ThaiPublica > เกาะกระแส > คปภ.ขอดูข้อกม. “ไลฟ์พริวิเลจคลับ” เข้าข่ายสัญญาประกันหรือไม่ สคบ.เรียกทุกฝ่ายหารือกรณียกเลิกสัญญา – รพ.กรุงเทพไม่มาตามนัด “ขอเลื่อน”

คปภ.ขอดูข้อกม. “ไลฟ์พริวิเลจคลับ” เข้าข่ายสัญญาประกันหรือไม่ สคบ.เรียกทุกฝ่ายหารือกรณียกเลิกสัญญา – รพ.กรุงเทพไม่มาตามนัด “ขอเลื่อน”

16 กุมภาพันธ์ 2017


สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ชี้แจงสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับเบื้องต้นหลังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยืนยันมาตรฐานทางบัญชีที่กำหนดไม่ได้บังคับให้โรงพยาบาลกรุงเทพต้องยกเลิกสัญญา ส่วนสัญญานี้จะเข้าข่ายสัญญาประกันภัยหรือไม่ สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ขอเวลาพิจารณาข้อกฎหมายก่อน ในขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพขอเลื่อนนัดเข้าให้ข้อมูล

สมาชิกไลฟ์พริวิเลจ ณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560
สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ ณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560

จากกรณีที่สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ โรงพยาบาลกรุงเทพ ร้องต่อ “สคบ.-ก.ล.ต.” ขอความเป็นธรรมและตรวจสอบธรรมาภิบาล หลังถูกตัดสิทธิ์รักษาตลอดชีพ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 หลังจากนั้นทางสคบ. เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คปภ. ก.ล.ต. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และโรงพยาบาลกรุงเทพ เข้าชี้แจงข้อมูลเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560

นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า จากข้อกล่าวอ้างตามหนังสือชี้แจงของโรงพยาบาลกรุงเทพนั้น สคบ. ได้หารือเบื้องต้นแล้วโดยทาง ก.ล.ต. ชี้แจงว่า มาตรฐานทางบัญชีที่ ก.ล.ต. กำหนดเป็นมาตรฐานทั่วไปในทุกธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นผลกระทบหรือเป็นเงื่อนไขที่บังคับให้ต้องยกเลิกสัญญา ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่าสัญญาสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับเข้าข่ายเป็นสัญญาประกันภัยหรือไม่ คปภ. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมาย แต่ต่อให้เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายสัญญาประกันภัย หากเป็นกฎหมายใหม่ก็ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ส่วน สปสช. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนั้นเชิญเนื่องจากเกี่ยวข้องในการรักษาพยาบาลและการดูแลโรงพยาบาลเอกชน แต่ด้วยโรงพยาบาลกรุงเทพไม่อยู่ในโครงการใช้สิทธิของภาครัฐใดๆ จึงตัดตกไป

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพขอเลื่อนนัดจากวันนี้ไปเป็นวันที่ 6 มีนาคม 2560 ซึ่งการไม่มาในครั้งนี้ไม่ผิดอะไรเพราะ สคบ. เพียงเชิญไปเท่านั้น โดยหลังจากนี้จะทำหนังสือถึงโรงพยาบาลกรุงเทพเข้ามาชี้แจงก่อน ซึ่งหากไม่มาจึงจะถือได้ว่ามีความผิดทางกฎหมาย สำหรับกระบวนการต่อไปของ สคบ. คือ หากทางโรงพยาบาลกรุงเทพมาชี้แจง ก็จะเจรจาไล่เกลี่ยกับผู้ร้องเรียน ซึ่งหากตกลงกันได้ก็จะจบ แต่ถ้าโรงพยาบาลกรุงเทพไม่มาไกล่เกลี่ยจึงเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย

นายประเสริฐ เอื้อกมลสุโข ตัวแทนสมาชิกไลฟ์พริวิเลจ
นายประเสริฐ เอื้อกมลสุโข ตัวแทนสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ

นายประเสริฐ เอื้อกมลสุโข ตัวแทนสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ กล่าวว่า จากข้อเสนอที่โรงพยาบาลกรุงเทพจะจ่ายค่าสมาชิกคืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 10 และให้ส่วนลดในการรักษาครั้งต่อไปร้อยละ 50 นั้น ล่าสุดสมาชิกได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่า หากสมาชิกไม่รับข้อเสนอภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ข้อเสนอดังกล่าวเป็นอันยกเลิก ซึ่งทางสมาชิกไม่แน่ใจว่าหมายถึงยกเลิกทุกข้อเสนอหรือไม่อย่างไร

“พอโครงการจะปิด สมาชิกประมาณ 60 คนก็รีบไปใช้สิทธิ์ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เพราะสมาชิกเจ็บป่วยและต้องรักษาต่อเนื่องมีมาก แล้วโรงพยาบาลก็เลื่อนนัดจากวันนี้ไปวันที่ 6 มีนาคม ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าโครงการจะปิดตัวใน 20 กุมภาพันธ์นี้ นี่แสดงถึงเจตนาหรือไม่ แต่อย่างน้อยเชื่อว่าแรงกดดันทางสังคมจะทำให้เขาคิดได้บ้าง ซึ่งเป็นไปได้ก็อยากให้ สคบ. เร่งจัดการให้ได้ก่อนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์” นายประเสริฐกล่าว

ด้านนายเชน พาณยง สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ กล่าวว่า “จากข้อมูลที่ สคบ. ชี้แจงเบื้องต้นค่อนข้างพอใจ เพราะอย่างน้อยหน่วยงานราชการก็รับฟังและช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ ไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน เพราะส่วนตัวปัจจุบันเป็นผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูก ต้องรักษาตัวต่อเนื่องโดยเข้าโรงพยาบาล 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หากถูกยกเลิกสัญญาก็จะทำให้เดือดร้อนมาก ทั้งๆ ที่ทั้งผมและภรรยาเป็นสมาชิกรุ่นแรกตั้งแต่ปี 2544 ถ้าจะรักษาต่อหากจ่ายราคาเต็มก็ไม่ไหว ก็หวังว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะรับทราบปัญหานี้ และมีมาตรการหรือนโยบายเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก”

นายธสรณ์อัฆฒ์ ธนิทธิพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ชี้แจงการหาเบื้องต้นกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อสมาชิกไลฟ์พริวิเลจ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560
นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ชี้แจงการหารือเบื้องต้นกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560

ด้านนางสาวจิรัฏฐ์ จุฑาศิลปารัตน์ สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ กล่าวว่า การร้องเรียน สคบ. ก็คาดหวังว่าหน่วยงานราชการต้องช่วยเหลือ เพราะที่ผ่านมา BDMS(บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ ) ไม่ยอมเจรจา ปฏิเสธสมาชิก และส่งหนังสือเสมือนข่มขู่สมาชิกมาเป็นระยะๆ ซึ่งทั้งหมดที่ทำเราขออย่างเดียวคือ ขอให้โรงพยาบาลรักษาสัญญา ทั้งนี้ หากหน่วยงานราชการไม่สามารถบังคับหน่วยงานเอกชนได้แล้วเราจะไปพึ่งใครได้ เพราะสัญญาก็มีระบุชัดเจน

“อย่าคิดว่าทุกคนรวย พี่ลำบากมากกว่าจะหาเงินก้อนนี้ได้ เรียกว่าเทกระเป๋าเพื่อโครงการนี้ เพราะพี่ตัวคนเดียวไม่มีครอบครัว จึงไม่อยากเป็นภาระใครตอนแก่ แล้วเพื่อนที่อยู่ในโครงการนี้ก็ได้รับการดูแลดีจึงตัดสินใจสมัครตอนอายุ 40 ปีที่ยังแข็งแรงอยู่ แต่เนื่องจากทำงานหนักมาตั้งแต่เด็กจึงเป็นโรคกระดูกตั้งแต่คอถึงเท้า ทุกวันนี้ต้องทำกายภาพ พบแพทย์ และผ่าตัด ซึ่งการรักษาต่อจากนี้ไปพี่ยังหาทางออกไม่ได้เลย” นางสาวจิรัฏฐ์กล่าว