ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > วิจัยกรุงศรีชี้บริบทใหม่ระบบสถาบันการเงินยุค 4.0 – 5 Global Megatrend…พลิกโฉมโลก

วิจัยกรุงศรีชี้บริบทใหม่ระบบสถาบันการเงินยุค 4.0 – 5 Global Megatrend…พลิกโฉมโลก

18 กุมภาพันธ์ 2017


วิจัยกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยแพร่รายงาน “รู้และเข้าใจ…บริบทใหม่ระบบสถาบันการเงินยุค 4.0” ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการพัฒนาของนวตกรรมล้ำสมัย ที่ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมในโลกกำลังเผชิญกับการแทนที่ของนวตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตในรูปแบบใหม่ภายใต้อุตสาหกรรม 4.0 ในขณะเดียวกันการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนเทคโนโลยี่สื่อสารไร้พรมแดน มีผลให้การเปลี่ยนแปลงในซีกโลกหนึ่งส่งผลกระเพื่อมถึงอีกซีกโลกหนึ่ง หรือมีผลทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วในวงกว้างและเกินคาด โดยส่งผลต่อภาคการผลิตต่างๆ ไม่เว้นแต่ภาคการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจก็กำลังถูกจับจ้องว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

วิจัยกรุงศรีฯประเมินว่าภายในระยะ 5 ปีจากนี้ ระบบสถาบันการเงินไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากผลกระทบของการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบการเงินไทยซึ่งผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งปรับตัว โดยการพัฒนานวตกรรมทางการเงินและปรับกลยุทธ์ไปสู่ Digital banking เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจ FinThec ที่จะเข้ามามีบทบาทเด่นชัดในภาคการเงินไทยในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า เป็นประเด็นท้าทายของธนาคารพาณิชย์ในการรักษาฐานลูกค้าและสถานะผู้นำตลาดในระยะข้างหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งหลายประเทศได้เตรียมความพร้อมรับมือและปรับตัวล่วงหน้ามาหลายปีแล้ว

5 Global Megatrend…พลิกโฉมโลก

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่สำคัญ 5 ด้าน ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ภาคการเงินของไทยต้องเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้า คือ

1. แรงขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยี (Technology disruption) ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาของ McKinsey Global Institute ระบุว่า 5 เทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดภายในปี 2025 ประกอบด้วย การใช้อินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์ (Mobile internet) การทำงานที่ใช้ความรู้ด้วยระบบอัตโนมัติ (Automation of knowledge work) การเชื่อมโยงทุกสิ่งด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet of things) เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud technology) และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูง (Advanced robotics)

2. การเข้าสู่ยุคโลกหลายขั้ว (Economic power shift) จากการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจโลกที่เคยเป็น “โลกขั้วเดี่ยว” มาเป็น “โลกหลายขั้ว” ซึ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะเคลื่อนไปสู่ตลาดประเทศเกิดใหม่มากขึ้น

3. พลังของปัจเจกบุคคล (Individual empowerment) เป็นผลมาจากการเติบโตของชนชั้นกลางโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย ซึ่งต้องการสินค้าที่มีความแตกต่าง (Product differentiation)

4. การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง (Rapid urbanization) ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) หรือ UN คาดว่าจะมีประชากรโลกอาศัยในเขตเมืองเพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของสังคมเมืองสูงสุดคือเอเชียและแอฟริกา

5. โลกกำลังเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย (Aging population) ทำให้การพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยมีความสำคัญมากขึ้น โดย World Economic Forum คาดว่าสัดส่วนของผู้สูงวัยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 11 ในปี 2010 เป็นร้อยละ 17 ในปี 2030

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกอาจทำให้รูปแบบธุรกิจและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมทั้งช่องทางการให้บริการ เปลี่ยนแปลงไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของเราในอนาคต เช่น การระดมทุนผ่าน Peer-to-Peer lending (P2P lending) หรือ Crowd-funding เป็นต้น (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

thailand4.0-1

สำหรับประเทศไทย หน่วยงานสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง และได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงินไทยในหลายด้านเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (ปี 2016-2020) ได้กำหนดการพัฒนาสถาบันการเงินไทยไว้ในหลายมิติ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์ การสนับสนุนการพัฒนารูปแบบบริการทางการเงินใหม่ๆ การขยายบทบาทของผู้เล่นกลุ่มใหม่ การส่งเสริมศักยภาพและขยายขอบเขตการให้บริการของสถาบันการเงินเดิม พร้อมเพิ่มความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เช่น ความพร้อมของบุคลากรทางการเงิน ความรู้ความเข้าใจทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

New banking landscape ไทยใน 5 ปีข้างหน้า

วิจัยกรุงศรีคาดว่า นับจากนี้จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบสถาบันการเงินไทยในมิติต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น โดยอาจเป็นไปในลักษณะ

1. การแข่งขันที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากผู้เล่นรายใหม่ ทั้งผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงินจากต่างประเทศ และ Non-banks (ทั้งธุรกิจ FinTech และ Telcos) โดยอาจเห็นการร่วมมือระหว่างกันในรูปแบบต่างๆ เช่น (1) การควบรวมกิจการ (Mergers & Acquisitions) ระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง (2) การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มธนาคารชั้นนำในต่างประเทศหรือบริษัทผู้นำด้าน FinTech ของโลก เพื่อลงทุน เรียนรู้ และทดลองให้บริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และ (3 ) การร่วมลงทุนผ่าน Venture capital ในธุรกิจ Startup ที่มีศักยภาพด้าน FinTech

2. FinTech จะเข้ามามีบทบาทในระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นเวลาที่ FinTech ผ่านพ้นช่วงทดลองใน “ศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการการเงิน” หรือ Regulatory Sandbox ตามที่ภาครัฐกำหนด และจะเริ่มให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปได้หลังจากนั้น(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

thailand4.0

3. ธนาคารมีแนวโน้มขยายบริการไปสู่รูปแบบ Digital banking มากขึ้น ทำให้รูปแบบสถาบันการเงินมีความหลากหลายกว่าเดิม โดยอาจประกอบไปด้วย

    (1) ธนาคารพาณิชย์แบบเดิม (Traditional bank) ซึ่งเป็นธนาคารที่ยังคงแข่งขันด้วยราคาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองลูกค้าทั่วไป (Mass market segment)
    (2) ธนาคารพาณิชย์ที่ปรับใช้ดิจิทัล (Digital full service bank) ซึ่งเป็นธนาคารที่จะแข่งขันด้วยเทคโนโลยีในขณะที่ยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมเหมือน Traditional bank แต่จะอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น
    (3) ธนาคารที่ให้บริการแบบดิจิทัลโดยเฉพาะ (Niche digital bank) โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์เฉพาะด้าน และใช้ประโยชน์จากโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่น เทคโนโลยี และสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ในการให้บริการแก่ลูกค้า
    (4) Non-banks ซึ่งอาจจะเป็นธุรกิจ FinTech หรือผู้ให้บริการในตลาดอื่น เช่น Telcos หรือ e-Commerce ที่จะเข้ามาให้บริการด้านการเงินโดยอาศัยความได้เปรียบจากฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้บริการด้านการชำระเงินรายย่อยรวมถึงบริการการเงินส่วนบุคคลอื่นๆ

4. การลงทุนและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมทั้งการทำการตลาดผ่านช่องทาง Social media จะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของธนาคารในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของลูกค้าที่ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น จากเดิมที่ธนาคารจะแข่งขันเข้าถึงลูกค้าด้วยการขยายสาขาไปยังทำเลที่ได้เปรียบ อาจหันหลังกลับมาปิดสาขาที่อยู่ในทำเลที่ไม่โดดเด่น อย่างไรก็ดี คาดว่าสาขาธนาคารยังมีความจำเป็นเนื่องจากลูกค้าบางกลุ่มยังคุ้นชินกับการทำธุรกรรมผ่านสาขาธนาคาร โดยสาขาอาจต้องหันมาเน้นให้บริการทางการเงินที่มีความซับซ้อนและมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับคำแนะนำคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น เช่น การขอสินเชื่อ การลงทุน และการทำธุรกรรม Trade finance

5. สถาบันการเงินต้องเตรียมพร้อมในการเข้าไปทำธุรกิจและเข้าไปแข่งขันในระดับภูมิภาค จากบทบาทที่มีมากขึ้นของระบบสถาบันการเงินไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่เชื่อมโยงกับประเทศ CLMV โดยมี 2 มิติที่สำคัญ คือ

    (1) การขยายสาขาธนาคารไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจที่ไปทำการค้าในประเทศ CLMV รวมทั้งในธุรกรรมบางประเภทที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพื่อนบ้านยังขาดความพร้อม มีสาขาจำกัด และการเข้าถึงบริการธนาคารของประชาชนยังมีสัดส่วนต่ำ ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้ผู้ให้บริการ Non-banks เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
    (2) การเพิ่มบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินเชื่อมโยงกับประเทศ CLMV โดยอาศัยจุดแข็งของไทยที่มีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและภาคการเงินที่สูงกว่า จึงมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จำเป็นแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับการพลิกโฉมของภาคการเงินในครั้งนี้ ธนาคารหรือผู้เล่นหน้าใหม่คงต้องวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อให้เข้าสู่ตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการให้บริการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับเวลา ซึ่งจะเป็นสิ่งตัดสินว่าใครจะเป็นผู้นำตลาดในอนาคต แต่ไม่ว่าธนาคารหรือผู้เล่นรายใดจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงินครั้งนี้คือ คนในระบบเศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินหรือสินเชื่อได้สะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนลดลง

แม้ผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจอาจเปลี่ยนไป แต่บทบาทของภาคการเงินในโลกยุคใหม่จะยังคงมีอยู่ เรายังคงต้องการระบบการเงินที่สามารถทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรระหว่าง “ผู้ออม” และ “ผู้เห็นโอกาสในการลงทุน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป ตามคำกล่าวของนักเศรษฐศาสตร์ที่โด่งดัง Lawrence Summers ที่ว่า

“On the one side there are consumers who want to set aside resources. … On the other side there are those with opportunities to use resources today to produce more resources tomorrow by investing… It is the task of the financial system to bring the wants and opportunities together. When this is done better, a number of benefits result.”
— Summers (2000)

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ “รู้และเข้าใจ…บริบทใหม่ระบบสถาบันการเงินยุค 4.0”