคืนสมาชิกพร้อมดอกเบี้ย 10% และค่ารักษาพยาบาลของเก่าที่สมาชิกรักษามา ไม่นำมาหัก และค่ารักษาจากนี้ไปจะลดราคาให้ 50% แต่มีเงื่อนไขในการลดราคา กำหนดว่ารายการไหนลดได้ รายการไหนลดไม่ได้ ซึ่ง 50% ที่เขาบอกว่าจะลดให้นั้น สำหรับกรณีคนไข้ที่ป่วยหนัก อย่าง มะเร็ง ดูแล้วลดจริงๆ อาจจะได้แค่ 10% เพราะหลายรายการไม่ได้รับส่วนลดเลย เช่น ค่ายาก็ได้บางรายการเท่านั้น ทั้งที่สัญญาของแพคเกจนี้ระบุว่าแก้ไขไม่ได้ แต่โรงพยาบาลยังแต่แก้ไขตลอดเวลา สมาชิกจาก 50 กว่าคน ตอนนี้มารวมกันเป็น 115 คน จากทั้งหมด 284 คน ส่วนที่เหลือแม้จะไม่มาเข้าร่วมแต่ยังไม่ได้ไปรับเงินคืน เพียงแต่รอผลจากกลุ่มคัดค้าน ส่วนกลุ่มที่รับเงินไปแล้วมีประมาณ 30-40 คน” แหล่งข่าวกล่าว

BH2

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถคำนวนได้ว่าจำนวนเงินที่ต้องตั้งสำรองเป็นเท่าไหร่ แต่จากที่นักคณิตศาสตร์คำนวนบนสมมติฐานว่าโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ หากเป็นเบี้ยประกัน น่าจะเป็นซูเปอร์แพลตทินัม เพราะว่าเป็นซูเปอร์วีไอพี กรณีนอนโรงพยาบาลค่าห้อง 15,000 บาท/คืน ค่ายาเท่าไหร่ก็เบิกได้หมด หากเปรียบเทียบกับประกันทั่วไปๆ อาจจะต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละ 200,000 บาท ถ้า 10 ปี ก็ 2 ล้านบาท แต่จริงๆ เบี้ยประกันก็เพิ่มตามอายุไม่ได้ตายตัวแค่นี้ และก็มีเงื่อนไขจำกัดโรคในการรักษาอีก นี่คือตัวเลขที่โรงพยาบาลต้องคำนวณเพื่อตั้งสำรองค่าใช้จ่ายเหล่านี้

”ดังนั้น การรวมตัวของสมาชิกจึงไปร้องเรียน สคบ. ว่าเลิกสัญญาโดยไม่เป็นธรรม เพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภค ส่วนสำนักงาน ก.ล.ต. ร้องเรียนในประเด็นเรื่องธรรมาภิบาล เพราะจากการตรวจสอบของสมาชิกพบว่ามีการขายหุ้นของกรรมการบางคนออกไปมากพอสมควรตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน 2559 ก็มีการขายออกมาตลอด ดูได้จากรายงาน 56-2 ที่เปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว ทั้งหมดได้เงินไปประมาณ 500-600 ล้านบาท โดยแจ้งว่าเอาเงินไปใช้หนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนประเด็นโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับเป็นการทำผิดกฎหมายเพราะไม่มีใบอนุญาตนั้น จากการที่สมาชิกสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทราบว่า แพคเกจไลฟ์พริวิเลจคลับไม่เข้าเงื่อนไขการประกันและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีการตีความเรื่องนี้ไว้แล้ว ส่วนการตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชี จะเป็นเท่าไหร่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำตามมาตรฐานบัญชี

แหล่งข่าวกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า “สมาชิกกลุ่มนี้เป็นลูกค้าวีไอพี มีบุญคุณกับโรงพยาบาล ถ้าไม่มีลูกค้ากลุ่มนี้เมื่อปี 2544 คุณ(โรงพยาบาล)จะมีวันนี้หรือไม่ ถ้าโรงพยาบาลยอมรับความจริงและอธิบายนักลงทุนตามข้อเท็จจริง เพราะกรณีนี้มันไม่ได้กระทบกระแสเงินสดของบริษัท และสมาชิก 284 คน ไม่ใช่ว่าจะป่วยต้องเข้ารับการรักษาพร้อมกัน และสมาชิกก็ไม่ได้อยากใช้บริการนี้ ไม่มีใครอยากนอนโรงพยาบาล ไม่ได้อยากป่วยเพื่อใช้เงินก้อนนี้ การที่โรงพยาบาลเอาเรื่องนี้มาเล่นกับชีวิตคน สุขภาพคน และเป็นคนที่มีบุญคุณกับเขา ซึ่งจำนวนเงินที่เขาระดมไปตอนนั้นประมาณ 300-400 ล้านบาท วันนี้โรงพยาบาลมีฐานะการเงินแข็งแรง เอาเงินไปซื้อกิจการอื่นๆ เยอะแยะ”

นอกจากนี้ ปัจจุบันสมาชิกหลายคนอายุมากแล้ว มีโรคประจำตัว บางคนเป็นโรคมะเร็ง ไม่มีประกันสุขภาพอื่นๆ และบางคนก็ไม่มีเงินเก็บ เพราะเชื่อมั่นว่าไลฟ์พริวิเลจคลับจะดูแลค่ารักษาพยาบาลไปตลอดชีวิต ไม่ต้องเดือดร้อนค่ารักพยาบาลในตอนแก่ และไม่เดือดร้อนลูกหลาน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมต่อสมาชิกทุกคน วันนี้พวกเราจึงมาร้องเรียนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้พิจารณาตรวจสอบธรรมาภิบาลและเรียกร้องความเป็นธรรมคืนแก่สมาชิก

สมาชิกกลุ่มไลฟ์พริวิเลจคลับยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงาน ก.ล.ต.
สมาชิกกลุ่มไลฟ์พริวิเลจคลับยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงาน ก.ล.ต.

สำหรับนายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ในหนังสือที่สมาชิกกลุ่มไลฟ์พริวิเลจคลับร้องเรียนมานั้นมีประเด็นสำคัญคือการถูกยกเลิกสัญญา แต่เนื่องจากมีข้อมูลที่ต้องพิจารณาค่อนข้างมาก จึงยังไม่สามารถตอบได้ตอนนี้ว่าจะเข้าข่ายอำนาจของ ก.ล.ต. หรือไม่ ต้องใช้เวลาพิจารณาในรายละเอียดก่อน

ส่วน พล.ต.ต. ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องที่ร้องเรียนมาจะหาแนวทางช่วยเหลือให้เร็วที่สุด โดยเบื้องต้นขอนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างสมาชิกกลุ่มไลฟ์พริวิเลจคลับกับ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการก่อน 1 ครั้งพร้อมทั้งให้ทั้ง 2 ฝ่ายแสดงหลักฐานประกอบ หากเรื่องยังไม่ยุติจะส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อพิจารณาว่าสามารถฟ้องร้องแทนกลุ่มสมาชิกต่อไปได้อย่างไรบ้าง สำหรับผู้ป่วยที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น โรคมะเร็ง จะช่วยเจรจาให้ทางโรงพยาบาลรักษาต่อฟรี

อนึ่ง จากข้อมูลงบการเงิน ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีกำไรสุทธิในปี 2556-2558 มีตามลำดับดังนี้ 6,261.46 ล้านบาท, 7,393.52 ล้านบาท, 7,917.47 ล้านบาท และปี 2559 (งบ 9 เดือน) 6,409.44 ล้านบาท โดยบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) มีนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีโรงพยาบาลในเครือข่ายทั้งในไทยและกัมพูชา ประกอบด้วย กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล

อย่างไรก็ตาม ทางผู้สื่อข่าวได้ติดต่อมายังศูนย์ไลฟ์พริวิเลจคลับที่เบอร์ 081-7347777 เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ในวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นวันหยุดชดเชย ได้รับการตอบรับว่าให้ติดต่อในวันทำการปกติ

ไลฟ์พริวิเลจคลับไม่ใช่แค่สิทธิประโยชน์ แต่เป็นการวางแผนชีวิต

สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับอีกรายได้ให้ข้อมูลกล่าวว่า “ที่บ้านมี 4 คน มีพ่อแม่ พี่สาวและตัวเองซื้อทุกคน พ่อแม่ซื้อแพคเกจรุ่น 1 รุ่น 1ล้าน ตัวเองกับพี่สาวเป็นรุ่น 1.2 ล้าน รวม 4.4 ล้านบาท หากรวมญาติๆ ด้วยประมาณ 10 กว่าคน

“ที่อยากเล่าคือ ครั้งแรกที่มีจดหมายจากโรงพยาบาลส่งมา เขียนชัดจนเรารู้สึกว่าต้องการปิดคลับนี้เพราะระบุว่าถ้าไม่ตอบภายในกี่วันถือว่ายอมรับว่าปิดคลับ และมีใบสุดท้ายที่สรุปค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วทั้งหมดของแต่ละคน สรุปมาเหมือนจะลำเลิกบุญคุณว่าที่ผ่านมาคุณใช้จ่ายไปเท่านี้แล้ว เอาเงินคืนไป แล้วจบกัน”

บังเอิญเคสของคุณพ่อ ค่าใช้จ่ายที่ผ่านมาสูงมาก เป็นมะเร็ง ต้องทำคีโม แค่ค่าผ่าตัดก็หลายล้านบาท การทำคีโมครั้งละประมาณ 1-2 แสนบาท และคนแก่ก็ไม่มีแค่โรคเดียว มีโรคอื่นแทรกอีก มีค่าใช้จ่ายที่ตามมาอีกมากมาย และหากดู 50% ที่โรงพยาบาลเสนอครั้งสุดท้าย ไม่น่าจะจ่ายแค่ครึ่งหนึ่งหรือจ่ายแค่ 10% แต่น่าจะจ่าย 100% เพราะยาคีโมเป็นยาเฉพาะทาง ไม่ได้ส่วนลดตามเงื่อนไขที่โรงพยาบาลเสนอให้แต่อย่างใด

พร้อมเล่าต่อว่าการมีคนป่วยในบ้านก็ต้องมีคนดูแล จากเดิมที่ตนเองทำงานประจำ ก็ต้องลาออกมาดูแลคนในบ้านที่ป่วย พาไปหาหมอเป็นหน้าที่หลัก และดูแลคนบ้านอื่นๆ ก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ส่วนตัวอีก ดังนั้น แพคเกจที่ซื้อไว้ทำให้ไม่ต้องพะวงว่าจะไม่มีเงินรักษาตัวเอง หรือของพ่อแม่ที่ต้องรักษาพยาบาล นี่คือการวางแผนชีวิตที่ครอบครัวได้วางแผนไว้แล้ว

“ข้อเสนอที่จะคืนเงินให้สมาชิก แล้วจ่ายค่ารักษาแค่ 50% ถามว่าจะครอบคลุมได้กี่เดือน สัญญานี้โรงพยาบาลตกลงกับสมาชิกเมื่อ 15 ปีที่แล้วในช่วงที่โรงพยาบาลลำบากต้องการเงิน และสมาชิกมาช่วยเขาให้ระดมทุนได้ วันนี้ที่เราลำบากเจ็บป่วย แต่โรงพยาบาลตอบแทนเราอย่างนี้ และเขาพยายามชี้แจงบอกว่าเขาให้ขนาดนี้จะเอาอะไรอีก เขาจะเป็นต้องปิดเพราะผิดกฎหมาย จึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย 10% คิดเป็นประมาณ 2.2 เท่าของเงินที่สมาชิกจ่าย และยังคิดค่ารักษาแค่ 50% พวกสมาชิกยังไม่พอใจอีก พวกเราสมาชิกรู้สึกแย่มาก เหมือนกับว่าพวกเราไม่รู้จักพอ”